คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change — IPCC) เปิดตัวรายงานล่าสุดเกี่ยวกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศในวันที่ 20 มีนาคม 2566
รายงาน AR6 Synthesis Report: Climate Change 2023 ได้สรุปรายงาน 5 ปีเกี่ยวกับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น (global warming) การปล่อยก๊าซคาร์บอนของเชื้อเพลิงฟอสซิล และผลกระทบต่อสภาพอากาศ และและผลกระทบของวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
ความเป็นอยู่ของมนุษยชาติในโลกใบนี้จะรอดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการกระทำของเราในอีก 7 ปีข้างหน้า ไม่มีเวลาให้เสียอีกแล้วในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส รายงานระบุ
“โอกาสที่จะรักษาอนาคตที่น่าอยู่และยั่งยืนสำหรับทุกคนปิดลงอย่างรวดเร็ว”
นี่คือข้อสรุปของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ในรายงานฉบับล่าสุด ซึ่งสรุปข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น การปล่อยก๊าซคาร์บอนของเชื้อเพลิงฟอสซิล และผลกระทบของวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
รายงาน AR6 Synthesis Report: Climate Change 2023 พบว่า แม้จะมีความคืบหน้าในด้านนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับการบรรเทาสภาพอากาศตั้งแต่รายงานครั้งก่อนในปี 2014 แต่ “มีแนวโน้มว่าภาวะโลกร้อนจะเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ในช่วงศตวรรษที่ 21”
โดยอิงจากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั่วโลกที่คาดการณ์ไว้ในชั้นบรรยากาศภายในปี 2573 ที่อิงจากเป้าหมายด้านสภาพอากาศของทุกประเทศ หรือที่เรียกว่า แผนที่นําทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ” (Nationally Determined Contributions — NDCs) ซึ่งประกาศเมื่อเดือนตุลาคม 2021
การจำกัดอุณหภูมิให้ “ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส” ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายของข้อตกลงปารีสนั้นเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุผล แต่การหลีกเลี่ยง 1.5 องศาเซลเซียสก็ยังเป็นไปได้
รายงานยังระบุถึงความจำเป็นทางเศรษฐกิจในการดำเนินการ โดยพบว่า “การจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 2 องศาเซลเซียสนั้นมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลกสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการบรรเทาผลกระทบที่ประเมินในงานวิจัยส่วนใหญ่”
รายงาน IPCC นี้แตกต่างจากรายงานก่อนหน้านี้อย่างไร
รายงาน Synthesis Report เป็นสุดยอดของรอบการรายงาน (การประเมินครั้งที่หก) ที่มีการเผยแพร่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
นับตั้งแต่รายงานการประเมินรอบที่ 5 ซึ่งเสร็จสิ้นในปี 2014 มีการมุ่งเน้นที่เข้มข้นขึ้นทั่วโลกเกี่ยวกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ และความพยายามในการบรรเทาผลกระทบ โดยมีการประชุมประจำปีของภาคี (Conference of the Parties — COP) เพื่อผลักดันความคืบหน้านี้
รายงานนี้เป็นบทสรุปรายงานทั้งหมดของรอบการประเมินครั้งที่ 6 ของ IPCC ที่เผยแพร่ระหว่างปี 2018 ถึง 2023 ซึ่งครอบคลุมถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่ 1.5 องศาเซลเซียส รายงานล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์สร้างความเสียหายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนได้อย่างไร และแสดงให้เห็นว่าในระดับปัจจุบัน หลายส่วนของโลกจะไม่น่าอยู่ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า
รายงานสรุปนี้แสดงให้เห็นฉันทามติทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้เกี่ยวกับความเร่งด่วนของวิกฤติสภาพภูมิอากาศ สาเหตุหลัก ผลกระทบร้ายแรงในปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงต่อสภาพอากาศส่วนใหญ่ และอันตรายที่ไม่อาจแก้ไขได้ซึ่งจะเกิดขึ้นหากภาวะโลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แม้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว
เป้าหมายของรายงาน คือ เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายในระดับสูง มีความเข้าใจและได้รับการอัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบและความเสี่ยงในอนาคต และชี้ถึงแนวทางแก้ไขและทางเลือกสำหรับการจัดการปัญหา
รายงานการประเมินฉบับที่ 7 ในรอบถัดไปคาดว่าจะไม่เกิดขึ้นก่อนปี 2027 เป็นอย่างน้อย รายงานนี้เป็นพื้นฐานสำหรับช่วงระยะเวลา 7 ปีที่สำคัญจนถึงปี 2030
เราจะไม่มีครั้งนี้อีกแล้วที่เรารู้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรกันแน่ ฉันทามติทางวิทยาศาสตร์นี้ เมื่อรวมกับข้อเท็จจริงที่ว่า การแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมีอยู่จริง ก็เป็นโอกาสพิเศษสำหรับเราในการแก้ไขช่องว่างและดำเนินการ
ข้อค้นพบหลักของรายงาน AR6 คืออะไร
รายงานฉบับใหม่นี้เขียนโดยนักวิทยาศาสตร์ 39 คน แบ่งออกเป็น 3 ส่วนโดยจัดเรียงตามกรอบเวลา ได้แก่ สถานะปัจจุบันและแนวโน้มย้อนหลังผ่านประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน การคาดการณ์ระยะยาว Climate and Development Futures จนถึงปี 2100 และหลังจากนั้น และการตอบสนองระยะสั้นในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงที่พิจารณาจากกรอบเวลาของนโยบายระหว่างประเทศในปัจจุบันระหว่างตอนนี้จนถึงปี 2030
ข้อค้นพบหลักบางส่วนได้แก่
นอกเหนือจากมาตรการอื่นๆ ที่จะทำให้ระบบพลังงานปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ เราต้องมี “การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยรวมลงอย่างมาก ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซให้น้อยที่สุด และการใช้การดักจับและกักเก็บคาร์บอนในระบบเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เหลืออยู่ การอนุรักษ์พลังงาน ประสิทธิภาพและการบูรณาการที่มากขึ้นทั่วทั้งระบบพลังงาน”
ทำไมเราต้องฟัง IPCC?
IPCC เป็นองค์กรระดับโลกของสหประชาชาติ (UN) มีหน้าที่ประเมินวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและประกอบด้วย 195 ประเทศสมาชิก
ผู้เชี่ยวชาญหลายพันคนจากทั่วโลกอาสาที่จะประเมินงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดอย่างเป็นกลาง และเขียนรายงานให้กับ IPCC ซึ่งลงนามโดยรัฐบาลของประเทศสมาชิก
ตลอดระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ของการประชุม IPCC ครั้งที่ 58 ที่จัดขึ้นในสวิตเซอร์แลนด์ รัฐบาลได้อนุมัติบทสรุปสั้นๆ สำหรับผู้กำหนดนโยบายในรายงาน
รายงานนี้จะมีผลต่อรูปแบบการเจรจาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศในการประชุม COP ในอนาคต ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ต้องลงมือเร่งด่วนเพื่ออนาคตที่ทุกคนอยู่ได้
ใน เอกสารข่าวของ IPCC ที่เผยแพร่ในวันเดียวกันระบุว่า ในรายงานล่าสุด นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า มีตัวเลือกมากมาย เป็นไปได้ และมีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ และตัวเลือกเหล่านั้นก็พร้อมให้ใช้งานแล้ว
Hoesung Lee ประธาน IPCC กล่าวว่า “การดำเนินการด้านสภาพอากาศอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมให้เป็นกระแสหลัก จะไม่เพียงลดความสูญเสียและความเสียหายต่อธรรมชาติและผู้คนเท่านั้น แต่ยังให้ประโยชน์ที่กว้างขึ้นด้วย” “รายงานนี้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนของการดำเนินการที่ทะเยอทะยานมากขึ้น และแสดงให้เห็นว่าหากเราดำเนินการตอนนี้ เรายังสามารถรักษาอนาคตที่ยั่งยืนและน่าอยู่สำหรับทุกคนได้”
ในปี 2018 IPCC ได้เน้นย้ำถึงระดับความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อนในการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้ร้อนขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ใน 5 ปีต่อมา ความท้าทายนั้นยิ่งหนักขึ้น จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จังหวะและขนาดของสิ่งที่ทำไปแล้วและแผนปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กว่าศตวรรษของการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ตลอดจนการใช้พลังงานและการใช้ที่ดินที่ไม่เท่าเทียมกันและไม่ยั่งยืน ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น ซึ่งสร้างผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติและผู้คนในทุกภูมิภาคของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ
ทุกขีดความร้อนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ภัยคุกคามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้น และสภาพอากาศอื่นๆ ที่รุนแรง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบนิเวศ ผู้คนในทุกภูมิภาคกำลังเสียชีวิตจากความร้อนจัด คาดว่าความไม่มั่นคงด้านอาหารและน้ำจากสภาพอากาศจะเพิ่มขึ้นตามภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้น เมื่อความเสี่ยงบวกกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่นๆ เช่น โรคระบาดหรือความขัดแย้ง การจัดการก็จะยิ่งยากขึ้น
เจาะลึกความสูญเสียและความเสียหาย
รายงานซึ่งผ่านความเห็นชอบระหว่างการประชุมร่วมหนึ่งสัปดาห์ในเมืองอินเทอร์ลาเคน ชี้ชัดถึงความสูญเสียและความเสียหายที่เรากำลังประสบอยู่และจะยังต่อเนื่องในอนาคต ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดและระบบนิเวศ การดำเนินการที่ถูกต้องในขณะนี้อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับโลกที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกัน
Aditi Mukherji หนึ่งในผู้เขียน 93 คนของรายงานฉบับนี้ ซึ่งเป็นบทปิดของการประเมินครั้งที่หกของคณะผู้พิจารณากล่าวว่า “ความยุติธรรมด้านสภาพอากาศมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่มีส่วนร่วมน้อยที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับกระทบอย่างมาก”
“ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลกอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในทศวรรษที่ผ่านมา มีการเสียชีวิตจากน้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุมากกกว่า 15 เท่าในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูง”
ในทศวรรษนี้ การดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อปิดช่องว่างระหว่างการปรับตัวที่ทำอยู่กับสิ่งที่ต้องทำ ในขณะเดียวกัน การรักษาระดับความร้อนไม่ให้สูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้เข้มข้น รวดเร็ว และยั่งยืนในทุกภาคส่วน การปล่อยมลพิษควรลดลงในตอนนี้ และจะต้องลดลงเกือบครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 หากต้องจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้ร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
เส้นทางข้างหน้าชัดเจน
วิธีแก้ปัญหาอยู่ที่การพัฒนาให้มีความสามารถปรับตัวต่อสภาพอากาศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบูรณาการมาตรการเพื่อปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการดำเนินการเพื่อลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในลักษณะที่ให้ประโยชน์ในวงกว้าง
ตัวอย่างเช่น การเข้าถึงพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีจะช่วยยกระดับสุขภาพ โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงและเด็ก การใช้พลังงานไฟฟ้าแบบคาร์บอนต่ำ การเดิน การปั่นจักรยาน และการขนส่งสาธารณะช่วยเพิ่มคุณภาพอากาศ ยกระดับสุขภาพ โอกาสในการจ้างงาน และสร้างความเท่าเทียม ประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อสุขภาพของประชาชนจากการปรับปรุงคุณภาพอากาศเพียงอย่างเดียวอาจพอๆ กัน หรืออาจมากกว่าค่าใช้จ่ายในการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยมลพิษด้วยซ้ำ
การพัฒนาความสามารถในการรับมือกับสภาพอากาศกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโลกร้อนมากขึ้น นี่คือเหตุผลที่การเลือกสิ่งที่จะทำในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีบทบาทสำคัญในการตัดสินอนาคตของเราและคนรุ่นต่อไป
เพื่อให้ได้ผล ทางเลือกเหล่านี้จำเป็นต้องฝังลึกในค่านิยม มุมมองโลก และความรู้ที่หลากหลายของเรา รวมถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ของชนพื้นเมือง และภูมิปัญญาท้องถิ่น แนวทางนี้จะเอื้อต่อการพัฒนาให้ความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพอากาศ และช่วยให้มีวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมในท้องถิ่นและเป็นที่ยอมรับของสังคม
Christopher Trisos หนึ่งในผู้เขียนรายงานกล่าวว่า “ประโยชน์สูงสุดในด้านความเป็นอยู่ที่ดี อาจมาจากการจัดลำดับความสำคัญของการลดความเสี่ยงด้านสภาพอากาศสำหรับชุมชนที่มีรายได้น้อยและชายขอบ ซึ่งรวมถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชน” “การดำเนินการด้านสภาพอากาศแบบเร่งด่วนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการสนับสนุนทางการเงินเพิ่มขึ้นหลายเท่า การที่มีเงินไม่เพียงพอและไม่อยู่ในทิศทางเดียวกันกำลังขัดขวางความก้าวหน้า”
ผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั่วโลกมีทุนเพียงพอในการเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็ว หากอุปสรรคที่มีอยู่ลดลง การเพิ่มเงินทุนเพื่อการลงทุนด้านสภาพอากาศเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศโลก รัฐบาลเป็นตัวหลักสำคัญในการลดอุปสรรคเหล่านี้ ด้วยการระดมทุนจากภาครัฐและการส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงนักลงทุน ขณะที่นักลงทุน ธนาคารกลาง และหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินสามารถมีส่วนร่วมได้เช่นกัน
มีมาตรการเชิงนโยบายที่ได้รับการทดลองและทดสอบแล้ว ซึ่งสามารถใช้งานได้ ในการลดการปล่อยมลพิษในระดับที่เข้มข้นและให้มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศหากมีการปรับขนาดและนำไปใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ความมุ่งมั่นทางการเมือง นโยบายที่ประสานกัน ความร่วมมือระหว่างประเทศ การดูแลระบบนิเวศ และการกำกับดูแลแบบมีส่วนร่วม ล้วนมีความสำคัญต่อการดำเนินการด้านสภาพอากาศอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน
หากมีการแบ่งปันเทคโนโลยี ความรู้ และมาตรการเชิงนโยบายที่เหมาะสม และการจัดหาเงินทุนที่เพียงพอในขณะนี้ ทุกชุมชนสามารถลดหรือหลีกเลี่ยงการบริโภคคาร์บอนเข้มข้นได้ ในขณะเดียวกัน ด้วยการลงทุนครั้งใหญ่ในการปรับตัว เราสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มและภูมิภาคที่เปราะบาง
สภาพภูมิอากาศ ระบบนิเวศ และสังคมมีความเชื่อมโยงกัน การอนุรักษ์ผืนดิน น้ำจืด และมหาสมุทรประมาณ 30-50% ของโลกอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกันจะช่วยให้โลกมีสุขภาพที่ดี พื้นที่ในเมืองเปิดโอกาสระดับโลกสำหรับการดำเนินการด้านสภาพอากาศที่มีความทะเยอทะยานซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
การปรับเปลี่ยนในภาคอาหาร ไฟฟ้า การขนส่ง อุตสาหกรรม อาคาร และการใช้ที่ดิน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ในขณะเดียวกัน ก็สามารถช่วยให้ผู้คนใช้ชีวิตแบบคาร์บอนต่ำได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้สุขภาพและความเป็นอยู่ดีขึ้นด้วย ความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับผลที่ตามมาของการบริโภคมากเกินไปจะช่วยให้ผู้คนมีทางเลือกมากขึ้น
“การเปลี่ยนผ่านมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จเมื่อมีความไว้วางใจ ที่ทุกคนทำงานร่วมกัน เพื่อจัดลำดับความสำคัญของการลดความเสี่ยง และผลประโยชน์กับภาระมีการแบ่งปันอย่างเท่าเทียมกัน” Lee กล่าว “เราอยู่ในโลกที่หลากหลายซึ่งทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบที่แตกต่างกันและมีโอกาสที่แตกต่างกันในการสร้างความเปลี่ยนแปลง บางคนสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง ในขณะที่บางคนต้องการการสนับสนุนเพื่อช่วยจัดการกับการเปลี่ยนแปลง”