ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ผลิตไฟฟ้าร้องศาลปกครอง เบรกซื้อ “ไฟฟ้าสีเขียว” 5,000 เมกะวัตต์

ผู้ผลิตไฟฟ้าร้องศาลปกครอง เบรกซื้อ “ไฟฟ้าสีเขียว” 5,000 เมกะวัตต์

12 มีนาคม 2023


ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกว่า 10 ราย ร้องศาลปกครอง สั่ง กกพ. ยุติโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอัตราคงที่ 5,203 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ “Feed-in Tariff” ชี้กระบวนการคัดเลือกอาจไม่โปร่งใส ติดปัญหาด้านเทคนิค ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ ทำให้ภาคเอกชนใช้ไฟฟ้าสีเขียวราคาแพง แนะเปิดประมูลแข่งขันกันเสนอราคาตามกลไกตลาด ขณะที่เลขาธิการ กกพ. ยืนยัน ขั้นตอนการรับซื้อไฟฟ้าถูกต้องตามกฎหมาย

หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 กำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็น ก๊าซชีวภาพ 335 เมกะวัตต์, พลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 1,000 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2,368 เมกะวัตต์ ซึ่งการรับซื้อครั้งนี้มีการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าแต่ละประเภทในอัตราคงที่ (FiT) ดังนี้ 1. ไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซชีวภาพ รับซื้อหน่วยละ 2.07 บาท 2. ไฟฟ้าพลังงานลมรับซื้อหน่วยละ 3.01 บาท 3. ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้น รับซื้อหน่วยละ 2.01 บาทและ 4. ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แบบ Hybrid รับซื้อ หน่วยละ 2.83 บาท

การประกาศรับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้มีผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (VSPP) ยื่นข้อเสนอ RE- Proposal ผ่านเว็บไซต์ กกพ.จำนวนทั้งสิ้น 670 ราย ปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขาย 17,400 เมกะวัตต์ โดยปรากฏว่ามีผู้ผลิตไฟฟ้าเข้ารอบผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ 550 ราย (รวมผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ 27 ราย) และผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคขั้นต่ำ 318 ราย ปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขาย 7,729 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือ 230 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก

ปรากฏว่ามีกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าที่ไม่ผ่านการคัดเลือกจำนวนกว่า 10 ราย เห็นว่าเงื่อนไขการเปิดรับข้อเสนอรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรม จึงได้ทำเรื่องร้องเรียนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต่อมาได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ยุติการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT กำลังการผลิต 5,203 เมกะวัตต์ และขอให้ กกพ.ใช้วิธีประมูล เปิดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าแข่นขันกันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม

เปิดปมร้องศาลปกครองยุติ “โครงการซื้อไฟฟ้าสีเขียว”

แหล่งข่าวจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายหนึ่งได้กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องร้องศาลปกครอง เพื่อขอให้ยุติการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนว่า การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่กำหนดราคาซื้อ-ขายในอัตราคงที่ครั้งนี้ ไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์การคัดเลือกให้ผู้ยื่นข้อเสนอได้รับทราบล่วงหน้ามาก่อน โดยมีคณะอนุกรรมการคัดเลือกโครงการที่ กกพ. แต่งตั้งเป็นผู้พิจารณาให้คะแนน ถามว่าการพิจารณาคัดเลือกในลักษณะนี้ อาจนำไปสู่การใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคัดเลือกมากเกินไปหรือไม่

“การเปิดรับซื้อไฟฟ้ารอบนี้ ถือเป็นเรื่องที่แปลกที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย กล่าวคือ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลใช้วิธีเปิดประมูล แข่งขันกันเสนอราคา หลังจากผู้ยื่นข้อเสนอผ่านการพิจารณาทั้งคุณสมบัติ และทางด้านเทคนิคสามารถทำได้ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใดเสนอราคามาต่ำสุดเป็นผู้ชนะ ก่อนทำสัญญากับการไฟฟ้าก็จะต้องวางหลักประกัน ใครทำไม่ได้ก็ยึดเงินประกัน ซึ่งแตกต่างจากวิธีการรับซื้อไฟฟ้าที่การกำหนดราคาในอัตราคงที่ ถามว่าสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ กกพ. รู้ได้อย่างไรว่า การตั้งราคารับซื้อไฟฟ้าตามประกาศของ กกพ. เป็นราคาที่ถูกที่สุด เพราะไม่ได้เปิดให้เอกชนเข้ามาเสนอราคาแข่งขันกัน” แหล่งข่าวจากผู้ผลิตไฟฟ้ากล่าว

แหล่งข่าวจากผู้ผลิตไฟฟ้าได้ตั้งข้อสังเกตว่า การเปิดรับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้ อาจไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาล ที่ต้องซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนราคาถูกไปช่วยภาคเอกชนที่ต้องการใช้ “ไฟฟ้าสีเขียว” ส่งสินค้าไปขายต่างประเทศมีต้นทุนต่ำลง แต่กลับใช้วิธีการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าขึ้นมา ซึ่งไม่รู้ว่าถูกหรือแพง เพราะไม่มีการเปิดประมูล ไม่มี TOR ไม่ประกาศหลักเกณฑ์การให้คะแนน

จึงมีคำถามตามมาว่า กระบวนคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอในแบบนี้มีความโปร่งใส และเปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอหรือไม่

เนื่องจากมีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนหลายรายที่ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ เพราะการเขียนรายละเอียดผิดพลาดไปเล็กน้อย เช่น ในขั้นตอนการขึ้นทะเบียน ต้องระบุว่า “เป็นผู้ประกอบการที่ซื้อขายไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์” แต่ปรากฏว่ามีผู้ผลิตไฟฟ้ารายหนึ่งไประบุว่า “เป็นผู้พัฒนา และขายเทคโนโลยีแสงอาทิตย์” จึงไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ ทั้งๆ ที่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายนี้ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งได้รับอนุญาตจาก กกพ.ใ ห้ซื้อขายไฟฟ้าได้ ล่าสุด ผู้ผลิตไฟฟ้ารายดังกล่าวนี้ก็ได้ทำหนังสือโต้แย้ง กกพ. ไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการกำหนดระยะเวลาเปิดรับเอกสารข้อเสนอ ที่กำหนดเวลาเอาไว้สั้นมาก ไม่ยืดหยุ่น รวมทั้งการจัดส่งเอกสาร ต้องจัดส่งเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และต้องยื่นผ่านทางออนไลน์เท่านั้น กกพ. ไม่รับยื่นเอกสารเป็นกระดาษ เมื่อผู้ผลิตไฟฟ้าที่สนใจเข้ามายื่นเอกสารข้อเสนอเป็นจำนวนมาก ทำให้กระบวนการดาวน์โหลดเกิดความล่าช้า จนทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าบางรายจัดส่งเอกสารไม่ครบถ้วน บางรายจะส่งเอกสารเพิ่มเติม แต่ระบบกลับปิดไม่ให้ดาวน์โหลดส่งเอกสารเพิ่มเติม ทั้งๆ ที่ยังไม่หมดเวลายื่นข้อเสนอ

ยกตัวอย่าง กรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งข้อมูลสายส่งมาให้ล่าช้า ทำให้กระบวนการจัดเตรียมเอกสารเกิดความล่าช้า โดยเฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ต้องใช้พื้นที่เป็นจำนวนมากในการติดตั้งเสากังหันลม เนื่องจากต้องเว้นระยะห่างของแต่ละเสาตามที่กฎหมายกำหนด หลังจากได้ข้อมูลสายส่งของ กฟผ. มาแล้ว ก็นำโฉนดที่ดินเป็นจำนวนมากมาสแกนเป็นไฟล์ PDF พร้อมกับแผนที่ของที่ตั้งโครงการ แย่งกันดาวน์โหลดข้อมูลเป็นจำนวนมากเข้าสู่ระบบของ กกพ. พร้อมกันกับผู้ผลิตไฟฟ้าประเภทอื่นๆ กันในช่วงเวลาใกล้ปิดรับการยื่นเอกสารข้อเสนอ ปรากฏว่าเครื่องคอมพิวเตอร์หมุน ดาวน์โหลดไม่ได้ หลายบริษัทส่งข้อมูลเท่าที่ส่งได้ไปก่อน โดยคาดหวังว่าจะมายื่นเอกสารเพิ่มเติมภายหลัง แต่ กกพ. ไม่รับเอกสารที่เป็นกระดาษ จึงมีผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาเป็นจำนวนมาก

จากปัญหาตามที่กล่าวข้างต้น จึงมีผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกว่า 10 ราย ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการรับซื้อไฟฟ้าในครั้งนี้ ด้วยคิดว่าอาจไม่โปร่งใสในการใช้ดุลยพินิจพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอ ทำให้รัฐไม่ได้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกที่สุด ตามเจตนารมณ์ของการรับซื้อไฟฟ้าในครั้งนี้ รวมตัวกันไปร้องศาลปกครอง ขอให้ยุติการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยใช้วิธีการเปิดประมูลอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

“ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่ภาคเอกชนขอให้รัฐบาลรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนโดยใช้วิธีประมูล เสนอราคาเข้ามาแข่งขันกัน ใครเสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะ แต่ถ้ามีหลายบริษัทเสนอราคามาเท่ากัน ก็พิจารณาคุณสมบัติเป็นรายๆ ไปว่า บริษัทไหนมีความเหมาะสม แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมกระทรวงพลังงานไม่อยากเปิดประมูล ไม่รู้ว่ากลัวอะไร” แหล่งข่าวจากผู้ผลิตไฟฟ้ากล่าว

ด้านนายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ถึงปัญหาการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่อาจจะไม่โปร่งใสเป็นธรรม โดยขณะนี้ได้เตรียมข้อมูลปัญหาทั้งหมดเข้าหารือกับ กกพ. เป็นการเร่งด่วน แต่ กกพ. ยังไม่ตอบตกลงว่าวันไหน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

กกพ. ยัน เปิดรับซื้อไฟฟ้าถูกต้องตาม กม.

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. ได้ชี้แจงกรณีผู้ผลิตไฟฟ้ายื่นศาลปกครองเนื่องจากเห็นว่าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT อาจจะไม่โปร่งใส ว่า กรณีที่บอกว่า โหลดข้อมูลช้า และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งข้อมูลสายส่งให้ช้านั้น กกพ. ได้ขยายเวลาในวันที่ไปยื่น กฟผ.ให้แล้ว เรื่องนี้จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ส่วนกรณีที่กบุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าบอกว่า การรับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้ ไม่มีการประกาศเกณฑ์การให้คะแนนและคุณสมบัติที่ชัดเจนนั้น นายคมกฤชยืนยันว่ามีการประกาศเกณฑ์คะแนนและคุณสมบัติ โดยให้อธิบายเป็นภาพรวมว่ามีอะไรเท่าไหร่ ต้องทำอย่างไร โดยเฉพาะระเบียบทางด้านเทคนิค ผู้ผลิตไฟฟ้าต้องแสดงให้เห็นว่าดำเนินการได้ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้มีการประกาศเอาไว้ชัดเจน การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนครั้งนี้ เป็นการใช้อำนาจ ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน 2550

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กกพ. ได้ชี้แจงถึงสาเหตุที่ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงาน 230 โครงการไม่ผ่านการพิจารณามาจาก 5 ประการ มีรายละเอียดดังนี้

    1) ไม่ผ่านความพร้อมด้านพื้นที่จำนวน 210 โครงการ โดยโครงการติดปัญหาเรื่องผังเมือง 146 โครงการ มีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองอีก 111 โครงการ เช่น ยื่นเอกสารสิทธิที่ดินไม่ครบ, ไม่มีเอกสารแสดงตัวตนของเจ้าของที่ดิน, ลงนามในสัญญาไม่ถูกต้อง, ไม่มีหนังสือแจ้งตั้งผู้จัดการมรดก เป็นต้น และติดเรื่องผังรวมแปลง 15 โครงการ เช่น ไม่แนบผังต่อโฉนด, แนบมาไม่ตรง, แนบไม่ครบ, ไม่ได้ระบุเลขที่และขนาดที่ดิน เป็นต้น

    2) ด้านเทคโนโลยี 23 โครงการ เช่น ไม่พบเอกสาร Plant Layout หรือ ข้อมูลใน SLD ไม่สอดคล้องกับข้อมูลด้านเทคนิค ไม่มีวิศวกรไม่ลงนามในแบบ Plant Layout และไม่มีสำเนาใบอนุญาตของวิศวกรผู้รับรอง

    3) สาเหตุติดปัญหาด้านเชื้อเพลิง 6 โครงการ เช่น ไม่มีรายงานประเมินความสามารถในการผลิตไฟฟ้า

    4) ปัญหาด้านการเงิน 26 โครงการ เช่น ยื่นหนังสือสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์ไม่ชัดเจน บางรายไม่ได้แนบหนังสือสนับสนุนทางการเงิน ไม่ได้ระบุวงเงินในการสนับสนุน และบางรายก็ไม่มีหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ

    5) สาเหตุจากการดำเนินงาน คือ ไม่ระบุแผนการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมี 1 โครงการ

อย่างไรก็ตาม มีผู้ผลิตไฟฟ้าที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ 318 โครงการจำนวน 7,729.08 เมกะวัตต์ กกพ.จะสรุปผลการพิจารณาภายในเดือนมีนาคม 2566

นายกฯ เคาะซื้อไฟฟ้าสีเขียวเพิ่ม 3,668 เมกะวัตต์

หลังจากเกิดประเด็นข้อพิพาท ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ได้มีมติรับทราบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2) โดยมีปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมได้ ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 2,632 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 6.5 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 30 เมกะวัตต์ คิดเป็นปริมาณรับซื้อเพิ่มเติมรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ รวมทั้งมีมติเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 ซึ่งจะเป็นการรับซื้อต่อเนื่องจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอเช่นกัน

  • นายกฯ เคาะซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก 3,668 MW ยันไม่มี “ค่าพร้อมจ่าย” – ดันไฟฟ้าสำรองเพิ่ม
  • ชำแหละค่าไฟฟ้า 4.72 บาท/หน่วย (2) สัญญาทาส – ค่าพร้อมจ่าย ใครได้บ้าง?
  • ชำแหละค่าไฟฟ้า 4.72 บาท/หน่วย (1) เราจ่ายค่าอะไรบ้าง?
  • ‘ปอกเปลือกหัวหอม’ ความไม่เป็นธรรมที่ซุกในบิลค่าไฟ(แพง)
  • ทางเลือกและข้อจำกัดในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้า (1)
  • กกพ.หั่น “ค่าไฟ” ช่วยภาคธุรกิจลง 35 สตางค์ – เลื่อนใช้หนี้ กฟผ.กว่าแสนล้านบาท เป็น 3 ปี
  • “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” แจงขึ้นค่าไฟทุกข้อกล่าวหา