ThaiPublica > สู่อาเซียน > จีนเริ่มเล่นบทผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ‘บางส่วน’ในเมียนมา

จีนเริ่มเล่นบทผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ‘บางส่วน’ในเมียนมา

27 มีนาคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ในระดับโลก “จีน” โดยตัวของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เอง กำลังเล่นบท “กาวใจ” ไกล่เกลี่ยหาหนทางยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

ระดับภูมิภาค “จีน” ก็กำลังเดินบทบาทคล้ายคลึงกัน กับสถานการณ์ความขัดแย้ง “บางส่วน” ที่กำลังดำเนินอยู่ในเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านทางด้านตะวันตกของไทย

……

วันที่ 15-16 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา แกนนำองค์กรการเมืองของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 7 กลุ่ม ที่รวมตัวกันในนาม Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee หรือ FPNCC ได้จัดประชุมกันที่เมืองป๋างซาง หรือในอีกชื่อหนึ่งคือปางคำ เมืองหลวงของเขตพิเศษหมายเลข 2 สหรัฐว้า ชายแดนรัฐฉาน-จีน

7 องค์กรที่เข้าประชุม ประกอบด้วย

1.พรรคสหรัฐว้า(United Wa State Party : UWSP) องค์กรการเมืองของกองทัพสหรัฐว้า(United Wa State Army : UWSA)

2.องค์กรเอกราชคะฉิ่น(Kachin Independence Organization : KIO) องค์กรการเมืองของกองทัพเอกราชคะฉิ่น(Kachin Independence Army : KIA)

3.คณะกรรมการสันติภาพและความเป็นปึกแผ่น เขตพิเศษหมายเลข 4 รัฐฉานตะวันออก(Shan State East Special Region 4 Peace and Solidarity Committee : PSC) องค์กรการเมืองของกองทัพเมืองลา(National Democracy Alliance Army: NDAA)

4.พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน(Shan State Progress Party : SSPP) องค์กรการเมืองของกองทัพรัฐฉานเหนือ(Shan State Progress Party / Shan State Army : SSPP/SSA)

5.พรรคเพื่อความจริงและความยุติธรรมแห่งชาติเมียนมา(Myanmar National Truth and Justice Party : MNTJP) องค์กรการเมืองของกองทัพโกก้าง(Myanmar National Democratic Alliance Army : MNDAA)

6.สหสันนิบาตแห่งอาระกัน(United League of Arakan : ULA) องค์กรการเมืองของกองทัพอาระกัน(Arakan Army :AA)

7.แนวร่วมปลดปล่อยแห่งรัฐปะหล่อง(Palaung State Liberation Front : PSLF) องค์กรการเมืองของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอั้ง(Ta’ang National Liberation Army : TNLA)

หลังเสร็จสิ้นการประชุม ทั้ง 7 กลุ่มได้เผยแพร่เอกสารเนื้อหาที่มีการพูดคุยกันในที่ประชุมรวม 7 ข้อ

เอกสารสรุปเนื้อหาในที่ประชุม FPNCC มีประเด็นสำคัญอยู่ในข้อ 6(ล้อมกรอบสีแดง) ที่รับรองให้จีนเข้ามามีบทบาทไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ในเมียนมา

ประเด็นสำคัญอยู่ในข้อที่ 6 ซึ่งมีใจความว่า ที่ประชุมให้การรับรองการเข้ามามีบทบาทของ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่ากับกำลังติดอาวุธกลุ่มต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเมียนมาขณะนี้ เพื่อความสงบสุขของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา…

ในกองกำลังติดอาวุธทั้ง 7 กลุ่มที่ประชุมกัน มี 4 กลุ่ม ควบคุมพื้นที่ชายแดนเมียนมา-จีน ยาวตลอดตั้งแต่รัฐคะฉิ่น ลงมาถึงภาคตะวันออกของรัฐฉาน ได้แก่ กองทัพคะฉิ่น กองทัพโกก้าง กองทัพสหรัฐว้า และกองทัพเมืองลา

มี 2 กลุ่ม คือ กองทัพตะอั้งและกองทัพรัฐฉานเหนือ ควบคุมพื้นที่บางส่วนในภาคเหนือของรัฐฉาน ถัดจากชายแดน ลึกเข้ามาด้านใน

อีกกลุ่มหนึ่ง คือกองทัพอาระกัน ควบคุมพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ ขึ้นไปถึงตอนใต้ของรัฐชิน ในภาคตะวันตกของเมียนมา พื้นที่ซึ่งกำลังมีบทบาทสำคัญสำหรับจีน ทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์

FPNCC เป็นการรวมตัวกันของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ไม่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ(NCA) กับรัฐบาลเมียนมา ในสมัยประธานาธิบดีเตง เส่ง

จีนเป็นประเทศที่ผลักดันให้เกิด FPNCC ขึ้น เมื่อกลางปี 2558 โดยมีกองทัพสหรัฐว้า ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ใหญ่และเข้มแข็งที่สุดในเมียนมา เป็นแกนนำ

ทั้ง 7 กองกำลังรวมตัวกันเป็น FPNCC เพื่อใช้เป็นองค์กรกลางสำหรับการเจรจาประเด็นการเมืองที่สำคัญกับรัฐบาลเมียนมา โดยไม่ต้องการให้มีการแยกเจรจาเป็นรายกลุ่ม

ใน 7 กลุ่มที่เป็นสมาชิก FPNCC ปัจจุบัน มี 3 กลุ่ม คือ กองทัพสหรัฐว้า พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน และกองทัพเมืองลา ได้เข้าร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพกับสภาบริหารแห่งรัฐ(SAC) เมียนมา ตามคำเชิญของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธาน SAC ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2565

กองทัพอาระกัน ได้หยุดยิงอย่างไม่เป็นทางการกับกองทัพพม่าแล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 แต่ยังไม่เข้าร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพเหมือนกับ 3 กลุ่มข้างต้น

ส่วนกองทัพคะฉิ่น กองทัพโกก้าง และกองทัพตะอั้ง ยังคงมีการสู้รบอย่างรุนแรงกับกองทัพพม่าอยู่ในหลายพื้นที่ของรัฐคะฉิ่น ภาคสะกาย และภาคเหนือของรัฐฉาน

……

ก่อนหน้าการประชุมเมื่อวันที่ 15-16 มีนาคม มีรายงานว่าในสัปดาห์สุดท้ายของธันวาคม 2565 เติ้ง ซีจุน(Deng Xijun) ทูตพิเศษฝ่ายกิจการเอเซีย กระทรวงการต่างประเทศจีน ได้เชิญตัวแทนผู้นำกองกำลังติดอาวุธที่เป็นสมาชิก FPNCC ทั้ง 7 กลุ่ม เดินทางข้ามชายแดนไปพูดคุยกัน ณ สถานที่แห่งหนึ่งในนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน

เติ้ง ซีจุน เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตพิเศษฝ่ายกิจการเอเซีย เมื่อปลายปี 2565 แทนซุน กั๋วเสียง ทูตพิเศษคนเก่า ที่ดำรงตำแหน่งนี้ต่อเนื่องมานานหลายปี

เติ้ง ซีจุน เคยเป็นทูตทหารของจีนประจำเมียนมา เมื่อปี 2528 จากนั้นได้เข้าทำงานในกรมเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และเอเซียใต้ กระทรวงการต่างประเทศจีน ระหว่างปี 2533-2560

เติ้ง ซีจุน พบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ที่กรุงเนปิดอ หลังเพิ่งเสร็จสิ้นการพูดคุยกับตัวแทนกองกำลังติดอาวุธ 7 กลุ่ม ที่นครคุนหมิง

หลังรับหน้าที่ทูตพิเศษฝ่ายกิจการเอเซีย เติ้ง ซีจุน พยายามขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในเมียนมาให้เดินหน้าไปอย่างเป็นรูปธรรม

วันที่ 29 ธันวาคม 2565 หลังเพิ่งเสร็จสิ้นการพูดคุยกับตัวแทนผู้นำสมาชิก FPNCC 7 กลุ่ม ที่คุนหมิง เติ้ง ซีจุน เดินทางต่อไปยังกรุงเนปิดอและได้เข้าพบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เป็นครั้งแรก เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ พร้อมยืนยันความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ และการลงทุนเพื่อการพัฒนาของจีนในเมียนมา

ตัวแทน 7 กองกำลังที่เป็นสมาชิก FPNCC พบและพูดคุยกับเติ้ง ซีจุน ณ สถานที่แห่งหนึ่งในนครคุนหมิง เมื่อสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม 2565

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 เติ้ง ซีจุน เพิ่งนำทีมงานเข้าพบและพูดคุยกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย อีกเป็นครั้งที่ 2

เติ้ง ซีจุน และทีมงาน เข้าพบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566

แต่ก่อนหน้านั้น 2 สัปดาห์ ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 เติ้ง ซีจุน ได้เดินทางขึ้นไปยังเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา ในภาคตะวันออกของรัฐฉาน และได้พบกับอู ซานเป้ รองประธานเขตพิเศษหมายเลข 4 และประธานคณะกรรมการสันติภาพและความเป็นปึกแผ่น เมืองลา

เติ้ง ซีจุน เดินทางไปประชุมกับรองประธานเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566

สื่อในเมียนมารายงานว่าหัวข้อที่เติ้ง ซีจุน พูดคุยกับ อู ซานเป้ เป็นเรื่องความมั่นคง การร่วมกันปราบปรามอาชญากรรม ยาเสพติด การค้ามนุษย์ รวมถึงบ่อนการพนันออนไลน์ที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ชายแดนระหว่างเมืองลากับเขตปกครองตนเองชนชาติไต สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน

ในเวลาใกล้เคียงกัน มีรายงานว่า เติ้ง ซีจุน ยังได้พบกับและพูดคุยกับแกนนำของกองทัพเอกราชคะฉิ่น และกองทัพสหรัฐว้า อีกด้วย

การเดินทางไปพบและพูดคุยบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่า กับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่มของเติ้งซีจุน ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา นำมาสู่การประชุมแกนนำองค์กรการเมือง ของกองกำลัง 7 กลุ่ม ที่เป็นสมาชิก FPNCC ในวันที่ 15-16 มีนาคม 2566 ที่เมืองป๋างซาง…

นอกจากการรับรองให้จีนเข้ามามีบทบาทไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ในเมียนมาแล้ว ในการประชุมที่ป๋างซาง ยังได้มีการพูดคุยถึงความสำพันธ์ระหว่างจีนกับกองกำลังแต่ละกลุ่ม ตลอดจนสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ตามแนวชายแดนที่ติดกับจีน ที่สำคัญคือการระลึกถึงความช่วยเหลืออย่างจริงจังที่จีนมีให้แก่ทหารของกองกำลังแต่ละกลุ่ม และประชาชนที่กองกำลังเหล่านั้นดูแลอยู่ ตลอดเวลา 3 ปี ในช่วงที่เกิดการระบาดหนักของโควิด-19

ตัวอย่างความช่วยเหลือเหล่านี้ เช่น

  • ความช่วยเหลือจากฝ่ายสาธารณสุข และกองกาชาด เขตปกครองตนเองชนชาติไต ลาหู่ และว้า เมิ่งเหลียน จังหวัดผูเอ่อร์ มณฑลยูนนาน ที่เดินทางข้ามพรมแดนนำเครื่องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT/PCR มูลค่า 3,140,000 หยวน หรือประมาณ 477,421 ดอลลาร์สหรัฐ 1 เครื่อง ไปมอบให้ฝ่ายสาธารณสุขของสหรัฐว้า ที่เมืองป๋างซาง เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 รวมถึงส่งทีมงานและอุปกรณ์ข้ามไปตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่สหรัฐว้า เมื่อเกิดการระบาดหนักระลอกแรกในช่วงเทศกาลคริสต์มาสต์ของปี 2563
  • การส่งที่แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากเมืองฮาย เขตปกครองตนเองชนชาติไต สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ข้ามไปตั้งห้องปฏิบัติการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ในเมืองลา ในปลายปี 2563
  • การส่งเจ้าหน้าที่อาสากาชาดจากอำเภอหล่งชวน เขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง มณฑลยูนนาน นำวัคซีนป้องกันโควิด-19 ข้ามชายแดนไปฉีดให้กับผู้ที่พำนักอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน(IDP) หลายแห่งในรัฐคะฉิ่น เช่น ค่าย N Hkawng Pa ค่าย Lana Zup Ja ค่าย Bum Tsit ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2564 ค่ายเหล่านี้ ล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพคะฉิ่น
  • ที่ประชุมในป๋างซาง ยังมีความเห็นพ้องกันว่า จะร่วมกันสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนที่ติดกับจีน และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา ตลอดจนส่งเสริมการค้า การลงทุน ของทั้ง 2 ประเทศ

    ……

    ขณะนี้ ยังไม่มีการรายงานว่าจีนจะเข้ามามีบทบาทในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ในเมียนมาในลักษณะใด และส่วนใดบ้าง

    เพราะภายในเมียนมาเอง ก็มีคณะกรรมการเจรจาสันติภาพ(National Solidarity and Peace Negotiation Committee : NSPNC) ที่มี พล.ท.หย่าปญิ กรรมการ SAC เป็นประธาน และกำลังเดินหน้าพูดคุยอยู่กับกองกำลังติดอาวุธ 10 กลุ่ม ที่เข้าร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพตามคำเชิญของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 และตลอด 1 ปี มานี้ แต่ละฝ่ายต่างได้พูดคุยกันไปแล้วหลายรอบ

    กองกำลังติดอาวุธทั้ง 10 กลุ่ม ที่เข้าร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพกับ NSPNCประกอบด้วย

    1.สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน(RCSS/SSA) หรือกองทัพรัฐฉานใต้

    2.องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ(PNLO)

    3.กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย(DKBA)

    4.สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ(KNU/KNLA-PC)

    5.พรรครัฐมอญใหม่(NMSP)

    6.สหภาพประชาธิปไตยลาหู่(LDU)

    7.พรรคปลดปล่อยอาระกัน(ALP)

    8.กองทัพสหรัฐว้า(UWSA)

    9.พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน(SSPP/SSA)

    10.กองทัพเมืองลา(NDAA)

    ที่ผ่านมา สภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา พยายามแยกภาพความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ในประเทศให้ชัดเจน โดยความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ จะเน้นการเจรจาเป็นหลัก

    ส่วนความขัดแย้งระหว่างสภาบริหารแห่งรัฐ-กองทัพพม่า กับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG)-กองกำลังพิทักษ์ประชาชน(PDF) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ตั้งขึ้นโดยคนของพรรค NLD ยังไม่มีช่องทางเจรจาอย่างเป็นทางการ เพราะสภาบริหารแห่งรัฐได้นิยามกลุ่มเหล่านี้ว่าเป็น“กลุ่มก่อการร้าย”ไปแล้ว

    ถึงจุดนี้ กองทัพเอกราชคะฉิ่น(KIA) น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญ และน่าจับตา เพราะเป็นกองกำลังติดอาวุธขนาดใหญ่ที่เข้มแข็ง และได้ประกาศตัวชัดเจนว่ายืนอยู่ฝ่ายเดียวกับ NUG-PDF รวมถึงที่ผ่านมา KIA ได้ช่วยฝึกฝนกำลังพลให้กับ PDF และสนธิกำลังกับ PDF เปิดศึกสู้รบกับทหารกองทัพพม่าอยู่ในหลายพื้นที่…

  • กองทัพชาติพันธุ์…ตัวแปรสำคัญในเมียนมา
  • เจรจาสันติภาพ…การ “แยกขั้ว” ทัพชาติพันธุ์ในเมียนมา
  • กระบวนการ “สันติภาพ” แบบเงียบๆในเมียนมา
  • เงื่อนไขซ่อนเร้นของ “ว้า-เมืองลา” ในการเจรจาสันติภาพ
  • บทบาท “Yohei Sasakawa” กับการหยุดยิงในรัฐ “ยะไข่”