ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > รายงาน IPCC คาดอีก 20 ปีโลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศา UN ชี้ “สัญญานอันตราย”

รายงาน IPCC คาดอีก 20 ปีโลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศา UN ชี้ “สัญญานอันตราย”

12 สิงหาคม 2021


ที่มาภาพ: https://www.ipcc.ch/report/ar6/wg1/

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change — IPCC) ได้เผยแพร่รายงานจากการสรุปส่วนแรกของรายงานประเมินครั้งที่ 6 รายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2021: ข้อมูลพื้นฐานวิทยาศาสตร์ (Climate Change 2021: The Physical Science Basis) ที่จัดทำโดยคณะทำงานชุดที่ 1 ซึ่งผ่านการอนุมัติไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมาในการประชุมครั้งที่ 14 ของคณะทำงานชุดที่ 1 และการประชุมครั้งที่ 54 ของ IPCC ที่มีรัฐบาลสมาชิก 195 แห่งเข้าร่วม ผ่านระบบออนไลน์ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม

รายงานของคณะทำงานชุดที่ 1 เป็นรายงานส่วนแรกของรายงานการประเมินครั้งที่ 6 ของ IPCC ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2022 รายงานนี้จัดทำโดยนักวิทยาศาสตร์ 234 รายจาก 66 ประเทศ

เอกสารข่าวของ IPCC ระบุว่า จากการเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในทั่วทุกภูมิภาคและทั่วโลกทั้งระบบของนักวิทยาศาสตร์ พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสภาพอากาศแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหลายพันปี และการเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้เริ่มก่อตัวแล้วเช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่สามารถย้อนกลับในเวลาหลายร้อยถึงหลายพันปี

รายงานชี้ว่าผลการประทำของมนุษย์ทำให้โลกร้อนขึ้นชนิดที่ไม่เคยเจอมาก่อนอย่างน้อย 2,000 ปี

ในปี 2019 ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าช่วงใดๆในรอบอย่างน้อย 2 ล้านปี และก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ก็สูงกว่าช่วงใดๆ ในรอบ 800,000 ปีที่ผ่านมา

อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 1970 ในช่วง 50 ปีไหนๆในรอบอย่างน้อย 2,000 ปีที่ผ่านมา เช่น อุณหภูมิในทศวรรษล่าสุด (2011–2020) เกินกว่าหลายศตวรรษที่ผ่านมาหรือ 6,500 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 1900 และเพิ่มขึ้นเร็วกว่าศตวรรษที่ผ่านมาในรอบอย่างน้อย 3,000 ปี

รายงานระบุว่า

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์มีส่วนต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1.1 องศาเซลเซียสระหว่างปี 1850-1900 และพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น 1.5 หรือสูงกว่านี้

อย่างไรก็ตาม การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆที่แข็งแกร่งและยั่งยืนจะจำกัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยให้คุณภาพอากาศดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ใช้เวลา 20-30 ปีอุณหภูมิโลกก็จะคงที่ รายงานคณะทำงานชุดที่ 1 ระบุ
“รายงานนี้สะท้อนถึงความพยายามที่ไม่ธรรมดาภายใต้สถานการณ์พิเศษ” โฮ ซุง ลี ประธาน IPCC กล่าว “นวัตกรรมในรายงานนี้ และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศที่สะท้อนให้เห็น ให้ข้อมูลที่ทรงคุณค่าในการเจรจาเรื่องสภาพอากาศและการตัดสินใจ”

UN ชี้สัญญานอันตราย

นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า รายงานของคณะทำงานชุดที่ 1 คือสัญญานเตือนภัยสีแดง (code red) แก่มนุษยชาติ โดยระบุว่า ข้อตกลงรักษาระดับการเพิ่มของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับความร้อนโลกก่อนยุคอุตสาหกรรมนั้น “ใกล้ถึงอันตรายแล้ว”

“เราอยู่ในความเสี่ยงที่ใกล้จะถึง 1.5 องศาเซลเซียสในระยะเวลาอันใกล้ วิธีเดียวที่จะป้องกันไม่ให้เกินเกณฑ์นี้ คือยกระดับความพยายามของเราโดยด่วนและหาแนวทางที่เข้าใกล้เป้าหมายมากที่สุด”

“เราต้องดำเนินการอย่างฉับพลันเพื่อไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส”

นายกูเตร์เรส ระบุว่า แนวทางแก้ไขมีความชัดเจน “เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและครอบคลุม ความเจริญรุ่งเรือง อากาศที่สะอาดขึ้น และสุขภาพที่ดีขึ้นเป็นไปได้สำหรับทุกคน หากเราตอบสนองต่อวิกฤตินี้ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและกล้าหาญ”

นายกูเตร์เรส กล่าวอีกว่า ทุกประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ G20 ต้องเข้าร่วมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์(Net Zero Emissions Coaltion) ก่อนการประชุม COP26 ด้านสภาพภูมิอากาศที่กลาสโกว์ในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมทั้งตอกย้ำคำมั่นที่จะลดหรือชะลอภาวะโลกร้อน ตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ(Nationally Determined Contributions:NDCs)

ที่มาภาพ: https://news.un.org/en/story/2021/08/1097362

โลกร้อนเร็วขึ้น

รายงานฉบับนี้ได้ให้การประมาณการใหม่เกี่ยวกับโอกาสที่อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสหรือระดับภาวะโลกร้อนในทศวรรษหน้า เว้นแต่ว่าจะมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างทันที รวดเร็ว และมีขนาดใหญ่ ซึ่งจะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ใกล้เคียง 1.5 องศาเซลเซียส หรือยังต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส

รายงานแสดงให้เห็นว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1850-19900 และพบว่าโดยเฉลี่ยในช่วง 20 ปีข้างหน้า อุณหภูมิโลกคาดว่าจะสูงถึงหรือสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
การประเมินนี้ใช้ชุดข้อมูลจากการเฝ้าสังเกตที่ปรับใหม่เพื่อประเมินภาวะโลกร้อนในอดีต ตลอดจนความคืบหน้าในความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการตอบสนองของระบบภูมิอากาศต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้น

“รายงานนี้เป็นการสะท้อนความเป็นจริง” วาเลอรี แมสสัน-เดลมอตต์ ประธานร่วมคณะทำงานกลุ่มที่ 1 กล่าวว่า “รายงานเป็นการให้ข้อมูลจริง ทำให้เรามีภาพที่ชัดเจนขึ้นมากเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำความเข้าใจว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปทิศทางไหน จะทำอะไรได้บ้าง และเราจะเตรียมตัวอย่างไร”

หมู่บ้านแห่งหนึ่งจมน้ำในประเทศคิริบาส ซึ่งเป็นเกาะที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะลสูงขึ้น ที่มาภาพ:https://news.un.org/en/story/2021/08/1097362

ทุกภูมิภาคเจอการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น

ลักษณะหลายประการของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรงขึ้นอยู่กับระดับของภาวะโลกร้อน แต่สิ่งที่ผู้คนประสบมักจะแตกต่างอย่างมากกับค่าเฉลี่ยของโลก ตัวอย่างเช่น ภาวะโลกร้อนบนบกมีมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และสูงกว่าสองเท่าในแถบอาร์กติก

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาคบนโลกแล้วในหลายๆ ด้าน การเปลี่ยนแปลงที่เราพบจะเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น” ผานเหมา ไจ่ ประธานร่วมคณะทำงานชุดที 1 กล่าว

รายงานคาดการณ์ว่า ในทศวรรษหน้าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค อุณหภูมิโลก ที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้มีคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้น ฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้น และฤดูหนาวที่สั้นลง

รายงานระบุว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส ความร้อนที่สุดขั้วจะมีผลอย่างมากต่อระดับความอดทนด้านสุขภาพร่างกาย รวมทั้งความทนทานที่ในภาคเกษตร

รายงานระบุว๋าไม่ใช่เพียงเฉพาะอุณหภูมิเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นตามภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของความชื้นและความแห้งแล้ง ลม หิมะและน้ำแข็ง พื้นที่ชายฝั่งทะเล และมหาสมุทร ตัวอย่างเช่น

  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้วัฏจักรของน้ำรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ฝนตกหนักและน้ำท่วม รวมถึงภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นในหลายภูมิภาค
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อรูปแบบปริมาณน้ำฝน ในบริเวณเหนือเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล และบริเวณใต้เส้นแอนตาร์กติกเซอร์เคิล ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่คาดว่าจะลดลงในพื้นที่กึ่งเขตร้อนส่วนใหญ่ รวมทั้ง คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณฝนมรสุม ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค
  • พื้นที่ชายฝั่งทะเลจะเห็นการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างต่อเนื่องตลอดศตวรรษที่ 21 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบริเวณชายฝั่งบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นในพื้นที่ลุ่มและการกัดเซาะชายฝั่ง เหตุการณ์ระดับน้ำทะเลสุดขั้วที่เคยเกิดขึ้นครั้งเดียวในรอบ 100 ปี อาจเกิดขึ้นทุกปีภายในสิ้นศตวรรษนี้
  • ภาวะโลกร้อนที่มากขึ้นจะทำให้ดินเยือกแข็งละลายมากขึ้น และการสูญเสียหิมะปกคลุมตามฤดูกาล การละลายของธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็ง และการสูญเสียน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกในฤดูร้อน
  • การเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทร รวมทั้งภาวะโลกร้อน คลื่นความร้อนจากทะเลที่เกิดถี่ขึ้น ภาวะความเป็นกรดในมหาสมุทร และระดับออกซิเจนที่ลดลง มีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับการกระทำของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อทั้งระบบนิเวศของมหาสมุทรและผู้คนที่พึ่งพา และยังมีขึ้นต่อไปอย่างน้อยที่สุดตลอดช่วงที่เหลือของศตวรรษ
  • สำหรับเมือง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบางด้านอาจเพิ่มขึ้น รวมถึงความร้อน (เนื่องจากพื้นที่ในเมืองมักจะร้อนกว่าบริเวณโดยรอบ) น้ำท่วมจากเหตุการณ์ฝนตกหนักและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นในเมืองชายฝั่งทะเล
  • นับเป็นครั้งแรกที่รายงานการประเมินครั้งที่ 6 ได้ให้การประเมินระดับภูมิภาคที่มีรายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการเน้นที่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่สามารถแจ้งการประเมินความเสี่ยง การปรับตัว และการตัดสินใจอื่นๆ และกรอบการทำงานใหม่ที่ช่วยฉายภาพว่าการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพใน สภาพภูมิอากาศ ความร้อน ความเย็น ฝน ภัยแล้ง หิมะ ลม น้ำท่วมชายฝั่ง และอื่นๆ มีผลอย่างไรต่อสังคมและระบบนิเวศ

    ข้อมูลระดับภูมิภาคนี้สามารถสำรวจโดยละเอียดได้ใน Interactive Atlas ที่พัฒนาขึ้นใหม่ รวมถึงเอกสารข้อมูลภูมิภาค ข้อมูลสรุปทางเทคนิค และรายงานพื้นฐาน

    ที่มาภาพ: https://news.un.org/en/story/2021/08/1097362

    ผลของการกระทำของคนต่อสภาพภูมิอากาศ

    วาเลอรี แมสสัน – เดลมอตต์ กล่าวว่า “เป็นที่ชัดเจนมานานหลายทศวรรษแล้วว่าสภาพอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลง และชี้ชัดถึงบทบาทของอิทธิพลของมนุษย์ที่มีต่อระบบภูมิอากาศ” รายงานฉบับ ใหม่ยังสะท้อนถึงความก้าวหน้าที่สำคัญในศาสตร์ในการระบุแหล่งที่มาการทำความเข้าใจบทบาทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการทำให้สภาพอากาศและเหตุการณ์สภาพอากาศที่เฉพาะเจาะจงรุนแรงขึ้น เช่น คลื่นความร้อนสูงและเหตุการณ์ฝนตกหนัก

    รายงานยังแสดงให้เห็นว่าการกระทำของมนุษย์ยังคงมีศักยภาพที่จะกำหนดทิศทางของสภาพอากาศในอนาคต มีหลักฐานชัดเจนว่าคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศเช่นกัน

    “การรักษาเสถียรภาพของสภาพอากาศจะต้องมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแข็งแกร่ง รวดเร็ว และยั่งยืน และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ การจำกัดก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเทน อาจมีประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพและสภาพอากาศ” ไจ่กล่าว

    IPCC เป็นองค์กรที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศของสหประชาชาติ มีมาตั้งแต่ปี 1988 และมีประเทศสมาชิก 195 ประเทศ

    ทุกๆ เจ็ดปี IPCC จะเผยแพร่รายงาน “สภาวะของสภาพอากาศ” ซึ่งสรุปการวิจัยล่าสุดที่ได้รับการตรวจทานโดยผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบ และวิธีการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบ

    วัตถุประสงค์ของรายงานคือการให้ข้อมูลแก่ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่กำกับดูแล ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ IPCC จัดทำเอกสารหลายพันฉบับที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ความเสี่ยง และองค์ประกอบทางสังคมและเศรษฐกิจของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแก่รัฐบาล