ThaiPublica > คอลัมน์ > ชะตากรรม “ราเกซ สักเสนา” บทเรียน อาชญากรการเงิน

ชะตากรรม “ราเกซ สักเสนา” บทเรียน อาชญากรการเงิน

30 กันยายน 2022


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

ราเกซ สักเสนา ที่มาภาพ : http://archive.voicetv.co.th
ราเกซ สักเสนา ที่มาภาพ : http://archive.voicetv.co.th

เมื่อวันจันทร์ที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีที่ 2554, 2556 / 2565 หรือเรียกรวมๆ ว่า คดียักยอกทรัพย์ แบงก์กรุงเทพฯ พาณิชย์การ (แบงก์ บีบีซี) ที่พนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องราเกซ สักเสนา ว่ากระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยเอาสามสำนวนและสืบพยานรวมกันทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

คดีนี้อัยการฟ้องว่าระหว่างปี 2537-2539 ราเกซซึ่งขณะนั้นเป็นที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ แบงก์บีบีซี (เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ซึ่งเสียชีวิตแล้ว) ได้ทุจริตใช้บัตรอนุมัติให้สินเชื่อเกินบัญชีเกินกว่า 30 ล้านบาท กับบริษัท สมประสงค์ อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือบริษัทสมประสงค์ฯ และเอกชนรายอื่นร่วม 10 แห่ง โดยการอนุมัติเงินกู้ดังกล่าวนั้นไม่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการสินเชื่อหรือคณะกรรมการบริหารของธนาคารบีบีซีก่อน และได้อนุมัติสินเชื่อโดยผู้ขอสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ตลอดจนไม่มีการวิเคราะห์ฐานะของลูกหนี้ และความสามารถในการชำระหนี้คืน อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย และพฤติการณ์อื่นๆ

โดยศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกราเกซ 335 ปี (ติดจริง 20 ปี) ปรับ 33.5 ล้านบาท และให้ชดเชยค่าเสียหายสามสำนวนแก่แบงก์บีบีซีรวม 2,502 ล้านบาท โดยสื่อพาดหัวไปในทิศทางเดียวกันว่า “ปิดฉากราเกซ” ซึ่งราเกซ มีอายุ 70 ปีแล้วในวันที่มีคำพิพากษาออกมา

คดียักยอกทรัพย์ในแบงก์บีบีซีเป็นคดีประวัติศาสตร์ ที่สั่นสะเทือนวงการธนาคารไทย เมื่อ 27 ปีก่อน สร้างความเสียหาย (ต่อแบงก์) ตามคำฟ้องไม่น้อยกว่า 44,000 ล้านบาท มีผู้ต้องหามากกว่า 30 คน กระบวนการทางกฎหมายใช้เวลากว่า 26 ปีกว่าศาลฎีกามีคำพิพากษา “ราเกซ” ผู้ต้องหาคนสำคัญ จากกรณีปล่อยกู้อื้อฉาวแก่บริษัทสมประสงค์ฯ และอีกหลายบริษัท

การปล่อยกู้บริษัทสมประสงค์ฯ เป็นหนึ่งในธุรกรรมอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในแบงก์บีบีซีระหว่างปี 2538-2539 สุเทพ เทือกสุบรรณ สมาชิกสภาผู้แทน (ส.ส.) พรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น นำข้อมูล “ลับมาก” จากแบงก์ชาติ มาอภิปรายในสภา (9 พ.ค. 2539) ระบุถึงปัญหาหนี้เสียของแบงก์ ตลอด จนธุรกรรมเกี่ยวกับการปล่อยกู้เทกโอเวอร์กิจการ การยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินในแบงก์บีบีซี โดยสุเทพจำกัดความธุรกรรมที่เกิดขึ้นในแบงก์บีบีซีตอนนั้นว่า “ร่วมกันฉ้อฉล…” พร้อมระบุด้วยว่า ธุรกรรมที่เกิดขึ้นมีราเกซซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของแบงก์บีบีซีอยู่เบื้องหลัง อีกทั้งยังกล่าวถึง สมาชิกกลุ่มการเมือง “กลุ่ม 16” หลายคนว่าใช้บริการกู้เงินเพื่อซื้อกิจการกับแบงก์บีบีซีด้วย

  • บันทึก “ความจริง…บีบีซี” ฉบับ “เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” 16 ปีการต่อสู้ของผู้ที่สังคมให้ชื่อว่า “โจรใส่สูท”
  • บันทึกความจริง…บีบีซี จาก “เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” ถึง “ราเกซ สักเสนา” พ่อมดการเงิน กับการล่มสลายของบีบีซี
  • หลังการอภิปรายในสภา คนแห่ถอนเงินฝากจากแบงก์บีบีซีไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ก่อนที่ กระทรวงการคลังเข้ายึดอำนาจการบริหารแบงก์บีบีซี (17 พ.ค. 2539) ปลดเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ (6 มิ.ย. 2539) ณ สิ้นปี 2539 แบงก์บีบีซีมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 83,176 ล้านบาท ต่อมา แบงก์ชาติ ยึดใบอนุญาต ปิดฉากแบงก์บีบีซีในปี 2542 พร้อมโยกหนี้ดีจำนวน 25,000 ล้านบาท ให้แบงก์กรุงไทย ส่วนหนี้เสีย ตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพฯ (ปัจจุบันคือ บมจ.บริหารสินทรัพย์กรุงเทพ หรือ บสก.) ขึ้นมาดูแล อีก 145,134 ล้านาท

    ส่วนการดำเนิคดีการเงินครั้งประวัติศาสตร์ของวงการธนาคารไทย เริ่มต้นไล่เลี่ยกับที่กระทรวงการคลังเข้ายึดอำนาจการบริหารในแบงก์บีบีซีจากผู้ถือหุ้นเดิม โดยแบงก์ชาติไล่กล่าวโทษ 26 คดี มูลค่าความเสียหายตามคำร้อง 31,000 ล้านบาท และบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพฯ ฟ้องเองอีก 7 ดคี มูลค่าเสียหายตามคำร้อง 13,000 ล้านบาท รวม 33 คดี มูลค่าความเสียหาย 44,000 ล้านบาท ในข้อกล่าวหาสรุปรวมๆ ว่า ร่วมกันฉ้อฉล ยักยอกเงินจากแบงก์บีบีซี โดยมีผู้ต้องหาสำคัญ 2 คน คือ เกริกเกียรติกับราเกซ

    ราเกซมีสัญชาติอินเดีย เคยศึกษาด้านวรรณคดีในมหาวิทยาลัย ก่อนมาเป็นเทรดเดอร์ค้าเงินในเดลี กัลกัตตา ฮ่องกง อังกฤษ จากน้ันย้ายมาปักหลักที่เมืองไทยหลังตกหลุมรักสาวไทยในบริษัทประกันแห่งหนึ่ง โดยราเกซพาตัวเองเข้าสู่สังคมการเงินไทยด้วยการเขียนคอลัมน์ด้านการเงินใน หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เนื้อหาเกี่ยวกับ นวัตกรรม เครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ จำพวก ตราสารอนุพันธ์ หุ้นกู้ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่ในแวดวงการเงินสมัยนั้น จนผู้บริหารบริษัทการเงินหลายคนสมัยนั้นเรียกเขาว่าอาจารย์

    ในปี 2535 ราเกซให้คำปรึกษาเกริกเกียรติต้านการรุกเข้ามาเทกโอเวอร์แบงก์บีบีซีจากกลุ่มเสี่ยสอง (สอง วัชรศรีโรจน์) เซียนหุ้นชื่อดังเวลานั้น โดยใช้เงินกู้จากแบงก์บีบีซีเป็นทุนในศึกการเงินครั้งนั้น จนสามารถปกป้องแบงก์จากการถูกเทกโอเวอร์ได้ ผลงานครั้งนั้นผนวกกับความรู้ด้านการเงินสมัยใหม่สร้างความประทับใจให้เกริกเกียรติมาก เกริกเกียรติจึงชักชวนมาเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวก่อนเป็นที่ปรึกษาของแบงก์บีบีซี ในช่วงเวลานั้นเองที่ราเกซเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเริ่มมีคนเรียกเขาว่าพ่อมดการเงิน

    หลังกระทรวงการคลังเข้าควบคุมการบริหารในแบงก์บีบีซีได้ 2 เดือน ราเกซอาศัยจังหวะสถานการณ์ชุลมุน หลบหนีออกจากประเทศไทย ก่อนตำรวจออกหมายจับไม่กี่วัน (5 มิ.ย. 2539) ตามด้วยอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องราเกซในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น ราเกซบินไปปักหลักอยู่มราแดนาดา ช่วงหนีคดีนั้นมีรายงานข่าวว่าราเกซเข้าไปสนับสนุนทุนให้กับการรัฐประหารในเซียร์ราลีโอน แถวแอฟริกาตะวันตก โดยมีเงื่อนไขแลกสิทธิประโยชน์กับสัมปทานเพชร และให้สัมภาษณ์สื่อไทยจากแคนาดา รวมทั้งสื่อในแคนาดาว่า ตัวเขาเป็นเพียงแพะรับบาปของผู้บริหารแบงก์บีบีซี ก่อนที่ราเกซถูกตำรวจแดนาดารวบตัวที่สกีรีสอร์ทหรูแห่งหนึ่งในบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ตามคำขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนของสำนักงานอัยการสูงสุดไทย

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (แคนาดา) มีคำสั่งให้ส่งตัวราเกซกลับไทยในปี 2546 ราเกซ ฎีกาจ้างทนายชั้นนำเป็นที่ปรึกษาสู้คดีเพื่อไม่ต้องถูกส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไทย โดยอ้างสารพัดเหตุผลรวมทั้งเหตุการณ์รัฐประการ 19 กันยายน 2549 ว่าจะเป็นเหตุให้ตัวเขาตกอยู่ในอันตราย ราเกซ ยืดเวลาถูกส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนได้เกือบ 5 ปี จนปลายปี 2551 ศาลฎีกาแคนาดาพิพากษาให้ส่งราเกซกลับมาดำเนินคดียักยอกทรัพย์แบงก์บีบีซีตามคำขอของทางการไทย วันที่ 31 ตุลาคม 2552 ราเกซถูกส่งตัวถึงไทย ในสภาพนั่งรถเข็นเข้าเรือนจำจากอาการอัมพาต

    ความผิดจากคดียักยอกทรัพย์ของราเกซเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2537-2538 ซึ่งขณะนั้นราเกซมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาเกริกเกียรติ ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาแบง ก์ มีฐานะเป็นพนักงานแบงก์คนหนึ่งในปี 2538 ตามคำสั่งของแบงก์ชาติ เพื่อให้ราเกซมีส่วนรับผิดชอบจากธุรกรรมที่ทำขึ้น

    แม้มีตำแหน่งเป็น “ที่ปรึกษา” แต่ราเกซมีบทบาทไม่ต่างไปจากกรรมการผู้จัดการใหญ่ เขานำแบงก์บีบีซีซึ่งเป็นธนาคารขนาดกลางและมีปัญหาหนี้เสียสะสมเข้าสู่ธุรกิจอินเวสเมนต์แบงก์ ปล่อยกู้ควบรวมกิจการ ประมาณว่าช่วงนั้น แบงก์บีบีซีปล่อยกู้เพื่อครอบงำกิจการราว 22 แห่ง ยอดปล่อยกู้รวมราว 35,816 ล้านบาท ราเกซอนุมัติเงินกู้ทั้งที่ไม่มีอำนาจ ไม่ผ่านคณะกรรมการสินเชื่อ คณะกรรมการบริหาร และปล่อยกู้สินเชื่อเพื่อเทกโอเวอร์กิจการที่แบงก์ชาติมีคำสั่งห้าม

    เช่น กรณีบริษัทสมประสงค์ฯ ที่กล่าวข้างต้น ราเกซนำบริษัทสมประสงค์ฯ ที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจมายื่นขอกู้แบงก์บีบีซีในปี 2538 วงเงิน 660 ล้านบาท โดยอ้างว่าจะนำไปซื้อบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนลคอนโซลิเดเต็ด เอ็นยิเนียริ่ง จำกัด จำนวน 6,670,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 75 บาท รวมมูลค่า 500 ล้านบาทเศษ งานนี้ราเกซนำที่ดินที่จังหวัดสระแก้วมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันขอกู้ โดยร่วมมือกับผู้บริหารบริษัทประเมินราคาแห่งหนึ่งสร้างมูลค่าขึ้นไปถึง 826 ล้านบาทโดยประมาณ แต่เมื่อมีการตรวจสอบภายหลังพบว่าที่ดินดังกล่าวมีมูลค่าเพียง 55 ล้านบาทเท่านั้น

    หรือกรณียักยอกทรัพย์บริษัท ซิตี้เทรดดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือบริษัทซิตี้เทรดดิ้งฯ บริษัทนี้จดทะเบียน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐที่เกาะเคย์แมน หนึ่งในสวรรค์ของนักฟอกเงิน เพียง 3 เดือนก่อนมายื่นขอกู้แบงก์บีบีซี 2,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าจะนำไปซื้อกิจการในต่างประเทศ โดยใช้ใบหุ้นและที่ดิน 11 แปลงในจังหวัดพิจิตรและปราจีนบุรี เป็นหลักประกัน โดยตีมูลค่าหลักประกันถึง 1,350 ล้านบาท แต่การตรวจสอบภายหลังพบว่า ที่ดินรกร้างว่างเปล่าชุดนั้นมีมูลค่าเพียง 26 ล้านบาท เท่านั้น

    ราเกซไม่ได้นำเงินกู้ที่ได้ไปซื้อกิจการตามที่อ้าง แต่ผ่องถ่ายเงินกู้ผ่านเครือข่ายบริษัทที่มีแต่ชื่อแต่ไม่ได้ประกอบกิจการใดๆ จำนวน 11 แห่ง (ราเกซมีเครือข่ายบริษัทที่มีแต่ชื่อเพื่อทำหน้าที่บังหน้าธุรกรรมราว 60 บริษัท) หากนำไปใช้หนี้เงินกู้ คดียักยอกทรัพย์ในบริษัทซิตี้เทรดดิ้งฯ เป็นคดีแรกที่ราเกซถูกดำเนินคดีในไทยโดยศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2555

    ราเกซยังใช้วิธีดังกล่าว (สร้างมูลค่าหลักประกันเกินจริงมาเป็นหลักประกันกู้เงิน) เพื่อซื้อกิจการและบริการลูกค้าอีกหลายแห่ง เช่น บริษัท ฟอร์ฟิอ ออเรนจ์ จำกัด ใช้ที่ดินที่สายไฟฟ้าพาดผ่านใช้ประโยชน์ไม่ได้ 462 ไร่ ตีมูลค่าสูงเกินจริง 10 เท่ากู้เงินออกไป 1,000 ล้านบาท บริษัท สยาม แมส คอนสตรัคชั่น จำกัด บริษัท ซีลาร์อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส จำกัด เป็นต้น

    นอกจากนี้ การนำแบงก์บีบีซีไปลงทุนต่างประเทศ ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการหาประโยชน์จากแบงก์บีบีซีของราเกซ เช่น กรณีนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลอาร์เจนตินาและเวนูซุเอลา ประเทศละ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 100 ล้านหน่วยในปี 2538 โดยตกลงว่าจะโอนพันธบัตรให้แบงก์บีบีซีพร้อมจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน แต่ปรากฏว่าราเกซไปตั้งบริษัท เพเนลอป ไฟแนนซ์ แอนด์ อินเวสเมนท์ ในสวิตเซอร์แลนด์ ทำหน้าที่โอนพันธบัตรดังกล่าว แล้วโยกไปให้ National Credit Bank ซึ่งเป็นแบงก์เล็กๆ ในมอสโกซึ่งใกล้ชิดกับราเกซ เมื่อครบกำหนดส่งมอบให้แบงก์บีบีซีในเดือนพฤษภาคม 2539 พันธบัตรชุดดังกล่าวไม่ได้ถูกโอนมา รวมทั้งดอกเบี้ยก็ไม่ส่งมาให้แบงก์บีบีซีตามสัญญา ส่งผลให้แบงก์บีบีซีเสียหายกว่า 1,200 ล้านบาท

    หลังราเกซตกเป็นผู้ต้องหา สำนักอัยการสูงสุดไล่อายัดทรัพย์ของราเกซทั้งในและต่างประเทศ ทรัพย์สินในประเทศประกอบด้วย ที่ดิน อาคาร ตั่วสัญญาใช้เงิน รถ หุ้น รวมกว่า 100 รายการ ส่วน ต่างประเทศ อายัดทรัยพ์ในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน รวมทั้งบัญชีเงินฝาก 40 ล้านดอลลาร์ของราเกซในสวิตเซอร์แลนด์

    คดียักยอกทรัพย์แบงก์บีบีซีที่ดำเนินมาถึงฉากสุดท้าย นับเป็นบทเรียนสำคัญของวงการแบงก์ไทย นับจากนายธนาคารไปถึงกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล หน่วยงานที่มีหน้าไล่ล่าเอาคนผิดมาลงโทษ ทั้งตำรวจ อัยการ และบทจบของราเกซ นับเป็นบทเรียนชั้นดีสำหรับผู้ที่คิดจะแสวงหาความมั่งคั่งบนเส้นทางสายอาชญากรการเงิน ว่าปลายทางนั้น คุกรอคุณอยู่