ดร.เพชร มโนปวิตร
ท่ามกลางข่าวภัยพิบัติทางธรรมชาติขั้นรุนแรงจากทั่วทุกมุมโลก น้ำท่วมใหญ่ที่จีนและเยอรมนี คลื่นความร้อนที่ทำให้แคนาดาและอิตาลีมีอุณหภูมิสูงสุดเกือบ 50 องศาเซลเซียส สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ตามมาด้วยไฟป่าที่ลุกลามราวกับไฟบรรลัยกัลป์ในแคนาดา อเมริกา กรีซ ตุรกี แอลจีเรีย คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ก็เปิดเผยรายงานการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับล่าสุด ที่บ่งชี้ว่าหายนะด้านสภาพภูมิอากาศกำลังเข้าใกล้ความเป็นจริงเข้าไปทุกที
รายงานฉบับนี้เป็นการรวบรวมหลักฐานสำคัญที่สุด นับตั้งแต่รายงานการประเมินของ IPCC ฉบับที่ 5 (AR5) เมื่อ 8 ปีที่แล้ว เลขาธิการสประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส กล่าวกับสื่อมวลชนว่า “รายงานฉบับนี้คือ รหัสฉุกเฉิน (code red) สำหรับมนุษยชาติ”
มีอะไรต้องรู้บ้างจากรายงานฉบับนี้และจะมีผลต่อนโยบายระหว่างประเทศขนาดไหน
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่ารายงานของ IPCC สำคัญอย่างไร
IPCC เป็นคณะกรรมการทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1988 นับเป็นคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับสูงสุดในระดับโลกเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเป็นความร่วมมือระหว่าง สหประชาชาติ (United Nation – UN) องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization – WMO) และนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญชั้นนำสาขาต่างๆ ที่ช่วยกันทบทวน สรุปและสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับการตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์นับหมื่นชิ้นจากทั่วโลก จนออกมาเป็นรายงานการประเมิน (Assessment Report) ระดับโลกในแต่ละครั้ง ซึ่งข้อมูลภายในรายงานยังต้องได้รับการเห็นชอบจากตัวแทนของประเทศสมาชิก ข้อมูลจาก AR ฉบับต่างๆ จึงค่อนข้างแม่นยำและมีความน่าเชื่อถือสูงมาก
IPCC แบ่งการทำงานออกเป็น 3 คณะ คณะทำงานชุดที่ 1 (Working Group I) ศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์กายภาพของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะทำงานชุดที่ 2 (Working Group II) ศึกษาเรื่องผลกระทบ การปรับตัวและความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และคณะทำงานชุดที่ 3 (Working Group III) ศึกษามาตรการลดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ยังอาจมีการแต่งตั้งคณะทำงานชุดพิเศษตามวาระต่างๆ เช่นการประชุมที่กรุงปารีสเมื่อเดือนมีนาคม 2018 ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุงความสมดุลระหว่างเพศและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทางเพศด้านอื่นๆ
ย้อนกลับดูรายงานการประเมินฉบับแรกเมื่อปี 1990 ผลสรุปสำคัญในตอนนั้นคือ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์ได้เพิ่มความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอย่างมาก ซึ่งจะทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น” ซึ่งรายงานผลการศึกษาของ IPCC มักถูกตั้งคำถามจากฝ่ายที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนว่ายังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลการศึกษาหรือโมเดลที่ใช้ยังไม่ละเอียดเพียงพอ อย่างไรก็ตามตั้งแต่นั้นมาก็มีการประเมินใหม่ทุกๆ 5-7 ปี การประเมินในช่วง 20 ปีหลังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ จนแทบไม่มีข้อโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์อีกแล้ว
รายงานการประเมินครั้งนี้เป็นรายงานฉบับที่ 6 เรียนกันย่อๆ ว่า AR6 ของคณะทำงานชุดที่ 1 ห่างจากรายงานฉบับที่แล้ว (AR5 WG1) เมื่อปี 2013 ถึง 8 ปี
AR6 เป็นผลผลิตของนักวิทยาศาสตร์ 234 คนจาก 66 ประเทศ ใช้เวลาทั้งหมด 5 ปีในการประมวลข้อมูลจากงานวิจัยกว่า 14,000 ฉบับ
โดยในกระบวนการนี้ยังมีการตรวจทานอีกหลายขั้นตอน ร่างฉบับแรกได้รับความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ 23,000 จุด ซึ่งแต่ละจุดก็ต้องมีคำอธิบายประกอบ ร่างฉบับที่สองได้รับความเห็นอีกว่า 50,000 จุดจากผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนรัฐบาลประเทศต่างๆ ก่อนที่จะนำมาปรับเป็นร่างรายงานฉบับสุดท้ายที่เปิดเผยต่อสาธารณะ
รายงานของคณะทำงานชุดที่ 1 ฉบับนี้ล่าช้าไปเกือบ 1 ปีอันเป็นผลกระทบมาจากโควิด ส่วนรายงานของคณะทำงานชุดที่ 2 และ 3 มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2022 โดยคาดว่าจะมีรายงานสรุป (Synthesis Report) ออกมาในเดือนกันยายน ปี 2022
กระบวนการตรวจทานที่มีส่วนร่วมจากตัวแทนรัฐบาลประเทศต่างๆ นับเป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้ผลการศึกษาของ IPCC มีความเชื่อมโยงกับการผลักดันด้านนโยบายโดยอัตโนมัติ แทนที่จะเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาเพียงอย่างเดียว ข้อมูลจาก AR6 WG1 จึงเป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจของผู้นำโลกก่อนหน้าการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ที่นครกลาสโกว สก็อตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ลองมาไล่ข้อมูลสำคัญจากรายงาน ฉบับนี้กัน
1. โลกร้อนขึ้นแล้ว 1.09 องศาเซลเซียสและมนุษย์คือสาเหตุอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง
เป็นครั้งแรกที่รายงานของ IPCC ยืนยันหนักแน่นจนไม่เหลือข้อสงสัยทางวิทยาศาสตร์อีกต่อไปว่า มนุษย์คือตัวการที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวสามารถสังเกตได้ทั้งในชั้นบรรยากาศ บนบกและในมหาสมุทร โดยพบว่าอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยได้เพิ่มสูงขึ้นแล้ว 1.09 องศาเซลเซียสระหว่างช่วงปี 1850-1900 และช่วงทศวรรษที่ 2010 โดยอุณหภูมิได้เพิ่มสูงขึ้นจากรายงานฉบับก่อนเมื่อปี 2013 ถึง 0.29 องศาเซลเซียส
IPCC ตระหนักดีว่ามีสาเหตุอื่นๆตามธรรมชาติที่มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์สามารถระบุได้ว่าสภาวะโลกร้อนอันเกิดจากก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์มีส่วนสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้นถึง 1.07 องศาเซลเซียสจาก 1.09 องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้น หรือพูดง่ายๆว่าเป็นผลมาจากมนุษย์เองเกือบทั้งหมด
อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมายังสูงที่สุดที่วัดได้เมื่อเทียบกับช่วง 50 ปีอื่นๆ ตลอด 2 พันปีที่ผ่านมา และยังส่งผลกระทบลงไปใต้ทะเลที่ความลึกกว่า 2 พันเมตร ห้าปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ร้อนที่สุดตั้งแต่เคยมีการบันทึกอุณหภูมิเมื่อปี 1850
กิจกรรมมนุษย์ยังได้ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการตกของฝนและหิมะ ตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมาน้ำฝนและหิมะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น แต่มีการกระจายไม่เท่ากัน บางภูมิภาคชุ่มชื้นมากขึ้น ในขณะที่บางภูมิภาคแห้งแล้งยิ่งกว่าเดิม พื้นที่ที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่มักได้รับปริมาณน้ำฝนมากขึ้นและถี่ขึ้น อันเนื่องมาจากชั้นบรรยากาศที่อบอุ่นสามารถนำพาความชื้นไปได้มากกว่า ทุกๆ 1 องศาที่เพิ่มขึ้นจะยิ่งมีความชื้นเพิ่มขึ้น 7% ฤดูฝนจึงจะยิ่งมีปริมาณฝนมากขึ้นและรุนแรงขึ้น จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดอุทกภัยบ่อยครั้งขึ้น
2. ความเข้มข้นของคาร์บอนไดอ็อกไซด์สูงสุดในรอบ 2 ล้านปี
ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศในปัจจุบันเพิ่มขึ้นและยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าช่วงใดๆในเวลา 2 ล้านปีที่ผ่านมา ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อปี 1750 พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลา 8 แสนปีที่ผ่านมา และเร็วกว่า 4-5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วง 56 ล้านปีที่ผ่านมา
85% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล อีก 15% เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินโดยเฉพาะการตัดไม้ทำลายป่าและการเสื่อมโทรมของป่าไม้ ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกตัวอื่นๆก็อยู่ในภาวะวิกฤติเช่นกัน ทั้งมีเทนและไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกอันดับสองและสามที่ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อน ต่างมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซมีเทนมาจากการเลี้ยงปศุสัตว์และการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่วนไนตรัสอ็อกไซด์มีที่มาจากการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเป็นหลัก
3. สภาพอากาศสุดขั้วกำลังรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
รายงานฉบับนี้ยืนยันจากสถิติว่าสภาพอากาศร้อนจัด คลื่นความร้อนรุนแรง และฝนที่ตกแบบถล่มทลาย เกิดบ่อยครั้งและมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 1950 ปรากฎการณ์ไฟป่ามหากาฬในออสเตรเลีย คลื่นความร้อน ภาวะแห้งแล้ง รวมไปถึงไฟป่าที่สร้างความเสียหายอย่างหนักในอเมริกาเหนือและยุโรปในระยะหลัง ล้วนเป็นผลโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์
ปริมาณน้ำฝนที่มีแนวโน้มมากขึ้นทำให้เกิดการสะสมของชีวมวลในป่าจำนวนมาก เมื่อเกิดภาวะแห้งแล้งในฤดูร้อนอันเนื่องมาจากคลื่นความร้อน ชีวมวลที่เพิ่มมากขึ้นจึงกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีทำให้แนวโน้มการเกิดไฟป่าในระยะหลังมีความรุนแรงและยากต่อการดับกว่าแต่ก่อน
4. คลื่นความร้อนในมหาสมุทรจะเกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิม 4 เท่า
มหาสมุทรดูดซับพลังงานส่วนเกินอันเกิดจากก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศไว้ราว 91% จนนำไปสู่สภาวะมหาสมุทรร้อนขึ้นและเกิดคลื่นความร้อนใต้น้ำบ่อยครั้งในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
คลื่นความร้อนในทะเลเคยเป็นเหตุการณ์ที่นานๆจะเกิดขึ้นสักครั้ง แต่ในช่วงหลังเกิดขึ้นบ่อยและทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ ผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดคงจะเป็นปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ในแนวปะการัง Great Barrier Reef ของออสเตรเลียที่เกิดขึ้นในปี 2016 2017 และ 2020 หรือเกิดขึ้นถึง 3 ครั้งในรอบ 5 ปี จนทำให้แนวปะการังที่มีขนาดใหญ่กว่า 200 ล้านไร่และมีความยาวกว่า 2,300 กิโลเมตรตายลงกว่าครึ่ง
คลื่นความร้อนในมหาสมุทรยังทำให้เกิดสาหร่ายบลูม (algal bloom) และเกิดการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ
สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งจากรายงานฉบับนี้คือแม้เราจะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5-2 องศาได้ตามข้อตกลงปารีส แต่ความร้อนที่สะสมไว้แล้วและที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตจะทำให้เกิดคลื่นความร้อนบ่อยกว่าเดิมถึง 4 เท่าภายในศตวรรษนี้
ภาวะทะเลเป็นกรดอันเนื่องมาจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่มหาสมุทรดูดซับเอาไว้กำลังเกิดขึ้นในมหาสมุทรทุกแห่งทั่วโลก และส่งผลกระทบลงไปถึงความลึกระดับ 2,000 เมตรในมหาสมุทรตอนใต้และแอตแลนติกตอนเหนือ
5. ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าในอดีตถึง 3 เท่า
การละลายของแผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งทั่วโลก และการขยายตัวของมหาสมุทรอันเนื่องมาจากพลังงานความร้อนที่สะสมทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นแล้วราว 20 เซนติเมตรระหว่างปี 1901-2018 แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคืออัตราการเพิ่มสูงขึ้นที่เพิ่มจาก 1.3 มิลลิเมตรต่อปีในช่วงปี 1901-1971 เป็น 1.9 มิลลิเมตรต่อปีในช่วงปี 1971-2006 และเพิ่มเป็น 3.7 มิลลิเมตรต่อปีในช่วง 2006-2018 นั่นหมายความว่าในช่วงทศวรรษหลังสุดระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเร็วกว่าเดิมถึงเกือบ 2 เท่า หรือเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปี 1971
อัตราการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดทำให้ รายงานฉบับนี้ระบุว่าเป็นไปได้ที่ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เมตรภายในศตวรรษนี้ และอาจสูงถึง 5 เมตรภายในปี 2150 ซึ่งหมายความว่าประชาชนหลายร้อยล้านคนที่อาศัยในพื้นที่ชายฝั่งจะต้องอพยพหาที่อยู่ใหม่ รวมไปถึงมหานครทั่วโลกที่จะเสียหายอย่างหนักไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก เซี่ยงไฮ้ โตเกียว มุมไบ กรุงเทพฯ โฮจิมินห์ซิตี้ จาการ์ตา
6. การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างไม่สามารถหยุดยั้งได้อีกแล้ว
ถึงแม้เราจะหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ความเสียหายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายร้อยปีหรือแม้แต่พันปี เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้น 2 องศาจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นอย่างน้อย 2-6 เมตรในช่วงเวลา 2,000 ปีข้างหน้า ซึ่งแน่นอนว่าระดับน้ำทะเลจะยิ่งสูงรวดเร็วกว่านี้หากอุณหภูมิเพิ่มสูงกว่าระดับ 2 องศา
ธารน้ำแข็งที่เริ่มละลายหดหายไปตั้งแต่ทศวรรษ 1950 จะยังคงละลายต่อไปอีกหลายสิบปี แม้ว่าจะเราทำให้อุณหภูมิของโลกคงที่แล้วก็ตาม เช่นเดียวกับภาวะทะเลเป็นกรดที่จะยังคงสภาพดังกล่าวไปอีกนับพันปีแม้ว่าเราจะหยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แล้ว
รายงานฉบับนี้ยังคาดการณ์ด้วยว่า เป้าหมายของข้อตกลงปารีสที่พยายามป้องกันไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ และไม่เกิน 1.5 องศาถ้าเป็นไปได้ มีแนวโน้มจะล้มเหลวค่อนข้างแน่นอน เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยน่าจะเพิ่มถึง 1.5 องศาภายในปี 2040 และอาจจะเร็วกว่านี้ถ้าอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังไม่ลดลง ทางเดียวที่จะทำให้อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาภายในศตวรรษนี้คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต้องเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050
7. งบประมาณคาร์บอนที่เหลืออยู่
รายงานฉบับนี้มีการปรับปรุงการคำนวณปริมาณคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่สัมพันธ์กับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะบอกว่าเรามีงบประมาณคาร์บอน (Carbon budget) หรือปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ได้อีกเท่าไหร่ จึงจะสามารถควบคุมให้อุณหภูมิไม่สูงเกินกว่าระดับที่ต้องการ
ทั้งนี้ได้มีการทบทวนข้อมูลสำคัญหลายอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิต่อปริมาณคาร์บอนไดอ็อกไซด์ อัตราการเพิ่มขึ้นของอุณภูมิหลังจากที่เข้าสู่ยุค Net Zero การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมินอกเหนือจากคาร์บอนไดอ็อกไซด์ รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจเร่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ การละลายของชั้นดินเยือกแข็งหรือเพอร์มาฟรอสต์ (Permafrost) ซึ่งหากละลายทั้งหมดจะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ากับก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ 66 กิกะตัน (1 กิกะตัน = 1 พันล้านตัน)
ผลการประเมินล่าสุดในรายงาน AR6 ใกล้เคียงกับรายงาน IPCC ฉบับพิเศษ (Special Report: Global Warming of 1.5C) เมื่อปี 2018 ซึ่งสูงกว่างบประมาณคาร์บอนที่เคยประเมินไว้ในรายงานฉบับที่ 5 (AR5) ค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่น ในรายงาน AR6 หากมีโอกาสควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5 C อย่างน้อย 50% นับจากปี 2020 งบประมาณคาร์บอนที่เหลืออยู่คือ 500 กิกะตัน ในขณะที่รายงาน AR5 ระบุว่าเหลืออยู่ไม่ถึง 200 กิกะตัน ด้วยอัตราการปล่อยคาร์บอนในปัจจุบันอยู่ที่ปีละ 40 กิกะตัน เราจะมีเวลาเหลืออีกแค่ 12 ปี
หากต้องการเพิ่มความน่าจะเป็นให้สูงขึ้นเป็น 67% หรือ 2 ใน 3 งบประมาณคาร์บอนที่เหลืออยู่จะลดลงเหลือ 400 กิกะตัน หรือ 10 ปี หากต้องการเพิ่มความน่าจะเป็นให้สูงถึง 83% งบประมาณคาร์บอนจะเหลืออยู่แค่ 300 กิกะตัน หรือไม่ถึง 8 ปี
“รายงาน AR6 ได้อธิบายถึงการทดลองที่สุดแสนจะอันตรายและไม่เคยปรากฏมาก่อนกับโลกใบเดียวที่เรารู้จัก โลกที่เป็นบ้านของเราและสิ่งมีชีวิตทั้งมวล” ไมเคิล แมนน์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศกล่าวถึงรายงานฉบับนี้
ส่วนนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ แถลงกับสื่อมวลชนว่า “ถ้าเราร่วมมือกันเดี๋ยวนี้ เราอาจจะหลีกเลี่ยงหายนะจากสภาพอากาศสุดขั้วได้ รายงานฉบับนี้คือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุดที่บอกว่า เราไม่มีเวลาจะเสียอีกแล้ว ไม่มีคำแก้ตัวใดๆ และผมหวังว่าผู้นำรัฐบาลทุกคน รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอดของมวลมนุษย์”
ด้าน เกรตา ธันเบิร์ก สาวน้อยนักรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศชาวสวีเดน บอกว่าเธอไม่แปลกใจเลยกับผลการประเมินล่าสุด
“ความจริงวิทยาศาสตร์มีคำตอบที่ชัดเจนมากว่า 30 ปีแล้ว บรรดานักการเมืองและผู้นำประเทศที่ไม่สนใจคำเตือนเหล่านั้น หนูยังมองไม่เห็นความตั้งใจทางการเมืองที่จะแก้ปัญหานี้ คำมั่นสัญญาสวยหรูทั้งหลายรวมทั้งเป้าหมายอันห่างไกล(อีก 30 ปีข้างหน้า) แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย ตราบที่อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงพุ่งสูง และมีการอนุมัติโครงการพัฒนาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง”
ด้วยข้อมูลที่ชัดเจนและหนักแน่นจากรายงาน IPCC AR6 ฉบับนี้ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties: COP) การประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ณ เมืองกลาสโกว์ สก็อตแลนด์ จึงนับเป็นเวทีต่อรองระดับโลกที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งที่มีอนาคตของโลกเป็นเดิมพัน
เอกสารอ้างอิง
AR6 Climate Change 2021: The Physical Science Basis
Climate change: IPCC report is ‘code red for humanity’
This is the most sobering report card yet on climate change and Earth’s future. Here’s what you need to know