ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 4 ปี คสช. พิมพ์หวยเพิ่ม 53 ล้านใบ อ้างแก้ปมขายสลากฯ เกินราคา – ปั๊มรายได้เข้าคลัง กระฉูด! กว่า 4 หมื่นล้าน

4 ปี คสช. พิมพ์หวยเพิ่ม 53 ล้านใบ อ้างแก้ปมขายสลากฯ เกินราคา – ปั๊มรายได้เข้าคลัง กระฉูด! กว่า 4 หมื่นล้าน

14 มกราคม 2019


ปัญหาขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา เอาเปรียบผู้บริโภค เป็นปัญหาใหญ่ที่สั่งสมมานานหลายทศวรรษ สาเหตุหลักเกิดจากผู้ที่ได้รับการจัดสรรโควตาสลาก ทั้งมูลนิธิ สมาคม องค์กร และ ผู้ค้าสลากรายย่อยบางราย ไม่ใช่คนขายหวยตัวจริง หลังจากที่ได้รับการจัดสรรโควตาสลากแล้วไม่ได้ขายเอง แต่นำไปขายต่อให้พ่อค้าคนกลางรวมชุดขาย บวกกำไรกันมาเป็นทอดๆ กว่าจะถึงมือผู้บริโภคก็ขายกันใบละ 90 -120 บาท

4 ปีหลังจากรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจพิเศษ ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 11/2558 แต่งตั้งพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหาขายสลากฯ เกินราคา 3 เฟส

เฟสแรก ปรับโครงสร้างการจัดสรรเงินรายได้จากการขายสลากฯ ตามมาตรา 22 ใหม่ โดยการลดสัดส่วนเงินนำส่งคลังลง 8% (เดิม 28% ลดเหลือ 20% ของรายได้จากการขายสลากฯ ) ในจำนวนนี้มี 5% ถูกโยกไปเพิ่มเป็นส่วนลด หรือ กำไรให้กับผู้ค้าสลากฯ ฉบับละ 4 บาท เดิมตัวแทนจำหน่ายสลากฯ มารับสลากฯ โดยตรงจากสำนักงานสลากฯ ราคาฉบับละ 74.40 บาท เพื่อนำไปขายที่ราคาฉบับละ 80 บาท ได้กำไร 5.60 บาท ปัจจุบันสำนักงานสลากฯ ขายสลากฯ ให้กับผู้ค้าสลากฯ รายย่อยฉบับละ 70.40 บาท นำไปขายฉบับละ 80 บาท ได้กำไร 9.60 บาท ส่วนตัวแทนจำหน่ายประเภท สมาคม มูลนิธิ และองค์กร ขายส่งที่ราคาฉบับละ 68.80 บาท ทั้งนี้ เพื่อให้สมาคม มูลนิธิและองค์กรเหล่านี้นำสลากฯ ไปจัดสรร หรือขายให้สมาชิกที่ราคาฉบับละ 70.40 บาท ได้กำไร 1.60 บาท เงินรายได้จากการขายสลากส่วนที่เหลืออีก 3% ส่งเข้า “กองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม” เพื่อใช้เป็นทุน ศึกษา, วิจัย, เผยแพร่ความรู้ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการพนัน รวมทั้งนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาขายสลากเกินราคาด้วย

มาตรการเพิ่มกำไรหรือส่วนลดให้ผู้ค้าสลากครั้งนี้ ทำคู่ขนานไปกับการปรับเพิ่มบทลงโทษผู้ที่ขายสลากเกินราคา กฎหมายฉบับเดิม กำหนดบทลงโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่คำสั่ง คสช. ฉบับนี้ กรณีขายสลากเกินราคา มีโทษจำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากนั้นสำนักงานสลากฯ ได้จัดชุดปฏิบัติการพิเศษ สนธิกำลังตำรวจ-ทหาร กวดขันจับกุมผู้ที่ขายสลากเกินราคาทั่วประเทศ

ปรากฏว่ามาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคาเฟสแรกใช้ไม่ได้ผล ต้นตอของปัญหาเกิดจากคนขายหวยตัวจริงไม่ได้รับการจัดสรรโควตาสลาก ต้องไปรับสลากราคาแพงมาจากตัวแทนจำหน่าย ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ซึ่งบวกกำไรมาเป็นทอดๆ การเพิ่มส่วนลดให้กับตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ครั้งนั้น เสมือนเป็นการไปเพิ่มกำไรให้พ่อค้าคนกลาง ส่วนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กวดขันจับกุมคนขายหวยเกินราคา จึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ

พล.อ. อภิรัชต์ จึงเริ่มมาตรการเฟสที่ 2 เข้าไปรื้อโควตาหวย ทั้งลดโควตาสลาก ไม่ต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากประเภทองค์กรและนิติบุคคลที่ไม่เกี่ยวกับคนพิการ พร้อมกับสั่ง พิมพ์สลากเพิ่ม 13 ล้านฉบับเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 และเปิดช่องทางการจัดสรรโควตาสลากฯ รูปแบบใหม่ให้กับผู้ค้าสลากฯ รายย่อยโดยตรง โดยนำโควตาสลากของตัวแทนจำหน่ายสลากฯ เดิมที่ถูกยกเลิกมารวมกับสลากฯ 13 ล้านฉบับ (พิมพ์เพิ่ม) มาขายในโครงการซื้อ-จองสลากฯ ล่วงหน้าผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย

  • เสธฯ แดงโชว์ผลงาน 1 ปี แก้ขายหวยเกินราคา เตรียมชง ครม. แก้ พ.ร.บ.สลาก เปิดช่องออกหวยออนไลน์
  • “เสธ.แดง” เดินหน้าเฟส 2 เปิดเสรีสลาก ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วทยอยบอกเลิกสัญญา คาดสิ้นปี 2558 ไม่ต่อโควตาขายหวย
  • คาดคนขายหวยตัวจริง 3 หมื่นรายเปิดบัญชี KTB โครงการจัดสรรให้ผู้ซื้อโดยตรง แนะกองสลากฯ เปิดข้อมูลออร์เดอร์ซื้อล่วงหน้า
  • คนขายหวยแห่ลงทะเบียนวันแรกกว่า 3 หมื่นราย กองสลากเตรียมพิมพ์หวยเพิ่ม 9 ล้านฉบับ
  • คนขายหวยแห่จองสลาก 28 ล้านฉบับ หมดเกลี้ยงใน 47 นาที “เสธ.แดง” ปรับแผนใหม่ ซื้อได้ไม่เกิน 15 เล่ม/ราย – งวด 1 พ.ย. มีสลากขาย 100 ล้านฉบับ
  • คนขายหวยแห่จองซื้อสลากครั้งที่ 2 เกือบ 30 ล้านฉบับ ชงบอร์ดฯ ประเมินผลขายหวย 100 ล้านฉบับ 20 ต.ค. นี้
  • “เสธ.แดง” สั่งพิมพ์เพิ่ม 20 ล้านฉบับ ปรับใหม่ซื้อตรงงวด ทยอยลด “สลากล่วงหน้า” เริ่ม 3 ก.พ. 59 ตัดคนกลาง-แก้หวยเกินราคา
  • แก้ พ.ร.บ.สลากกินแบ่งฯ: เกาผิดที่คัน
  • พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล

    การเปิดขายสลากฯ ผ่านโครงการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯ ครั้งแรกวันที่ 3 ตุลาคม 2558 สลากฯ กว่า 14 ล้านฉบับ (พิมพ์เพิ่ม 13 ล้านฉบับ รวมกับโควตาสลากเดิมที่ถูกยกเลิก) ขายหมดเกลี้ยงภายใน 47 นาที เปิดขายครั้งที่ 2 วันที่ 18 ตุลาคม 2558 สลากฯ เกือบ 15 ล้านฉบับ ขายหมดภายใน 6 นาที ปรากฏว่า ยังแก้ปัญหาขายสลากเกินราคาไม่ได้อีก เนื่องจากมีผู้ค้าสลากฯ รายย่อยจำนวนมากทำรายการสั่งซื้อและจองสลากฯ ผ่านตู้เอทีเอ็มไม่ได้ กลับไปรับสลากฯ ราคาแพงจากยี่ปั๊ว ซาปั๊ว มาขายอีก สำนักงานสลากฯ ทยอยเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากฯ มาอย่างต่อเนื่อง

    ครั้งที่ 2 พิมพ์สลากฯ เพิ่ม 10 ล้านฉบับคู่ เปิดให้ผู้ค้าสลากฯ ซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯ ในงวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ครั้งที่ 3 พิมพ์สลากฯ เพิ่ม 5 ล้านฉบับ ขายในงวดวันที่ 30 ธันวาคม 2559 ครั้งที่ 4 พิมพ์สลากฯ เพิ่ม 3 ล้านฉบับ ขายในงวดวันที่ 17 มกราคม 2560 ครั้งที่ 5 พิมพ์สลากฯ เพิ่ม 3 ล้านฉบับ ขายในงวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ครั้งที่ 6 พิมพ์สลากฯ เพิ่ม 9 ล้านฉบับ ขายในงวดวันที่ 16 เมษายน 2561 ครั้งที่ 7 พิมพ์สลากฯ เพิ่ม 7 ล้านฉบับ ขายในงวดวันที่ 1 สิงหาคม 2561 และครั้งที่ 8 พิมพ์สลากฯ เพิ่มอีก 3 ล้านฉบับ เริ่มขายในงวดวันที่ 16 สิงหาคม 2561

    รวม 8 ครั้ง สำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากฯ เพิ่ม 53 ล้านฉบับ หรือ เพิ่มขึ้น 143.24% จากเดิมพิมพ์สลากออกขายงวดละ 37 ล้านฉบับ เพิ่มเป็นงวดละ 90 ล้านฉบับ ตั้งแต่งวดวันที่ 16 สิงหาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน

    ผลจากการเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากฯ ทำให้สำนักงานสลากฯ และกระทรวงการคลังมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เริ่มปี 2558 เป็นปีแรกที่สำนักงานสลากฯ ปรับลดสัดส่วนเงินรายได้ที่ต้องนำส่งคลังลง 8% (จาก 28% ลดเหลือ 20% ของรายได้จากการขายสลากฯ) โดยโอนรายได้ 5% ไปเพิ่มเป็นส่วนลดให้กับตัวแทนจำหน่ายสลากฯ และส่วนที่เหลืออีก 3% ส่งเข้ากองทุนสำนักงานสลากเพื่อพัฒนาสังคม แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ทั้ง 2 รายการนี้ หากใช้จ่ายเงินไม่หมด เหลือต้องส่งเข้าคลัง

    ปรากฏว่าในปีนี้สำนักงานสลากฯ มีรายได้จากการจำหน่ายสลากฯ ทั้งสิ้น 51,760 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 3,440 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7% รายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังไม่น้อยกว่า 20% คิดเป็นเงิน 12,682 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 848 ล้านบาท หรือลดลง 6.27%, จัดสรรเงินรายได้จากการขายสลากฯ มาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารและจัดจำหน่ายของสำนักงานสลากฯ ไม่เกิน 17% คิดเป็นเงิน 7,343 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 1,545 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27% และจัดสรรเข้ากองทุนสำนักงานสลากฯ 3% ตามคำสั่ง คสช. ที่ 11/2558 คิดเป็นเงิน 679 ล้านบาท ปรากฏว่า 2 รายการหลังใช้ไม่หมด สำนักงานสลากฯ มีรายได้เหลือ นำมารวมกับส่วนของเงินที่ไม่มีผู้มารับรางวัลเกินกำหนด 2 ปี ดอกเบี้ยรับ และเงินนำส่งคลังล่วงหน้า รวมเป็นเงินกว่า 2,700 ล้านบาท ในปีนี้สำนักงานสลากฯ จึงนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดิน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,432 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 120.76 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.79%

    ปี 2559 สำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากเพิ่ม 2 ครั้ง ในงวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 พิมพ์สลากออกขายทั้งสิ้น 60 ล้านฉบับ งวดวันที่ 30 ธันวาคม 2559 เพิ่มเป็น 65 ล้านฉบับ ปีนี้สำนักงานสลากฯ มีรายได้จากการขายสลาก 104,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 52,640 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 102% และนำส่งเงินรายได้ให้กับกระทรวงการคลังรวมทั้งสิ้น 25,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10,486 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 68%

    ปี 2560 พิมพ์สลากเพิ่ม 2 ครั้ง ในงวดวันที่ 17 มกราคม 2560 พิมพ์สลากฯ ออกขายทั้งสิ้น 68 ล้านฉบับ งวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 เพิ่มเป็น 71 ล้านฉบับ มีรายได้จากการขายสลากฯ ทั้งสิ้น 128,720 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 24,320 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23% และนำส่งเงินรายได้เข้าคลัง 30,948 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5,029 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19%

    ปี 2561 พิมพ์สลากเพิ่ม 4 ครั้ง เริ่มในงวดวันที่ 16 เมษายน 2561 พิมพ์สลากออกขายรวมทั้งสิ้น 80 ล้านฉบับ งวดวันที่ 1 สิงหาคม 2561 เพิ่มเป็น 87 ล้านฉบับ และงวดวันที่ 16 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไปพิมพ์สลากออกขายงวดละ 90 ล้านฉบับ ปีนี้สำนักงานสลากฯ มีรายได้จากการขายสลากฯ รวมทั้งสิ้น 155,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 26,320 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20% และนำส่งเงินรายได้เข้าคลัง 40,850 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9,903 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 32%

    จากมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคา โดยการเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลาก ปัจจุบันสำนักงานสลากฯ กลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ให้กับกระทรวงการคลังมากที่สุด จากเดิมในปีงบประมาณ 2558 อยู่ในอันดับที่ 4 รองจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 3 ในปีงบประมาณ 2561 สำนักงานสลากฯ ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 นำส่งรายได้เข้าคลัง 40,850 ล้านบาท อันดับที่ 2 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งรายได้เข้าคลัง 20,784 ล้านบาท, อันดับที่ 3 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ส่งรายได้เข้าคลัง 17,519 ล้านบาท อันดับที่ 4 ธนาคารออมสิน ส่งรายได้เข้าคลัง 17,309 ล้านบาท อันดับที่ 5 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นำส่งรายได้เข้าคลัง 11,793 ล้านบาท

  • แก้กฎหมายหวย ให้อำนาจบอร์ดฯ ออกสลากรูปแบบใหม่ – แจกรางวัล “แจ๊กพอต” – ยุบเลิกกองทุนสลากฯ พับเงินเข้าคลัง
  • ปี 2562 หากสำนักงานสลากฯ มีรายได้จากการขายสลากเพิ่มขึ้น 20% พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ในปี 2562 คาดว่าปีนี้สำนักงานสลากฯ จะมีรายได้นำส่งคลังไม่น้อยกว่า 23% คิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 42,791 ล้านบาท

    จากการดำเนินมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งปรับลดรายได้นำส่งคลัง เพิ่มเป็นส่วนลดให้ผู้ค้าสลาก รื้อโควตาสลาก ไม่ต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนพิการ เปิดช่องการการจัดสรรสลากโดยตรงผ่านธนาคารกรุงไทย เพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากออกขายงวดละ 90 ล้านฉบับ กวดขันจับกุมผู้ที่ขายสลากเกินราคา รวมทั้งแก้กฎหมายสลาก เพิ่มอำนาจบอร์ดออกสลากรูปแบบใหม่พ่วงรางวัลแจ๊กพอต

    แต่ทุกๆ งวดก็ยังมีพ่อค้าคนกลางไปรวบรวมสลากจำนวนมากมาจัดชุดขาย ปั่นราคา ขายกันใบละ 90-120 บาทกันอย่างแพร่หลายอยู่เหมือนเดิม

    นี่คือปรากฏการณ์เล่นปาหี่ของรัฐบาลคสช.