ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > คลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วม Climate Change ของจริง(ตอนที่1) อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น จนคลื่นความร้อนกลายเป็น New Normal ของโลก

คลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วม Climate Change ของจริง(ตอนที่1) อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น จนคลื่นความร้อนกลายเป็น New Normal ของโลก

29 กรกฎาคม 2018


ภัยพิบัติหลายด้านที่เกิดขึ้นบ่อยๆทั่วโลก และล่าสุดในเดือนกรกฏาคม ตั้งแต่ คลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วม ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล ได้สะท้อนผลกระทบอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือ Climate Change อย่างแท้จริง ให้ปรากฎต่อสายตาชาวโลก และตอกย้ำว่า Climate Change อยู่ใกล้ตัวเรามากๆ

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ปรากฏต่อสายตาชาวโลกอย่างชัดเจน หนึ่ง อากาศร้อนอุณหภูมิสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะที่เมืองอูอาร์กลา ประเทศอัลจีเรีย ทวีปอัฟริกา ที่สูงถึง 51.3 องศาเซลเซียส ในวันที่ 5 กรกฎาคม รวมไปถึงโตเกียวในญี่ปุ่น มอนทรีออล ในแคนาดา รัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐ และพื้นที่บางส่วนในอังกฤษที่แตะระดับ 35 องศาเซลเซียส

สอง ไฟป่าในสวีเดน ประเทศที่อยู่ใน ดินแดน Arctic Circle หรือพื้นที่ในเขตขั้วโลกเหนือ ซึ่งเป็นดินแดนที่มีอากาศหนาวมีหิมะหรือน้ำแข็งปกคลุม เขตขั้วโลกเหนือ ประกอบด้วยมหาสมุทรอาร์กติก พื้นที่บางส่วนของอลาสก้า แคนาดา ฟินแลนด์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ นอรเวย์ รัสเซีย สวีเดน ไฟป่าที่เกิดขึ้นในประเทศกรีซ และไฟป่าที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

และ สาม น้ำท่วมในญี่ปุ่น ลาว พม่า เขมร อินเดีย รวมทั้งไทยที่ฝนตกต่อเนื่องจนเกิดภาวะดินถล่มที่หมู่บ้านห้วยขาบ หมู่7 ตำบลบ่อเกลือ จังหวัดน่าน และกรณี 13 หมู่ป่าติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย

เป็นปรากฎการณ์ ของ Climate Change ที่สร้างผลกระทบร้ายแรงเกินที่จะใช้คำว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้อีกต่อไป

โลกทั้งใบร้อนขึ้นเมื่อเทียบกับปี 1976 อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้เกิดคลื่นความร้อน ซึ่งสอดคล้องการใช้โมเดลทำนายสภาพอากาศที่ทำนายไว้ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาว่า คลื่นความร้อนจะเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งในปีนั้นโลกประสบกับภาวะคลื่นความร้อนมาแล้วแต่อุณหภูมิขณะนั้นถือกว่ายังค่อนข้างสบายๆ แต่ขณะนี้โลกค่อน ข้างร้อน

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปนี้จะนำไปสู่ภาวะอากาศแบบสุดโต่ง โดยอุณหภูมิโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นได้ก่อให้เกิดคลื่นความร้อน ดังจะเห็นได้จากคลื่นความร้อนในญี่ปุ่น ซึ่งอุณหภูมิในเมืองกุมางายาเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 41.1 องศาเซลเซียส ที่เมืองอูเมะ 40.8 องศาเซลเซียส อีกทั้งญี่ปุ่นเพิ่งประสบภัยน้ำท่วมและดินถล่ม

ขณะที่ในยุโรปมีแถลงการณ์เตือนให้รับมือกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น 10 องศาเซลเซียสจากระดับเฉลี่ยในไอร์แลน์ คาบสมุทรบอลติก และกุล่มสแกนดิเนเวีย ช่วงวันที่ 19 กรกฎาคมถึง 6 สิงหาคม

อุตุนิยมวิทยาโลก(World Meteorological Organisation :WMO) ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้มาพร้อมกับความแห้งแล้ง และความเสี่ยงที่จะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ไฟป่า และผลผลิตเสียหาย

กรกฎาคมเดือนร้อนสุดของปี

เดือนกรกฎาคม 2561 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกอุณหภูมิปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ในหลายส่วนของโลก หลายประเทศในหลายภูมิภาค หลายทวีปของโลกประสบกับคลื่นความร้อนกระจาย ตั้งแต่เอเชีย ยูโรป สหรัฐ อัฟริกา โดยในเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสบภาวะคลื่นความร้อนรุนแรงกว่าประเทศอื่น จนรัฐบาลประกาศเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ทั้งหมดนี้สะท้อนภาวะสุดขั้วที่เกิดจากโลกร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น ที่ขยายวงกว้างตั้งแต่ภูมิภาคที่มีฤดูร้อนที่ร้อนไม่มาก เช่น ไอร์แลนด์ สก็อตแลนด์ แคนาดา มายังพื้นที่ทะเลทรายเช่นตะวันออกกลาง ไปจนถึงเขตขั้วโลกเหนือ ตลอดจนในเอเชีย

ปี 2018 กำลังจะกลายเป็นปีที่ร้อนที่สุดในโลก เป็นปีที่ 4 นับจากปีที่ร้อนที่สุดในปี 2015, 2016, 2017 โดยข้อมูลจาก National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ของสหรัฐ แสดงอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งชี้ภาวะโลกร้อน หรือ Global warming จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่มีผลให้เกิดคลื่นความร้อน น้ำท่วม และไฟป่า

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ที่สัมผัสได้คือ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ติดต่อกันทุกปี และในช่วงครึ่งแรกของปี 2018 นี้อยู่ในภาวะที่ร้อนขึ้นถึงร้อนมากขึ้นจากระดับเฉลี่ยของโลกที่วัดจากพื้นผิวดินและมหาสมุทร

คลื่นความร้อนเห็นได้ชัดในบางส่วนของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นิวซีแลนด์และบางส่วนของอเมริกาเหนือ ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนของปีนี้ไม่มีพื้นที่ไหนของโลกมีอุณหภูมิต่ำหรือความเย็น

โดยรวมอุณหภูมิพื้นผิวโลกและมหาสมุทรสูงขึ้น 0.77 องศาเซลเซียสหรือ 1.39 องศาฟาเรนไฮต์ จากระดับเฉลี่ยของศตวรรษที่ 20 และเป็นระดับสูงสุดครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ปี 1880 ส่วนอุณหภูมิที่พื้นผิวโลกทำสถิติใหม่เป็นครั้งที่ 5 เพราะสูงขึ้น 1.19 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิพื้นผิวน้ำสูงขึ้น 0.60 องศาเซลเซียส เป็นระดับสูงสุดใหม่ครั้งที่ 5 เช่นกัน

ในเดือนมกราคมถึงมิถุนายน มี 5 ทวีปใน 6 ทวีปของโลกติดอยู่ในท้อป 10 ของอันดับพื้นที่ที่มีอากาศร้อนสุด

อากาศเฉลี่ยมกราคม-มิถุนายน 2018 สีแดงคือพื้นที่ที่มีอากาศร้อน สีฟ้าพื้นที่มีความเย็น
ที่มาภาพ:https://www.ncdc.noaa.gov/sotc/global/201806

โลกร้อนอุณหภูมิสูงสุดทำสถิติใหม่

อเมริกาเหนือ
คลื่นความร้อนแผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันออกของสหรัฐถึง 2 ใน 3 กับพื้นที่ด้านตะวันนอกเฉียงใต้ของแคนาดา

  • ตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย บางพื้นที่อุณหภูมิแตะระดับสูงสุดใหม่ 48.9 องศาเซลเซียส ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสเองเจลิส อุณหภูมิแตะระดับ 43.9 องศาเซลเซียสทำลายสถิติของรอบ 79 ปี
  • เดนเวอร์ รัฐโคโลราโด อุณหภูมิแตะระดับสูงสุดใหม่ 40.5 องศาเซลเซียส วันที่ 28 มิถุนายน
  • มอนทรีออล แคนาดา อุณหภูมิแตะระดับสูงสุดใหม่ 36.6 องศาเซลเซียส วันที่ 2 กรกฎาคม

    ยุโรป
    อากาศร้อนระอุส่งผลกระทบต่ออังกฤษในเดือนกรกฎาคม จากอุณหภูมิที่สูงขึ้นในเมืองต่อไปนี้

  • สก็อตแลนด์ อากาศร้อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิเพิ่มมาที่ 33.2 องศาเซลเซียส ในวันที่ 28 มิถุนายน สูงขึ้นจาก ระดับสูงสุดที่เคยทำไว้ 32.9 องศาเซลเซียส ในเดือนสิงหาคม 2003 และยังเป็นวันที่ร้อนที่สุดของ เมืองกลาสโกว์ อากาศร้อนสุด 31.9 องศาเซลเซียส
  • ไอร์แลนด์ อุณหภูมิเพิ่มมาที่ 33.2 องศาเซลเซียส ในวันที่ 28 มิถุนายน
  • กรุงเบลฟาสต์ อุณหภูมิเพิ่มมาที่ 29.5 องศาเซลเซียส ในวันที่ 28 มิถุนายน บางพื้นที่แตะระดับ 30.1 องศาเซลเซียส ในวันที่ 28 มิถุนายน
  • เยอรมนี อุณหภูมิสูงสุดที่ 35.9 องศาเซลเซียส วันที่ 24 กรกฎาคม
  • สแกนดิเนเวียในเขตขั้วโลกเหนือ ทั้ง สวีเดน ฟินแลนด์ อุณหภูมิแตะระดับ 33

    ยูเรซีย
    ประเทศที่มีพื้นที่ติดต่อยุโรปและเอชียประสบปัญหาคลื่นความร้อนเช่นกัน โดย

  • จอร์เจีย อุณหภูมิสูงสุดใหม่ที่ 40.5 C วันที่ 4 กรกฎาคม
  • อาร์เมเนีย อุณหภูมิสูงสุดใหม่ที่ 42 C วันที่ 2 กรกฎาคม

    ตะวันออกกลาง
    โอมาน อากาศร้อนที่อุณหภูมิต่ำสุด 42.6 C วันที่ 28 มิถุนายน

    เอเชีย

  • ญี่ปุ่น อุณหภูมิสูงสุดใหม่ที่ 41.1 C วันที่ 23 กรกฎาคม
  • สำรวจพื้นที่ประสบคลื่นความร้อน Heat wave

  • แคนาดา
  • พื้นที่ส่วนหนึ่งของแคนาดาอยู่ในเขตขั้วโลกเหนือ แต่ก็ประสบปัญหาคลื่นความร้อน ที่แผ่ขยายในพื้นที่ตะวันออกและภาคกลางส่งผลกระทบร้ายแรงในรอบ 10 ปี มีผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 70 คนในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ในตอนกลางและภาคตะวันออก และจากอุณหภูมิใน มอนทรีล ควิเบก เพิ่มสูงขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิตในมอนทรีออลเมืองเดียวมีจำนวน 34 คนช่วง 29 มิถุนายนถึง 7 กรกฎาคม ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยและผู้ที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ

    ในเดือนกรกฎาคม อุณหภูมิในเมืองมอนทรีออล เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 33.9 C สูงขึ้นความร้อนระอุที่ควิเบก อุณหภูมิขั้นต่ำสุดอยู่ที่กว่า 30 องศาเซลเซียสขึ้นไป ทำให้ประชาชนต้องเร่งหาซื้อเครื่องปรับอากาศจำนวนมาก แต่สินค้ามีไม่พอจำหน่าย หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของแคนาดาได้เตือนประชาชนให้ดื่มน้ำ 6-8 แก้วต่อวัน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ อยู่ในที่ที่มีเครื่องปรับอากาศอย่างน้อย 2 ชั่วโมง อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ในรถที่ร้อนระอุ

    เจ้าหน้าที่ตำรวจและนักผจญไฟป่า ในมอนทรีออล ช่วงต้นเดือนกรกฏาคมได้ออกเยี่ยมประชาชนไม่ต่ำกว่า 15,000 ครัวเรือนเพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันมีการโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากประชาชนที่ได้รับผลจากคลื่นความร้อนราว 1,200 ครั้งต่อวัน

    เอกสารข่าวกระทรวงสาธารณสุขแคนาดาระบุว่า แม้อุณหภูมิกลับสู่ภาวะปกติ แต่คลื่นความร้อนยังคงอยู่อีกราว 24-48 ชั่วโมงกว่าจะคลายตัว

  • ญี่ปุ่น

  • คลื่นความร้อนในญี่ปุ่นเกิดขึ้นตามหลังเหตุการณ์ฝนกระหน่ำอย่างหนัก จนทำให้เกิดน้ำท่วมหนักและดินถล่มในทางตะวันตกของประเทศในช่วงต้นเดือน ญี่ปุ่นประสบภาวะอากาศร้อนมาก อุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์จนต้องประกาศภาวะภัยพิบัติ หลังจากจำนวนประชาชนที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 65 คนในกลางเดือนกรกฎาคม และมีผู้เข้ารับการดูแลที่โรงพยาบาลอีกมากกว่า 22,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โดยอุณหภูมิสูงสุดของญี่ปุ่นวัดได้ที่คุมางายะ ในเมืองไซตามะ ใกล้กรุงโตเกียว คือ 41.1องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับสูงสุดใหม่จากปี 2013

    ในโตเกียวอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก หน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาเตือนว่าอุณหภูมิจะยังสูงอยู่ในระดับ 35 องศาเซลเซียสไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม

    โรงเรียนในญี่ปุ่นน้อยกว่าครึ่งที่มีเครื่องปรับอากาศ ดังนั้นรัฐบาลอาจจะประกาศวันปิดภาคฤดูร้อนนานขึ้นเพื่อไม่ให้เด็กนักเรียนได้รับผลกระทบ และเช่นเดียวกับที่แคนาดา ประชาชนได้รับการเตือนให้ดื่มน้ำเยอะๆ อยู่ในที่มีเครื่องปรับอากาศ และพักให้มากขึ้น

  • เกาหลีใต้

  • อุณหภูมิแตะระดับสูงสุดในรอบปีนี้ที่ 39.9 องศาเซลเซียส มีผู้คนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 10 ราย และมีประชาชน 1,034 คนประสบภาวะร่างกายขาดน้ำในช่วงวันที่ 20 พฤษภาคม ถึง 21 กรกฎาคม ส่วนในเกาหลีเหนืออุณหภูมิสูงขึ้นไปที่ 40 องศาเซลเซียส
    อังกฤษ

    อุณหภูมิสูงขึ้นมาที่ 35.1 องศาเซลเซียส ในวันที่ 25 กรกฎาคม กลายเป็นวันที่ร้อนที่สุด อุตุนิยมวิทยาคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะอุณหภูมิจะลบสถิติที่ 38.5 องศาเซลเซียลของเดือนสิงหาคม ปี 2003

  • อัลจีเรีย

  • อูอาร์กลา ในอัลจีเรีย กลายเป็นพี้นที่ที่ร้อนที่สุดในอัฟริกา เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นไปที่ 124.3 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 51.3 องศาเซลเซียส ในวันที่ 5 กรกฎาคม ขณะที่ในปี 1931 ที่ตูนิเซียอุณหภูมิเคยสูงถึง 131 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 55 องศาเซลเซียส แต่ข้อมูลนี้ก็ยังเชื่อไม่ได้ เนื่องจากระบบการจัดเก็บข้อมูลในยุคนั้นไม่ได้มาตรฐานหรือไม่มีการจัดเก็บ

  • สแกนดิเนวีย

  • เมือง Kvikjokk ของสวีเดนอุณหภูมิสูงขึ้นเป็น 32.5 องศาเซลเซียส หรือ 90.5 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งสูงขึ้นจากระดับเฉลี่ยปกติของเดือนกรกฎาคมถึงเกือบ 20 องศาฟาเรนไฮต์ ส่วนที่ทางตอนใต้ของประเทศ อุณหภูมิสูงขึ้นเป็น 34.4 องศาเซลเซียสสูงสุดนับจากปี 1975 ส่วนในเนอรเวย์ เมือง Namsskogan และ Mo I Rana อุณหภูมิสูงขึ้นมาที่ 31.6 องศาเซลเซียส ทำสถิติใหม่ เช่นเดียวกันในตอนใต้ของฟินแลนด์ อุณหภูมิแตะ 33.3 องศาเซลเซียส เป็นระดับสูงสุดใหม่

    อุณหภูมิที่สูงขึ้นมาเหนือระดับ 32 องศาเซลเซียส ปรากฏและสร้างสถิติใหม่ในกลุ่มสแกนดิเนเวียน ได้แก่ สวีเดน ฟินแลนด์และนอรเวย์

  • เยอรมนี

  • เยอรนีเป็นอีกประเทศที่ประสบภาวะคลื่นความร้อน จากอุณหภูมิที่สูงขึ้นถึง 36 องศาเซลเซียส หรือ 96.8 องศาฟาเรนไฮต์ ในบางพื้นที่ วันที่ 24 กรกฎาคม จนทางการต้องเตือนให้ประชาชนในหลายพื้นที่ตั้งแต่แคว้นบาวาเรีย และตะวันออก และผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าภาวะผิดปกติของอุณหภูมิในหน้าร้อนอาจจะกลายเป็นภาวะปกติของหน้าร้อนเยอรมนีในระยะต่อไป

    อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้ต้องปิดสนามบินแฮนโอเวอร์ชั่วคราวในช่วงเย็นวันอังคารที่ 24 กรกฎาคมก่อนที่จะกลับมาเปิดให้บริการอีกคครั้งในเช้าวันพุธที่ 25 กรกฎาคม เนื่องจากเกิดความเสียหายหลังจากที่เครื่องบินร่อนลงบนพื้นรันเวย์ที่แอสฟัลต์ละลายจากความร้อน ขณะที่การคมนามบนถนนก็ประสบปัญหาเพราะพื้นคอนกรีตแตกและยกตัวจากความร้อน

    หน่วยงานด้านสาธารณสุขเตือนให้ประชาชนดื่มน้ำให้เพียงพอและอยู่ในที่ร่ม หรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากบ้านเรือนส่วนใหญ่ รวมทั้งอาคารสำนักงาน โรงเรียนไม่มีเครื่องปรับอากาศ สถานที่ทำงานและโรงเรียนหลายแห่งจึงอนุญาตให้เลิกงานและเลิกเรียนก่อนเวลาปกติได้

    อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังสร้างความวิตกให้กับภาคเกษตรของเยอรมนี เพราะประสบปัญหาภาวะแห้งแล้ง ฝนไม่ตก โดยสมาคมเกษตรกรรมคาดว่าผลผลิตอาจจะมีความเสียหายราว 1.4 พันล้านยูโร

    คลื่นความร้อน “New Normal” ของโลก

    จากข้อมูลจาก NOAA พบว่าตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม อุณหภูมิรายจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3,242 ครั้ง เพิ่มขึ้น 186 ครั้งในรอบเดือน และทำสถิติใหม่ 66 ครั้งทั่วโลก เฉพาะในสหรัฐอุณหภูมิของวันแตะระดับใหม่ 1,721 ครั้ง เพิ่มขึ้น 100 ครั้งในรอบเดือน และทำสถิติใหม่ 30 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของรัฐเท็กซัส ที่อุณหภูมิสูงถึง 45.6 องศาเซลเซียส รัฐนิวเม็กซิโก และหลุยเซียน่า

    โดยทั่วไปคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในหน้าร้อนทั่วโลก ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ปัจจุบันคลื่นความร้อนเกิดขึ้นถี่และมีความรุนแรงมากขึ้น เป็นผลจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งก่อให้เกิดภาวะอากาศแบบสุดโต่ง

    นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ(Climate scientists) ให้ความเห็นว่า ตราบใดที่โลกยังคงร้อนขึ้น อุณหภูมิก็ยังเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับภาวะแห้งแล้งที่รุนแรงก็จะเกิดขึ้น และนับว่าเป็นภาวะ “New Normal” หรือความปกติในรูปแบบใหม่ ที่ทุกประเทศในโลกต้องปรับตัว

    ไมเคิล แมน Climate scientists จาก Earth System Science Centre แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย( Penn State University) กล่าวว่า ผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องเล็ก และเห็นแล้วว่า ก่อให้เกิดผลหลายรูปแบบตั้งแต่ คลื่นความร้อน น้ำท่วม ความแห้งแล้ง และไฟป่า และเห็นปรากฎการณ์ทั้งหมดนี้ในหน้าร้อนนี้เช่นกัน

    ในรายงานฉบับล่าสุดของคณะกรรมาธิการด้านอากาศของ UN ที่ตีพิมพ์ในปี 2014 ประเมินว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ คลื่นความร้อนจะเกิดขึ้นถี่และกินระยะเวลานานมากขึ้นในอนาคต และยังพบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่มนุษย์ชาติ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิประจำวันของโลกถี่ขึ้นและมากขึ้นตั้งแต่กลางศตวรรษ 20

    นับตั้งแต่การตีพิมพ์รายงาน อากาศร้อนทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง โดยปีที่ร้อนที่สุดคือ ปี 2016 รองลงมาคือ ปี 2017 ที่ผ่านมา อันดับสามคือปี 2015 อันดับห้าคือปี 2010 ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า อันดับสี่คือปี 2018 นี้

    เรียบเรียงจาก CNN,DW.com,express,climatesignals.org,theguradian,grist.org,aljazeera.com,weather.com,NOAA.gov,independent,nytimes,cbc,BBC,straitstimes,metro,whig,usatoday,weforum,