ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > งานวิจัยใหม่พบ การเสียชีวิตจากความร้อนมากกว่า 1 ใน 3 มาจาก Climate Change

งานวิจัยใหม่พบ การเสียชีวิตจากความร้อนมากกว่า 1 ใน 3 มาจาก Climate Change

8 มิถุนายน 2021


ที่มาภาพ: https://www.business-standard.com/article/current-affairs/heatwave-intensifies-across-india-delhi-records-hottest-day-since-2002-120052700142_1.html

การเสียชีวิตจากความร้อนมากกว่า 1 ใน 3 มาจาก climate change

โลกที่ร้อนขึ้นจากการกระทำของมนุษย์มีส่วนอย่างมากต่อการเสียชีวิตที่เกิดจากความร้อน โดยเฉพาะในเอเชียใต้และอเมริกาใต้

มากกว่า 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตจากความร้อนในหลายพื้นที่ของโลกอาจเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่ร้อนขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากรายงานผลการศึกษาใหม่ที่บ่งชี้ว่าต้องมีการดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน

งานวิจัยชิ้นใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Climate Change จากการร่วมทำวิจัยของนักวิจัย 70 คนโดยใช้ข้อมูลจากโครงการสำคัญๆ ในด้านระบาดวิทยาและแบบจำลองสภาพภูมิอากาศใน 43 ประเทศ พบว่า การเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนทั่วโลกระหว่างปี 1991 และปี 2018 โดยเฉลี่ย 37% มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์ได้นำแบบจำลองใหม่ที่ช่วยในการคำนวณผลของภาวะโลกร้อนต่อการเกิดเหตุการณ์ต่างๆของสภาพอากาศ เช่น พายุ และภัยแล้ง มาใช้กับการประเมินสุขภาพของมนุษย์ โดยดร.อนา มาเรีย วิเซโด คาเบรรา แห่งมหาวิทยาลัย Bern ในสวิตเซอร์แลนด์ อันโตนิโอ กัสพาร์รินิ จาก London School of Hygiene and Tropical Medicine และคณะ ได้รวบรวมข้อมูลอุณหภูมิและการเสียชีวิตในช่วงฤดูร้อนจาก 732 พื้นที่ใน 43 ประเทศในช่วง 28 ปี

นักวิทยาศาสตร์คำนวณความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากความร้อนที่ร้อนจัดในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งทำแบบจำลองสถานการณ์ 2 สถานการณ์ สถานการณ์แรกนำปัจจัยความร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใส่ในแบบจำลอง และอีกสถานการณ์หนึ่งไม่มีปัจจัยนี้ จากนั้นนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบการเสียชีวิตจากแต่ละสถานการณ์

ผลการวิจัยพบว่า การเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนในฤดูร้อน เป็นผลจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นด้วยการกระทำของมนุษย์ การเสียชีวิตโดยรวมจากพื้นที่ที่ทำการวิจัยมีจำนวนราว 9,700 รายต่อปี โดยพื้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเอเชียใต้ ยุโรปใต้ และอเมริกากลางและอเมริกาใต้

การศึกษาก่อนหน้านี้บางชิ้นได้มีการวิเคราะห์ที่คล้ายคลึงกันสำหรับแต่ละเมืองในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน แต่รายงานฉบับใหม่ได้นำแนวคิดเหล่านี้ไปใช้กับสถานที่หลายร้อยแห่งและในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อหาข้อสรุปในภาพที่กว้างขึ้น

คริสตี เอบิ ศาสตราจารย์ในศูนย์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมโลก (Center for Health and the Global Environment) ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันมีส่วนร่วมในการทำการวิจัยกล่าวว่า “เป็นแนวทางที่รอบคอบ เฉียบแหลม และชาญฉลาดในการพยายามทำความเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังมีผลต่อการเสียชีวิตอันเนื่องจากความร้อนได้อย่างไร”

โลกได้ร้อนขึ้นแล้ว 1 องศาเซลเซียสในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และคาดการณ์ว่าโลกจะร้อนขึ้นอีกมากพร้อมกับความหายนะ หากไม่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนได้

“เมื่อนำมาประกอบกัน ผลการวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า สัดส่วนของการเสียชีวิตทั้งหมด และการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนในช่วงระยะเวลาการศึกษาของเรา สามารถบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์”

ในหลายพื้นที่ที่ทำการศึกษา นักวิทยาศาสตร์พบว่า “อัตราการเสียชีวิตที่มาจากสาเหตุนี้มีอยู่แล้วในอันดับของการเสียชีวิตจำนวนนับสิบถึงหลายร้อยรายในแต่ละปี” จากความร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้เขียนรายงานพบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้อัตราการเสียชีวิตโดยรวมจากทุกสาเหตุเพิ่มขึ้นถึง 5% ในบางพื้นที่ของโลก และยังพบการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากความร้อนที่สูงขึ้นจากสภาพภูมิอากาศในทุกทวีปที่มีผู้คนอาศัยอยู่

ความแตกต่างของอัตราการเสียชีวิตในพื้นที่ต่างๆ ที่ศึกษานั้นซับซ้อนและเกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงบริการสุขภาพ สถาปัตยกรรม ความหนาแน่นของเมือง และรูปแบบการใช้ชีวิต การวิจัยชี้ให้เห็นถึงการแตกต่างระหว่างภูมิภาคที่ร่ำรวยและยากจน นักวิจัยพบว่า อเมริกาเหนือและเอเชียตะวันออกมีแนวโน้มที่จะผู้เสียชีวิตจากสภาพภูมิอากาศในสัดส่วนที่ต่ำกว่า บางประเทศในอเมริกากลางและใต้มีสัดส่วนการเสียชีวิตจากความร้อนมากกว่า 70% อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน

ผู้คนทั่วโลกใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง ขณะเดียวกันก็มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยความร้อนให้กับโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ส่งผลกระทบต่อโครงข่ายไฟฟ้าเช่นกัน โดยในสหรัฐอเมริกาที่เดียวเครือข่ายล่มเพิ่มขึ้น 60% ตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งเครื่องปรับอากาศก็อาจใช้ไม่ได้ผลในระยะต่อไป

ดร.อนา มาเรีย วิเซโด คาเบรรา หัวหน้าคณะผู้เขียนรายงานฉบับใหม่และนักวิจัยจาก Institute of Social and Preventionive Medicine แห่งมหาวิทยาลัย Bern ในสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นเพียงปัญหาสำหรับอนาคต “เราเห็นว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่คนรุ่นต่อไปจะต้องเผชิญ”

“มันเป็นสิ่งที่เราเผชิญอยู่แล้ว อนาคตดูน่ากลัวยิ่งกว่าเดิม ปัญหานี้จะขยายวงออกไป เราต้องทำอะไรสักอย่าง”

ดร.เอบิเห็นด้วยโดยกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราอยู่แล้ว โดยพื้นฐานแล้ว การเสียชีวิตจากความร้อนทั้งหมดสามารถป้องกันได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ชุมชนต้องปรับตัวให้เข้ากับความร้อนผ่านมาตรการต่างๆ เช่น ศูนย์ทำความเย็นและแผนปฏิบัติการด้านความร้อนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เปราะบางที่สุด ในระยะยาว มีตัวเลือกมากมายที่จะส่งผลต่อความเปราะบางในอนาคตของเรา รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเรา”

เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลที่เชื่อถือได้ในบางพื้นที่ของโลก รวมทั้งบางพื้นที่ของแอฟริกาและเอเชียใต้ ดร.วิเซโด คาเบรรา จึงไม่อยากระบุชัดลงไปว่า ค่าเฉลี่ยการเสียชีวิตที่นักวิจัยพบสามารถนำไปใช้ได้ทั่วโลก “ข้อมูลที่เราพบนี้ไม่สามารถใช้กับพื้นที่ที่เราไม่ได้ทำการวิจัย”

ข้อมูลนี้ต้องทำการวิจัยเพิ่มเติม ความเห็นเพิ่มเติมอธิบายท้ายงานระบุว่า “ประเทศที่เราไม่มีข้อมูลด้านสุขภาพที่จำเป็นมักเป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุดและอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด และมักเป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการเติบโตของประชากรในอนาคต การมีข้อมูลเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับวิทยาศาสตร์ในการให้ข้อมูลที่จำเป็นในการช่วยให้ประเทศเหล่านี้ปรับตัว”

แดนน์ มิทเชล ผู้เขียนความเห็นเพิ่มเติมท้ายบท นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศที่มหาวิทยาลัยบริสตอล กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า “ความรุนแรงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดคลื่นความร้อน และสร้างปัญหาในสังคม เช่น อินเดีย ซึ่งผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่ในสภาพที่แออัดและมีความยากจน รวมทั้งบริการด้านสุขภาพไม่เพียงพออยู่แล้ว อาจทำให้เกิดความไม่ยั่งยืน”

อุณหภูมิโลกปี 2020 ร้อนสุดอีกปี

แผนที่แสดงความผิดปกติของอุณหภูมิโลกในปี 2020 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแต่ละภูมิภาคของโลกอุ่นขึ้นหรือเย็นลงเพียงใดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยพื้นฐานระหว่างปี 1951 ถึง 1980

อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของโลกในปี 2020 ใกล้เคียงกับปี 2016 และเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากการวิเคราะห์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration: NASA)

อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2020 เพิ่มขึ้น 1.02 องศาเซลเซียส (1.84 องศาฟาเรนไฮต์) ซึ่งร้อนกว่าค่าฐานเฉลี่ยในปี 1951-1980 จากข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันก็อดดาร์ดเพื่อการศึกษาอวกาศ (Goddard Institute for Space Studies: GISS) ของ NASA ปี 2020 ร้อนกว่าปี 2016 เล็กน้อย แต่อาจมาจากความคลาดเคลื่อนของการวิเคราะห์ ทำให้สองปีนี้ร้อนพอๆ กัน

เกวิน ชมิดท์ ผู้อำนวยการ GISS กล่าวว่า “7 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วง 7 ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มภาวะโลกร้อนที่ต่อเนื่องและร้อนมาก” “ปีไหนจะทำสถิติหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญคือ แนวโน้มระยะยาว ด้วยแนวโน้มเหล่านี้ และผลจากการกระทำของมนุษย์ต่อสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น เราคาดว่าจะมีการทำลายสถิติต่อเนื่อง”

อุณหภูมิโลกในปี 2020 เทียบ 140 ปีที่ผ่านมาจากการบันทึกแบบใหม่ และแสดงถึงอุณหภูมิพื้นผิวโดยเฉลี่ยทั่วโลกตลอดทั้งปี

การวิเคราะห์โดยองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Ocenic and Atmospheric Administration: NOAA) ได้ข้อสรุปว่าปี 2020 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ รองจากปี 2016 นักวิทยาศาสตร์ของ NOAA ใช้ข้อมูลอุณหภูมิดิบชุดเดียวกันในการวิเคราะห์ แต่มีข้อมูลฐานช่วงเวลา (1901-2000) และวิธีการที่ต่างกัน NOAA ระบุว่า ปี 2020 เป็นปีที่ร้อนสุดติดต่อกันปีที่ 44 โดยมีอุณหภูมิพื้นดินและมหาสมุทรทั่วโลกสูงกว่าค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20

นักวิทยาศาสตร์จากโครงการ Copernicus ของยุโรปยังระบุว่า ปี 2020 เป็นปีที่ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์พอๆ กับปี 2016 ขณะที่อุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักร (UK Met Office) จัดให้ปี 2020 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 2

ความผิดปกติของอุณหภูมิโลกทุกเดือนตั้งแต่ปี 1880

แนวโน้มภาวะโลกร้อนในระยะยาวยังคงมีต่อเนื่อง เหตุการณ์และปัจจัยต่างๆ ส่งผลต่ออุณหภูมิเฉลี่ยของปีนั้นๆ ปัจจัยหลักของความแปรปรวนอุณหภูมิโลกปีต่อปีมักมาจาก El Nino-Southern Oscillation (ENSO) หรือการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรและความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ (หมายความรวมถึงปรากฏการณ์ทั้งเอลนีโญและลานีญา) แม้ปีนั้นปิดท้ายปีด้วยลานีญาหรืออากาศเย็นในช่วงเหตุการณ์ ENSO แต่ก็เริ่มต้นปีด้วยอุณหภูมิที่บวกหรือร้อนขึ้นเล็กน้อย ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คาดว่าความเย็นจะมีอิทธิพลมากขึ้นในปี 2564

“สถิติปี 2016 ที่ร้อนเป็นประวัติการณ์ มาจากเอลนีโญที่แข็งแกร่ง” ชมิดท์กล่าว “การไม่มีแรงหนุนจากเอลนีโญในปีนี้เป็นข้อมูลชี้ว่า อากาศยังคงร้อนขึ้นเนื่องจากก๊าซเรือนกระจก”

พื้นที่หลายส่วนของโลกร้อนเร็วกว่าส่วนอื่นๆ โดยแนวโน้มภาวะโลกร้อนเด่นชัดที่สุดในแถบภูมิภาคนี้ร้อนขึ้นเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกมากกว่า 3 เท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกก็ลดลงประมาณ 13% ทุกทศวรรษ ซึ่งทำให้ภูมิภาคพลังงานจากอาทิตย์น้อยลง ในทางกลับกัน มหาสมุทรอาร์กติกดูดซับความร้อนได้มากขึ้นและทำให้อุณหภูมิยังคงสูงขึ้นไปอีก ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Arctic amplification หรือการหลอมละลายของอาร์กติกและร้อนขึ้น