ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “Understanding Climate Change as Business Drivers” เพื่อทำความเข้าใจธุรกิจกับ Climate Change ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของนโยบาย-ตลาดโลก และรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ โดยมีศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ
ในเวทีการบรรยายแรกเป็นของ นายประสิทธิ์ ไวยาวัจมัย กรรมการบริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด กับหัวข้อ “Business and Climate Change” โดยนายประสิทธิ์เริ่มจากฉายภาพให้เห็นว่า ในอดีตโลกให้ความสนใจกับประเด็นโลกร้อน หรือ Global Warming ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อมในเชิงกายภาพ (physical risk) ดังที่เห็นเหตุการณ์อุบัติภัยทางธรรมชาติในพื้นที่ทั่วโลก
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนทำให้ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยมากที่สุด จากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก
เหตุการณ์ถัดมาที่ทำให้โลกหันมาตระหนักประเด็นเหล่านี้มากขึ้นคือการลงนาม Paris Agreement ในปี 2015 จึงเกิดคำใหม่ขึ้นคือ ‘อุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียล และ 2 องศาเซลเซียล’ กล่าวคือตัวเลขอุณหภูมิข้างต้นมาจากงานศึกษาของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ซึ่งระบุว่า โลกจะเข้าสู่จุดที่ย้อนกลับไปเป็นสภาวะปกติได้หากสามารถรักษาอุณหภูมิให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียล โดยเทียบกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อประมาณ 20-30 ปีก่อน แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้จะทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันย้อนกลับ
- คำเตือนสุดท้าย: วิกฤติสภาพภูมิอากาศที่ทุกคนต้องรู้จากรายงาน IPCC ฉบับที่6
- คำเตือนครั้งสุดท้ายจากIPCC – โลกร้อนลงทะเลถึงความเสี่ยงทางการเงิน
- รายงาน IPCC คาดอีก 20 ปีโลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศา UN ชี้ “สัญญานอันตราย”
- COP26 กับความหวังสำคัญในการอนุรักษ์มหาสมุทร
“ทุกวันนี้ธุรกิจในโลกก็ต้องเติบโต และกิจกรรมต่างๆ ล้วนปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas) ถ้าจะควบคุมให้ได้จริงๆ ต้องเปลี่ยนแปลงกิจกรรมบางอย่างเช่น ใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้น ใช้เชื้อเพลิงน้อยลง ใช้พลังงานสะอาด หรือการชดเชยคาร์บอน และถ้าจะทำให้อุณหภูมิต่ำกว่า 1.5 องศา ต้องทำให้ได้ตั้งแต่กลางศตวรรษนี้หรือปี 2050”
นายประสิทธิ์ ให้ข้อมูลว่า ในรายงาน The Sixth Assessment Report หรือ AR6 โดยIPCCซึ่งเป็นรายงานสถานการณ์ฉบับปัจจุบันได้อธิบายถึง 5 สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น หรือ scenario ของ ‘ภาวะโลกรวน’ ในบริบทที่ครอบคลุมไปถึงภาคเศรษฐกิจและสังคม-ประชากร ขณะที่รายงานฉบับก่อนหน้านี้บรรยายเพียง 4 สถานการณ์ และอธิบายถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
รายงานฉบับที่ 6 (AR6) จะมุ่งไปที่การทำรายงานบ่งบอกสภาพความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่จะสร้างผลกระทบอุณหภูมิของโลก ดังนี้
- Scenario ที่ 1 และ 2 มีเป้าหมายเดียวกันคือกรณีที่โลกสามารถลดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียล และควบบคุมไม่อุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียล
- Scenario ที่ 3 ถึง 5 นับว่าเป็นสถานการณ์ที่เลวร้าย เพราะอุณหภูมิโลกจะพุ่งสูงถึง 2.7 – 4.4 องศาเซลเซียล ทำให้สิ่งมีชีวิตบางประเภทหายไปจากโลกนี้ และบางอาชีพไม่สามารถทำงานได้ เช่น ประมง เพราะมีการย้ายถิ่นฐานและทรัพยากรชายฝั่งทะเลมีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ
นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า โลกในปัจจุบันอยู่ใน scenario 3 และ 4 เพราะอุณหภูมิโลกอยู่ระหว่าง 2.7 กับ 3.6 องศาเซลเซียล ดังนั้นผลกระทบที่ใหญ่หลวงอาจไม่ได้เกิดกับคนรุ่นปัจจุบัน แต่จะเกิดกับคนรุ่นลูกหลานในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นายประสิทธิ์ย้ำว่า ต่อให้โลกนับจากวันนี้เป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุด มนุษย์ก็ยังเจอกับสถานการณ์ทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง
“โลกของเรามีสถานการณ์ที่สุดขั้ว 2 ฝั่ง ฝั่งแรกคือทุกคนทำอะไรไม่ได้ หรือไม่ให้ความสนใจเรื่องความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ High Carbon Scenario ทำให้เกิดผลกระทบทางกายภาพ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง ฝนตกหนัก แผ่นดินไหว เหตุการณ์จะรุนแรงขึ้นและกระจายไปทั่วโลกอย่างที่เราเห็นตัวอย่างในรอบหลายปี อีกฝั่งคือทุกคน-สังคมทำอะไรบางอย่าง โดยมีกฎระเบียบข้อบังคับ แรงจูงใจ มีการตั้งภาษีที่สูงกว่าปกติ และเทคโนโลยี”
นายประสิทธิ์กล่าวต่อว่า ความท้าทายในการลดก๊าซเรือนกระจกคือการเปิดเผยข้อมูลเพื่อแสดงธุรกิจหรือประเทศใดที่สร้างผลกระทบต่อ Climate Changes ทำให้เข้าใจความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดขึ้น
ดังนั้นสิ่งที่ธุรกิจต้องทำในภาพใหญ่มี 4 มิติ คือ (1) การเปลี่ยนแปลงตลาดด้วยเทคโนโลยี (2) กฎระเบียบข้อบังคับ (3) แรงกดดันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักลงทุนหรือ Stakeholder และ (4) ประเมินผลกระทบเชิงกายภายต่อธุรกิจ (physical impact)
ที่สำคัญคือ แรงกดดันเรื่องต้นทุนที่ต้องลงทุนในเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีคาร์บอน หรือต้นทุนการผลิต วัตถุดิบ และพลังงานที่สูงขึ้นจากประเทศที่สามารถสร้างพลังงานที่ยั่งยืน รวมถึงแรงกดดันจากความคาดหวังของนักลงทุนและกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่ต้องการเห็นธุรกิจให้ความสำคัญต่อภาวะโลกรวน ไม่ว่าจะเป็น รายละเอียดข้อบังคับ มาตรการการกีดกันทางการค้า หรือกรณีซื้อขายกับประเทศกลุ่มยุโรปก็ต้องผ่านมาตรการที่ EU บังคับใช้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องแหล่งเงินทุน เนื่องจากสถาบันการเงินจะให้ความสำคัญกับการปล่อยเงินกู้และดอกเบี้ยที่ต่ำลง กรณีที่สามารถแสดงได้ว่าบริษัทตอบโจทย์ในมิติความยั่งยืน
“โอกาสคือคนที่ปรับตัวได้เร็ว ใครปรับตัวได้ก่อน ต้นทุนการปรับตัวจะถูกกว่า จะมีราคาของเทคโนโลยีประหยัดพลังงานราคาถูกลง รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับ เป้าหมายแต่ละประเภทก็จะวางกลไกเอื้อประโยชน์ให้ลดคาร์บอนมากยิ่งขึ้น และผู้ออกแบบนโยบายก็จะมีส่วนร่วมและทำให้คนปฏิบัติตามได้มากขึ้น”
ท้ายที่สุด นายประสิทธิ์แนะนำว่าภาคธุรกิจควรทำ 6 เรื่องเป็นลำดับขั้นตอน ดังนี้
- ประเมินตัวเองว่าธุรกิจปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์เท่าไรต่อปี โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องคำถามเรื่องการใช้พลังงาน (energy consumption)
- ตั้งเป้าว่าจะทำอย่างไรให้เป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป้าที่ดีที่สุดคือเป้าที่ช่วยลดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียล
- ทางเลือกหนึ่งในการประหยัดพลังงานคือ ลดการใช้พลังงาน ไฟฟ้า น้ำมัน เพราะทุกองค์กรจำเป็นต้องใช้พลังงานอยู่แล้ว
- หันไปใช้พลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานเชื้อเพลิง พลังงานชีวมวล (Biomass)
- ส่งเสริมและลงทุนในกิจกรรมที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ เช่น ปลูกต้นไม้ เพราะเป็นส่วนของการลดการตัดไม้ทำลายป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว
- เป้าหมายขององค์กรต้องไม่ใช่แค่ปีต่อปี แต่ต้องมองถึงการจัดการความเสี่ยงในระยะยาว (physical risk)