ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > คลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วม Climate Change ของจริง (2) : เมื่อโลกเข้าสู่ยุค “ทอร์นาโดไฟ”

คลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วม Climate Change ของจริง (2) : เมื่อโลกเข้าสู่ยุค “ทอร์นาโดไฟ”

3 สิงหาคม 2018


ต่อจากตอน 1 คลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วม Climate Change ของจริง (ตอนที่1) อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น จนคลื่นความร้อนกลายเป็น New Normal ของโลก

คลื่นความร้อนที่สูงขึ้น นอกจากมีผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพคนและทรัพย์สินในหลายประเทศแล้ว ยังได้ทำให้เกิดไฟป่ารุนแรงในหลายพื้นที่ของโลก แม้แต่ในเขตขั้วโลกเหนือที่มีสภาวะอากาศเย็นเป็นหลัก โดยในกลางเดือนกรกฎาคมเกิดไฟป่า 35 จุดในอลาสก้า กินพื้นที่ 44,000 เอเคอร์ ก่อนที่จะเกิดไฟป่าในสวีเดน

ไฟป่าที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติกระจายไปทั่วภูมิภาคในยุโรปและอเมริกาเหนือ ทั้งในตอนเหนือของอังกฤษ สวีเดน สหรัฐอเมริกา และกรีซที่มีความเสียหายมหาศาล ขณะนี้หลายพื้นที่ก็ยังไม่สามารถดับไฟป่าได้

ฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เกิดไฟป่าในหลายพื้นที่ของ 14 รัฐ อันมีสาเหตุจากความแห้งแล้ง เช่นเดียวกับไฟป่าที่ไซบีเรียในเดือนนี้ที่สร้างปัญหาหมอกควันไปทั่วแถบอาร์กติก ลอยไปจนถึงอังกฤษ ที่ห่างไป 4,000 ไมล์

ไฟป่าในอลาสกาและสวีเดนเกิดจากฟ้าผ่า ซึ่งสอดคล้องกับ งานวิจัยของปี 2017 ที่พบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองในบริเวณป่าเหนือและบริเวณขั้วโลกเหนือมากขึ้น และทำให้เกิดไฟป่ามากขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การเกิดไฟป่าในเขตขั้วโลกเหนือเป็นสัญญานหนึ่งของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป หรือ climate change

นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศให้ความเห็นว่า ดินแดนอาร์กติกและพื้นที่อื่นซึ่งไม่เคยเกิดไฟป่ามาเลย มีความเป็นไปได้ที่จะมีความเปราะบางมากขึ้น เพราะพบว่า ด้วยคลื่นความร้อนนี้ พื้นที่ที่มีความเปราะบางต่อการเกิดไฟป่านั้นขยายวงกว้างขึ้น ดังจะเห็นจากที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภูเขาหญ้าในอังกฤษ และขยายมาที่สวีเดน

ทั้งภูเขาหญ้าที่อังกฤษและสวีเดนเป็นพื้นที่ชื้นทำให้ป่าและป่าพรุสะสมคาร์บอนไอออกไซด์จำนวนมาก เมื่อระบบนิเวศที่เต็มไปด้วยคาร์บอนนี้เจอภาวะแห้งแล้งและคลื่นความร้อน ก็เป็นชนวนให้ไฟลุกได้ ไม่ว่าจะเป็นจากฟ้าผ่าหรือจากฝีมือคน

สวีเดนยังมีความเสี่ยง

คลื่นความร้อนที่กระจายมากในสแกนดิเนเวียส่งผลให้อุณหภูมิในเขตขั้วโลกเหนือสูงขึ้นมาที่ระดับเหนือ 30 องศาเซลเซียส ในเขตขั้วโลกเหนือที่มีอากาศหนาวเย็นกลับเกิดไฟป่าได้อย่างน้อย 11 จุด จากความร้อน ความแห้งแล้งของหน้าร้อน ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือสวีเดน จนต้องร้องขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากพันธมิตรในสหภาพยุโรป เพื่อดับไฟป่าที่ลุกลามในหลายพื้นที่จนต้องอพยพประชาชนออกจาก 4 ชุมชนไปอยู่ในที่ปลอดภัย ประชาชนได้รับการแจ้งเตือนให้อยู่ในบ้านพร้อมปิดหน้าต่างประตูเพื่อหลีกเลี่ยงควันไฟ ขณะที่รถไฟหยุดเดิน

ข้อมูล Copernicus Earth Observation Programme (โครงการติดตามสภาวะโลกที่ใหญ่สุดในโลก ภายใต้การดูแลของคณะกรรมาธิการยุโรป) รายงานการเกิดไฟป่ารายวันของยุโรป แสดงให้เห็นว่า ไฟป่าถึง 50 จุดลุกไหม้ในสวีเดน เฉพาะในเดือนกรกฎาคมรวมทั้งยังเกิดในนอร์เวย์ ฟินแลนด์ และรัสเซีย และพื้นที่ในเขตขั้วโลกเหนือด้วย

นอร์เวย์ส่งทีมงานเฮลิคอปเตอร์มาช่วยดับไฟ 6 ทีม ส่วนอิตาลีส่งเครื่องบินที่สามารถทิ้งระเบิดน้ำได้มากถึง 6,000 ลิตรมาช่วย ในภาคกลางตอนใต้ของสวีเดน ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือฉุกเฉินอียู (EU’s Emergency Response Coordination Centre) มีข้อมูลว่า การปฏิบัติร่วมกันต้องใช้เครื่องบิน 7 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 7 ลำ นักผจญเพลิง 340 คน จากอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี โปแลนด์ ลิทัวเนีย เดนมาร์ก โปรตุเกส และออสเตรีย

ที่มาภาพ:
https://www.theguardian.com/world/2018/jul/18/sweden-calls-for-help-as-arctic-circle-hit-by-wildfires#img-1

รัฐยังได้ห้ามประชาชนย่างบาบีคิวในสวนสาธารณะ เนื่องจากฝนไม่ตกติดต่อกันมากว่า 2 สัปดาห์ เพราะเกรงการลุกลามของสะเก็ดไฟ

นักวิชาการให้ความเห็นว่า ปีนี้เป็นปีที่เลวร้ายสุดของการเกิดไฟป่าในรอบนี้ เพราะไฟป่าเกิดขึ้นทุกปี แต่ปี 2018 นี้ไฟป่าลุกลามเกินที่จะดับลงได้ง่าย และแม้ในหลายปีที่ผ่านมามีไฟป่าขนาดใหญ่เกิดขึ้นในสวีเดน แต่ไม่กินพื้นที่ในวงกว้างเท่ากับปีนี้ โดยในปีนี้พื้นที่ที่เกิดไฟป่ามีเนื้อที่รวมถึง 25,000 เฮกตาร์ เพิ่มสูงขึ้นจาก 14,000 เฮกตาร์ในปี 2014

ทางการสวีเดนมองว่า ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟป่าได้อีก เพราะจากการพยากรณ์อากาศ อุณหภูมิยังสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส

กรีซเสียหายมากสุด

กรีซเป็นประเทศที่มีความเสียหายอย่างมากจากไฟป่าที่ลุกไหม้เผาผลาญบ้านเรือน รถยนต์ ลุกลามไปจนถึงเกือบถึงชายฝั่ง ประชาชนแตกตื่นอพยพหนีตายไปอยู่ในทะเล ทั้งนี้ไฟป่าที่เกิดขึ้นสองครั้งในพื้นที่ชายทะเลใกล้เอเธนส์ เมืองหลวงเผาผลาญ รถยนต์ บ้านเรือน ผ่าและคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 80 คน มีผู้บาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหายคิดเป็นมูลค่ามหาศาล จนรัฐบาลต้องประกาศไว้อาลัย 3 วัน รวมทั้งให้เงินช่วยผู้ประสบภัยครอบครัวละ 10,000 ยูโร

ไฟป่าที่เกิดขึ้นในช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม ในทางตอนใต้ของประเทศ นำพาความเศร้าสลดมาสู่กรีซ โดยไฟป่าจุดแรกเกิดขึ้นในป่าสนใกล้ชายทะเลของเมืองคิเนต้าทางตะวันตกของเอเธนส์ ส่วนจุดที่สองเกิดขึ้นที่เพนเตลีและราฟีนา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเอเธนส์ ซึ่งราฟีนาเป็นเมืองท่าเรือที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว และมีผู้สูงอายุกับเด็กไปพักผ่อนตั้งแคมป์ในวันหยุด แต่ศูนย์กลางภัยพิบัติอยู่ที่มาติ ในเขตราฟีนา

สาเหตุที่ทำให้ผู้เสียชีวิตจากไฟป่าในกรีซมีจำนวนมาก มีการสร้างบ้านเรือนอย่างระเกะระกะ ไม่มีการควบคุมในพื้นที่ป่า ประชากรจึงอยู่กันอย่างหนาแน่นในพื้นที่ที่ไม่มีการวางผังเมือง ขณะที่ถนนแคบรองรับรถยนต์ได้ไม่มาก จากจำนวนประชากรที่มีอยู่สี่พันหลังคาเรือน ทำให้รถติด คนกลุ่มหนึ่งตัดสินใจทิ้งรถและเดินเท้าแทน ตลอดจนยังขาดเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์และกำลังคนที่จะดับไฟ

ที่มาภาพ:
https://www.theguardian.com/world/ng-interactive/2018/jul/25/how-the-fires-in-mati-greece-spread-a-visual-guide

ทางการกรีซยอมรับว่า ไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว ธรรมชาติและบ้านเรือนเสียหายหมดสิ้น จึงไม่มีคำตอบว่า จะเตรียมรับมืออย่างไรหากเกิดไฟป่าแบบนี้ขึ้นอีก

ไฟป่าในกรีซมากกว่า 15 จุด มีสาเหตุจากความร้อนที่สูงขึ้นมาเป็นประวัติการณ์ ความร้อนที่สูงขึ้นนี้ทำให้ความชื้นของป่าลดลงกลายเป็นป่าที่แห้งแล้ง ทั่วยุโรปประสบกับไฟป่าที่เพิ่มขึ้นถึง 43% จากระดับปกติ ฤดูร้อนที่นานกว่าปกติ ความแห้งแล้งที่เพิ่มมากขึ้น และอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่างเป็นปัจจัยร่วมที่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่า

จากฐานข้อมูลภัยพิบัติของศูนย์วิจัยอุบัติการณ์ภัยพิบัติ (Centre for the Research on the Epidemiology of Disasters) ที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ไฟป่าที่กรีซนับเป็นไฟป่าที่มีความรุนแรงที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่ปี 1900

ไฟป่าที่เกิดขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม มีสาเหตุจากอากาศที่ร้อนกว่าปกติ อุณหภูมิสูงขึ้น ลมแรงซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น รวมทั้งอากาศแห้งของหน้าหนาว จึงกลายเป็นเชื้อไฟอย่างดี

สภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดไฟป่าอีก งานวิจัยของ National Observatory of Athens ที่รายงานโดย WWF ระบุว่า ในช่วงปี 2021-2050 จำนวนวันที่มีความเสี่ยงการเกิดไฟป่าจะเพิ่มขึ้นราว 30% โดยเฉพาะในทางตะวันออกของประเทศ และอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้จะทำให้วันที่อากาศแห้งเพิ่มขึ้นตามด้วย

สภาพภูมิกาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้ส่งผลกระทบต่อกรีซอย่างเห็นได้ชัดแล้ว จากเหตุไฟป่าในหน้าร้อนปี 2007 และ 2009 ซึ่งในปี 2007 หน้าร้อนร้อนมากกว่าปกติและเกิดคลื่นความร้อนหลายรอบ พื้นที่ที่ถูกไฟเผามีจำนวน 2,500 ตารางกิโลเมตร

สภาพกรีซก่อนและหลังถูกไฟเผา ที่มาภาพ:
https://www.theguardian.com/world/ng-interactive/2018/jul/25/how-the-fires-in-mati-greece-spread-a-visual-guide

สหรัฐฯ เกิด Firenado ทอร์นาโดไฟ

ไฟป่าในสหรัฐฯ เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนในรัฐโคโลราโด และยังคงเกิดขึ้นในหลายรัฐ โดยข้อมูลของ National Interagency Fire Center หรือ NIFC ของสหรัฐฯ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์นั้น ยังคงมีไฟป่าขนาดใหญ่เกิดขึ้นและลุกไหม้ในหลายรัฐ โดยไฟป่าที่ยังลุกไหม้มีจำนวน 95 จุด กินพื้นที่ 1,279,641 เอเคอร์ใน 14 รัฐ ได้แก่ อลาสกา 15 จุด แอริโซนา 10 จุด แคลิฟอร์เนีย 7 จุด โคโลราโด 12 จุด ฟลอริดา 1 จุด ไอดาโฮ 8 จุด มอนทานา 3 จุด เนวาดา 5 จุด นิวเม็กซิโก 3 จุด โอเรกอน 16 จุด เท็กซัส 1 จุด ยูทาห์ 6 จุด วอชิงตัน 4 จุด ไวโอมิง 4 จุด

NIFC ให้ข้อมูลว่า อากาศที่ร้อนและแห้งยังคงก่อให้เกิดไฟป่าทั่วประเทศ จึงเกิดไฟป่าขึ้นใหม่ 4 จุด ขณะที่สามารถควบคุมไฟได้ 6 จุด

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี วันที่ 1 มกราคม – 31 กรกฎาคม 2561 เกิดไฟป่าแล้ว 37,591 จุด กินพื้นที่ 4,772,098 เอเคอร์

ที่โคโลราโด ไฟป่า 2 จุดซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนสามารถควบคุมได้แล้ว แต่ยังมีไฟจุดเล็กๆ ยังลุกไหม้อยู่ โดยกรณี Lake Christine Fire กินพื้นที่ 12,588 เอเคอร์ แต่สามารถควบคุมได้แล้ว 87%

ส่วน 416 Fire ซึ่งเป็นไฟป่าขนาดใหญ่อันดับ 6 นับตั้งแต่ที่เกิดไฟป่าในโคโลราโด และใหญ่อันดับ 2 ของปีนี้ กินพื้นที่ 54,000 เอเคอร์

Spring Creek Fire เป็นไฟป่าใหญ่อันดับ 3 นับตั้งแต่ที่เกิดไฟป่าในโคโลราโด กินพื้นที่ 108,900 เอเคอร์ ควบคุมได้แล้ว 91% ด้าน Ferguson Fire ใกล้อุทยานแห่งชาติ Yosemite เผาพื้นที่ 57,846 เอเคอร์ ควบคุมไฟได้แล้ว 33% แม้จะไม่มีสิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหายจากไฟ แต่มีนักผจญเพลิงเสียชีวิต 2 ราย ได้รับบาดเจ็บ 8 คน

ส่วนไฟป่า Carr Fire ซึ่งใหญ่สุดในบรรดาไฟป่า 17 จุดที่เกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย ยังคงลุกไหม้กระจายพื้นที่ออกไปขึ้นไปทางตะวันตก จากที่เผาทำลายเมืองเรดดิง ที่ตั้งอยู่ในทางตะวันตกของซานฟรานซิสโก จนมีผู้เสียชีวิต 6 คน รวมทั้งนักผจญไฟและมีผู้ไร้ที่อยู่ 27,000 คน ขณะนี้ควบคุมได้เพียง 27% เท่านั้น

Carr Fire นับเป็นไฟป่าที่สร้างความเสียหายร้ายแรงสุดอันดับ 7 ในประวัติศาสตร์แคลิฟอร์เนีย

Carr Fire ที่ปะทุขึ้นในบ่ายวันที่ 23 กรกฎาคม เผาอาคารไปมากกว่า 1,200 หลัง และมี 225 อาคารเสียหาย และสร้างความเสียหายมากกว่า Thomas Fire ในปีก่อน แม้มีขนาดใหญ่มากกว่า 2 เท่า เพราะ Thomas Fire เผาอาคารสิ่งปลูกสร้างไป 1,236 แห่ง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 และ Carr Fire ยังมีความรุนแรงจนสร้างระบบอากาศขึ้นในตัว รวมทั้งทำให้เกิดเสาเพลิงหมุน (fire whirl) เหมือนพายุทอร์นาโด หรือเรียกกันว่า ทอร์นาโดไฟ ทั้งนี้เป็นการให้ข้อมูลจาก California Department of Forestry and Fire Protection (Cal Fire) หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านป้องกันไฟของรัฐแคลิฟอร์เนีย

ที่มาภาพ:
https://www.usatoday.com/story/news/nation/2018/08/01/carr-fire-1-100-homes-torched-california-fire-rages/878062002/

นอกจากต้องอพยพผู้คนแล้ว ทางการแคลิฟอร์เนียต้องอพยพสัตว์ป่าและสัตว์ในฟาร์มในบริเวณที่ถูกไฟเผาผลาญอีกด้วย คาดว่าสัตว์ที่อพยพไปมีมากกว่า 1,000 ตัว

ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เจอร์รี บราวน์ ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน ในเขตริเวอร์ไวด์และแชสตาเคาน์ตี รวมทั้งส่งจดหมายถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อที่จะได้ขอให้รัฐบาลส่งความช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

Carr Fire เกิดจากกลไกขัดข้องของรถยนต์ที่ทำให้เกิดไฟไหม้ ซึ่งลุกลามพื้นที่มากกว่า 110,000 เอเคอร์ หรือเท่าๆ กับพื้นที่ของนิวออร์ลีนส์ ส่วนไฟป่าขนาดใหญ่ในจุดอื่นคือ Ferguson Fire มีขนาดเกินครึ่งของ Carr Fire เล็กน้อย และทำให้ประชาชนต้องอพยพออกจากพื้นที่เช่นกัน

ปีนี้ไฟป่ากินพื้นที่แคลิฟอร์เนียถึงมากกว่า 430,000 เอเคอร์ และเผาพื้นที่ราว 3 ใน 4 ทางตอนเหนือของแคลิฟอร์เนีย เบรนดา เบอลองยี นักอุตุนิยมวิทยา แห่ง Forest Service’s Predictive Services อธิบายว่า สาเหตุที่ไฟกระจายวงออกไป เพราะพื้นที่ที่แห้งทำให้ไฟติดง่าย รวมทั้งลมพัดแรง ขณะเดียวกันอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอุณหภูมิที่เรดดิงแตะระดับ 119 ฟาเรนไฮต์ หรือ 48.3 องศาเซลเซียส

“การเผาผลาญของ Carr Fire ได้ปัจจัยหนุนจากการเกิดเสาเพลิงหมุน หรือที่เรียกว่า firenado ที่เป็นผลจากความร้อนที่แรงขึ้นและลมพัดแรง ยิ่งทำให้เกิดไฟลุกเป็นทางยาวลอยสูงขึ้นไป ดูแล้วเหมือนพายุทอร์นาโดของเปลวไฟและขี้เถ้า เสาเพลิงหมุนนี้มีขนาดใหญ่และเป็นต้นเหตุของความเสียหายที่มากขึ้น”

ขณะนี้ยังไม่แน่นอนว่าไฟวนหรือไฟหมุนนี้จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์แน่นอนได้ รวมทั้งยังไม่แน่ชัดว่าสถานการณ์ไฟป่าจะจบลงเมื่อไร เนื่องจากยังควบคุมไฟได้เพียง 27% เท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนียที่กระจายวงกว้างขึ้นและลุกไหม้มากขึ้นในปีนี้ และความร้อนระอุที่มากับไฟป่าไม่ใช่เหตุบังเอิญ อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นตัวเร่งให้ไฟลุกไหม้เร็วขึ้นและแรงกว่าเดิม และผิดไปจากที่เคยเกิดขึ้น คลื่นความร้อนที่ยังเกิดขึ้นในหลายเมืองยังทำลายสถิติเดิม ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง

แคลิฟอร์เนียร้อนขึ้นทุกปี และหน้าร้อนที่สะสมความร้อนระอุไว้ต่อเนื่องหลายปีทำให้หญ้าแห้ง พุ่มไม้และต้นไม้ที่แห้งตายเป็นตัวเร่งไฟอย่างดี โดยเฉพาะหน้าร้อนปีนี้ คลื่นความร้อนก็มาซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงไปอีก เพราะไฟกระจายได้เร็วและร้อนขึ้น

ความร้อนที่สูงขึ้นทำให้การควบคุมไฟทำได้ยากขึ้นเพราะโดยปกติแล้วในช่วงกลางคืนอุณหภูมิจะลดลง อากาศจะเย็นลงเล็กน้อย นักผจญไฟสามารถเข้าไปใกล้ไฟได้มากขึ้น แต่ขณะนี้อุณหภูมิในช่วงกลางคืนกลับไม่ลดลงเท่าที่เคยเป็น

แม้อุณหภูมิที่สูงขึ้นไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ไฟป่าที่เกิดขึ้นมีขนาดใหญ่และร้อนกว่าเดิม เพราะยังมีสาเหตุจากการกระทำของคน แต่ที่แน่ๆ ก็คือ อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นทำให้ฤดูไฟป่านานกว่าเดิม และงานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มระยะยาวอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ยังมีความสัมพันธ์ในทางตรงกับการเกิดไฟป่า

เครก คลีมองต์ อาจารย์จาก Fire Weather Research Laboratory แห่ง San José State University ให้ข้อมูลว่า พืชพันธุ์ทั่วรัฐมีความชื้นต่ำมากและต่ำลงอีกในเดือนสิงหาคมนี้ ดังนั้น ในเดือนตุลาคมที่น่าจะเป็นหน้าหนาวที่มีฝนตก กลับกลายเป็นเดือนที่หญ้า ต้นไม้ พุ่มไม้แห้งที่สุด เมื่อประกอบกับหน้าร้อนที่มาช้าและลมของฤดูใบไม้ร่วงที่มาเร็ว ก็ยิ่งทำให้ไฟรุนแรงขึ้น

แคลิฟอร์เนียยอมรับ New Normal

นักผจญไฟรัฐแคลิฟอร์เนียเริ่มยอมรับว่า สถานการณ์ไฟป่าขณะนี้เป็น new normal หลังจากที่เกิดไฟป่า 15 จุดไปทั่วรัฐ

มาร์ก เบลีย์ หนึ่งในนักผจญไฟที่ร่วมดับไฟป่าที่เกิดขึ้นในขณะนี้ให้ความเห็นว่า ในปี 2017 ที่ผ่านมาที่ไฟป่าได้ทำสถิติใหม่ไว้แล้วนั้น ปี 2018 นี้มีแนวโน้มที่จะร้ายแรงกว่าเสียอีก

“ปีนี้เราแทบไม่มีฝนเลย ดังนั้นพื้นดินจึงแห้งเร็ว ไฟที่เกิดขึ้นในต้นเดือนกรกฎาคมและมีขนาดใหญ่นี้ถือว่าเป็น new normal ของแคลิฟอร์เนีย

NIFC ในไอดาโฮ พยากรณ์ว่า อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นและแห้งเกินค่าเฉลี่ย เมื่อรวมกับหญ้าจำนวนมาก หิมะที่น้อยกว่าปกติและโอกาสที่จะเกิดฟ้าผ่าสูงขึ้นแล้ว ก็ส่งผลให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้เกิดไฟป่าที่มากกว่าปกติและอาจจะมากสุดๆในปีนี้

คริส แอนโทนี จาก Cal Fire กล่าวว่า “โดยปกติแล้วเราจะไม่เห็นสภาพการณ์ของไฟแบบนี้ที่เกิดขึ้นเร็วในช่วงนี้ของปี ดังนั้นจึงสะท้อนให้เห็นว่าในแคลิฟอร์เนียและทางฝั่งตะวันตก ไฟป่ากำลังเผาผลาญและมีรูปแบบที่ต่างไปจากที่เราเคยประสบมาก่อน”

ไฟป่าที่เกิดขึ้นปีนี้เปลี่ยนรูปแบบต่างจากเดือนตุลาคมปีก่อน เพราะลุกไหม้ขึ้นไปทางตอนเหนือและเป็นพื้นที่ห่างไกล เผาสิ่งปลูกสร้างเพียง 115 แห่ง แต่ในโคโลราโดไฟป่าขนาดใหญ่ 4 ลูกทำให้มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยหลายร้อยคน

ณ วันที่ 31 กรกฎาคม นักผจญไฟจำนวน 12,300 คนยังคงเดินหน้าดับไฟที่ลุกไหม้พื้นที่กว่า 280,000 เอเคอร์ทั่วรัฐ เปลวไฟและความร้อนรุนแรงมาก อากาศในบริเวณนั้นร้อนขึ้นและลอยตัวขึ้นเหนือกองไฟ อากาศเย็นในบริเวณข้างเคียงจะไหลเข้ามาแทนที่ เกิดเป็นระบบลมของไฟป่าซึ่งมีความรุนแรงพอๆ กับพายุทอร์นาโด

สก็อตต์ แมกลีน จาก Cal Fire ยอมรับว่า การควบคุมไฟนับว่าเป็นศึกที่น่ากลัวที่เดียว การกระจายตัวที่รวดเร็วและความร้อนที่สามารถทำลายล้างสูงของไฟป่า ถือเป็น new normal โดย 1 ใน 4 ของจำนวนไฟป่าที่มีความร้อนแรง 20 ลูกนั้น เกิดขึ้นในเดือนตุลาคมหรือไม่ก็ธันวาคมปีก่อน แต่ในปีนี้ไฟป่าในแคลิฟอร์เนียมีความร้อนสูงมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยประสบมาก่อนในยุคนี้

ที่มาภาพ:
https://ktla.com/2018/07/26/1-dead-as-carr-fire-in-shasta-county-explodes-to-more-than-28000-acres-destroyed-15-structures/

ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งลังเลที่จะยอมรับว่า climate change คือสาเหตุหลักที่ทำให้สถานการณ์ไฟป่าแคลิฟอร์เนียเลวร้ายลง แม้สาเหตุหนึ่งก็มาจากมนุษย์ รวมทั้งการสร้างบ้านเรือนใกล้เขตป่ามากขึ้น แต่ความเชื่อมโยงของอุณหภูมิที่สูงขึ้นในแคลิฟอร์เนียและพืชพันธุ์ที่แห้งก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถละเลยได้แล้ว อีกทั้งไม่เพียงไฟป่าขนาดใหญ่เท่านั้นที่เกิดขึ้น แต่มีไฟป่าขนาดย่อมๆ เกิดขึ้นมากอีกด้วย โดยเพียงสัปดาห์เดียวของเดือนกรกฎาคมมีไฟป่าเกิดมากกว่า 1,000 จุด ขณะที่โดยปกติแล้วช่วงนี้ของทุกปีจะเกิดขึ้นราว 250-300 จุด ในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งนับว่าสูงกว่าปกติถึงมากกว่า 3 เท่า

ยุโรปภาวะผิดปกติที่กลายเป็นเรื่องปกติ

ปี 2017 เป็นปีที่เลวร้ายสุดในประวัติศาสตร์ของการเกิดไฟป่าในยุโรป เพราะทำลายพื้นที่ป่า พื้นที่เพาะปลูกหลายพันเฮกตาร์ในโปรตุเกส สเปน อิตาลี ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งแสดงแนวโน้มให้เห็นชัดเจนว่า ฤดูไฟป่านานขึ้น และระยะการเกิดถี่ขึ้น ซึ่งนำไปสู่สถานการณ์ที่อันตรายของไฟป่า

European Forest Fire Information System เตือนว่า ยุโรปกลางและยุโรปตะวันตกอาจตกอยู่ในภาวะอันตรายจากไฟป่าได้ โดยเจ้าหน้าที่อียูให้ความเห็นว่า ในหลายปีนี้ การเกิดไฟป่าผิดปกติ เพราะเกิดในพื้นที่ที่โดยปกติแล้วไม่เคยมีไฟป่ามาก่อน และเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่คิดว่าจะเกิด

ไฟป่าที่เกิดขึ้นใน กรีซ สหรัฐฯ สวีเดน แคนาดาและอังกฤษ แสดงให้เห็นว่า เป็นช่วงหน้าร้อนที่มีการ เกิดไฟป่าอย่างผิดปกติในบางประเทศ

ที่มาภาพ:
https://www.bbc.co.uk/news/world-44941999

โดยปกติแล้วพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่กว่าอังกฤษถึง 2 เท่าอย่างเช่นทุ่งหญ้าสะวันนาในแอฟริกา อเมริกาใต้ หรือผืนป่าในรอยต่ออลาสกาตะวันตกไปจนถึงตะวันออกของไซบีเรีย มักจะเกิดไฟป่าอยู่แล้วทุกปี และที่ผ่านมาก็ไม่เคยได้ยินว่าไม่มีการเกิดไฟป่าในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งโดยเฉพาะ

แต่กลับกลายเป็นว่า ปีนี้จำนวนครั้งของการเกิดไฟป่าในยุโรปมากกว่าค่าเฉลี่ย และไฟป่าไม่ได้เกิดในพื้นที่ที่เกิดเป็นปกติ โดยในช่วงวันที่ 1 มกราคมถึง 24 กรกฎาคม ของปีนี้ มีไฟป่าเกิดขึ้น 427 จุด เทียบกับ 298 จุดในรอบเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม พื้นที่การเกิดไฟป่าปีนี้มีเพียง 55,700 เฮกตาร์ จาก 112,000 เฮกตาร์ในปีก่อน ส่วนในสหรัฐฯ จำนวนไฟป่าปีนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่ถูกไฟป่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.4 ล้านเฮกตาร์ เป็น 1.6 ล้านเฮกตาร์

ที่มาภาพ:
https://www.bbc.co.uk/news/world-44941999

ประเด็นสำคัญอยู่ที่พื้นที่ที่เกิด ซึ่งที่ผ่านมาพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรปนานๆ ครั้งถึงจะเกิดไฟป่าขึ้น ในอังกฤษพื้นที่ที่ไฟป่าเผาผลาญรวม 13,888 เฮกตาร์ สูงขึ้น 4 เท่าจากค่าเฉลี่ยของช่วงสิบปีที่ผ่านมา ในสวีเดนพื้นที่ที่เกิดไฟป่าสูงขึ้น 41 เท่า ขณะที่จำนวนไฟป่าในเขตขั้วโลกเหนือไปจนถึงทะเลบอลติกเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 12 จุด

ประเทศยุโรปเหนือตั้งแต่เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ เยอรมนี และลัตเวีย มีไฟป่าถึง 20-200 ครั้งในพื้นที่ที่มีไฟเกิดขึ้นโดยปกติ แต่ประเทศในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ปกติจะมีเกิดไฟป่าจำนวนมาก กลับมีฤดูใบไม้ผลิที่ค่อนข้างเย็นสบายกับชื้นเล็กน้อยและมีหน้าร้อนที่เร็วขึ้น ในอิตาลีและโครเอเชีย พื้นที่ที่เกิดไฟป่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย สเปน และโปรตุเกส ซึ่งปรกติไฟป่าจะกินพื้นที่กว้างกว่าประเทศอื่นในยุโรปกลับมีไฟป่าเกิดขึ้นน้อยราว 12% และ 5% ของพื้นที่โดยเฉลี่ยตามลำดับ

ฤดูไฟป่ายังไม่ผ่านพ้น และการเติบโตของต้นไม้ในบางพื้นที่ของแถบเมดิเตอร์เรเนียนอาจจะเป็นสาเหตุของการไฟป่าในระยะต่อไป

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยใดอธิบายอากาศร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ แต่สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้วที่มากขึ้นและถี่ขึ้น อีกทั้งการเกิดไฟป่าในอังกฤษและสวีเดนในปีนี้ก็ไม่ใช่การเข้าสู่ภาวะ new normal แต่อาจเป็นภาวะปกติเสียแล้ว

นักวิทยาศาสตร์และนักผจญไฟป่าให้ข้อมูลว่า การเกิดไฟป่าต้องมีองค์ประกอบ 3 สิ่งด้วยกัน เรียกว่า สามเหลี่ยมไฟ คือ หนึ่ง เชื้อเพลิง ได้แก่ ต้นไม้ที่แห้ง พุ่มไม้ หญ้า สอง ความร้อน และสาม ออกซิเจนที่เป็นตัวโหม พร้อมใช้กฎ 30-30-30 อธิบายความเป็นไปได้ที่จะเกิดไฟป่าว่า เมื่อไรก็ตามที่อุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 30 องศาเซลเซียส ความชื้นต่ำกว่า 30% และลมพัดแรงเกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โอกาสเกิดไฟป่าจะสูงขึ้น

ความร้อนมีทั้งแหล่งความร้อนธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า การเสียดสีของกิ่งไม้ ซึ่งพบได้มากในป่าของอเมริกาเหนือหรือความร้อนที่เกิดจากมนุษย์ เช่น การตั้งแคมป์ หรือไฟฟ้าช็อต หรือการลอบวางเพลิง

กรณีของกรีซเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ว่าสภาพอากาศคือปัจจัยหนึ่ง ทั้งๆ ที่ปีนี้เกิดไฟป่าน้อยกว่าปกติ แต่ประชากรที่หนาแน่นในพื้นที่ใกล้เอเธนส์ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน ไม่ต่างจากปีก่อนที่ไฟป่าโปรตุเกสทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน และกรณี Black Saturday Fire ในออสเตรเลียปี 2009 ที่มีผู้เสียชีวิต 173 คน

ในรอบสิบปีที่ผ่านมาไฟป่าขนาดใหญ่ หรือ Megafires เพิ่มขึ้นอย่างมากและการดับไฟก็ทำได้ยากขึ้น ต้องระดมกำลังทั้งคนและอุปกรณ์มากกว่าเดิม

แนวโน้มไฟป่าขนาดใหญ่ขึ้นรุนแรงขึ้น

อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ยิ่งมีผลให้เกิดไฟป่าได้มากขึ้น ความแห้งแล้งที่มากขึ้นและคลื่นความร้อนที่สูงขึ้นจะยิ่งทำให้ไฟป่ารุนแรงและทำลายล้างได้สูงกว่าเดิม เพราะความร้อนระอุจะดูดความชุ่มชื้นจากดิน ทำให้สภาพแวดล้อมเหมาะที่จะเกิดไฟได้ง่าย ดังที่เกิดขึ้นในกรีซในช่วงก่อนปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอนระบุว่า ไฟป่าขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงทศวรรษ 1980 และมีความถี่มากขึ้น ระยะการเผาผลาญนานขึ้นและขยายฤดูกาลนานขึ้นด้วย โดยความถี่ของการเกิดไฟป่าสูงขึ้นเป็น 4 เท่าของความถี่เฉลี่ยของปี 1970-1986 รวมทั้งพื้นที่โดยรวมที่เกิดไฟป่ามากขึ้นกว่า 6 เท่ากินเวลานานขึ้น 0.5 เท่า

ที่มาภาพ:
https://www.usatoday.com/story/news/nation/2018/08/01/carr-fire-1-100-homes-torched-california-fire-rages/878062002/

งานวิจัยยังระบุด้วยว่า คลื่นความร้อนที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดไฟป่า แต่ขณะเดียวไฟป่าก็มีผลให้โลกร้อนมากขึ้น เพราะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมากขึ้น และหากยังมีแนวโน้มที่จะเกิดไฟป่าต่อเนื่อง ก็พอจะอนุมานได้ว่าผืนป่าของสหรัฐฯ กลายเป็นแหล่งหนึ่งที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมากขึ้น

สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าตลอดช่วงหน้าร้อนที่อุณหภูมิสูงขึ้นและเต็มไปด้วยความแห้งแล้ง เพิ่มโอกาสที่จะเกิดไฟป่า และทำให้ไฟป่ากระจายวงออกไป สภาวะอากาศที่ร้อนและแห้งก็ทำให้แมลงเติบโตได้ดีและกัดกินต้นไม้จนกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีในป่า

นักวิทยาศาสตร์ได้เฝ้าสังเกตการณ์แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนไฟป่าขนาดใหญ่และพื้นที่ที่ถูกไฟเผาจนเรียบในสหรัฐฯ พบว่า ในทางตะวันตก วิวัฒนการของ climate change มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับภาวะแห้งแล้งและการเพิ่มขึ้นของการเกิดไฟป่า โดย

  • อุณหภูมิที่สูงขึ้น อากาศแห้ง เชื้อไฟที่เพิ่มขึ้นและ หน้าร้อนที่ยาวขึ้น ซึ่งความสัมพันธ์กับ climate change เพิ่มความสี่ยงที่จะเกิดไฟป่า
  • โลกที่ร้อนขึ้นทำให้เชื้อไฟแห้งและทำให้ไฟลุกได้ง่ายและกระจายในวงกว้าง
  • climate change ทำให้ระยะเวลาที่เอื้อต่อการเกิดไฟป่านานขึ้น
  • หิมะที่ละลายเร็วขึ้น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป และความแห้งแล้ง ที่เกี่ยวโยงกับ climate change เป็นปัจจัยสำคัญของการเพิ่มขึ้นของขนาดของไฟและเผาไหม้นานกว่าเดิม

เข้าสู่ยุค”Fire Tsunamis”

โดยปกติการเกิดไฟป่าในช่วงหน้าร้อนของบางพื้นที่ในสหรัฐฯ นับเป็นภาวะปกติ แต่ขณะนี้มีสัญญานที่จะเข้าสู่ยุคสึนามิไฟป่า (fire tsunamis) หลังจากที่เกิดไฟป่า Spring Creek ที่เดนเวอร์ ซึ่งเป็นไฟป่าขนาดใหญ่อันดับสามในรัฐนับตั้งแต่เกิดไฟป่าในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ

ทีมผจญเพลิงให้ความเห็นว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นจัดเป็นพายุไฟได้อย่างดี เพราะมีลมที่พัดแรงเป็นปัจจัยหนุนและเมื่อไฟร้อนมากขึ้น จะส่งผลให้พื้นที่รอบๆ ที่แห้งให้ลุกลามเร็วขึ้น ซึ่งเบน แบรก ผู้ควบคุมการดับไฟป่า เปิดเผยว่า ไฟป่าเกิดขึ้นราวกับคลื่นสึนามิหรือพายุทอร์นาโด ความพยายามของมนุษย์ที่จะดับไฟไร้ผล

pyrocumulus clouds (หรือเมฆที่เกิดเหนือบริเวณที่มีความร้อนสูง เช่น บริเวณที่เกิดไฟป่า) เป็นตัวชี้วัดที่ดี เพราะเห็นได้ชัดจากระยะ 100 ไมล์ที่ไกลออกไป ขณะที่เปลวไฟก่อตัวสูงถึง 300 ฟุต เผาผลาญพื้นที่ในวงกว้าง ถึงประมาณ 20,000 เอเคอร์ และสะเก็ดไฟยังปลิวไปตกในพื้นที่ใหม่ ซึ่งทำให้เกิดไฟป่าลูกใหม่

pyrocumulus clouds ที่มาภาพ:
https://grist.org/article/weve-entered-the-era-of-fire

โดยทั่วไปไฟป่าที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องปกติของระบบนิเวศวิทยาในฝั่งตะวันตก แต่ไฟป่าที่ลุกไหม้ในขณะนี้ห่างไกลจากการเกิดขึ้นโดยธรรมชาติอย่างมาก และมีหลักฐานชัดเจนว่า climate change กำลังเริ่มสร้างภาวะที่ทำให้เกิดไฟป่าถี่ขึ้น

ปี 2012 ไฟป่าสร้างความเสียหายร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์ของโคโลราโดเผาบ้านเรือน 350 หลัง ในปี 2016 ไฟป่าในแคนาดาที่เผาบ้านเรือน 2,000 หลัง ใช้เวลานานถึง 15 เดือนกว่าจะควบคุมไฟได้ 100% ในปีที่ที่แล้วในแคลิฟอร์เนียไฟป่าลุกไหม้เผาซานตาโรซาวอดวาย นอกจากนี้ ในรอบกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ต้นไม้ในโคโลราโดกว่า 800 ล้านต้นถูกแมลงกัดแทะ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ว่าเมื่ออากาศร้อนขึ้นแมลงกินพืชจะขยายตัวได้ดีขึ้น นอกเหนือจากนี้ หน้าหนาวที่ผ่านมาจัดว่าเป็นหน้าหนาวที่อุ่นที่สุดและแห้งที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ ระดับน้ำในแม่น้ำลดลงเหลือครึ่งของระดับปกติ และฝนมรสุมที่มักตกในหน้าร้อนก็ยังไม่ตก

ไฟป่าหายนะของโลก

ฤดูไฟป่าของปี 2018 นี้ถือเป็นหายนะของโลก เพราะเกิดไฟป่าไปทุกภูมิภาค

โลกที่ร้อนขึ้นซ้ำเติมภัยคุกคามจากไฟป่าที่ร้ายแรงอยู่แล้วจากการขยายตัวของเมือง แผนพัฒนาเมืองที่แย่ และภูมิประเทศที่ติดไฟง่าย ให้ย่ำแย่ลงอีก เพราะอากาศที่แห้งทำให้พื้นที่ป่ากลายเป็นเชื้อเพลิง ขณะที่ลมแรงช่วยกระพือเปลวไฟให้ลุกเร็วขึ้น ดังจะเห็นได้ไฟป่าที่เกิดขึ้นในกรีซ ทำลายชีวิตและทรัพย์สินภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ส่งผลให้เป็นกรณีไฟป่าที่ร้ายแรงที่สุดของปี

ฤดูไฟป่าในเขตขั้วโลกเหนือขยายเวลานานขึ้นจากมิถุนายนไปจนถึงตุลาคม และสร้างความเสียหายชัดเจน เพราะคลื่นความร้อนที่ร้อนมากสุดและอยู่นานสุดของโลกยังคงปกคลุมหลายประเทศจากไซบีเรียไปจนถึงแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จากอเมริกาเหนือไปจนถึงเอเชียตะวันออก อุณหภูมิเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ตลอดเวลา ขณะที่ฝนตกน้อยมากในหลายภูมิภาค

ฤดูไฟป่าในปีนี้เรียกความสนใจจากทั่วโลกอย่างมาก เพราะมีความผิดปกติตรงที่หลายๆ แห่งเจอไฟป่าในช่วงเวลาเดียวกัน โดยไฟป่าขนาดใหญ่เผาอินโดนีเซียในปี 2015 ขณะที่เกิดขึ้นพร้อมกันในแคนาดาและสเปนในปี 2016 ส่วนปี 2017 ทั้งชิลีและโปรตุเกสเจอไฟป่าในเวลาเดียวกัน ส่วนรัสเซียไฟป่าเกิดในปี 2010 กินพื้นที่ป่ากว่า 1,100 ตารางไมล์ และเกิดอีกครั้งในปี 2015

หายนะจากไฟเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดย เดวิด บาวแมน ศาตราจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาบัยทัสมาเนียในออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า เมืองที่ขยาย การวางแผนที่แย่ คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นซ้ำซาก การอาศัยในพื้นที่ใกล้ป่าและภูมิประเทศที่ติดไฟง่าย ทั้งหมดนี้สร้างเงื่อนไขที่ดีที่จะเกิดโลกที่อ่อนแอต่อไฟ

อุณหภูมิที่สูงขึ้นจาก climate change ก็มีผลให้ระบบนิเวศวิทยามีความไม่แน่นอน และทำให้ฤดูไฟป่าเกิดเร็วขึ้นและกินเวลานานขึ้น

“เรากำลังเผชิญกับไฟป่าที่ร้ายแรงขึ้น ร้อนแรงขึ้นและลุกไหม้นานขึ้น ซึ่งมีผลต่อชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าเดิม และก่อนหน้าภาวะการเกิดไฟป่ามองกันว่าเป็นเรื่องของแต่ละประเทศ แต่วันนี้เราควรมองเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ระดับโลก” บาวแมนกล่าว

ทาเนีย โชเอนนาเจล นักวิทยาศาสตร์ด้านไฟ แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ กล่าวว่า”เรากำลังประสบกับไฟป่าขนาดใหญ่มากขึ้น บ้านเรือนถูกเผามากขึ้นเป็น 3 เท่าและมีการอพยพครั้งใหญ่หลายครั้งในอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ยังต่อเนื่อง ที่เป็นผลจากความร้อนที่เพิ่มขึ้น”

เรียบเรียงจาก CNN,DW.com,express,climatesignals.org,theguradian,grist.org,aljazeera.com,weather.com,NOAA.gov,independent,nytimes,cbc,BBC,straitstimes,metro,whig,usatoday,weforum,huffingtonpost