ThaiPublica > สู่อาเซียน > “มินอ่องหล่าย” ปรับกำลังพล

“มินอ่องหล่าย” ปรับกำลังพล

14 กุมภาพันธ์ 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ที่มาภาพ :The Global New Light of Myanmar

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ครบรอบ 2 ปี การทำรัฐประหาร พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และนายกรัฐมนตรี เมียนมา ได้จัดทัพ ปรับขุมกำลังใหม่ในหลายองค์กร

ที่น่าจับตา เริ่มจากสภาบริหารแห่งรัฐ องค์กร “รัฏฐาธิปัตย์” ที่ควบคุมอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้ลงนามในคำสั่ง SAC ฉบับที่ 5/2023 ปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ SAC หลายตำแหน่ง โดยรายชื่อกรรมการ SAC 20 คน ที่เพิ่งประกาศใหม่ตามคำสั่งนี้ ประกอบด้วย

ใน 20 รายชื่อข้างต้น มี 11 คนที่เคยเป็นกรรมการชุดเดิมมาก่อนแล้ว ในนี้ 9 คนแรกเป็นทหาร อีก 2 คน คือ พะโด มานเงมหม่อง กับ อู ฉ่วยเจ่ง เป็นพลเรือน

สำหรับข้อมูลพอสังเขปของกรรมการ SAC 20 คน ตามคำสั่งฉบับที่ 5/2023 เท่าที่ค้นคว้าได้ มีดังนี้

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เป็นผู้กุมอำนาจบริหารสูงสุดของเมียนมาในปัจจุบัน นอกจากเป็นประธาน SAC แล้ว ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยังคงรั้งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพพม่าอยู่ด้วย

พล.อ.อาวุโส โซวิน เป็นมือรองคนสำคัญต่อจาก พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย นอกจากเป็นรองประธาน SAC แล้ว ยังเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพพม่า

พล.อ.อาวุโส โซวิน จบจากโรงเรียนนายร้อย DSA (Defense Services Academy) เมืองปยินอูลวิน ภาคมัณฑะเลย์ รุ่นที่ 22 เมื่อปี 2524

พล.อ.เมียะทูนอู จบโรงเรียนนายร้อย DSA รุ่นที่ 25 เมื่อปี 2527 ถือเป็นนายทหารที่เติบโตในหน้าที่การงานรวดเร็วที่สุดผู้หนึ่ง ได้ติดยศนายพลตั้งแต่ปี 2553 ในตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อย DSA ปี 2554 ได้เป็นผู้บัญชาการ กองทัพภาคตะวันออก เมืองตองจี ดูแลพื้นที่รัฐฉานใต้ ต่อมาได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการ กองยุทธการพิเศษ (Bureau of Special Operations : BSO) ที่ 6 (BSO 6) ที่ดูแลกองทัพภาคเนปิดอ ต่อด้วยผู้บัญชาการ BSO 5

หลังการรัฐประหาร พล.อ. เมียะทูนอูได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม

พล.อ. ติ่นอ่องซาน จบโรงเรียนนายร้อย DSA รุ่นที่ 23 เมื่อปี 2525 เดือนสิงหาคม 2558 ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ กองทัพพม่า หลังการรัฐประหาร ถูกแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและการสื่อสาร

พล.ท. โมมิ่นทูน จบโรงเรียนนายร้อย DSA รุ่นที่ 30 เมื่อปี 2532 ปี 2558-2559 เป็นผู้บัญชาการ กองทัพภาคเนปิดอ จากนั้นได้ขึ้นเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ในกองบัญชาการ กองยุทธการพิเศษ (BSO) ดูแลปฏิบัติการโดยภาพรวมของ BSO จากส่วนกลาง หลังการรัฐประหารได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการการลงทุนเมียนมา (Myanmar Investment Commission : MIC)

พล.ท. โซทุต จบจากโรงเรียนนายทหารหม่อบี่ (Officers Training School) ที่เมืองหม่อบี่ ภาคย่างกุ้ง รุ่นที่ 64 เคยดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นหัวหน้าสำนักงานความมั่นคงทางการทหาร (Office of Military Affairs) หรือสำนักงานข่าวกรองทหารเดิม ตั้งแต่ปี 2559-2563 หลังการรัฐประหาร ถูกแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย

พล.ท. หย่าปญิ จบโรงเรียนนายร้อย DSA รุ่นที่ 22 รุ่นเดียวกับ พล.อ.อาวุโส โซวิน เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เป็นผู้บัญชาการ กองทัพภาคตะวันออก เมืองตองจี ผู้บัญชาการวิทยาลัยแพทย์ทหาร เมืองมิงกลาโดง ภาคย่างกุ้ง แต่บทบาทสำคัญของ พล.ท. หย่าปญิ คือการเป็นประธานคณะกรรมการเจรจาสันติภาพ (National Solidarity and Peace Negotiation Committee : NSPNC) องค์กรแกนหลักในการเจรจาสันติภาพกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565

พล.ท. อ่องลินดวย จบโรงเรียนนายร้อย DSA รุ่นที่ 25 เมื่อปี 2527 รุ่นเดียวกับ พล.อ. เมียะทูนอู เคยเป็นผู้บัญชาการ กองทัพภาคตะวันตก ดูแลพื้นที่รัฐยะไข่และรัฐชิน ระหว่างปี 2558-2559

พล.ท. แยวินอู จบจากโรงเรียนนายทหารหม่อบี่ รุ่นที่ 77 เมื่อปี 2532 เคยเป็นผู้บัญชาการ กองทัพภาคตะวันตกเฉียงใต้ ดูแลพื้นที่ภาคอิรวดี

พะโด มานเงมหม่อง ชาวกะเหรี่ยง เคยเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบใต้ดินในยุคนายพลเนวิน จนถูกจับขังคุกไว้ที่เกาะโคโค เมื่อปี 2510 พะโด มานเงมหม่อง เคยอยู่ในคณะกรรมการบริหาร สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และมีบทบาทในการเจรจาให้ KNU ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลเมียนมา ในสมัยประธานาธิบดีเตงเส่ง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558

พะโดมานเงมหม่อง ลาออกจากกรรมการ KNU เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน (สภาล่าง) สังกัดพรรค Kayin People’s Party ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 แต่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง

อู ฉ่วยเจ่ง เป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับผู้นำทหารในกองทัพพม่เว็บไซต์ Open Sanctions อธิบายบทบาทของ อู ฉ่วยเจ่ง ว่ามีส่วนให้คำปรึกษาแก่กองทัพพม่าในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยในเมียนมา

กรรมการที่แต่งตั้งเข้ามาใหม่อีก 9 คน ทั้งหมดเป็นพลเรือน ได้แก่

อู หวุ่ณณะหม่องลวิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อู หวุ่ณณะหม่องลวินเคยเป็นทหารยศพันเอก จบจากโรงเรียนนายร้อยทหาร DSA รุ่นที่ 16 เมื่อปี 2514 ก่อนลาออกในปี 2541 เพื่อไปเป็นผู้อำนวยการ ในกระทรวงกิจการชายแดน 2 ปี จากนั้นได้ถูกตั้งไปเป็นเอกอัครราชทูตเมียนมา ประจำประเทศอิสราเอล เบลเยี่ยม สหภาพยุโรป และเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ปี 2554 สมัยประธานาธิบดีเตงเส่ง อู หวุ่ณณะหม่องลวิน ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ จนหมดวาระในปี 2559 จากนั้นได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่เป็นพรรคการเมืองของทหารพม่า และลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2563 แต่พ่ายแพ้ต่อพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซาน ซูจี

อู หวุ่ณณะหม่องลวินได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้ง หลังการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพิ่งพ้นจากตำแหน่ง และได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก SAC ตามคำสั่งฉบับนี้

ดอ ดวยบู เป็นรองประธาน Kachin State People’s Party (KSPP) พรรคการเมืองในรัฐคะฉิ่นซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกับพรรค USDP ในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2553

โบแร อ่องเตง เป็นชาวกะเหรี่ยงแดง (กะยา) เคยเป็นสมาชิกสภาชาติพันธุ์ (Amyotha Hluttaw) หรือสภาสูง ในรัฐสภาเมียนมา สังกัดพรรค USDP จากเมืองลอยก่อ รัฐกะยา จึงเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับทหาร

ปูกิน กานเลียน เลขาธิการพรรค Zomi Congress for Democracy พรรคการเมืองในรัฐชิน เคยเป็นสมาชิกสภาสูงจากรัฐชิน ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2558

อู หม่องโก่ เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและทำงานให้กับ SAC หลังการรัฐประหาร อู หม่องโก่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสภาบริหารแห่งรัฐ ภาคมัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 และถูกแต่งตั้งเป็นมุขมนตรีภาคมัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ก่อนถูกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิก SAC ชุดใหม่

อู หม่องโก่ ยังมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนสำคัญของสภาการค้าและอุตสาหกรรม ประจำภาคมัณฑะเลย์ (MRCCI)

ดร.อ่องจ่อมิน เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งทำงานร่วมกับ SAC มาตลอดนับแต่รัฐประหาร โดยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาบริหารแห่งรัฐ รัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ดร.อ่องจ่อมิน เป็นสมาชิกพรรค USDP และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกิจการสังคม รัฐยะไข่ ในสมัยประธานาธิบดีเตงเส่ง

ดร.จ่อทูน อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยล่าเสี้ยว ในรัฐฉานเหนือ หลังการรัฐประหาร ดร.จ่อทูนได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสภาบริหารแห่งรัฐ รัฐฉาน

ขุนซานลวิน ชาวปะโอ เป็นอดีตประธานเขตปกครองตนเองชนชาติปะโอ ในรัฐฉานใต้ ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิก SAC ขุนซานลวินดำรงตำแหน่งรองประธานองค์กรแห่งชาติปะโอ (Pa-O National Organization : PNO) องค์กรที่เคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ปะโอ ซึ่งมีกองทัพแห่งชาติปะโอ (Pa-O National Army : PNA) เป็นกองกำลังติดอาวุธของตนเอง

PNA มีบทบาทเป็นกองกำลังอาสาหรือ “ปยีตู่ซิด” ปฏิบัติการร่วมกับกองทัพพม่าในการต่อสู้กับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) และกองทัพของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง ที่เคลื่อนไหวอยู่ในรัฐกะยา ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน ของไทย และพื้นที่รอยต่อระหว่างรัฐกะยากับรัฐฉาน

กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) เป็นกองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) รัฐบาลเงาของสมาชิก NLD ให้จัดตั้งขึ้นในทุกพื้นที่ของเมียนมา

อู ยานจ่อ รองประธานพรรครวมชนชาติว้า (Wa National Unity Party : WNUP) พรรคการเมืองซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองล่าเสี้ยว รัฐฉานเหนือ แม้ใช้ชื่อพรรคว่า “รวมชนชาติว้า” แต่ WNUP ก็มิได้มีความเกี่ยวพันธ์ใกล้ชิดกับพื้นที่ปกครองตนเองชาติพันธุ์ว้า เพราะเป้าหมายของ WNUP ต้องการมีบทบาททางการเมืองในสนามใหญ่

อย่างไรก็ตาม นับแต่เริ่มก่อตั้งพรรค และผ่านการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้ว 3 ครั้ง ตัวแทน WNUP เคยได้รับเลือกเข้าเป็นตัวแทนในสภารัฐฉานเพียงแค่ที่นั่งเดียว จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2558

……

ในคณะกรรมการ SAC 20 คน กรรมการที่เป็นพลเรือน ส่วนใหญ่เป็นคนชาติพันธุ์ หรือคนพม่าที่เคยทำงานอยู่ในรัฐชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร และกำลังมีการสู้รบอยู่กับกองทัพพม่าอย่างเข้มข้น ได้แก่ รัฐกะเหรี่ยง รัฐกะยา รัฐคะฉิ่น และรัฐชิน

โดยเฉพาะกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) เป็นกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 2 กลุ่มหลัก ที่ให้การสนับสนุน PDF โดยทั้ง KIA และ KNLA ได้ช่วยฝึกฝนการใช้อาวุธและการสู้รบให้แก่กำลังพลของ PDF รวมถึงมีปฏิบัติการร่วมกับ PDF สู้รบกับทหารพม่าในหลายพื้นที่

KIA ได้ร่วมกับ PDF สู้รับกับทหารพม่าในรัฐคะฉิ่น ภาคสะกาย ภาคเหนือของรัฐฉาน ขณะที่ KNLA ร่วมกับ PDF สู้รบกับทหารพม่าในภาคพะโค รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ และภาคตะนาวศรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายแดนที่อยู่ติดกับฝั่งตะวันตกของประเทศไทย

อีกส่วนหนึ่ง เป็นคนชาติพันธุ์ที่ให้การสนับสนุน หรือไม่ต่อต้านรัฐบาลทหาร กับกองทัพพม่า ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรัฐฉาน เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ปะโอ
……

นอกจากคำสั่ง ฉบับที่ 5/2023 แล้ว ในวันเดียวกัน (1 ก.พ.2566) พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ยังได้ลงนามในคำสั่งอีกหลายฉบับ เช่น

– คำสั่ง SAC ฉบับที่ 6/2023 รายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ 32 ตำแหน่ง
– คำสั่ง SAC ฉบับที่ 7/2023 แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา SAC จำนวน 9 คน
– คำสั่ง SAC ฉบับที่ 9/2023 แต่งตั้งประธานคณะกรรมการปราบปรามการคอรัปชั่น
– คำสั่ง SAC ฉบับที่ 10/2023 แต่งตั้งมุขมนตรี ภาคมัณฑะเลย์ รัฐมอญ รัฐยะไข่ และรัฐฉาน
ฯลฯ

คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ได้เพิ่มตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีขึ้นมา 5 ตำแหน่ง จากเดิมที่มีเพียงตำแหน่งเดียว

ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลง คือ อู หวุ่ณณะหม่องลวิน พ้นจากรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และถูกแต่งตั้งเข้าไปเป็นกรรมการ SAC โดย อู ตานส่วย ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแทน

ก่อนหน้านี้ อู ตานส่วย เคยเป็นประธานองค์กรข้าราชการพลเรือน และถูกแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการปราบปรามการคอร์รัปชัน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565

อีกตำแหน่งหนึ่ง คือ Jeng Phang หน่อต่อง ชาวคะฉิ่น ซึ่งเคยเป็นกรรมการอิสระในคณะกรรมการ SAC ชุดเดิม ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกิจการชาติพันธุ์ ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แทน ซอ ทูนอ่องมิ่น ชาวกะเหรี่ยง ที่ได้ถูกตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษา SAC ตามคำสั่ง SAC ฉบับที่ 7/2023

โดยในคณะที่ปรึกษา SAC 9 คน มี 7 คน เคยเป็นกรรมการ SAC ในส่วนพลเรือน ในคณะกรรมการชุดเดิม โดย 6 คนในนี้เป็นตัวแทนพรรคการเมือง อีก 1 คนเป็นกรรมการอิสระ ได้แก่

– อู เตงญุ่น จากพรรค New National Democracy Party

– อู ขิ่นหม่องส่วย จากพรรค National Democratic Force

– ดอ เอนุเส่ง จากพรรค Arakan National Party

– จายโหลงใส จากพรรค USDP

– ซอ แดเนียล จากพรรค Kayah State Democratic Party

– ดร.ปัญญาอ่องโม จากพรรค Mon Unity Party

– อู หม่องฮา กรรมการอิสระ

ที่ปรึกษาในทีมอีก 1 คน ได้แก่ ดร.หม่องหม่องไหน่ เป็นอดีตประธานสภาบริหารแห่งรัฐ กรุงเนปิดอ

ส่วนกรรมการ SAC ชุดเดิมอีก 1 คน ที่รายชื่อหลุดออกไปจากทุกโผจากประกาศที่ออกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้แก่ พล.อ. หม่องหม่องจ่อ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งถูกปลดออกจากตำแหน่งในกองทัพเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 แต่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ยังให้คงสถานะสมาชิก SAC ไว้ต่อ จนเพิ่งพ้นจากตำแหน่งจากคำสั่ง SAC ฉบับที่ 5/2023…