ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > คำเตือนครั้งสุดท้ายจากIPCC – โลกร้อนลงทะเลถึงความเสี่ยงทางการเงิน

คำเตือนครั้งสุดท้ายจากIPCC – โลกร้อนลงทะเลถึงความเสี่ยงทางการเงิน

11 กันยายน 2021


Chula Zero Waste จัดเสวนาออนไลน์ผ่าน Zoom หัวข้อ “ผลกระทบโลกร้อนที่ตอกย้ำในรายงาน IPCC Climate Changes 2021 ไทยพร้อมรับมือเพียงใด” เพื่อจับตาและประเมินความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศของไทยว่าพร้อมรับมือเพียงใด และเปิดกรอบแผนพลังงานแห่งชาติซึ่งอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น โดยมี 4 วิทยากรที่ร่วมการเสวนา ได้แก่ ดร.เพชร มโนปวิตร, ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, นายสิรภพ บุญวานิช และ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์

ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิชาการด้านอนุรักษ์ และผู้ก่อตั้งเพจ Rereef

8 ประเด็นโลกร้อนจากรายงาน IPCC

ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิชาการด้านอนุรักษ์และผู้ก่อตั้งเพจ Rereef กล่าวถึง IPPC (Intergovernmental Panel on Climate Change ว่าเป็นคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อตั้งโดยโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ จับมือกับองค์การอุตุนิยมโลกในปี 2531 (1988) เพื่อจับตาผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะประเด็นโลกร้อน (Climate Changes) นำไปสู่การเสนอนโยบายให้กับประเทศต่างๆ โดยมีประเทศสมาชิกเกือบ 200 ประเทศ มีรายงานวิทยาศาสตร์กว่า 14,000 รายงาน นักวิจัย 234 คน จาก 65 ประเทศ และเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ 63%

IPCC มีคณะทำงานอย่างน้อย 4 ด้าน ได้แก่ คณะทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ (The Physical Science Basic) คณะทำงานด้านการปรับตัวและความเปราะบาง (Impacts, Adaptaion and Vulnerability) คณะทำงานมาตรการจากก๊าซเรือนกระจก (Mitigation of Climate Changes) นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะประเด็น

ข้อเท็จจริงที่ IPCC พบว่าโลกร้อนขึ้น ดังนี้

  1. โลกร้อนขึ้นแล้วเกิน 1.09 องศา และมนุษย์คือสาเหตุโดยไม่มีข้อโต้แย้ง อย่างไรก็ตามมีการคำนวณว่า หากตัดปัจจัยมนุษย์ออก โลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นแค่ 0.6 เท่านั้น
  2. ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดในรอบ 2 ล้านปี โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถูกเร่งความเร็วขึ้นเรื่อยๆ และโลกกำลังเข้าไปสู่พรมแดนที่นักวิทยาศาสตร์ยังคาดการณ์ได้ยาก
  3. สภาพอากาศสุดขั้วกำลังรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยรายงานจาก IPCC ระบุว่าถ้าไม่มีผลจากน้ำมือมนุษย์ หลายเหตุการณ์อาจจะไม่เกิดขึ้น เช่น ไฟป่าออสเตรเลีย ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์มีส่วนสำคัญ หรืออุณหภูมิจากแคนาคาเหนือสูงขึ้น
  4. ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในอดีตกว่า 3 เท่า โดย ดร.เพชรกล่าวว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกที่ IPCC กล้าสรุปว่าระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มขึ้น 2 เมตรภายในศตวรรษนี้ และอาจสูงถึง 5 เมตรภายในปี 2150 หรือเพิ่มขึ้น 3.7 มิลลิเมตรต่อปี

  5. คลื่นความร้อนในมหาสมุทรจะเกิดขึ้นถี่กว่าเดิม 4 เท่า ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฝนตกบ่อยขึ้น ฤดูร้อนจะร้อนเป็นพิเศษเพราะมีเชื้อเพลิงสะสมมาก ไฟป่าเกิดขึ้นรุนแรงและดับได้ยาก รวมไปถึงคลื่นความร้อนในมหาสมุทรจะเกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิมส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเล
  6. รายงานยังระบุว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่สามารถหยุดยั้งได้แล้ว แต่ต้องเป็นเรื่องการ ‘รับมือ’ เท่านั้น
  7. การจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศายาก และแทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์
  8. งบประมาณคาร์บอนที่เหลืออยู่ (Carbon Budget) สะท้อนเวลาในการแก้ปัญหาโลกร้อน ดร.เพชรอธิบายว่า ต่อให้มีเป้าหมายการเป็น Net Zero (ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์) แต่ข้อเท็จจริงระบุว่าถ้าโลกต้องการให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา เท่ากับมีปริมาณคาร์บอนที่จะปล่อยได้ไม่เกิน 500 พันล้านตัน อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติมีการปล่อยก๊าซประมาณ 40 ล้านตันต่อปี เท่ากับว่าโลกจะเหลือเวลาอย่างน้อย 8 ปีเพื่อไม่ให้อุณหภูมิสูงเกินไป

“รายงาน IPCC เป็นคำเตือนครั้งสุดท้ายที่พยายามบอกว่าผู้นำรัฐบาลต้องช่วยกันทำให้สำเร็จ เราได้เห็นการตื่นตัวของเยาวชนรุ่นใหม่ว่านี่คือโลกอนาคตที่จะเผชิญ แต่ถ้าไม่แก้ปัญหาตอนนี้ก็จะสายเกินไป หมายความว่าทุกอย่างเป็นไปได้ถ้าทุกคนร่วมกันและตระหนักข้อเท็จจริง”

โลกร้อนลงทะเล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในประเด็น ‘โลกร้อนลงทะเล’ โดยเริ่มจากฉายภาพให้เห็นว่าภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป 3 รูปแบบ ได้แก่

1) ผลกระทบจากโลกร้อน เช่น ปรากฏการณ์ Ocean Warming ทะเลกรด ระดับออกซิเจนในน้ำทะเลต่ำลง ฯลฯ
2) ผลกระทบอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับโลกร้อน แต่ทำลายระบบนิเวศ เช่น อุตสาหกรรมประมง มลพิษ ฯลฯ
3) ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เช่น ปะการังฟอกขาว ทะเลกรดปะการังกัดกร่อน หรือพายุรุนแรงทำให้ปะการังหักหรือพัง น้ำแข็งขั้วโลกละลาย สัตว์ทะเลไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ฯลฯ

“สรุปสั้นๆ เช่น เรื่องไนโตรเจนฟอสฟอรัสที่เกิดขึ้นจากปุ๋ย เคมี เมื่อเป็นน้ำทิ้ง มันไม่เกี่ยวกับโลกร้อน แต่มันลงไปสู่แนวปะการัง ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำเขียว อุณหภูมิลงต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้เราก็เห็นน้ำเขียวในภาคตะวันออกของประเทศไทย ปลาตาย ส่งผลกระทบร่วมกับผลกระทบโลกร้อนกลายเป็นสองเด้ง”

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวต่อว่ารายได้จากการท่องเที่ยวแนวปะการังของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนรายได้การท่องเที่ยวทางทะเลอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาทต่อปี แต่เมื่อระบบนิเวศทางทะเลพังลง ‘ชาวประมงพื้นบ้าน’ จึงสูญเสียรายได้มากกว่าธุรกิจรายใหญ่ ดังนั้นภาวะโลกร้อนจึงส่งผลกระทบไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ชาวบ้านทั่วไปด้วย

“ชาวประมงพื้นบ้านจับปลาไม่ได้ เงินเข้าครอบครัวก็จะน้อยลง ปกติการหาปลาใช้เรือหนึ่งลำ คนสองคน พ่อเรียกเด็กข้างบ้านไปด้วย ถ่ายทอดประสบการณ์จับปลาให้กัน พอพ่อแก่ เด็กข้างบ้านก็เรียกคนอื่นมา มันเป็นสังคมที่วนเป็นวงกลม แต่เมื่อเหตุการณ์หนักขึ้น ปลาตัวเล็กลง เงินน้อยลง จำเป็นให้เด็กข้างบ้านออก เขาไม่มีอะไรทำ ความรู้โดนตัดขาด พ่อก็ต้องเอาแม่ที่อยู่บ้านขึ้นเรือไปแทน เพราะไล่เด็กข้างบ้านออกไปแล้ว ลูกก็อยู่บ้านคนเดียว ส่งผลกระทบต่อปัญหาสังคม ทำให้เกิดการตัดตอน สุดท้ายเราก็ตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กแว๊นเยอะจัง ทำไมพ่อแม่ไม่ดูแล ทั้งหมดมันกลับมาถึง ‘อุณหภูมิ’ ที่เพิ่มขึ้น”

“ปะการังฟอกขาวเป็นภาพที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในประเทศไทย ผมทำเรื่องปะการังมามาก บอกได้เลยว่ามันไม่เคยรุนแรงขนาดนี้ อุณหภุมิน้ำตื้น 37 องศา ปะการังขาวทันที ปะการังตาย ไม่มีหอยเม่นมากินสาหร่าย สาหร่ายขึ้นปะการัง พอไม่มีปลิง สาหร่ายเพิ่มขึ้น”

ผศ.ดร.ธรณ์กล่าวต่อว่า ประเทศไทยตั้งเป้า Net Zero ภายในปี 2065-2070 ถือว่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์ที่ดีที่สุดที่ประเทศทั่วโลกสามารถทำให้เป็น net zero ได้คือปี 2603 (ค.ศ.2060) เพื่อลดผลกระทบจากหนักเป็นเบา แต่ไม่สามารถหยุดปัญหาโลกร้อนได้

“สมัยเด็กๆ ตอนทำเรื่องโลกร้อนเมื่อ 20-30 ปีก่อน ผมค่อนข้างเป็นเดือดเป็นร้อน พยายามวิ่งตะโกนบอกคนอื่นไปทั่ว เขียนหนังสือว่าแย่แล้ว แต่ไม่ค่อยมีคนสนใจ พอถึงนาทีนี้ผมบรรลุอะไรบางอย่างว่าผมจะไปเดือดร้อนทำไม โลกร้อนคนเดือดร้อนสุดไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่เป็นภาคธุรกิจ ภาคพลังงานและขนส่ง ทุกคนจะคิดว่านักสิ่งแวดล้อมหรือนักวิทยาศาสตร์เดือดร้อน ตรงกันข้ามคือมีงานมากขึ้นด้วยซ้ำ”

โลกร้อนคือความเสี่ยงทางการเงิน

นายสิรภพ บุญวานิช นักวิเคราะห์ข้อมูลสภาพภูมิอากาศ บริษัท Four Twenty Seven

นายสิรภพ บุญวานิช นักวิเคราะห์ข้อมูลสภาพภูมิอากาศ บริษัท Four Twenty Seven กล่าวว่าปัจจุบันโลกร้อนกลายเป็นความเสี่ยงทางการเงิน ตัวอย่างเช่น บริษัทไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า แต่เมื่อสืบค้นข้อเท็จจริงกลับพบว่าบริษัทดังกล่าวมีส่วนทำให้เกิดไฟป่า จนบริษัทต้องจ่ายค่าเสียหาย ประกาศล้มละลายในเวลาต่อมา หรือบริษัทในเท็กซัสที่ได้รับผลกระทบจากพายุหิมะต้องประกาศล้มละลายเพราะจ่ายค่าเสียหายจากภัยพิบัติไม่ไหว นอกจากนี้กองทุนบำนาจที่นิวยอร์กยังประกาศถอนตัวจากบริษัทน้ำมันต่างๆ เพราะพลังงานทางเลือกมีมากขึ้น

“ไทยยังไม่มีบริษัทล้มละลายจากภัยพิบัติ แต่ไทยมีความเสี่ยงน้ำท่วมเป็นอันดับสองของโลก อย่างน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ภาคกลางได้รับผลกระทบ ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตฮาร์ดดิสของโลก พอโดนน้ำท่วมใหญ่เลยขาดแคลน ราคาโลกจึงพุ่งกระฉูด เป็นคำถามว่าถ้าเราเป็นนักลงทุนยังจะตั้งโรงงานที่ไทยหรือย้ายไปที่อื่น”

นายสิรภพชี้ให้เห็นว่า ความเสี่ยงโลกร้อนแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ความเสี่ยงทางกายภาพ (Physical Risk) เช่น น้ำท่วม ไฟป่า ดินถล่ม ระดับน้ำทะลสูงขึ้น ชายฝั่งถูกกัดเซาะ และความเสี่ยงจากนโยบาย (Transition Risk) เช่น ประมงใบเหลือง(IUU) หรือการเล็งเก็บภาษีคาร์บอน ทำให้เสียภาษีเพิ่มขึ้น

นายสิรภพให้ข้อมูลว่าประเทศไทยมีความเสี่ยง 3 ด้านคือ การท่องเที่ยว เกษตรกรรมและความร้อน โดยใน 1 ปีจะมีวันที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น 250 วันต่อปี ขณะเดียวกันภัยแล้งก็จะรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2623 (ค.ศ.2080) และคาดว่าจะมีคนได้รับผลกระทบในประเทศไทยจากอย่างน้อย 800,000 รายเพิ่มเป็น 3-5 ล้านคน

นายสิรภพกล่าวถึงสิ่งที่จำเป็นต้องทำโดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ และสิ่งที่ควรหยุดทำดังนี้

สิ่งที่ควรทำ ได้แก่ ลงทุนเรื่องการปรับตัวในโลกร้อน ระบบเตือนภัยต่างๆ เช่น เอสเอ็มเอสแจ้งเตือนภัยพิบัติ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับภัยพิบัติในอนาคต ให้ทุกบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องสำรวจตัวเองว่าความเสี่ยงโลกร้อนกระทบเราอย่างไร และลดคาร์บอนที่ปล่อย เสียภาษีตามปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมา

สิ่งที่ต้องเลิกทำ ได้แก่ การเลิกลงทุนในกำแพงกั้นน้ำ รวมถึงฝนเทียม เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน อย่ารอให้ภัยพิบัติเกิดขึ้น และอย่าทิ้งภาระให้คนรุ่นหลัง

แผนพลังงานแห่งชาติของประเทศไทย

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวถึงนโยบายยุทธศาสตร์พลังงานด้านพลังงานของไทย ในช่วงปี 2564-2573 โดยคงเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซ 20% และเพิ่มเป็น 25% บนเงื่อนไขว่าได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและการเงิน แต่ทั้งนี้รายงานยังระบุรายละเอียดในภาพรวม ไม่ได้มีการระบุข้อเท็จจริงชัดเจน

นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC) ยังเปิดให้หลายประเทศเข้าร่วมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยต้องจัดส่งรายงาน LT-LEDS และประเทศส่วนใหญ่กำหนดเป้าการเป็น net zero ในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ยกเว้นเบอร์ลินที่ปี 2573 (ค.ศ. 2030) ฟินแลนด์ปี 2578 (ค.ศ. 2035) โดยประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมการจัดส่งรายงานดังกล่าว

ดร.บัณฑูร มองจุดเปลี่ยนประเด็นโลกร้อนหรือ Climate Change ว่ามาจากโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน เพราะมีการประกาศลดการปล่อยก๊าซ และเป็นประเทศมหาอำนาจที่ผลักดันประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจังร่วมกับประเทศอื่นๆ

ในเวทีระดับโลกยังมีการกำหนดทิศทางเรื่อง European Green Deal เพื่อให้หลายประเทศหันมาใส่ใจประเด็นโลกร้อนมากขึ้น โดยผู้ประกอบการไทยจะได้รับผลกระทบจากมาตรการ Carbon border Adjustment หรือ CBAM ซึ่งเป็นการเก็บภาษีคาร์บอน รวมถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับสินค้าที่ยั่งยืน (Suatainability Product Initiative) ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและความรับผิดชอบในช่วงโซ่อุปทาน

ในระดับประเทศไทยได้ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 52% ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) โดยสัดส่วนก๊าซเกินกว่าครึ่งมาจากภาคพลังงาน และเมื่อแบ่งตามสาขาจะพบว่า สาขาผลิตไฟฟ้ามีการปล่อยก๊าซสูงที่สุด ตามด้วยสาขาขนส่ง สาขาอุตสาหกรรม สาขาครัวเรือน และสาขาอาคาร ตามลำดับ

ดร.บัณฑูรให้ข้อมูลว่า ในสาขาพลังงานก็ได้มีการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซ 66% ภายในปี 2593 โดยมีทั้งก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน

ข้อกำหนดด้านโลกร้อนระดับโลกทำให้ภาคพลังงานไทยเริ่มปรับตัวมากขึ้น อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมข้อตกลง RE100 เพื่อจุดประสงค์เป็นองค์กรที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน หรือภาคเอกชนอย่างปตท.ที่เปิดตัวธุรกิจให้บริการซื้อ-ขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียนเป็นรายแรกในประเทศไทย

ดร.บัณฑูรกล่าวต่อว่า กระทรวงพลังงานได้จัดทำ ‘กรอบแผนพลังงานแห่งชาติ’ โดยช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 อยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น และจะนำเสนอแผนฯ ให้กับคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในปี 2565

สาระสำคัญของกรอบแผนพลังงานคือขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทำให้การลดก๊าซสร้างมูลค่าเพิ่มด้านเศรษฐกิจ และเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์การลงทุน โดยระบุไว้ 5 ด้าน ดังนี้

  1. ด้านไฟฟ้า – เพิ่มสัดส่วนระบบพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน (RE), พัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้ายุคใหม่ (Grid Modernization) และระบบบริหารจัดการไฟฟ้าด้วย Smart Grid ตลอดจนเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ
  2. ด้านก๊าซธรรมชาติ – ส่งเสริมการใช้ LNG แทนการใช้น้ำมัน, พัฒนาระบบประเมินและกำกับดูแลทรัพยากรปิโตรเลียม, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติ เพื่อรองรับการใช้ก๊าซธรรมชาติแบบกระจายศูนย์ และเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติ โดยปรับปรุงกฎระเบียบและพัฒนาโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ
  3. ด้านน้ำมัน – ปรับปรุงมาตรฐานโรงกลั่นน้ำมัน, ส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำและเชื้อเพลิงชีวภาพ, เปลี่ยนการใช้ความร้อนจาก LPG ในภาคครัวเรือนมาเป็นการใช้เตาไฟฟ้า ฯลฯ
  4. ด้านพลังงานทดแทนและทางเลือก – พัฒนากลไกการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์, พัฒนาศูนย์ข้อมูลในการควบคุมระบบพลังงานหมุนเวียนด้วยระบบดิจิทัล, ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน, พัฒนาตลาดชีวมวลและพัฒนาการใช้ไฮโดรเจน เปลี่ยนเชื้อเพลิงชีวภาพไปสู่ Bio-Jet และการใช้งานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
  5. ด้านการอนุรักษ์พลังงาน – กำหนดเป้าหมายใหม่ พัฒนามาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปรับปรุงกฎระเบียบ, ส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียว, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่น โครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้า

ดร.บัณฑูรกล่าวต่อว่า แผนพลังงานฯ ที่จะเกิดขึ้นจะช่วยส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทย และสร้างโอกาสการลงทุนจากต่างประเทศ ตามทิศทางการแข่งขันภายใต้นโยบาย Low Carbon Comparative Advantage Policy