ThaiPublica > สู่อาเซียน > “มู่หลาน” กับบทบาทของข้อมูล “น้ำเหนือเขื่อน”

“มู่หลาน” กับบทบาทของข้อมูล “น้ำเหนือเขื่อน”

22 สิงหาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

“มู่หลาน” เป็นพายุลูกใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับเวียดนาม ลาว รัฐฉาน และไทย

ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2565 เป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ หลายพื้นที่ในทุกประเทศที่กล่าวถึงต่างต้องเผชิญกับน้ำท่วมหนัก บ้านเรือน กิจการ ร้านค้า ถนนหนทาง เรือกสวน ไร่นาของประชาชน ได้รับความเสียหาย

แม้พายุลูกนี้ได้สลายตัวไปแล้ว แต่ฝนที่ยังตกหนักต่อเนื่อง ก็ทำให้อีกหลายพื้นที่ ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากตามมาอีกหลายวัน

ท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้ายที่มากับ “มู่หลาน” มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจปรากฏขึ้น เมื่อเขื่อนผลิตไฟฟ้าหลายแห่งประกาศระบายน้ำที่กักเก็บไว้เหนือเขื่อน ทุกชุมชนท้ายเขื่อนต่างหวั่นวิตกกับมวลน้ำจำนวนมากที่จะถูกปล่อยลงมา

……

แม่น้ำเซกอง ที่มาภาพ: เพจ Sekong today

วันที่ 8 สิงหาคม 2565 กรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ของลาว เริ่มแจ้งเตือนประชาชนให้ระวังอันตรายจากพายุมู่หลาน โดยคาดว่าพายุลูกนี้จะส่งผลต่อภาคใต้ของลาวก่อนเป็นลำดับแรกในวันที่ 9 สิงหาคม จากนั้นขยับขึ้นไปยังภาคกลางและภาคเหนือเป็นลำดับถัดไป

เย็นวันที่ 8 สิงหาคม 2565 แผนกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แขวงเซกอง มีประกาศเตือนภัยฉบับที่ 049/พซส.ซก. ให้ประชาชนเพิ่มความระมัดเนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเซกองจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างกระทันหัน

ในประกาศบอกเหตุผลว่า เนื่องจากบริษัทเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำภาคกลางของเวียดนาม หรือเขื่อน “อาเลื้อย” จำเป็นต้องระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำในปริมาณ 100-500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงวันที่ 8-11 สิงหาคม 2565

ดังนั้น จึงให้ฝ่ายปกครอง องค์การจัดตั้งของทุกภาคส่วนในแขวงเซกอง และ 4 เมือง ตลอดจนพ่อค้า แม่ค้า บริษัทห้างร้าน และประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวลำน้ำเซกอง เพิ่มความระมัดระวังระดับน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้น และให้ติดตามข่าวสาร สภาพอากาศ และระดับน้ำ จากแขนงทรัพยากรน้ำและอุตุนิยม แผนกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แขวงเซกอง ที่จะเผยแพร่ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ของแขวงเซกอง เป็นระยะ

ที่ตั้งเขื่อนอาเลื้อย

เขื่อนอาเลื้อย ตั้งอยู่ในอำเภออาเลื้อย จังหวัดเถื่อเทียน-เว้ ภาคกลางค่อนไปทางเหนือของเวียดนาม ตัวเขื่อนอยู่ฟากตะวันตกของจังหวัด ห่างจากนครเว้ประมาณ 90 กิโลเมตร และอยู่ไม่ห่างจากชายแดนลาว-เวียดนามทางทิศตะวันออก (ดูแผนที่ประกอบ)

อำเภออาเลื้อยเป็นที่ตั้งของเนินเขา “อาเบีย” ที่คนอเมริกันเรียกว่าเนินเขาแฮมเบอร์เกอร์ ที่นี่เคยเป็นสมรภูมิสู้รบอันดุเดือดของทหารอเมริกันกับกองทัพเวียดนามเหนือในสมัยสงครามเวียดนาม จนมีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว

น้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนอาเลื้อยไหลสู่แม่น้ำเซกองตรงเส้นแบ่งพรมแดนลาวและเวียดนาม จากนั้นแม่น้ำเซกองไหลต่อไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านแขวงเซกอง แขวงอัตตะปือ ก่อนเข้าสู่ประเทศกัมพูชา และไหลลงแม่น้ำโขงที่จังหวัดสตรึงแตรง ของกัมพูชา

……

เขื่อนไซยะบูลี ที่มาภาพ: เว็บไซต์ CK Power

วันที่ 13 สิงหาคม 2565 ห้องว่าการแขวงไซยะบูลีมีหนังสือแจ้งการด่วนการเรื่องการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ระบุรายละเอียดว่า เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนผลิตไฟฟ้าไซยะบูลีเป็นจำนวนมาก ทั้งจากฝนที่ตกหนักมาตลอดตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2565 ประกอบกับเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำอูที่อยู่ตอนบน ได้เพิ่มปริมาณน้ำที่ปล่อยลงมาด้านล่างมากขึ้น

สภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้เขื่อนผลิตไฟฟ้าไซยะบูลีต้องปฏิบัติการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินของเขื่อนไฟฟ้าในระดับ 2 จึงแจ้งให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของระดับแม่น้ำโขงที่อาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เก็บผลผลิต สัตว์เลี้ยง สิ่งของต่างๆ ไว้บนที่สูง ให้ทันต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำ และติดตามข้อมูลจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าไซยะบูลีอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือเข้าสู่สภาพปกติ

เขื่อนผลิตไฟฟ้าไซยะบูลีสร้างกั้นแม่น้ำโขงทางทิศตะวันออกของตัวเมืองไซยะบูลี ห่างจากตัวเมืองประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นเขื่อนที่สร้างในระบบ RUN-OF-RIVER ไม่มีการกักเก็บน้ำ ปล่อยน้ำไหลผ่าน น้ำที่ไหลเข้าตัวเขื่อนกับน้ำที่ไหลออกมีปริมาณเท่ากัน (ดูแผนที่ประกอบ)

แนวแม่น้ำโขงจากเมืองปากอู ผ่านหลวงพระบาง ลงมาถึงเขื่อนไซยะบูลี

บริษัทไซยะบูลี พาวเวอร์ ที่ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท ช.การช่าง ของประเทศไทย เป็นผู้สร้างและพัฒนาเขื่อนแห่งนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบูลีสูงถึง 1,285 เมกะวัตต์ เริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 อายุสัมปทาน 29 ปี นับแต่วันเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์

ส่วนเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำอูเป็นสัมปทานที่รัฐบาลลาวมอบให้บริษัท Power Construction Corporation of China หรือ Power China เป็นผู้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำอู 7 แห่ง ลดหลั่นลงมาตามลำดับความสูงของพื้นที่ ตั้งแต่แขวงผ้งสาลีถึงแขวงหลวงพระบาง ทั้ง 7 เขื่อน เริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มกำลัง เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564

แม่น้ำอูยาว 475 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่ชายแดนลาว-จีนในแขวงผ้งสาลี และสิ้นสุดเมื่อมาบรรจบกับแม่น้ำโขง ที่เมืองปากอู ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวงพระบาง น้ำที่ถูกระบายออกมาจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำอูทั้ง 7 แห่ง ไหลลงสู่แม่น้ำโขงโดยตรง

หลังจากเขื่อนไซยะบูลีเริ่มระบายน้ำ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ของไทย ประเมินว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนไซยะบูลีสูงถึง 9,000-10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนสูงขึ้น จึงได้แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำโขงในฝั่งไทย ตั้งแต่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ต่อเนื่องไปถึงจังหวัดหนองคาย เฝ้าระวังและเก็บของสำคัญขึ้นไว้บนที่สูง

ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย รายงานระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคาย ช่วงเช้าของวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ว่าอยู่ที่ 8.66 เมตร สูงขึ้น 1.11 เมตร จากช่วงเดียวกันของวันที่ 14 สิงหาคม และคาดว่าระดับแม่น้ำโขงยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2565

……

เขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำลีก 1-2 ที่มาภาพ: เพจ “โทละโข่ง”

วันที่ 16 สิงหาคม 2565 กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ มีหนังสือแจ้งการด่วน เลขที่ 1661/พบ. เรื่องเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำลีก 1-2 จะเปิดประตูระบายน้ำ มีรายละเอียดว่า เนื่องจากระดับน้ำเหนือเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำลีก 1-2 ได้สูงขึ้นจนใกล้ระดับ 300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล (MASL) ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ในระดับเตือนภัยแล้ว จึงจำเป็นต้องเปิดประตูน้ำเพื่อระบายน้ำออกในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 โดยจะมีปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมา 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

เพื่อเป็นการรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ตอนล่างของเขื่อน และตามสายน้ำลีก จึงขอให้แขวงเวียงจันทน์แจ้งเตือนต่อไปยังห้องว่าการเมืองเฟือง และบ้านต่างๆที่อยู่ตามแนวแม่น้ำลีก โดยเฉพาะกิจการเรือนแพร้านอาหาร ให้ย้ายสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นขึ้นที่สูง

ให้กิจการเรือนแพร้านอาหาร ตลอดจนกิจการท่องเที่ยวอื่นๆตามแนวแม่น้ำลีก หยุดรับนักท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการแจ้งการเพิ่มเติม และขอให้ประชาชนที่อยู่ตอนล่างของเขื่อน เตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกกรณี

แม่น้ำลีกมีจุดเริ่มต้นจากเทือกเขาตอนเหนือของแขวงเวียงจันทน์ บริเวณที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับแขวงหลวงพระบาง จากนั้นไหลลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านเมืองกาสี จนมายังเมืองเฟือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำลีก 1-2

จากเขื่อนผลิตไฟฟ้า แม่น้ำลีกไหลคดเคี้ยวไปทางทิศตะวันออก รับน้ำจากแม่น้ำซองที่ไหลจากเมืองวังเวียงลงมาบรรจบกับแม่น้ำลีก จากนั้นแม่น้ำลีกไหลผ่านเมืองหินเหิบ และไปสิ้นสุดเมื่อไหลรวมเข้ากับแม่น้ำงึม บริเวณท่าลาด ทางด้านตะวันตกของเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำงึม 1

จากท่าลาด แม่น้ำงึมท้ายเขื่อนไหลไปทางทิศใต้ลงสู่แม่น้ำโขงที่เมืองปากงึม ทางฟากตะวันออกเฉียงเหนือของนครหลวงเวียงจันทน์

……

เขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำคาน 2 ที่มาภาพ: บริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาวมหาชน

วันที่ 17 สิงหาคม 2565 บริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาวมหาชน มีหนังสือแจ้งการเลขที่ 916/ผ-ฟฟล.นค.2-3 ส่งถึงห้องว่าการและทุกหน่วยงานของแขวงหลวงพระบาง ระบุว่า จากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำคาน 2 และ 3 เพิ่มขึ้นถึงขีดจำกัดของแต่ละเขื่อนแล้ว

โดยปริมาณน้ำเหนือเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำคาน 2 อยู่ที่ 474.99 MASL ขณะที่ขีดจำกัดของเขื่อนอยู่ที่ 475.23 MASL ส่วนเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำคาน 3 อยู่ที่ 347.91 MASL และขีดจำกัดของเขื่อนอยู่ที่ 349.50 MASL

ดังนั้นจึงต้องมีการระบายน้ำออกจากเขื่อนตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ไปจนถึงเวลา 00.00 น. ของวันที่ 22 สิงหาคม 2565

แม่น้ำคานมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่แขวงหัวพัน แขวงชายแดนลาว-เวียดนามในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นไหลลงมาทางทิศตะวันตก ผ่านแขวงเชียงขวาง เข้าสู่แขวงหลวงพระบาง และไหลลงแม่น้ำโขง ในตัวเมืองหลวงพระบางบริเวณใกล้กับวัดเชียงทอง

ส่วนเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำคาน 2 และ 3 ตั้งอยู่ในเมืองเชียงเงิน ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบางไปทางทิศใต้ ไม่ไกลนัก (ดูแผนที่ประกอบ)…

เขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำคาน 3 ที่มาภาพ: บริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาวมหาชน

การเข้ามาของพายุมู่หลาน ทำให้ปีนี้ดูเหมือนเป็นปีแรกที่มีการประกาศระบายน้ำจากเขื่อนหลายแห่งในเวลาใกล้เคียงกัน การประกาศปล่อยน้ำออกมาพร้อมๆกันทำให้สังคมลาวตื่นตัว หลายคนต้องการรู้ข้อมูลเขื่อนที่เหลืออยู่ว่าแต่ละแห่งมีปริมาณน้ำอยู่ในระดับใด

วันที่ 17 สิงหาคม 2565 สำนักข่าวสารประเทศลาวซึ่งเป็นสื่อทางการของรัฐบาลลาว ได้เผยแพร่ข่าวในหัวข้อ“เขื่อนไฟฟ้าที่มีอ่างเก็บน้ำในลาว ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ” มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้…

กรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานสมทบกับกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ รายงานสภาพน้ำในแต่ละสายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนที่มีอ่างเก็บน้ำหลายแห่งทั่วประเทศว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ถึงแม้มีบางเขื่อนได้มีการปล่อยน้ำผ่านทางระบายน้ำล้น เช่น

-เขื่อนน้ำกง 1 แขวงอัตตะปือ และเขื่อนน้ำเทิน 1 แขวงบ่ลิคำไซ ระดับน้ำท้ายเขื่อนแม้สูงขึ้น แต่ก็ยังไม่ส่งผลกระทบ

ในกรณีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ มีข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ คือ

– เขื่อนน้ำคาน 2 แขวงหลวงพระบาง ยังสามารถเก็บกักน้ำได้อีก 22.91 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องใช้เวลาอีก 11 วัน น้ำจึงจะเต็มอ่าง

– เขื่อนน้ำงึม 5 แขวงเชียงขวาง ยังสามารถเก็บกักน้ำได้อีก 48.61 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องใช้เวลาอีก 8 วัน น้ำจึงจะเต็มอ่าง

– เขื่อนน้ำยวง แขวงเชียงขวาง ยังสามารถเก็บกักน้ำได้อีก 1,836.55 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องใช้เวลาอีก 1,181 วัน น้ำจึงจะเต็มอ่าง

– เขื่อนน้ำทา 1 แขวงบ่อแก้ว ยังสามารถเก็บกักน้ำได้อีก 250,231 ลูกบาศก์เมตร ต้องใช้เวลาอีก 74 วัน น้ำจึงจะเต็มอ่าง

– เขื่อนน้ำเงียบ 1 แขวงบ่ลิคำไซ ยังสามารถเก็บกักน้ำได้อีก 702.35 ลูกบาศก์เมตร ต้องใช้เวลาอีก 179 วัน น้ำจึงจะเต็มอ่าง

ที่ตั้งเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำคาน 3

อย่างไรก็ดี การเก็บกักน้ำของแต่ละเขื่อน ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำไหลเข้า ถ้ามีมาก ระยะการเก็บกักน้ำก็จะเร็วขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ได้เฝ้าระวังและประสานงานกับเขื่อนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด…

ข้อมูลของเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำคาน 2 ที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวสารประเทศลาว ขัดแย้งกับหนังสือแจ้งการของบริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาวมหาชน ที่ระบุว่าปริมาณน้ำเหนือเขื่อนน้ำคาน 2 ได้เพิ่มขึ้นมาเกือบถึงขีดจำกัดของเขื่อนแล้ว

วันที่ 19 สิงหาคม 2565 หรือถัดมาอีก 2 วัน กรมนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ มีหนังสือแจ้งการด่วนอีกฉบับ เลขที่ 0966/พบ.กนผ. แจ้งทุกหน่วยงานในแขวงหลวงพระบาง โดยระบุว่า ระหว่างวันที่ 19-31 สิงหาคม 2565 เขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำคาน 2 จะระบายน้ำออกมา 103 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำคาน 3 จะระบายน้ำ 155 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะมีผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนสูงขึ้นอย่างกระทันหัน

จึงขอให้ทุกหน่วยงานแจ้งไปยังประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อน โดยเฉพาะกิจการต่างๆ ที่อยู่ตามริมแม่น้ำคาน ให้หยุดรับนักท่องเที่ยวชั่วคราว ย้ายข้าวของเครื่องใช้ขึ้นที่สูง และเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกกรณี

……

ภาพถ่ายทางอากาศ แสดงระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำงึม 1 ที่เพจทางการบริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาวมหาชน เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565

วันที่ 19 สิงหาคม 2565 เพจทางการของบริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาวมหาชน เผยแพร่ภาพถ่ายทางอากาศอ่างเก็บน้ำเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำงึม 1 แขวงเวียงจันทน์ ที่ถ่ายไว้ในวันเดียวกัน ระบุว่าน้ำเหนือเขื่อนน้ำงึม 1 อยู่ที่ 206.02 MASL ซึ่งเป็นระดับที่ปกติ มีปริมาณน้ำในอ่าง 5,060 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าความจุเต็มที่ของอ่างที่ระดับ 7,030 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือมีปริมาณน้ำอยู่เพียง 71.20%

ดังนั้น อ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำงึม 1 ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกมาก โอกาสที่ต้องระบายน้ำออกจากเขื่อน จึงเป็นไปได้ยาก

……

ทุกวันนี้ ในไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา มีเขื่อนที่ถูกสร้างไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งเพื่อการชลประทาน เกษตรกรรม และผลิตไฟฟ้า น้ำที่ถูกกักเก็บไว้เหนือเขื่อนทุกแห่งล้วนมีทั้งประโยชน์หากบริหารจัดการได้ดี

ที่สำคัญ ข้อมูลปริมาณน้ำเหนือเขื่อนแต่ละแห่ง เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์และมีบทบาทสำคัญยิ่งในฤดูฝน หรือช่วงมรสุมที่มีพายุพัดเข้ามา

ปรากฏการณ์ระหว่างที่พายุมู่หลานพัดเข้ามาเมื่อหลายวันก่อน น่าเป็นกรณีศึกษาสำหรับเขื่อนทุกแห่ง ได้นำไปใช้วางแผนให้การเปิดเผยข้อมูลปริมาณน้ำในช่วงมรสุม สามารถทำได้อย่างเป็นระบบและกระจายทั่วถึงทุกพื้นที่มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ใต้เขื่อน สามารถวางแผนรับมือเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที…