ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อมังกรผงาดในวงการทูตโลก!!

เมื่อมังกรผงาดในวงการทูตโลก!!

7 เมษายน 2023


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

หวัง อี้ ที่มาภาพ : http://ph.china-embassy.gov.cn/eng/chinew/202302/t20230220_11027395.htm

เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา โลกตกตะลึงเมื่อ ฯพณฯ หวัง อี้ หนึ่งในโปลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและนักการทูตอาวุโสที่สุดของจีน ได้ถ่ายรูปร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย พร้อมกับเอกสารที่ทั้งสองประเทศซึ่งเป็นอริต่อกันเป็นเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษ ทั้งอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ตกลงพร้อมใจกันที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเหมือนเดิม ภายหลังจากที่ได้มีการประชุมร่วมกันมาที่กรุงปักกิ่งถึง 4 วัน เหตุการณ์นี้ไม่มีนักการทูตคนใดคาดกันมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นได้ โดยที่มีจีนเป็นกาวใจ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นระหว่างการประชุมประจำปีครั้งที่ 14 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้รับการเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์

  • หวัง อี้ จาก “การทูตนักรบหมาป่า” สู่ผู้สร้างสันติภาพระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่าน
  • เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลกรุงเตหะรานและรียาดนั้น แม้ว่าจะเป็นประเทศมุสลิมด้วยกัน แต่มีเรื่องขัดแย้งและได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตมาไม่ต่ำกว่า 7 ปี ต่างฝ่ายต่างถือหางคู่อริในสงครามกลางเมืองในประเทศเยเมน ซีเรีย และเลบานอน ซึ่งเตหะรานถือว่าซาอุดีอาระเบียสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลซึ่งมีรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหนุนหลังมาตลอด และเมื่อซาอุดีอาระเบียสานสัมพันธ์ไมตรีกับอิสราเอล ซึ่งเป็นศัตรูตัวร้ายของอิหร่านในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ด้วยแล้ว การสานสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย

    ความขัดแย้งระหว่างนิกายชีอะห์และซุนนีระหว่างทั้งสองประเทศยังมีบทบาทสำคัญในสงครามอิหร่าน-อิรัก เมื่อทางการซาอุดีอาระเบียให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน ในอิรักเป็นมูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สมัยที่อิรักรุกรานอิหร่านโดยการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา ทำให้ซาอุดีอาระเบียกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพในภูมิภาค ดังนั้น การสนับสนุนทางการเงินแก่อิรักโดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ที่ “ไม่อบอุ่น” ระหว่างผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายบาธในอิรักและซาอุดีอาระเบียที่อนุรักษนิยม

    ในการทำเช่นนั้น ซาอุดีอาระเบียมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งที่ว่า อิหร่านที่ปฏิวัติแล้วเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่กว่ามากต่อการอยู่รอดและเสถียรภาพของภูมิภาค ซาอุดีอาระเบียสนับสนุนให้กษัตริย์ที่นับถือนิกายซุนนีแห่งรัฐอาหรับแห่งอ่าวเปอร์เซีย รวมทั้งคูเวต บาห์เรน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จึงเป็นอริกับแนวคิดปฏิวัติรัฐอิสลามของอิหร่านอย่างมาก ซาอุดีอาระเบียจึงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อิรักเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในสงคราม ทำให้ซาอุดีอาระเบียต้องเพิ่มการผลิตน้ำมันอย่างมาก การผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของซาอุดีอาระเบียมีเป้าหมายเพื่อลดทอนความสามารถของอิหร่านในการหาทุนสนับสนุน อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ของซาอุดีอาระเบียยังทำให้รัฐบาลซาอุฯ ต้องสูญเสียรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงจากกว่า 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเหลือต่ำกว่า 15 ดอลลาร์ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523-2533) แต่เป็นผลดีกับสหรัฐอเมริกา

    ในช่วงสงครามอิหร่าน-อิรักนั้นเอง อิหร่านส่งเครื่องบินรบเข้าในน่านฟ้าของซาอุดีอาระเบีย และยังขู่ว่าหากซาอุดีอาระเบียและคูเวตยังสนับสนุนอิรักอยู่จะได้รับผลร้ายแรง แต่จะปลอดภัยเมื่อเลิกสนับสนุนอิรัก ซาอุดีอาระเบียแตกต่างจากอเมริกา เนื่องจากวัฒนธรรมอาหรับ-เบดูอินแบบดั้งเดิม จึงไม่ทำลายความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านแม้ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของความตึงเครียดหลังการปฏิวัติและระหว่างสงครามอิหร่าน-อิรัก

    เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เครื่องบินรบของอิหร่านได้กำหนดเป้าหมายไปยังเรือบรรทุกน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย การกระทำนี้ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียดำเนินการป้องกันทางอากาศในภูมิภาคเพื่อสกัดกั้นเครื่องบินรบของอิหร่าน ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2527 เครื่องบินรบ F-4 ของอิหร่านสองลำได้รุกล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของซาอุดีอาระเบีย โดยมีรายงานว่าเพื่อทิ้งระเบิดใส่เรือบรรทุกน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย ฝ่ายกองทัพอากาศของซาอุดีอาระเบียจึงสกัดกั้นและยิงเครื่องบินรบของอิหร่านและยิง F-4 ทั้งสองลำของอิหร่านตก

    หากอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียเป็นมิตรกับได้เมื่อใด สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะหมดไป สันติภาพในดินแดนนี้จะเกิดขึ้นทันที

    ในปีสองสามปีที่ผ่านมาประเทศที่ออกมาเป็นกาวใจสานสัมพันธ์อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบียคือ อิรัก ซึ่งเป็นฝ่ายที่พยายาม โดยจัดประชุมถึง 5 รอบ เพื่อทำให้สองประเทศคู่อรินี้คืนดีกันให้ได้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ความพยายามดังกล่าวได้รับการเห็นด้วยจากสหรัฐอเมริกา เลขาธิการสหประชาชาติ และกลุ่มประเทศที่นับถืออิสลาม อันได้แก่ โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ ปากีสถาน และอินโดนีเซีย ยกเว้นนายกรัฐมนตรีอิสราเอลที่ออกมาวิจารณ์ความพยายามดังกล่าวว่า “ไม่ก่อผลดี” ที่ทั้งสองประเทศจะฟื้นฟูข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง การค้า และวัฒนธรรม ภายใต้ข้อตกลงทั้งสองประเทศตกลงที่จะเคารพอธิปไตยของอีกฝ่ายหนึ่ง และไม่แทรกแซงกิจการภายในของอีกฝ่าย

    อิหร่านเองถูกประเทศทางตะวันตกซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรมาตลอด เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำ แม้มีน้ำมันอยู่มากแต่ก็ไม่อาจขายได้โดยเสรี ทั้งยังตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาตลอดมาว่าประเทศของตนพยายามที่จะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ และเป็นเป้าหมายการโจมตีของอิสราเอลมาตลอด อิหร่านเองได้อธิบายว่าโครงการปรมาณูของตนนั้นเป็นไปเพื่อสันติและไม่เคยคิดที่จะสร้างระเบิดนิวเคลียร์เลย ความสัมพันธ์ของอิหร่านกับประเทศต่างๆ ในอ่าวเปอร์เซียจึงอยู่ในวงจำกัดอย่างมาก เต็มไปด้วยความร้าวฉาน มิตรประเทศที่ตนคบค้าอยู่ได้จึงมีไม่กี่ประเทศ เช่น จีนและรัสเซีย ซึ่งยูเครนและสหรัฐอเมริกาได้กล่าวหาอิหร่านมาตลอดว่า ขายโดรนแก่รัสเซียเพื่อทำสงครามในยูเครน

    แต่อิหร่านในปี พ.ศ. 2566 ไม่เหมือนอิหร่านในอดีตซึ่งมีรายได้เกือบทั้งหมดมาจากน้ำมันดิบ ในต้นปีนี้อิหร่านเพิ่งพบแหล่งธาตุลิเทียมซึ่งมีปริมาณมากเป็นอันดับสองของโลก ทำให้ประเทศที่เคยออกมาเรียกร้องให้คว่ำบาตรอิหร่านต้องสงบปากสงบคำ

    เพราะลิเทียมเป็นธาตุที่สำคัญยิ่งในการสร้างแบตเตอรี โดยเฉพาะเมื่อโลกต้องหันมาใช้พลังงานไฟฟ้า แบตเตอรีลิเทียมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรถยนต์ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ลิเทียมมีความจำเป็นอย่างมากในการสร้างเมืองในอนาคตของซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Vision 2030 ของมงกุฎราชกุมารมุฮัมหมัด บิน ซัลมาน (MBS)

    ความระหองระแหงระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียนั้นมีมาตลอด และแย่ลงมากขึ้นอีกโดยเฉพาะหลังจากการปฏิวัติอิหร่าน โครงการนิวเคลียร์ แผนลอบสังหารผู้นำทางการเมืองของอิหร่านที่ตกเป็นข่าวใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 และล่าสุดเมื่อซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตอิหม่ามนิมร์ อัล-นิมร์ ผู้นำอิสลามนิการชีอะห์ แม้จะมีความพยายามมากมายในการปรับปรุงความสัมพันธ์ หลังสงครามอ่าวในปี พ.ศ. 2534 ความสัมพันธ์ของประเทศอาหรับกับอิหร่านเริ่มถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 ประธานาธิบดีอามาดิเนจาดแห่งอิหร่านเดินทางเยือนกรุงริยาดและได้รับการต้อนรับจากกษัตริย์อับดุลลาห์ที่สนามบิน และสื่อทั้งสองประเทศเรียกประเทศนี้ว่า “พี่น้องร่วมชาติ”

    หลังจากเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 การสนับสนุนทางการเงินและการทหารของอิหร่านต่อซีเรียในช่วงสงครามกลางเมืองซีเรียเป็นที่ประจักษ์ต่อสื่อมวลชนทั่วโลก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เพราะซาอุดีอาระเบียให้การสนับสนุนฝ่ายกบฏต่อต้านประธานาธิบดีอาซาด ซึ่งอิหร่านเห็นว่าซาอุดีอาระเบียรับใช้อเมริกา ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2559 สถานทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงเตหะรานประเทศอิหร่านถูกรื้อค้นอันเป็นผลมาจากที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ประหารชีวิตอิหม่ามนิมรัลนิมร์ (Nimr al-Nimr) ผู้นำศาสนานิกายชีอะห์ในกรุงริยาด

    การประหารชีวิตดังกล่าวทำให้ชาวอิหร่านซึ่งส่วนใหญ่นับถือนิการชีอะห์โกรธแค้นอย่างมาก และก่อให้เกิดเสียงประณามอย่างกว้างขวางในโลกอาหรับ แม้ในประเทศอื่นๆ นอกจากอิหร่านก็เช่นกัน เช่น สหภาพยุโรปและสหประชาชาติ โดยมีการประท้วงในเมืองต่างๆ ของอิหร่าน อิรัก อินเดีย เลบานอน ปากีสถาน และตุรกี นำมาซึ่งการโจมตีสถานทูตซาอุดีอาระเบียในอิหร่าน ทำให้ซาอุดีอาระเบียประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านอย่างเป็นทางการ และรัฐมนตรีต่างประเทศของซาอุดีอาระเบียสั่งให้นักการทูตอิหร่านทั้งหมดจะต้องออกจากประเทศของตนภายใน 48 ชั่วโมง

    ความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองทำให้ทั้งสองประเทศแตกแยกกันอย่างมาก สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านยึดหลักการปกครองของนิติศาสตร์อิสลาม ซึ่งถือว่าฟากีห์ (กฎหมายอิสลาม) ควรมีอำนาจปกครองเหนือผู้ติดตามชาวมุสลิมทั้งหมด รวมถึงการปกครองของพวกเขาโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ ผู้นำสูงสุดของอิหร่านคือชีอะฮ์ ฟากีห์ อยาตอลเลาะห์ โอฮาเลาะ โคไมนี ผู้นำการปฏิวัติอิหร่านในปี พ.ศ. 2522 และผู้นำการต่อต้านระบอบการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งเขาเชื่อว่าขัดกับศาสนาอิสลามอย่างสิ้นเชิง

    ความแตกต่างทางความเชื่อทางศาสนาและระบอบการปกครองนั้นเป็นประเด็นความขัดแย้งที่หนักหนาสาหัสแล้ว “เชื้อชาติ” เป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งไปกว่า เพราะชาวอิหร่านนั้นไม่ใช่ “อาหรับ” แต่เป็นชาวเผ่า “อารยัน” คำว่า “อิหร่าน” นั้นมีรากศัพท์มาจากคำว่า “อารยัน” ซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมเดียวกันกับชาวยุโรปและอินเดีย ภาษาของชาวอิหร่านจึงเป็นภาษาตระกูลอินโดยุโรป แม้ว่าอิหร่านจะใช้ตัวอักษรอารบิกก็ตาม

    ระบอบกษัตริย์ของซาอุดีอาระเบียยังคงอนุรักษ์นิยมอย่างต่อเนื่อง ต่อต้านการปฏิวัติอิสลาม และแต่งงานทางการเมืองกับผู้นำศาสนาเก่าแก่ของชนเผ่าที่สนับสนุนระบอบกษัตริย์และกษัตริย์ (คือผู้อารักขาของมัสยิดศักดิ์สิทธิ์สองแห่ง) ได้รับการเชื่อฟังอย่างเด็ดขาด ตราบใดที่เขาไม่ละเมิดกฎหมายอิสลาม อย่างไรก็ตาม ซาอุดีอาระเบียมีชนกลุ่มน้อยที่นับถือนิกายชีอะฮ์ซึ่งได้ร้องเรียนอย่างขมขื่นว่าได้รับการเลือกปฏิบัติทางจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียมาตลอด ในบางช่วงชาวชีอะฮ์เหล่านี้ถึงขั้นเรียกร้องให้มาการปฏิวัติอิสลามล้มล้างสถาบันกษัตริย์และราชวงศ์ของซาอุดีอาระเบียทั้งหมด

    หวัง อี้ (กลาง) ที่มาภาพ : fmprc.gov.cn

    การที่จีนสามารถสานสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศคู่อรินี้ได้ เท่ากับเป็นการตบหน้าผู้นำสหรัฐอเมริกาอย่างแรง

    เพราะเมื่อกลางปี พ.ศ. 2565 นายโจ ไบเดน ได้เดินทางไปกรุงริยาด เขาได้รับการต้อนรับที่เย็นชาจากมกุฎราชกุมารมุฮีมหมัด บิน ซัลมาน ทั้งคู่ไม่ได้มีการจับมือกันแต่ชนกำปั้นกัน และภารกิจที่ผู้นำสหรัฐฯ ต้องการคือเจรจาให้ซาอุดีอาระเบียเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันของตน เพื่อให้ราคาน้ำมันในอเมริการาคาถูกลง การเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งนั้นนายโจ ไบเดน คว้าน้ำเหลวอย่างสิ้นเชิง

    หากเทียบกับเมื่อผู้นำจีนเดินทางไปเยือนกรุงริยาด ทางรัฐบาลซาอุดีอาระเบียให้เกียรติอย่างสูงสุดที่จะให้ได้แก่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นับตั้งแต่ส่งฝูงบินขึ้นคุ้มกันเมื่อเครื่องบินของผู้นำจีนบินเข้าน่านฟ้าของซาอุดีอาระเบีย การตรวจแถวกองเกียรติยศ ตามด้วยการเลี้ยงรับรองอย่างสมเกียรติ โดยที่สี จิ้นผิง พำนักอยู่ในประเทศนี้ถึง 4 วัน และได้ลงนามข้อตกลงระหว่างจีนกับซาอุดีอาระเบียถึง 34 สนธิสัญญา ในระหว่างที่อยู่ที่นั่นผู้นำจีนยังได้เยี่ยมเยือนสถาบันสำคัญๆ ของซาอุดีอาระเบียอีกด้วย

    อันที่จริง ได้มีความพยายามทางการทูตที่จะสานสัมพันธ์ทั้งสองประเทศก่อนจีนเสียอีก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีของปากีสถาน อิมราน ข่าน ผู้นำฝ่ายค้านของปากีสถานเดินทางเยือนสถานทูตอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย และเข้าพบหัวหน้าคณะกรรมาธิการในกรุงอิสลามาบัดเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559 เพื่อทำความเข้าใจจุดยืนของพวกเขาเกี่ยวกับความขัดแย้ง เขาเรียกร้องให้รัฐบาลปากีสถานมีบทบาทเชิงบวกในการแก้ไขปัญหาระหว่างทั้งสองประเทศ

    ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2562 อิรักเองก็ได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพการเจรจาสันติภาพเพื่อให้ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านคืนดีกันเพื่อยุติวิกฤติในภูมิภาค การเจรจาโต๊ะกลมระหว่างสองประเทศเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2564 แม้ว่าผลจะออกมาแตกต่างกันเพราะความไม่เต็มใจของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม อิหร่านระงับการเจรจาสันติภาพกับซาอุดีอาระเบียในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2565 โดยไม่แจ้งเหตุผล

    ขณะนี้ทั้งสองประเทศประกาศเริ่มต้นความสัมพันธ์อีกครั้ง ภายหลังข้อตกลงที่จีนเป็นพ่อสื่อ ข้อตกลงดังกล่าวลงนามโดยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่าน อาลี ชัมคาห์นี และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย มูซาอิด อัล-ไอบัน แถลงการณ์ร่วมทั้งสองประเทศถือหางฝ่ายตรงข้ามของกันและกันลดความรุนแรงลงทันที ในเยเมนฝ่ายรัฐบาลซี่งซาอุดีอาระเบียสนับสนุนกับฝ่ายกบฏซึ่งอิหร่านสนับสนุนเริ่มเจรจาแลกเปลี่ยนเชลยกัน ปัญหาทุพภิกขภัยในประเทศจึงเริ่มผ่อนคลาย

    นอกจากที่ทำให้สองประเทศคู่อริหันมาจับมือกันได้แล้ว ประธานาธิบดีจีนเดินทางไปเยือนกรุงมอสโกเพื่อพบกับประธานาธิบดีปูติน ได้มีการถกกันถึงข้อตกลงสันติภาพในยูเครน ซึ่งจีนเป็นฝ่ายเสนอมา 12 ข้อ ซึ่งอเมริกาเป็นชาติแรกที่ออกมาคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้รัสเซียได้เปรียบ ในขณะที่ประธานาธิบดียูเครนกลับบอกว่าอยากเจรจากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แต่ยังไม่มีการกำหนดวัน

    วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดี รัสเซียและนายหวัง อี้ ในปี 2018

    การที่สี จิ้นผิง เดินทางไปเยือนรัสเซียเป็นประเทศแรกภายหลังจากที่เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สามนั้นมีนัยสำคัญทางการทูตอย่างมาก แม้ว่าผู้นำทั้งสองประเทศจะได้เคยประชุมร่วมกันมากกว่า 40 ครั้งแล้วก็ตาม การประชุมทวิภาคีจีน-รัสเซียในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำถึงมิตรภาพที่ไร้พรมแดนระหว่างทั้งสองประเทศอีกด้วย อิทธิพลของทั้งสองประเทศมหาอำนาจได้ขยายตัวไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา จีนได้เข้าไปลงทุนในประเทศที่ยากจนในทวีปนี้ ในการสร้างสนามบิน ถนนหนทาง สถานีรถไฟ โรงพยาบาล ในซิมบับเว ซึ่งมีปริมาณเม็ดเงินกว่าสองพันล้านเหรียญสหรัฐและเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียก็เดินสายสานสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ ในแอฟริกา แถมยังส่งทหารับจ้างกลุ่มแวกเนอร์ (Wagner) เข้าไปประจำการในหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐแอฟริกากลาง มาลี และลิเบีย

  • จุดแข็งจากโมเดลเศรษฐกิจของจีน ทำให้ “กองทัพพ่อค้าจีน” อพยพออกไปค้าขายทั่วโลก
  • ด้วยความตระหนักในอำนาจและอิทธิพลของจีน-รัสเซีย อเมริกาซึ่งเป็นมหาอำนาจที่แทบจะไม่ให้ความสนใจในทวีปนี้เลย อาจเป็นเพราะลัทธิเหยียดผิว จึงต้องส่งนางกมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ออกเดินสายเยี่ยมผู้นำในทวีปแอฟริกาเป็นการใหญ่ แต่กระนั้นดูเหมือนว่าจะสายเกินแก้ไปเสียแล้ว

    สิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯ หวาดวิตกอยู่ในขณะนี้คือ Shanghai Cooperation Organization (SCO) ซึ่งเป็นองค์กรด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคงระหว่างประเทศและการป้องกันประเทศในเอเชีย เป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของขอบเขตทางภูมิศาสตร์และจำนวนประชากร ครอบคลุมประมาณ 60% ของพื้นที่ยูเรเซีย 40% ของประชากรโลก และมากกว่า 30% ของ GDP ทั่วโลก

    SCO เป็นผู้สืบทอดต่อจาก Shanghai Five ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2539 ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน รัสเซีย และทาจิกิสถาน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ผู้นำของประเทศเหล่านี้และอุซเบกิสถานพบกันที่เซี่ยงไฮ้เพื่อประกาศการจัดตั้งองค์กรใหม่ที่มีความร่วมมือทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

    กฎบัตร SCO ได้รับการลงนามเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2546 นับตั้งแต่นั้นมา สมาชิกภาพได้ขยายเป็นแปดรัฐ โดยอินเดียและปากีสถานเข้าร่วมเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560 หลายประเทศมีส่วนร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์หรือคู่เจรจา

    ภายใต้กฎบัตรนี้ SCO อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหัวหน้าสภาแห่งรัฐ (HSC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด ซึ่งประชุมกันปีละครั้ง

    กลุ่ม Shanghai Five ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2539 โดยมีการลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยความไว้วางใจทางทหารที่ลึกซึ้งในภูมิภาคชายแดนในเซี่ยงไฮ้โดยประมุขแห่งรัฐของจีน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน รัสเซีย และทาจิกิสถาน (ซึ่งสี่ประเทศหลังนี้แตกออกมาจากสหภาพโซเวียด)

    เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2540 ประเทศกลุ่มนี้ได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการลดกำลังทหารในภูมิภาคชายแดนในการประชุมที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน ของรัสเซีย และประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ของจีน ได้ลงนามในคำประกาศว่าด้วย “โลกหลายขั้ว” ซึ่งปฏิเสธสหรัฐอเมริกา เห็นได้ชัดจากการที่อเมริกาพยายามสมัครเข้าองค์กรนี้ แต่ถูกปฏิเสธ

    การประชุมสุดยอดประจำปีของกลุ่ม Shanghai Five เกิดขึ้นที่เมืองอัลมาตี ประเทศคาซัคสถานในปี พ.ศ. 2541 ที่เมืองบิชเคก ประเทศคีร์กีซสถานในปี 2542 และที่เมืองดูชานเบ ประเทศทาจิกิสถานในปี พ.ศ. 2543 ในการประชุมสุดยอดเมืองดูชานเบ สมาชิกตกลงที่จะ “ต่อต้านการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นในเรื่อง เหตุผลของ ‘มนุษยธรรม’ และ ‘การปกป้องสิทธิมนุษยชน’ และสนับสนุนความพยายามของกันและกันในการปกป้องเอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และเสถียรภาพทางสังคมของประเทศทั้งห้า”

    ในปี พ.ศ. 2544 การประชุมสุดยอดประจำปีกลับมาที่เซี่ยงไฮ้ ที่นั่น ห้าชาติสมาชิกยอมรับอุซเบกิสถานเป็นครั้งแรกในกลไก Shanghai Five (จึงเปลี่ยนเป็น Shanghai Six) จากนั้นประมุขแห่งรัฐทั้งหกได้ลงนามในปฏิญญาองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2544 โดยยกย่องบทบาทของกลไก Shanghai Five จนถึงขณะนี้ และมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนไปสู่ระดับความร่วมมือที่สูงขึ้น

    ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2545 หัวหน้าของรัฐสมาชิก SCO พบกันที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ที่นั่น พวกเขาได้ลงนามในกฎบัตร SCO ซึ่งกล่าวถึงวัตถุประสงค์ หลักการ โครงสร้างและรูปแบบการดำเนินงานขององค์กร และกำหนดไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ

    ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 ณ การประชุมสุดยอด ณ กรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน โดยมีผู้แทนจากอินเดีย อิหร่าน มองโกเลีย และปากีสถานเข้าร่วมการประชุมสุดยอด SCO เป็นครั้งแรก นูร์ซุลตัน นาซาร์บายิฟ ประธานาธิบดีแห่งคาซัคสถาน กล่าวทักทายแขกด้วยคำพูดที่ไม่เคยใช้มาก่อน มาก่อนไม่ว่าในบริบทใด “ผู้นำของรัฐที่นั่งโต๊ะเจรจานี้เป็นตัวแทนของมนุษยชาติครึ่งหนึ่งของโลก”

    ในปี พ.ศ. 2550 SCO ได้ริเริ่มโครงการขนาดใหญ่กว่า 20 โครงการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง พลังงาน และโทรคมนาคม และจัดการประชุมอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับความมั่นคง การทหาร กลาโหม การต่างประเทศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การธนาคาร และเจ้าหน้าที่อื่นๆ จากประเทศสมาชิก

    ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 ในเมืองอูฟา ประเทศรัสเซีย SCO ตัดสินใจรับอินเดียและปากีสถานเข้าเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ ทั้งสองได้ลงนามในบันทึกข้อผูกพันในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 ที่เมืองทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน จึงเริ่มกระบวนการเข้าร่วม SCO อย่างเป็นทางการในฐานะสมาชิกเต็มรูปแบบ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ในการประชุมสุดยอดที่กรุงอัสตานา อินเดียและปากีสถานได้เข้าร่วม SCO ในฐานะสมาชิกเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการ

    SCO ได้สร้างความสัมพันธ์กับสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2547 สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ในปี พ.ศ. 2548 องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกันในปี พ.ศ. 2550 องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2550 สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2554 การประชุมว่าด้วยปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความเชื่อมั่นในเอเชีย (CICA) ในปี พ.ศ. 2557 และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิกในปี พ.ศ. 2558 โครงสร้างการต่อต้านการก่อการร้ายระดับภูมิภาคของ SCO (RATS) ได้สร้างความสัมพันธ์กับศูนย์แอฟริกาเพื่อการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการก่อการร้ายของสหภาพแอฟริกา (ACSRT) ในปี พ.ศ. 2561 (ซึ่งองค์การทั้งหมดส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมในสถานะผู้สังเกตการณ์)

    เป็นที่น่าสังเกตว่า SCO มีแกนนำคือจีนและรัสเซียได้รวมเอาประเทศที่เป็นคู่อริกันมานาน เช่น อินเดียและปากีสถาน เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วยในวาระเดียวกัน และเป็นองค์กรที่กำลังขยายตัวทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจและสังคม โดยไม่มีสหรัฐอเมริกาและอียูเข้ามามีส่วนร่วมด้วยแม้แต่น้อย

    เมื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ขึ้นดำรงตำแหน่งวาระที่ 3 จีนได้เข้าสู่ยุคใหม่พร้อมๆ กับการสร้างขั้วอำนาจใหม่กับโลกนี้ พร้อมๆ กับอำนาจของสหรัฐอเมริกาและยุโรปซึ่งกำลังลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ — พญามังกรจึงกำลังผงาดในวงการทูตระหว่างประเทศ!!