ThaiPublica > สู่อาเซียน > กระบวนการ “สันติภาพ” แบบเงียบ ๆ ในเมียนมา

กระบวนการ “สันติภาพ” แบบเงียบ ๆ ในเมียนมา

11 กรกฎาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ปรัก สุคน(ซ้าย) ทูตพิเศษอาเซียน เข้าพบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ที่ทำเนียบประธาน SAC ในกรุงเนปิดอ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ที่มาภาพ : Popular News Journal

ณ วันนี้ “สันติภาพ” และ “การปรองดอง” ในเมียนมา เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากเห็น โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจ บริษัทเอกชนที่ได้นำเงินเข้าไปลงทุนอยู่ในเมียนมา แน่นอนที่สุด รวมถึงนักธุรกิจจากประเทศไทย

แม้หลายพื้นที่ของเมียนมาในตอนนี้ยังคงมีการสู้รบกันอย่างหนัก ทั้งระหว่างกองทัพพม่า กับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน(People’s Defense Force : PDF) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเงา (National Unity Government : NUG) ฝ่ายตรงข้ามกับสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council : SAC)

การสู้รบระหว่างกองทัพพม่า กับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organizations : EAOs)

รวมถึงการสู้รบระหว่างกองทัพพม่า กับกองทัพผสมของกองกำลังชาติพันธุ์และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน โดยเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยง ฝั่งตรงข้ามชายแดนด้านตะวันตกของประเทศไทย ที่ดำเนินอย่างเข้มข้นมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว

แต่ความพยายามและความเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดสันติภาพและการปรองดองในเมียนมาก็มีอยู่ตลอด ทั้งความเคลื่อนไหวที่มาจากแรงผลักดันภายนอก และความเคลื่อนไหวที่เริ่มต้นจากภายใน โดยเฉพาะจากสภาบริหารแห่งรัฐ

เพียงแต่กระบวนการสันติภาพที่เริ่มต้นจากภายใน ไม่ค่อยได้รับความสนใจหรือได้รับความเชื่อถือจากสื่อตะวันตก จึงมักไม่ปรากฏออกมาเป็นข่าว

ทำให้เรื่องราวของกระบวนการสันติภาพในเมียนมาทุกวันนี้ จึงดูเหมือนเงียบ คืบหน้าไปแบบล่าช้า

……

วันที่ 1 กรกฏาคม 2565 กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ในเมียนมา 7 กลุ่ม ร่วมกันออกเอกสารข่าว ผลการประชุมหารือกับ ปรัก สุคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กัมพูชา ในฐานะทูตพิเศษอาเซียนด้านกิจการเมียนมา ผ่านทาง เพจ NCA-S EAO

ปรัก สุคน เดินทางถึงเมียนมาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน เป็นการเดินทางมาเมียนมาครั้งที่ 2 ในตำแหน่งทูตพิเศษอาเซียน เขามีกำหนดการอยู่ในเมียนมารอบนี้ 5 วัน เพื่อเดินหน้าภารกิจการสร้างความปรองดอง ผลักดันกระบวนการสันติภาพ โดยพยายามพูดคุย หารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ในเมียนมาให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ปรัก สุคน ไม่มีโอกาสได้พบกับ อองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD) ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในกรุงเนปิดอ

ช่วงเที่ยงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ปรัก สุคน ได้เข้าพบ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐและนายกรัฐมนตรีเมียนมา ที่ห้องตานตะมาน ห้องรับรองภายในทำเนียบประธาน SAC

รุ่งขึ้น วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ปรัก สุคน ประชุมหารือกับตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์ 7 กลุ่ม ประกอบด้วย

    1.สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน(RCSS/SSA) หรือกองทัพรัฐฉานใต้
    2.องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ(PNLO)
    3.กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย(DKBA)
    4.สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ(KNU/KNLA-PC)
    5.พรรครัฐมอญใหม่(NMSP)
    6.สหภาพประชาธิปไตยลาหู่(LDU)
    7.พรรคปลดปล่อยอาระกัน(ALP)

กองกำลังชาติพันธุ์ทั้ง 7 ล้วนเป็นกลุ่มที่ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ(NCA) กับรัฐบาลเมียนมาไปแล้ว และเป็นกลุ่มที่ตอบรับคำเชิญให้ไปพบและเจรจาสันติภาพกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย แบบเผชิญหน้าเป็นรายกลุ่มในกรุงเนปิดอ

การประชุมใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยเริ่มในเวลา 10.00 น. สิ้นสุดเวลา 12.30 น. จากนั้นตอนเย็น ทั้ง 7 กลุ่ม จึงได้เผยแพร่เอกสารแถลงข่าวออกมา

ปรัก สุคน(กลาง) ถ่ายภาพร่วมกับตัวแทน 7 กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ หลังเสร็จสิ้นการประชุม ที่มาภาพ : Popular News Journal

เอกสารแถลงข่าวของตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์ 7 กลุ่ม หลังเสร็จสิ้นการหารือกับปรัก สุคน

เนื้อหาในเอกสารแถลงข่าวไม่ได้ให้รายละเอียดของการหารือ เพียงสรุปประเด็นหลักๆที่พูดคุยกัน เช่น เป้าหมายภารกิจของทูตพิเศษอาเซียนที่ต้องการให้มีการหยุดยิง การนำความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการหาหนทางให้มีการเจรจากันทางการเมืองของภาคส่วนต่างๆ

ส่วนข้อเสนอของกองกำลังชาติพันธุ์ คือหาทางให้การเจรจาสันติภาพบรรลุผลสำเร็จ การปกป้องพลเรือนจากความรุนแรง และหาช่องทางให้พลเรือนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม รวมถึงความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขวิกฤตในเมียนมา และแนวทางฟื้นฟูเมียนมาในระยะยาว(ดูรายละเอียดได้ในเอกสารแถลงข่าว)

พล.ท.หย่าปญิ ประธาน NSPNC ที่มาภาพ : Popular News Journal

ช่วงบ่าย ปรัก สุคน ได้ประชุมหารือกับ พล.ท.หย่าปญิ ประธานคณะกรรมการเจรจาสันติภาพ(National Solidarity and Peace Negotiation Committee : NSPNC) และทีมงาน NSPNC ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยสภาบริหารแห่งรัฐ

……

การประชุมระหว่างทูตพิเศษอาเซียน กับตัวแทนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 7 กลุ่ม ในช่วงเช้าวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่มาภาพ : Popular News Journal

ความเคลื่อนไหวของทูตพิเศษอาเซียนด้านกิจการเมียนมา เป็นกระบวนการสันติภาพที่ได้รับแรงผลักดันจากภายนอก ส่วนความเคลื่อนไหวจากภายในได้เริ่มต้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 หลังผ่านการรัฐประหารมาครบ 1 ปี สภาบริหารแห่งรัฐส่งจดหมายเชิญไปยังกองกำลังชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศไปแล้ว และกลุ่มที่ยังไม่ได้เซ็น ให้ส่งตัวแทนมาร่วมพิธีเฉลิมฉลองวันสหภาพครบรอบ 75 ปี ซึ่งเตรียมจัดขึ้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565

ในโอกาสเดียวกันนี้ สภาบริหารแห่งรัฐ ได้วางแผนจัดประชุมร่วมกับตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์ที่มาร่วมงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูกระบวนการเจรจาสันติภาพขึ้นใหม่ หลังได้หยุดชะงักไปนานกว่า 1 ปี

มีกองกำลังชาติพันธุ์ 11 กลุ่ม ส่งตัวแทนไปร่วมฉลองวันสหภาพครบรอบ 75 ปี ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ในนี้ 7 กลุ่มเป็นกองกำลังที่เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศไปแล้ว ได้แก่ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน พรรคปลดปล่อยอาระกัน พรรครัฐมอญใหม่ สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย และ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU)

อีก 4 กลุ่ม เป็นกองกำลังที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ คือ กองทัพสหรัฐว้า(UWSA) พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน(SSPP) หรือกองทัพรัฐฉานเหนือ กองทัพเมืองลา(NDAA) และกองทัพอาระกัน/สหสันนิบาติแห่งอาระกัน(AA/ULA)

วันที่ 22 เมษายน 2565 หลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ หรือก้าวสู่ศักราชใหม่ของเมียนมาแล้ว พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ MRTV เชื้อเชิญกองกำลังชาติพันธุ์ทุกกลุ่มให้ส่งตัวแทนมาพบและเจรจาสันติภาพกับเขาแบบเผชิญหน้า เป็นรายกลุ่ม

วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 มีกองกำลังชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ตอบรับที่จะส่งตัวแทนมาพบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ในนี้เป็นกองกำลังที่เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศแล้ว 7 กลุ่ม ได้แก่ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ พรรครัฐมอญใหม่ พรรคปลดปล่อยอาระกัน องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ สหภาพประชาธิปไตยลาหู่

อีก 3 กลุ่มเป็นกองกำลังที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ คือ กองทัพสหรัฐว้า กองทัพเมืองลา และพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน

พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน พบกับพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย วันที่ 20 พฤษภาคม
นายอ่องมิน รองประธานพรรครัฐมอญใหม่ พบกับพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย วันที่ 23 พฤษภาคม

กระบวนการเจรจา เริ่มขึ้นในวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565 โดย พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน ได้พาคณะเดินทางมาพบและเจรจากับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เป็นกลุ่มแรก

จากนั้นตัวแทนกลุ่มอื่นๆเริ่มทยอยนำคณะเดินทางมายังกรุงเนปิดอ ได้แก่

  • วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม นายอ่องมิน รองประธานพรรครัฐมอญใหม่
  • วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม ซอเทาะเล ประธานสภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ
  • วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม เลาะหย่ากุ รองประธานพรรคสหรัฐว้า(UWSP) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองของชาติพันธุ์ว้า ซึ่งเคลื่อนไหวคู่ไปกับกองทัพสหรัฐว้า
  • วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน อู ซานเป้ รองประธานเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา และคณะผู้บริหารระดับสูงของเมืองลา
  • วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน ดอ ส่อเมียะราส่าลิน รองประธานพรรคปลดปล่อยอาระกัน
  • วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน ขุนทุนติ่น รองประธานองค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ
  • วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน ซอ ซะตี ผู้บัญชาการ กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย
  • วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา พ.อ.ส่อละมอน เลขาธิการ สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ เป็นคณะล่าสุดที่เดินทางมาพบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย
ซอเทาะเล ประธานสภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ พบกับพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย วันที่ 26 พฤษภาคม 2565
เลาะหย่ากุ รองประธานพรรคสหรัฐว้า พบกับพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย วันที่ 30 พฤษภาคม 2565
อู ซานเป้ รองประธานเมืองลา พบกับพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย วันที่ 4 มิถุนายน 2565
ดอ ส่อเมียะราส่าลิน รองประธานพรรคปลดปล่อยอาระกัน พบกับพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย วันที่ 13 มิถุนายน 2565
ขุนทุนติ่น(คนกลาง) รองประธานองค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ พบกับพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย วันที่ 16 มิถุนายน 2565
ซอ ซะตี ผู้บัญชาการ กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย พบกับพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย วันที่ 19 มิถุนายน 2565
พ.อ.ส่อละมอน เลขาธิการ สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ พบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย วันที่ 7 กรกฎาคม 2565

การเจรจาของทั้ง 9 กลุ่ม มีรูปแบบเดียวกัน โดยหลังจากตัวแทนของแต่ละกลุ่มได้พบและพูดคุยแบบเผชิญหน้ากับพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายแล้ว แต่ละกลุ่มต้องได้ประชุมร่วมกับ พล.ท.หย่าปญิ และทีมงานคณะกรรมการเจรจาสันติภาพ ต่ออีกอย่างน้อย 1-2 วัน จึงค่อยเดินทางกลับ

ไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาการพูดคุยของแต่ละกลุ่มโดยละเอียด ส่วนใหญ่เป็นการบอกประเด็นกว้างๆว่า ทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม เห็นด้วยในหลักการว่าแนวทางแก้ปัญหาและสร้างสันติภาพในเมียนมาในระยะยาว ต้องนำระบอบการปกครองแบบสหพันธรัฐประชาธิปไตย ที่ทุกกลุ่ม ทุกชาติพันธุ์มีความเท่าเทียมกันมาใช้

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันของทุกฝ่าย โดยเฉพาะระหว่างกองทัพ กับกองกำลังชาติพันธุ์ทุกลุ่มให้เกิดขึ้นมาให้ได้เสียก่อน…

จากกองกำลังชาติพันธุ์ 10 กลุ่มที่ตอบรับคำเชิญของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ขณะนี้เหลือเพียงพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน หรือกองทัพรัฐฉานเหนือ เพียงกลุ่มเดียวที่ยังไม่ได้ส่งตัวแทนมาเจรจาสันติภาพที่กรุงเนปิดอ

พ.อ.จายสู้ โฆษก พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน ที่มาภาพ : Tai TV Online

พ.อ.จายสู้ โฆษก พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน ให้สัมภาษณ์กับ Tai TV Online (https://www.facebook.com/TaiTVonline/posts/pfbid0zPbGFaG6jAHT5g6AVBbZS1c1bzQkJbaJid2fi9RLq1FD5dESDdT3eKvspEnuoLf2l) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า พรรคก้าวหน้ารัฐฉานพร้อมที่จะเจรจาสันติภาพ รอเพียงให้สภาบริหารแห่งรัฐติดต่อนัดหมายวัน เวลา ที่แน่นอนมาก่อน ก็จะไปพบที่กรุงเนปิดอได้ทันที

พ.อ.จายสู้ให้สัมภาษณ์ท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพพม่ากับพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน กำลังตึงเครียดเพราะเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน กองทัพพม่าได้ยื่นคำขาดให้พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน ถอนกำลังทหารที่ตั้งไว้ 3 จุด ในอำเภอเมืองสู้ จังหวัดดอยแหลม ตอนกลางของรัฐฉานได้แก่ ที่บ้านดอยนาย 1 จุด กับอีก 2 จุด ที่บ้านม่านเวียง 2 จุด ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565

แต่เมื่อถึงผ่านพ้นเส้นตายที่กองทัพพม่าขีดไว้ พรรคก้าวหน้ารัฐฉานไม่ยอมถอนทหารเหล่านั้นออกจากพื้นที่ ทำให้กองทัพพม่าเริ่มเสริมกำลังเข้าไปในพื้นที่เมืองสู้ จนชาวบ้านหวั่นเกรงว่าการสู้รบของทั้ง 2 ฝ่าย กำลังจะเกิดขึ้น…

ประกาศเชิญชวนครั้งที่ 2 ให้กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่เหลือ ส่งตัวแทนมาเจรจากับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 สภาบริหารแห่งรัฐได้ประกาศเชิญชวนผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ของรัฐ The Global New Light of Myanmar อีกครั้ง ให้กองกำลังชาติพันธุ์ที่เหลือ ส่งตัวแทนมาเจรจาสันติภาพแบบเผชิญหน้ากับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เป็นรายกลุ่ม กำหนดให้แต่ละชาติพันธุ์ตอบกลับภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565

แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายงานว่า มีกองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มใดได้ตอบรับคำเชิญของสภาบริหารแห่งรัฐ ครั้งที่สอง มาแล้วบ้าง

……

แม้การขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพมีการเดินหน้าตลอด นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 แต่ทุกวันนี้ ยังคงมีความรุนแรงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของเมียนมา ไม่เฉพาะในดินแดนรัฐชาติพันธุ์เท่านั้น ในเมืองใหญ่ๆอย่าง ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ ยังมีการวางระเบิด การโจมตีหน่วยงานของรัฐ หรือทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ ปรากฏให้เห็นเป็นระยะ

ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากคู่ขัดแย้งโดยตรงของสภาบริหารแห่งรัฐไม่ได้มีเพียงกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์เท่านั้น แต่ยังมีรัฐบาลเงาและกองกำลังพิทักษ์ประชาชน ที่ยังเดินหน้าต่อสู้ไม่หยุด

ที่สำคัญ สภาบริหารแห่งรัฐได้นิยามให้กองกำลังพิทักษ์ประชาชนและรัฐบาลเงาเป็นกลุ่มก่อการร้าย ทั้ง 2 กลุ่มนี้จึงไม่ได้เป็นคู่เจรจา ไม่มีการเชิญมาพูดคุยกัน

กระบวนการ“สันติภาพ”ในเมียนมา ที่แม้จะดูคืบหน้า แต่แท้จริงแล้ว อาจยังไปไม่ถึงไหน…

  • เจรจาสันติภาพ…การ “แยกขั้ว” ทัพชาติพันธุ์ในเมียนมา