สนพ. เพิ่มเงื่อนไขการคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าสีเขียว 3,668 เมกะวัตต์ – กำหนดสเป็คผู้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้า ต้องไม่เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กกพ.-กพช.-พลังงาน-หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง กันกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ากว่า 10 ราย ที่ฟ้องศาลปกครอง ขณะที่สภาอุตฯ เตรียมนัด สนพ.-กกพ. เจรจาหาทางออก
หลังผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนกว่า 10 ราย ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ในช่วงปี 2565-2573 กำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์ ด้วยคิดว่าอาจจะไม่โปร่งใสในการใช้ดุลยพินิจพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอ ทำให้รัฐไม่ได้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกที่สุด ตามเจตนารมณ์ของการรับซื้อไฟฟ้าในครั้งนี้ จึงรวมตัวกันไปร้องศาลปกครอง ขอให้ยุติการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งเสนอให้เปลี่ยนใช้วิธีการประมูลอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ครั้งที่ 4/2566 (ครั้งที่ 60) ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบ “หลักการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ FiT ปี 2565-2573 และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ อาจทบทวนปริมาณเชื้อเพลิงรายปีที่กำหนดไว้ได้ ตามสถานการณ์ หรือ ศักยภาพที่เหมาะสม หรือ ปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) ได้ โดยมอบให้ กบง. พิจารณา”
ชง กพช. ไฟเขียวซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเพิ่ม 3,668 เมกะวัตต์
ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติตามข้อเสนอของที่ประชุม กบง. ผ่านความเห็นชอบโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมในรูปแบบ FiT ปี 2565-2573 เพิ่มเติมอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ ต่อเนื่องจากโครงการที่แล้ว (5,203 เมกะวัตต์) ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 2,632 เมกะวัตต์, พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์, ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 6.5 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 30 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ เนื่องจากการการรับซื้อไฟฟ้าในรอบที่ผ่านมา มีผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (VSPP) ที่สนใจยื่นข้อเสนอ RE Proposal เข้ามาเป็นจำนวนมาก และเนื่องจากการเปิดรับข้อเสนอมีข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาการยื่นข้อเสนอ และเกิดข้อผิดพลาดด้านเทคนิคในการดาวน์โหลดเอกสารจำนวนมากส่งเข้าระบบออนไลน์ของ กกพ. ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์หรือตกหล่น ทำให้มีผู้ยื่นข้อเสนอไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติและเทคนิคขั้นต่ำเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ดังนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เสนอขายไฟฟ้ารอบแรกที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ ได้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม 3,668.5 เมกะวัตต์ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จึงนำเสนอหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเงื่อนไขการเข้าร่วมยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบที่ 2 เพิ่มเติมอีก 3,668 เมกะวัตต์ ให้ที่ประชุม กบง. และที่ประชุม กพช. เห็นชอบตามลำดับ โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้
1. ผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม ต้องเป็นผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (pass/fail) หรือไม่ได้รับการคัดเลือกภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนในข้อ 1.4 ซึ่งเป็นการรับซื้อตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ.2564-2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก กบง.เมื่อวันวันที่ 29 เมษายน 2565
2. ผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม ต้องใช้หนังสือแสดงผลการตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากฉบับเดิม ที่ได้ใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าภายใต้ประกาศเชิญชวนในข้อ 1.4
3. ผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม สามารถเปลี่ยนแปลงปริมาณไฟฟ้าเสนอขายได้ แต่ต้องไม่สูงเกินกว่าปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขาย ตามคำเสนอขายไฟฟ้าที่ได้ยื่นไว้ภายใต้การประกาศเชิญชวนในข้อ 1.4 ทั้งนี้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเชื้อเพลิงที่ตั้งโครงการ จุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า ระดับแรงดันที่เชื่อมต่อ และรูปแบบการเชื่อมต่อ ตามที่ระบุในหนังสือแสดงผลการตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าฉบับเดิมได้
4. ผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม ต้องไม่เกี่ยวข้อง (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) หรือมีสถานะเป็นผู้เรียกร้อง ผู้ร้องเรียน ผู้อุทธรณ์ ผู้ฟ้องร้อง หรือผู้ร้องสอดให้หน่วยงานภาครัฐ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนในข้อ 1.4 ซึ่งหมายรวมถึง กพช., กกพ. และกระทรวงพลังงานต้องรับผิดในทางวินัย ทางแพ่ง ทางอาญา และ/หรือทางปกครอง จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวโดยผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจะต้องยืนยันความไม่เกี่ยวข้อง หรือยืนยันสถานะดังกล่าวได้ตลอดเวลา
สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมในครั้งนี้จะรับซื้อในอัตราคงที่ (FiT) ตลอดอายุสัญญา 20-25 ปี แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ตามมติ กพช.วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) รับซื้อหน่วยละ 2.0724 บาท อายุสัญญา 20 ปี, พลังงานลม รับซื้อหน่วยละ 3.1014 บาท อายุสัญญา 25 ปี, พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้น รับซื้อหน่วยละ 2.1679 บาท อายุสัญญา 25 ปี หากเป็นโครงการในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ได้ FiT premium อีกหน่วยละ 0.50 บาท
2.กลุ่มขยะอุตสาหกรรม ตามมติ กพช. วันที่ 22 มิถุนายน 2565 กำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ รับซื้อหน่วยละ 6.08 บาท อายุสัญญา 20 ปี โดยช่วง 8 ปีแรก ได้รับ FiT premium เพิ่มอีกหน่วยละ 0.70 บาท และถ้าเป็นโครงการในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ, อำเภอเทพา, อ้าเภอสะะบ้าย้อย และอ้าเภอนาทวี ได้ FiT premium เพิ่มอีกหน่วยละ 0.50 บาท
โดยการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมรอบนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในระบบไฟฟ้าของประเทศ ยืนยันไม่มีค่าความพร้อมจ่าย (AP) ไม่เพิ่มระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองให้สูงขึ้น ราคาถูก และไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน นอกจากนี้ การเปิดซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดยังช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซ CO2 ตามเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศในปี 2573 (NDC) ได้ รวมทั้งช่วยสนับสนุนการจัดทำอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกภาคเอกชนต่อไป
ก่อนหน้านี้ นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ได้ทำ หนังสือถึงนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. เพื่อขออนุญาตเข้าพบ และหารือในประเด็นปัญหาตามที่กล่าวข้างต้น เพื่อนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันต่อไป
อ่านหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมที่นี่