ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” รอศาลชี้ขาด-แก้สัญญาดิวตี้ฟรีอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ หรือไม่?

“ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” รอศาลชี้ขาด-แก้สัญญาดิวตี้ฟรีอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ หรือไม่?

10 กุมภาพันธ์ 2023


นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์

“ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” งัดหลักฐานหักล้างคำแก้ต่าง ทอท.-อัยการ ด้านกรมบัญชีกลางแจงศาลอาญาคดีทุจริตฯ ชี้ “กรณีสร้างสนามบิน ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ยกเว้นสร้างเสร็จแล้วนำพื้นที่ไปหาประโยชน์ ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้”

ต่อจากตอนที่แล้ว หลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รับคดีที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นฟ้องคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “บอร์ด ทอท.” ไว้พิจารณา กรณีที่บอร์ด ทอท. มีมติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ (minimum guarantee) จนนำไปสู่แก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและภูมิภาค (เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต) และสัญญาสัมปทานบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมทั้งหมด 5 ฉบับ ในช่วงปี 2563 จนทำให้รายได้ของ ทอท. ลดลงเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบไปถึงเงินปันผลที่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินลดลงตามไปด้วย ทำให้นายชาญชัยในฐานะผู้ถือหุ้นของ ทอท. ได้รับความเสียหาย จึงมายื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริต กล่าวหาบอร์ด ทอท. ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 และ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560

จากนั้น ศาลได้เริ่มกระบวนการไต่สวน โดย ทอท. มอบหมายให้อัยการเป็นทนายแก้ต่างคดีนี้ ทำหนังสือชี้แจงศาลว่า “การให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและภูมิภาค และการให้สิทธิประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ของ ทอท. ได้ดำเนินการคัดเลือก และให้สิทธิเอกชน ตามระเบียบของ ทอท. ว่าด้วยการให้สิทธิประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ 2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งระเบียบดังกล่าว คณะกรรมการ ทอท. ได้กำหนดขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับ ทอท. ข้อ 36 โดยกิจกรรมดังกล่าว ทอท. ได้รับค่าเช่าพื้นที่ และค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากการให้สิทธิประกอบกิจการ และมิใช่การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุโดยการซื้อ จ้างเช่า แลกเปลี่ยน จึงไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ 2560”

ต่อมา นายชาญชัยได้ชี้แจงต่อศาลว่า ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 70% ของทุนจดทะเบียน และเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ตามมาตรา 4, มาตรา 6, มาตรา 7 และ มาตรา 93 และโดยบทบัญญัติของมาตรา 4 ได้ให้นิยาม คำว่า “การจัดซื้อจัดจ้าง” หมายความว่า “การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุ โดยการซื้อ จ้าง เช่า แลกเปลี่ยน หรือโดยนิติกรรมอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง…” ซึ่งตามความเข้าใจของนายชาญชัยน่าจะรวมไปถึงนิติกรรมอื่นใดอันมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนด้วย และในมาตรา 4 ให้นิยามคำว่า “พัสดุ” หมายถึง “สินค้า งานบริการ งานก่อสร้าง งานจ้างที่ปรึกษาและงานจ้างออกแบบ หรือ ควบคุมงานก่อสร้าง รวมทั้งการดำเนินการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง…”

นอกจากนี้ ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 6 วรรคแรก ระบุว่า “เพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุโดยใช้เงินงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่าต่อภารกิจของรัฐ และป้องกันปัญหาการทุจริต ให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามแนวทางของพระราชบัญญัตินี้ และกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้

ส่วนวรรคสอง ระบุว่า “เพื่อให้การดําเนินงานของรัฐวิสาหกิจ …หรือหน่วยงานของรัฐอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเกิดความยืดหยุ่นและมีความคล่องตัว หากรัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐนั้น ประสงค์จะจัดให้มีระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุขึ้นใช้เองทั้งหมด หรือ แต่บางส่วน ก็ให้กระทำได้ โดยต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุตามแนวทางของพระราชบัญญัตินี้..”

และวรรคสุดท้าย ระบุว่า ระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อบัญญัติตามวรรคสองและวรรคสาม ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบาย และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ส่วน มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับนี้ ระบุว่า “พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ (1) การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง

นายชาญชัยกล่าวว่า หลังจาก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับกับหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ต่อมา คณะกรรมการนโยบายได้ออกประกาศคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ในข้อที่ 1 กำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง และข้อ 3 ได้ให้นิยามคำว่า “การจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง” หมายความว่า “การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการดำเนินกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการผลิต จําหน่าย หรือให้บริการเพื่อแสวงหารายได้ หรือเป็นการดำเนินกิจกรรมที่ต้องมีการแข่งขันกับภาคเอกชน ประกอบด้วย (1) ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจหรือกิจการที่เป็นภารกิจตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ตามกฎหมาย หรือ มติคณะรัฐมนตรี (2) ธุรกิจเสริม ได้แก่ ธุรกิจหรือกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักอันเป็นประโยชน์แก่การดำเนินการให้กับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ… การจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายฯที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีทั้งหมด 9 สาขา ได้แก่ สาขาพลังงาน, สาขาสื่อสาร, สาขาขนส่ง, สาขาสาธารณูปการ, สาขาเกษตร, สาขาทรัพยากรธรรมชาติ, สาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม, สาขาสังคมและเทคโนโลยี, สาขาสถาบันการเงิน”

นายชาญชัยชี้แจงต่อศาลว่า จากการตรวจสอบประกาศคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างฯ ทุกฉบับที่ประกาศลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา กลับไม่ปรากฏรายชื่อ ทอท.อยู่ในประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อขอยกเว้น ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯตามที่ ทอท. และอัยการกล่าวอ้างแต่อย่างใด ตนจึงส่งประกาศคณะกรรมการนโยบายฉบับนี้ให้ศาลพิจารณา และบันทึกไว้ในสำนวน

นายชาญชัยกล่าวต่อว่า ในช่วงปี 2559 ขณะที่ตนดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคณะกรรมาธิการฯหลายท่านให้ความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยกตัวอย่าง นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ ตัวแทนจากกรมบัญชีกลาง ให้ความเห็นเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า “ต้องการให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการจัดซื้อจัดจ้างแนวทางเดียวกัน หน่วยงานของรัฐทั้งหมดจึงอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับนี้ แต่เพื่อความยืดหยุ่น และเกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน จึงกำหนดไว้ในมาตรา 6 กับ มาตรา 7 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นเฉพาะเรื่องสำคัญๆที่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้จริงๆ

“สรุปกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้กับส่วนราชการที่ใช้งบประมาณหรือไม่ใช้งบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นศาล อัยการ องค์กรอิสระ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับนี้ หากรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐจะออกระเบียบจัดซื้อจัดจ้างขึ้นมาใช้เอง ก็ต้องเสนอให้คณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาเห็นชอบ และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ถึงจะมีผลบังคับใช้ และถ้าหากรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ จะขอยกเว้นหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้เลย ก็ต้องทำเรื่องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายฯ ด้วยเช่นกัน เพื่อออกเป็นประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ ขอใช้หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง โดยหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างฯ ดังกล่าว ก็ต้องเป็นไปตามหลักการของมาตรา 8 ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้เขียนไว้อย่างรัดกุม ไม่มีบทยกเว้นใดๆ นอกจากเหนือจากมาตรา 6 และ 7 ตามที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น เป็นประเด็นที่ผมชี้แจงต่อศาล” นายชาญชัยกล่าว

จากนั้น ทอท. และอัยการได้นำเอกสารของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐของกรมบัญชีกลางส่งให้ศาลพิจารณา โดยกรมบัญชีกลางมีความเห็นว่า ทอท. เป็นหน่วยงานของรัฐ ถ้ามีการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุ กรณีนี้ ทอท. ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับนี้ ส่วนกรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น ไม่ใช้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุ กรณีนี้ไม่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับนี้

ยกตัวอย่าง หนังสือตอบข้อหารือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เกี่ยวกับการขายไฟฟ้าให้บุคคลภายนอก กรณีนี้คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างฯ ทำหนังสือตอบข้อหารือผู้ว่า กฟผ. ว่า “ไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงไม่ต้องเสนอคณะกรรมการนโยบายฯแต่อย่างใด” ลงนามโดยนายประภาศ คงเอียด อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการวินิจฉัย

อีกตัวอย่าง เป็นหนังสือตอบข้อหารืออธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เรื่องการเชิญชวนเอกชนเข้ามาลงทุนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคาโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตรที่เป็นภาครัฐ ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้ภาครัฐกลุ่มนี้โดยตรงในราคาที่ถูกกว่าการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ณ ช่วงเวลานั้นๆ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี กรณีนี้คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างฯตอบข้อหารือ พพ. ว่า “…การเชิญชวนเอกชนเข้ามาออกแบบ ติดตั้งและบำรุงรักษาอุปกรณ์ทั้งระบบตลอดอายุโครงการ เป็นกรณีความร่วมมือกับเอกชน กรณีนี้จึงมิใช่การปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ดังนั้น คณะกรรมการวินิจฉัยฯ จึงไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวได้… หากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ จะนำวิธีการใดวิธีการหนึ่งใน พ.ร.บ. ฉบับนี้มาปรับใช้ ย่อมอยู่ในดุลพินิจของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ รวมถึงกรณีการจัดทำสัญญาก็สามารถยกร่างตัวอย่างสัญญาแล้วส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา และแจ้งเวียนให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวต่อไปได้” ลงนามโดยนางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการวินิจฉัย

นายชาญชัย ชี้แจงศาลว่า “จากเอกสารความเห็นของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ของกรมบัญชีกลางที่ ทอท. และอัยการ นำมายื่นต่อศาลนั้น ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับนี้ ไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ชี้ขาดว่าหน่วยงานใดจะได้รับการยกเว้นหรือไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้เป็น อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายฯ เท่านั้น หลังจากพิจารณาแล้ว ก็ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย อีกทั้ง ทอท. และอัยการก็ไม่มีหลักฐานหรือเอกสารใดมายืนยันศาลว่า ทอท. เคยทำเรื่องไปหารือคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้เลย มีแต่เอกสารตัวอย่างคำวินิจฉัยของหน่วยงานอื่น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ของ ทอท. แต่อย่างใด

จากนั้น ศาลจึงออกหมายเรียก ให้กรมบัญชีกลางส่งตัวแทนมาชี้แจงว่ากรณีที่ ทอท. แก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ หรือไม่ อย่างไร พร้อมชี้แจงความเห็นของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างฯ อีกหลายฉบับตามที่อัยการกล่าวอ้างด้วย

ต่อมา ทางกรมบัญชีกลางได้มอบหมายให้นายสมศักดิ์ ภู่สกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ให้การต่อศาล โดยนายสมศักดิ์ให้การว่า “การจัดซื้อจัดจ้าง” หมายความว่าการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุ โดยการซื้อ จ้าง เช่า แลกเปลี่ยน หรือโดยนิติกรรมอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และ “พัสดุ” หมายความว่า สินค้างานบริการ งานก่อสร้าง งานจ้างที่ปรึกษา และงานจ้างออกแบบ หรือควบคุมงานก่อสร้าง รวมทั้งการดำเนินการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น ในกรณีที่ ทอท. เป็นหน่วยงานของรัฐและมีกิจการที่ต้องจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุ ตามมาตรา 4 ทอท. ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่การที่ ทอท.มีกิจการที่ไม่ใช่การจ่ายเงินงบประมาณ และมิได้เป็นการได้มาซึ่งพัสดุ ตามมาตรา 4 ทอท. จึงไม่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ตามความเห็นของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

“การที่ ทอท. สร้างสนามบิน กรณีดังกล่าวถือเป็นการจัดซื้อจัดจ้างอยู่ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว แต่เมื่อมีการจัดซื้อจัดจ้าง สร้างสนามบินแล้ว ทอท. นำสนามบินมาหาประโยชน์อย่างไร ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ… กรณีการดำเนินการของ ทอท. ไม่เป็นการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากพิจารณาตามมาตรา 6 และมาตรา 7 ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ และกรณีการจัดซื้อจะต้องเป็นการใช้เงินงบประมาณ ซึ่งหมายถึงการใช้เงินมาเพื่อให้ได้พัสดุ ส่วนกรณีที่นำทรัพย์สินไปหาประโยชน์นั้น ไม่ใช่กรณีที่เป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่อยู่ในบังคับของกฎหมายฉบับนี้”

นายชาญชัย ชี้แจงศาลกรณีที่ตัวแทนกรมบัญชีกลาง ยืนยันว่า ทอท.ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ทุกเรื่อง ยกเว้นการนำพื้นที่สนามบินไปให้เอกชนหาประโยชน์ เปิดให้บริการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดย ทอท. ได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทน กรณีนี้ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ใช้จ่ายเงินไปซื้อพัสดุนั้น ถามว่าคำชี้แจงของกรมบัญชีกลางดังกล่าวนี้ ขัดแย้งกับมาตรา 7 วรรค 1 (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ และ ประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ ซึ่งเป็นกฎหมายลูกใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง โดยเฉพาะในข้อที่ 3 ที่ได้ให้คำนิยามว่า “การจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง” หมายความว่า การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการดำเนินกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการผลิต จําหน่าย หรือให้บริการเพื่อแสวงหารายได้…ใช่หรือไม่? และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง หากต้องการยกเว้นไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องทำเรื่องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายฯ นายชาญชัยจึงถามตัวแทนกรมบัญชีกลางต่อว่าทำไม ทอท. ไม่ทำเรื่องไปขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายฯ เหมือนรัฐวิสาหกิจแห่งอื่นๆ ตัวแทนกรมบัญชีกลางไม่ตอบประเด็นนี้

นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องของการทำสัญญาตามมาตรา 93 แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับนี้ กำหนดให้ หน่วยงานของรัฐ ต้องทำสัญญาตามแบบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด โดยความเห็นชอบของสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้ แบบสัญญานั้นให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย …. เว้นแต่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าจะมีปัญหาในทางเสียเปรียบ หรือ ไม่รัดกุมพอ ก็ให้ส่งร่างสัญญานั้นไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน…ในกรณีที่ไม่อาจทำสัญญาตามแบบสัญญาตามวรรคหนึ่งได้ และจำเป็นต้องร่างสัญญาขึ้นใหม่ ให้ส่งร่างสัญญานั้น ไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน…ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ได้ทำสัญญาตามแบบสัญญาตามวรรคหนึ่งหรือไม่ได้ส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน…ให้หน่วยงานของรัฐส่งสัญญานั้น ให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาให้ความเห็นชอบในภายหลังได้ถ้าหน่วยงานของรัฐแก้ไขสัญญานั้นให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ให้ถือว่าสัญญานั้นมีผลสมบูรณ์กรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ได้ทำสัญญาตามแบบสัญญาไม่แก้ไขสัญญาตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด…เป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญ หรือเป็นกรณีผิดพลาดอย่างร้ายแรง…ให้ถือว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

นายชาญชัยกล่าวต่อว่า หลังจากที่ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ มีผลบังคับใช้แล้ว ต่อมาคณะกรรมการนโยบายฯ ได้ออกประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ เรื่องแบบสัญญาเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 93 วรรคหนึ่ง ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 เป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับนี้ บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องทำสัญญาตามแบบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด โดยความเห็นชอบของสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้ แบบสัญญานั้นให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา” มีทั้งหมด 14 สัญญา

ปรากฏว่า ทอท. และอัยการ ไม่ได้ชี้แจงประเด็นนี้ให้ชัดเจน แต่ยืนยันว่าการให้สิทธิเอกชนประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. ไม่ตกอยู่ใต้บังคับของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 4 ดังนั้นการที่ บอร์ด ทอท. มีมติปริบปรุงแก้ไขสัญญาสัมปทานทั้ง 5 ฉบับ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับ และไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 93 และ มาตรา 97 (1) ตามข้อกล่าวหาของตนแต่อย่างใด

“ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูล และข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติกฎหมายของส่วนราชการต่างๆ ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นการทั่วไป ส่วนฝ่ายใครจะผิดหรือถูก ตรงนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลเป็นผู้พิจารณา ผมไม่ได้มีเจตนาไปก้าวล่วงอำนาจการพิจารณาของศาลแต่ประการใด” นายชาญชัยกล่าวทิ้งท้าย

  • สศค. แจงศาล – ปมแก้สัญญาดิวตี้ฟรี ชี้ AOT วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียแล้ว ไม่ต้องชง ครม. อนุมัติ
  • กางเอกสารงบฯ พลิกคำแก้ต่างคดีแก้สัญญาดิวตี้ฟรี – สำนักงบฯ แจงศาล ทอท. ต้องตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ
  • “พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช” นั่งกรรมการอิสระ ทอท.
  • ลุ้น! ศาลชี้มูลคดีแก้สัมปทานดิวตี้ฟรี 28 ก.พ.นี้
  • สำนักรัฐฯ จี้ AOT เสนอ ครม. เยียวยา “ดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์”
  • “ธีระชัย” ชง คตง. ตรวจ AOT ปมเยียวยาดิวตี้ฟรี-เลี่ยง กม.วินัยการคลัง?
  • สำนักรัฐฯ กลับลำแจ้ง AOT เยียวยาดิวตี้ฟรี-ไม่ต้องขอ ครม.
  • “ธีระชัย” ร้อง “อาคม” สอบคนคลัง ตีความ “AOT เป็น บมจ.” ไม่ต้องปฏิบัติตาม กม.วินัยการคลัง
  • ป้ายคำ :