ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > สองนักเศรษฐศาสตร์คว้ารางวัลโนเบลไพรซ์ด้านสภาพภูมิอากาศ, นวัตกรรม ตอกย้ำการพัฒนาที่ยั่งยืนโลก – ยูเอ็นออกรายงานชี้จำกัดอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเป็นเรื่องเร่งด่วน

สองนักเศรษฐศาสตร์คว้ารางวัลโนเบลไพรซ์ด้านสภาพภูมิอากาศ, นวัตกรรม ตอกย้ำการพัฒนาที่ยั่งยืนโลก – ยูเอ็นออกรายงานชี้จำกัดอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเป็นเรื่องเร่งด่วน

16 ตุลาคม 2018


ศาสตราจารย์วิลเลียม ดี. นอร์ดเฮาส์ (ซ้าย) ศาสตราจารย์พอล เอ็ม. โรเมอร์ (ขวา) ที่มาภาพ: https://edition.cnn.com/2018/10/08/business/nobel-prize-economics/index.html

ราชบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (Royal Swedish Academy of Sciences) ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2018 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2561 สองราย คือ ศาสตราจารย์วิลเลียม ดี. นอร์ดเฮาส์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเยล และศาสตราจารย์พอล เอ็ม. โรเมอร์ อาจารย์ จาก NYU Stern School of Business ที่นิวยอร์ก

ในเอกสารข่าวของราชบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ระบุว่า การตัดสินมอบรางวัลให้ศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ เป็นเพราะ “ได้นำการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามารวมไว้ในการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจในระยะยาว” ซึ่งเป็นการนำสภาพภูมิอากาศมาผูกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่การตัดสินมอบรางวัลให้ศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ เพราะ “นำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาใสไว้ในการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจในระยะยาว”

เอกสารข่าวราชบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนระบุอีกด้วยว่า ทั้งศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ และศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ ได้คิดค้นวิธีการที่จะจัดการกับคำถามพื้นฐานที่โลกกำลังเผชิญในขณะนี้ว่า เราจะสร้างความยั่งยืนระยะยาวได้อย่างไร และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้อย่างไร

เนื่องจากหัวใจสำคัญของเศรษฐศาสตร์ คือ การจัดการกับทรัพยากรที่มีจำกัด ธรรมชาติคือปัจจัยหลักที่มีผลต่อข้อจำกัดหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความรู้ที่เรามีจะเป็นตัวกำหนดว่าจะจัดการกับข้อจำกัดที่มีนี้ให้ดีได้อย่างไร และในปีนี้ศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ และศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ ได้ขยายขอบเขตการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ จากการสร้างโมเดลที่อธิบายว่าเศรษฐกิจแบบระบบตลาดมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติและความรู้อย่างไร

การประกาศชื่อศาสตราจารย์วิลเลียม ดี. นอร์ดเฮาส์ และศาสตราจารย์พอล เอ็ม. โรเมอร์ รับรางวัลโนเบล ที่มาภาพ: https://www.nytimes.com/2018/10/08/business/economic-science-nobel-prize.html

ด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ ได้แสดงให้เห็นว่า ความรู้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว เมื่อการเติบโตของเศรษฐกิจในอัตราที่ไม่สูงแต่ละปีมีการสะสมมากกว่า 10 ปีก็จะเปลี่ยนชีวิตผู้คน ก่อนหน้านี้งานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคได้เน้นย้ำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในฐานะปัจจัยแรกๆ ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่มีการสร้างโมเดลขึ้นเพื่อวัดว่าการตัดสินใจทางเศรษฐกิจและภาวะตลาดนั้นมีบทบาทในการสร้างเทคโนโลยีใหม่อย่างไร พอล โรเมอร์ ได้แก้ไขปัญหาด้วยการแสดงให้เห็นว่า อิทธิพลของเศรษฐกิจมีผลต่อความเต็มใจของบริษัทที่จะสร้างสรรค์แนวคิดใหม่และนวัตกรรมอย่างไร

แนวทางแก้ไขของศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ ซึ่งได้มีการตีพิมพ์ในปี 1990 ได้แสดงถึงพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่า endogenous growth theory หรือทฤษฎีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากภายใน ซึ่งทฤษฏีนี้ใช้ได้ทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติ เพราะอธิบายว่าแนวคิดแตกต่างจากสินค้าอื่นอย่างไรและต้องใช้เงื่อนไขเฉพาะเพื่อที่จะขยายตัวในระบบเศรษฐกิจ และทฤษฏีของศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ ยังก่อให้เกิดงานวิจัยด้านกฎเกณฑ์และนโยบายตามมาจำนวนมาก ซึ่งช่วยกระตุ้นแนวคิดใหม่ๆ และอนาคตอันรุ่งเรืองในระยะยาว

ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ งานวิจัยของศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ เกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับธรรมชาติ โดยเขาได้ตัดสินใจที่จะเริ่มงานวิจัยชิ้นนี้ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ขณะที่นักวิทยาศาสตร์มีความกังวลมากขึ้นต่อผลของการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้อากาศร้อนขึ้น ในกลางทศวรรษ 1990 ศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ เป็นคนแรกที่สร้างแบบจำลองเพื่อทำการประเมิน (Integrated Assessment Model: IAM) ขึ้น ซึ่งเป็นโมเดลเชิงปริมาณที่บรรยายให้เห็นการส่งผลกระทบซึ่งกันและกันระหว่างเศรษฐกิจกับภูมิอากาศ โดยในโมเดลสร้างบนพื้นฐานทฤษฏีทางฟิสิกส์ เคมี และเศรษฐศาสตร์ร่วมกัน

แบบจำลองที่ศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ พัฒนาขึ้นนั้นได้มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย และใช้เพื่อประเมินว่าเศรษฐกิจและภูมิอากาศนั้นมีพัฒนาการร่วมกันอย่างไร รวมทั้งได้นำไปใช้ในการตรวจสอบผลที่เกิดขึ้นจากนโยบายการจัดการด้านภูมิอากาศ เช่น การจัดเก็บภาษีจากอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจากกระบวนการผลิตสินค้า

“สิ่งที่ศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ และศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ คิดขึ้นเป็นวิธีการที่ทำให้เรามีข้อมูลพื้นฐานเชิงลึกเกี่ยวกับสาเหตุและผลที่จะเกิดขึ้นจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าในปีนี้งานของผู้ที่ได้รับรางวัลจะไม่มีบทสรุป แต่การค้นพบของเขาก็ทำให้เราเข้าใกล้คำตอบของคำถามที่ว่า เราจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้อย่างไร และจะทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร” เอกสารข่าวระบุ

ที่มาภาพ: https://www.kva.se/en/pressrum/pressmeddelanden/ekonomipriset-2018

หวังรางวัลส่งต่อถึงนโยบาย-กระตุ้นทุกคนลงมือทำ

ศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ เกิดเมื่อปี 1941 ที่เขตมหานครอัลบูเคอร์คี สหรัฐอเมริกา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเยล ปี 1963 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี 1967 จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) ในเคมบริดจ์ เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล ที่นิวเฮเวน เคยเป็นหนึ่งในทีมคณะที่ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของอดีตประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ในช่วง 1977-1979 รวมทั้งยังเป็นผู้เขียนหนังสือร่วมกับพอล แซมมวลสัน นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล ปี 1970 นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในทีมวิจัยของสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Bureau of Economic Research) และเป็นสมาชิกและที่ปรึกษาอาวุโสของคณะทำงานด้านกิจกรรมเศรษฐกิจแห่งสถาบันวิจัยบรูกกิงส์ (Brookings) ตั้งแต่ปี 1972

ศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งเศรษฐกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำงานผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมานานถึง 4 ทศวรรษ โดยเสนอให้ใช้มาตรการภาษีกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Tax) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำได้รับการยอมรับในสายวิชาการและรับรางวัลโนเบล

ในทศวรรษ 1970 ช่วงที่มีความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อตัวระลอกแรก นักเศรษฐศาสตร์หลายคนรวมทั้งศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ เริ่มเตือนหน่วยงานด้านนโยบายของหลายประเทศว่าโมเดลเศรษฐกิจที่ใช้อยู่นั้นไม่ได้รวมผลกระทบจากภาวะโลกร้อนไว้ด้วย และให้ความเห็นว่าการเก็บภาษีเป็นวิธีการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ไขมลภาวะ รัฐบาลควรที่จะกำหนดให้ผู้ที่ปล่อยมลภาวะจ่ายค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของสาธารณชนและสังคม

ศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ ได้พัฒนาโมเดลเศรษฐกิจเพื่อประมินต้นทุนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งชื่อโมเดลนี้ว่า Dynamic Integrated Climate-Economy หรือ DICE เพื่อสะท้อนว่าเรากำลังเดิมพันกับอนาคตของโลกเรา

ในการแถลงข่าวที่มหาวิทยาลัยเยล ศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ ยอมรับว่า รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ที่มอบให้กับผู้ทำงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีแรงส่งต่อไปถึงด้านนโยบายที่จะจำกัดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยกล่าวว่า “รางวัลนี้จะช่วยได้ และคณะกรรมการตัดสินโนเบลช่วยเตือนให้เราตระหนักว่าเรามีการเดิมพันอะไรไว้”

“นี่คือปราการด่านสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผมคิดว่าเราเข้าใจวิทยาศาสตร์ ผมคิดว่าเราเข้าใจถึงการลดลงของเศรษฐกิจ เราเข้าใจดีถึงความเสียหาย แต่เราไม่เข้าใจเกี่ยวกับการนำทุกประเทศมาร่วมกัน นี่คือปราการด่านสุดท้ายที่กำลังเป็นไปทุกวันนี้” ศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ กล่าว

การถกเถียงในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน รวมไปถึงการที่กล่าวหาว่า เป็นการหลอกกัน ขณะที่ผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายจำนวนมากเข้าถึงความจำเป็นที่จะให้แรงจูงใจหรือสิทธิพิเศษในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ แต่ยังมีหลายพื้นที่ที่แนวคิดนี้ยังไปไม่ถึงและไม่ได้รับการยอมรับ

“เราต้องให้ความรู้ ซึ่งพูดไปแล้วฟังราวกับว่าเราต้องถ่อมตัวลง แต่ผมคิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องทำให้ประชาชนตระหนักว่าปัญหานี้มีความสำคัญอย่างไร” ศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ กล่าว

ศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ ยอมรับว่างานวิจัยของเขาไม่สามารถชักจูงรัฐบาลของตัวเองให้เห็นด้วยได้ โดยกล่าวหลังที่รับทราบว่าได้รับรางวัลว่า “นโยบายยังตามหลังงานด้านวิทยาศาสตร์อย่างมาก ยังห่างไกลกับในสิ่งที่ควรจะทำ ยังเป็นการยากที่จะมองในแง่ดี และในสหรัฐฯ เองเรายังถอยหลังด้วยนโยบายหายนะภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์”

ศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับการยอมรับกันแพร่หลายนอกสหรัฐฯ จึงคาดหวังว่าสหรัฐฯ จะยอมรับด้วย พร้อมกับพูดถึงการไม่เห็นด้วยของประธานาธิบดีทรัมป์ว่า คิดว่าสหรัฐฯ จะต้องข้ามผ่านช่วงแห่งความยากลำบากนี้ให้ได้ แต่ก็มั่นใจว่าในที่สุดก็จะเกิดขึ้นได้

ศาสตราจารย์วิลเลียม ดี. นอร์ดเฮาส์ ที่มาภาพ: https://www.washingtonpost.com/outlook/2018/10/12/nobel-laureate-william-nordhaus-provided-tools-fight-global-warming-its-tragic-conservatives-ignored-him/?noredirect=on&utm_term=.1aa22c261aab

ทางด้านศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ ซึ่งได้รับรางวัลร่วมกับศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และเป็นกรรมการของ NYU’s Marron Institute of Urban Management เกิดในปี 1955 ที่รัฐเดนเวอร์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกปี 1983 จากมหาวิทยาลัยชิคาโก เป็นนักเศรษฐศาสตร์และอีกบทบาทหนึ่งคือเป็น Policy Entrepreneur หรือหมายถึง ผู้ผลิตนโยบาย และผลักดันให้รัฐบาลและรัฐสภายอมรับนโยบายที่เสนอแนะ

ก่อนหน้านี้ ศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นช่วงที่ได้พัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาในชื่อ Aplia เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาใช้ความพยายามให้มากขึ้นและเพื่อสร้างความผูกพันในชั้นเรียน ปัจจุบันมีนักศึกษาส่งคำตอบการบ้านผ่าน Aplica กว่าล้านคำตอบ

ศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ ซึ่งเน้นการศึกษาไปที่ว่าเหตุใดเศรษฐกิจบางประเทศเติบโตเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ได้ผลิตงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสามารถผลักดันความก้าวหน้าทางนวัตกรรมได้อย่างไร

ศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ กล่าวว่า เขามีความสนใจในทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะหลงใหลการเติบโตของนวัตกรรม ที่จัดว่าเป็นสัญลักษณ์ของยุคแห่งความทันสมัย ในงานวิจัยปี 1980 และ 1990 ศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ ได้พัฒนาแนวคิดที่ว่า ประเทศสามารถสร้างนวัตกรรมได้ด้วยการวิจัยและมีกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์เพื่อเป็นรางวัลให้กับการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมทั้งยังชี้ว่านโยบายที่แตกต่างกันจะบ่งชี้ความแตกต่างของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ปี 2016 ศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าเศรษฐกรที่ธนาคารโลก แต่ได้ลาออกในเดือนมกราคม 2018 หลังจากออกมาชี้ว่า การประเมินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศชิลีในเชิงบวกนั้นเพราะให้น้ำหนักกับการพิจารณาทางการเมืองเป็นหลัก

ในการแถลงข่าวหลังการประกาศผลรางวัลที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ กล่าวว่า งานวิจัยของเขาได้ทำให้เขามองในแง่บวกว่าสังคมจะสามารถแก้ไขอุปสรรคที่กำลังท้าทายภาวะโลกร้อนได้

ศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ กล่าวว่า งานวิจัยของเราได้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลสามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีได้ โดยอ้างถึงความสำเร็จในการลดการปล่อยคลอโรฟลูโอคาร์บอน (Chlorofluorocarbon) หรือ สาร CFC ที่ทำลายชั้นโอโซนและก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ในช่วงทศวรรษ1990

“ปัญหาหนึ่งในขณะนี้ก็คือผู้คนคิดว่าการปกป้องสิ่งแวดล้อมจะมีต้นทุนสูงและยาก ดังนั้นพวกเขาจึงพากันละเลยปัญหานี้และทำราวกับว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้น ผมหวังว่ารางวัลที่ได้รับในวันนี้จะช่วยให้ทุกคนได้เห็นว่า คนเรามีความสามารถที่จะทำให้สำเร็จหากตั้งใจจริง” ศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ กล่าว

คณะกรรมการตัดสินรางวัลกล่าวว่า การเลือกศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ และศาสตราจารย์พอล โรเมอร์ ให้เป็นผู้ได้รับรางวัลเพื่อตอกย้ำถึงความจำเป็นของความร่วมมือระดับนานาชาติ

โกรัน เค. แฮนส์สัน เลขาธิการราชบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน กล่าวว่า ประเด็นอยู่ที่ต้องมีความร่วมมือของทุกประเทศทั่วโลกในการแก้ไขปัญหาใหญ่นี้

นอกจากนี้ คณะกรรมการตัดสินรางวัลยังกล่าวว่า ศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ ได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพสำหรับปัญหาที่มีสาเหตุจากก๊าซเรือนกระจก คือ การนำมาตรการภาษีคาร์บอนมาใช้

ศาสตราจารย์พอล เอ็ม. โรเมอร์ ที่มาภาพ: http://www.stern.nyu.edu/experience-stern/news-events/media-advisory-press-conference-nyu-stern-with-paul-romer-2018-nobel-laureate-economics

ยูเอ็นเปิดรายงาน IPCC ชี้ต้องแก้ไขเร่งด่วน

แนวทางของศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ ยังคงยึดถือเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมในทุกวันนี้ และยังมีผลการศึกษาของสหประชาชาติสนับสนุน โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ได้เผยแพร่รายงานวิจัยล่าสุดของสหประชาชาติ ที่เกาหลีใต้ ภายในไม่กี่ชั่วโมงก่อนการประกาศผลรางวัลโนเบล และรายงานนี้มาจากงานวิจัยของศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ เป็นหลัก

คณะกรรมการ IPCC ระบุว่า การจำกัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินระดับ 1.5 องศาเซลเซียส โดยต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายสาธารณะ ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนและต้องทำในสิ่งไม่เคยทำมาก่อนในทุกแง่มุมของสังคม

การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสแล้วสามารถทำได้ เพื่อสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืนมากขึ้น และยังมีผลดีต่อประชาชน รวมทั้งระบบนิเวศทางธรรมชาติ

รายงานฉบับนี้จะนำไปใช้เป็นผลงานด้านวิทยาศาสตร์ในการประชุม Katowice Climate Change Conference ที่โปแลนด์ ในเดือนธันวาคม ซึ่งจะมีการติดตามผลตามข้อตกลงปารีสในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ข้อตกลงปารีสมีการลงนามร่วมกัน 195 ประเทศ ในการประชุมครั้งที่ 21 ของ UNFCCC เดือนธันวาคมปี 2015 เพื่อกระชับความร่วมมือนานาชาติในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเฉลี่ยให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมและดึงความร่วมมือในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า Global Warming of 1.5°C เป็นรายงานพิเศษที่จัดทำขึ้นโดย IPCC เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงปารีส เพื่อรายงานผลกระทบของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเกินระดับก่อนการปฏิบัติอุตสาหกรรมและเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก ในบริบทที่ว่าโลกจะตอบสนองอย่างเข้มแข็งต่อความเสี่ยงที่มากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาที่ยั่งยืน และความพยายามในการขจัดความยากจน

IPCC เป็นองค์กรชั้นนำของโลกในด้านการประเมินงานด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบ และความเสี่ยงที่จะเกิดในอนาคต และทางเลือกในการแก้ไข

รายงานฉบับนี้จัดทำโดยคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 ชุดของ IPCC โดยคณะแรกประเมินลักษณะทางกายภาพของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะที่สองประเมินผลกระทบ การปรับตัวและความเปราะบาง และคณะที่สามศึกษาแนวทางการลดและจำกัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายงาน Global Warming of 1.5°C อ้างอิงงานด้านวิทยาศาสตร์ถึงมากกว่า 6,000 ชิ้น และได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนรัฐบาลทั่วโลก 42,001 คนร่วมให้ความเห็น และมีผู้เขียนกับบรรณาธิการอีกกว่า 91 รายจาก 40 ประเทศทั่วโลกร่วมจัดทำ

รายงาน Global Warming of 1.5°C เป็นรายงานแรกในซีรีส์รายงานพิเศษที่จัดทำขึ้นในรอบการประเมินที่ 6 ในปีหน้า IPCC จะเผยแพร่รายงานพิเศษเกี่ยวกับมหาสมุทรและน้ำแข็งบนโลกในสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับพื้นดิน เพื่อประเมินว่ามีผลต่อการใช้พื้นดินอย่างไร

ผานเหม่า ไช่ ประธานร่วมของคณะทำงานชุดที่ 1 ของ IPCC กล่าวว่า หนึ่งในประเด็นหลักที่ต้องการสื่อออกจากสิ่งที่พบในรายงานของเราคือ เราได้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของอุณภูมิโลกที่สูงขึ้น 1 องศาเซลเซียสแล้วจากสภาพอากาศที่เลวร้ายสุด การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย

ฮานส์-ออตโต พอร์ตเนอร์ ประธานร่วมของคณะทำงานชุดที่สองกล่าวว่า ความร้อนที่เพิ่มขึ้นแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็มีผล โดยเฉพาะกรณีที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านี้ เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถฟื้นคืนมาได้ เช่น การสูญเสียระบบนิเวศ และการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกยังช่วยให้ประชาชนและระบบนิเวศมีพื้นที่ในการปรับตัวและห่างจากเส้นความเสี่ยง

อุณหภูมิเพิ่มขึ้นน้อยลดผลกระทบได้มาก

รายงานชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบหลายด้านจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับ 2 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ปี 2100 หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะต่ำกว่าในกรณีที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส โดยเพิ่มเพียง 10 เซนติเมตร ซึ่งการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่ไม่มากนี้จะทำให้ประชากรและระบบนิเวศของเกาะขนาดเล็ก พื้นที่ชายฝั่งที่อยู่ในระดับน้ำทะเลรวมไปถึงบริเวณปากแม่น้ำมีโอกาสในการปรับตัว

นอกจากนี้ น้ำแข็งขั้วโลกจะละลายเพียง 1 ครั้งในรอบศตวรรษหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส แต่กรณีที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส น้ำแข็งขั้วโลกจะละลาย 1 ครั้งในรอบ 10 ปี ตลอดจนแนวปะการังจะลดลงเพียง 70-90% หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับที่หายไปเลยกรณีที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส

รายงานให้ข้อมูลว่า หากไม่จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ประชากรครึ่งหนึ่งจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ แต่จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส จะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อพื้นที่แหล่งน้ำจืดและระบบนิเวศชายฝั่ง นอกจากนี้ อัตราการเสียชีวิตและเจ็บป่วยจากความร้อน ฝุ่นควัน และการติดเชื้อ จะลดลง

รายงานยังพบว่า จากการศึกษาพันธุ์พืชและสัตว์ 105,000 สายพันธุ์ พบว่าหากไม่จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ความหลากหลายทางชีวภาพที่ประกอบด้วยพันธุ์พืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ร่วมกันจะหายไปครึ่งหนึ่ง รวมทั้งมีโอกาสที่ไฟป่าจะขยายวงมากขึ้น

การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสจะช่วยลดอุณหภูมิของน้ำทะเลที่มีผลต่อความเป็นกรดของน้ำทะเลซึ่งทำให้ระดับออกซิเจนในน้ำทะเลลดลง รวมไปถึงช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ด้านประมง และระบบนิเวศ

การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสยังช่วยลดการเกิดคลื่นความร้อน การเกิดฝนตกหนัก และความแห้งแล้ง ที่หลายพื้นที่ของโลกประสบอยู่ และยังช่วยชะลอการละลายของน้ำแข็งในบริเวณแอนตาร์ติกตะวันตก ตลอดจนช่วยไม่ให้ปะการังตาย

ต้องใช้หลายวิธีการร่วมกัน

ในรายงานขนาด 728 หน้า มีรายละเอียดว่า อากาศของโลก สุขภาพ และระบบนิเวศ จะดีขึ้นได้หากผู้นำโลกช่วยกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่มีต้นตอจากพฤติกรรมของคนเพียงแค่ 0.9 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 0.5 องศาเซลเซียล นับตั้งแต่นี้ไป

กิจกรรมของมนุษย์ได้ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นแล้ว 1 องศาเซลเซียส เหนือระดับยุคก่อนอุตสาหกรรม และมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้น 0.8-1.2 องศาเซลเซียส ซึ่งหากยังคงเพิ่มขึ้นในอัตรานี้อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสในช่วงปี 2030-2052

รายงาน Global Warming of 1.5°C ระบุว่า การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ต้องอาศัยการเปลี่ยนที่รวดเร็วและการเปลี่ยนโฉมที่มีผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านพื้นดิน พลังงาน อุตสาหกรรม อาคาร การคมนาคมขนส่ง และเมือง

รายงานยังให้ข้อมูลแนวทางที่มีอยู่แล้วที่จะนำมาใช้ในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส และแนวทางที่จะประสบความสำเร็จรวมทั้งผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

วาเลอรี แมสสัน-เดลมอตต์ ประธานร่วมคณะทำงานชุดที่ 1 กล่าวว่า ข่าวดีก็คือ เครื่องมือและแนวทางในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสมีให้เลือกใช้อยู่แล้วในโลก แต่ต้องผลักดันให้มีการใช้ต่อเนื่อง

จิม สเกีย ประธานร่วมคณะทำงานชุดที่ 3 กล่าวว่า การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสมีความเป็นไปได้ตามหลักเคมีวิทยาและฟิสิกส์ แต่ต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน

ปรียาร์ดารศี ชูกลา ประธานร่วมคณะทำงานชุดที่ 3 กล่าวว่า การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับ 2 องศาเซลเซียสแล้ว จะลดความท้าทายของผลกระทบและระบบนิเวศ สุขภาพและความเป็นอยู่ของประชากร ทำให้ง่ายต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

เดบรา โรเบิร์ต ประธานร่วมคณะทำงานชุดที่ 2 กล่าวว่า การตัดสินใจของเราในวันนี้มีผลอย่างมากในการสร้างโลกที่ปลอดภัยและยั่งยืนของทุกคน ทั้งในวันนี้และในอนาคต และรายงานฉบับนี้จะให้ข้อมูลแก่ผู้กำหนดนโยบายกับผู้ปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจสำหรับการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และความต้องการของประชาชน

รายงานระบุว่า ไม่มีแนวทางใดโดยเฉพาะที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสได้ ต้องใช้หลายๆ แนวทางร่วมกัน โดยเสนอแนะไว้ 4 แนวทาง ทั้งการใช้ที่ดินและการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี รวมไปถึงการปลูกป่าก็เป็นสิ่งที่จำเป็น พอๆ กับการปรับระบบการขนส่งไปเป็นระบบไฟฟ้า และทุกแนวทางต้องมีการนำเทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) มาใช้ ซึ่งแต่ละแนวทางปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับจะไม่เท่ากัน

เทคโนโลยี CCS เป็นเทคโนโลยีในการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่หลุดลอยขึ้นไปอยู่ในชั้นบรรยายกาศของโลก

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการกระทำของคนต้องลดลงราว 45% ในรอบ 20 ปีระหว่างปี 2010-2030 และลดลงจนเท่ากับศูนย์ในปี 2050 ขณะที่แนวทางเดิมที่จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 2 องศาเซลเซียสนั้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการกระทำของคนต้องลดลงราว 20% ในปี 2030 และลดลงจนเท่ากับศูนย์ในปี 2075 ซึ่งหมายความว่าการขจัดก๊าซเรือนกระจกที่เหลือตามเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสต้องใช้วิธีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ และต้องยอมรับราคาคาร์บอนที่สูงขึ้น 3-4 เท่า เมื่อเทียบแนวทางเดิม

ในด้านพลังงาน การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสโดยทั่วไปต้องลดการใช้พลังงานลง การเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงาน การใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น และสัดส่วนแหล่งพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยต้องเพิ่มขึ้นมาก่อนปี 2050 ขณะเดียวกัน พลังงานทางเลือกจะต้องมีสัดส่วน 70-85% ของการผลิตไฟฟ้าในปี 2050 นอกจากนี้ พลังงานนิวเคลียร์ เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่มีการใช้เทคโนโลยี CCS ก็ต้องเพิ่มขึ้น โดยเทคโนโลยี CCS จะเพิ่มส่วนแบ่งการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซเพิ่มเป็น 8% ของการผลิตไฟฟ้าโลกในปี 2050 ส่วนการใช้ถ่านหินจะลดลงมาก

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมตามแนวทางการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส จะน้อยกว่า 75-90% ในปี 2050 เมื่อเทียบกับปี 2010 และเมื่อเทียบการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 2 องศาเซลเซียสก็จะน้อยกว่า 50-80% ซึ่งการลดลงได้ต้องใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันและเทคโนโลยีใหม่ประกอบกัน รวมไปถึงการหันไปใช้พลังงานไฟฟ้า ไฮโดเจน พลังงานชีวมวล และการดักจับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ

การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสยังช่วยลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของยูเอ็น ทั้งในการลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน แต่การเลือกใช้แนวทางใดก็ต้องเลือกอย่างรอบคอบให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละประเทศ

เรียบเรียงจาก kva,ipcc,nytimes,
washingtonpost,irishtimes,bbc,japantimes