ชื่อ “ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน)” หรือ “บีบีซี” อาจจะเลือนไปจากความทรงจำของสังคม ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ก็แทบจะไม่รู้จัก เพราะเหตุการณ์วิกฤติการล่มสลายแบงก์บีบีซีและวิกฤติปี 2540 ได้ผ่านมาแล้ว 16 ปี
ขณะที่ขบวนการตามล่าขุมทรัพย์ของ “ราเกซ สักเสนา” ผู้ที่ถูกตราหน้าว่า “โกงแบงก์” ยังไม่เคยหยุด โดยล่าสุด 18 มกราคม 2556 มีข่าวว่ายึดทรัพย์ที่ซุกไว้ในแบงก์สวิสเซอร์แลนด์ได้อีกกว่า 100 ล้านบาท หลังก่อนหน้านี้ตามยึดได้ 415 ล้านบาท เพื่อนำกลับมาคืนเจ้าหนี้
ขณะที่ “เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” ในฐานะทายาทผู้สืบต่อธุรกิจและในฐานะผู้บริหารถูกกล่าวหาไม่ต่างกัน แต่”เกริกเกียรติ”เป็นจำเลยที่ไม่หนีคดี ยืนปักหลักสู้คดีจนตายด้วยโรคมะเร็งเมื่อ 20 ตุลาคม 2555
“หลายคนบอกว่าผมควรหนี แต่เพราะผมเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตัวเอง ถึงแม้การต่อสู้ในหลายๆ คดีผมจะแพ้ และถูกพิพากษาให้จำคุกรวมกันแต่ละคดีมาแล้วมากกว่า 100 ปี และถูกคำสั่งให้ชดใช้หนี้ที่เกิดขึ้นมูลค่ารวมกันแล้ว 13,600 ล้านบาท”
“แต่ที่สำคัญ ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา ได้มีหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เข้ามาตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างถี่ถ้วนทั้งในและต่างประเทศ ปรากฏว่า ไม่เคยพบเงินจำนวนมหาศาลที่ผมถูกกล่าวหาว่ายักยอกไป ทั้งจากผม บุคคลในครอบครัว หรือวงศาคณาญาติของผมแต่อย่างใด”
“16 ปีของการต่อสู้ ผมยังคงยืนยันในความบริสุทธิ์ของตัวเอง…”
“และผมเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า หนังสือเล่มนี้ที่ผมเขียนขึ้น จะไม่ได้เป็นเพียงแค่การแก้ตัวต่อข้อกล่าวหาที่ผมได้รับและถูกตราหน้าจากสังคมว่าผมเป็นอาชญากรเศรษฐกิจ หรือเป็นโจรใส่สูท อย่างที่ถูกกล่าวหามาตลอดระยะเวลา 16 ปี แต่เป็นส่วนเติมเต็มให้ผู้คนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น”
“วันที่ทุกๆ ท่านได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมคงจากไปอย่างสงบ และหวังว่าหนังสือ “ความจริง…บีบีซี” จะเปิดเผยความจริงที่ทุกๆคนอยากรู้”
ชีวิตที่หักเหของ “เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” (ชื่อเล่น ตั้ว) ที่ต้องมาแก้ปัญหาของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี ตามคำขอของ “คุณตาคึก” (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) เป็นข้อความที่เขาไม่เคยลืมว่า “ตั้วต้องมาช่วยตาทำงานที่แบงก์นะ” โดยไม่รู้ตัวมาก่อนว่าจะต้องกลายมาเป็นอาชญากรตัวเอ้ของประเทศไทย
“เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” ได้เล่าเรื่องราว ถ่ายทอดเป็นบันทึก “ความจริง…บีบีซี” หลังจากที่ตกเป็นเหยื่อเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง และตกเป็นจำเลยของสังคม
“ความจริง…บีบีซี” เป็นบันทึกประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งที่แตกต่างจากประวัติศาสตร์หน้าอื่นๆ ที่เคยบันทึกมา สำนักข่าวไทยพับลิก้า สรุปเพียงบางส่วนจากหนังสือเล่มนี้มาถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ตายที่ไม่อาจฟื้นขึ้นมาแก้ต่างได้อีก
….
บทนำ
“ความจริง…บีบีซี”
วันที่ 20 มกราคม 2548 ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร และธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี ร่วมยื่นฟ้องผม นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ฐานร่วมยักยอกทรัพย์ 1,650 ล้านบาท รวมทั้งเป็นกรรมการกระทำผิดหน้าที่หรือรับของโจรว่า จากพยานโจทก์ รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่า ผมขณะดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ได้อนุมัติสินเชื่อ ซึ่งฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย ให้กับบริษัทซิตี้ เทรดดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด จริง จึงมีคำสั่งให้จำคุกผมเป็นเวลา 10 ปี และปรับ 2,264 ล้านบาท
นั่นเป็นคำพิพากษา 1 ใน 22 คดีที่ผมถูกธนาคารแห่งประเทศไทยฟ้องกล่าวโทษ นับตั้งแต่ปลดผมจากการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 6 มิถุนายน 2539 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบีบีซีในช่วงเวลาดังกล่าว ตกเป็นข่าวคึกโครมอยู่บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ เป็นข่าวที่ถูกประโคมโดยสื่อทุกประเภทไปทั่วโลก ตามมาด้วยบทวิเคราะห์มากมาย ข่าวและข้อมูลเหล่านั้นถูกรวบรวมมาจากแหล่งต่างๆ จริงบ้างเท็จบ้าง
บีบีซีถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอของวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2540 เศรษฐกิจไทยมีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 5,344,000 ล้านบาทในปี 2539 คงจะไม่ล่มสลายเพียงเพราะปัญหาของธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเพียง 45,280 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2539 หรือเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.84 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
ผมไม่ปฏิเสธว่าบีบีซีเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเศรษฐกิจในช่วงนั้น แต่ไม่ใช่ต้นตอของวิกฤติทั้งหมด
แล้วอะไรเล่าคือสาเหตุที่แท้จริงของการล่มสลายของบีบีซี?
วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 มีสาเหตุมาจากอะไร?
หนึ่งในคนที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุดก็คือผม เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ คนที่อยู่ใจกลางปัญหา คนที่รู้ข้อมูลและเข้าใจความสลับซับซ้อนของความจริงที่อยู่เบื้องหลัง และคนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงที่สุด
เมื่อรู้ตัวว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานนัก ผมจึงคิดว่าน่าจะถึงเวลาที่จะเปิดเผยความจริงจากด้านที่ผมประสบให้สังคมได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่ามีที่มาอย่างไร อะไรบ้างที่อยู่เบื้องหลังและนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ตลอดจนผลกระทบในวงกว้างตามมาอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยง ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้เป็นกรณีของผู้ที่สนใจ และหวังว่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้ที่จะเข้ามามีบทบาทและอำนาจ ในการบริหารเศรษฐกิจและการเงินของประเทศต่อไปในอนาคต
เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์
มิถุนายน 2555
บทที่1…จากวังบางขุนพรหม…สู่แบงก์สตางค์แดง
ผม เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นโจรใส่สูท ถูกศาลพิพากษาให้มีความผิดจำคุกรวมกันนานกว่า 100 ปี เกินกว่าชั่วชีวิตของคนคนหนึ่ง มีภาระหนี้ที่ต้องชำระรวมกันมากกว่าหมื่นล้านบาท และยิ่งกว่านั้นยังถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอของวิกฤติในปี 2540
ปีที่คนไทยกว่า 1.4 ล้านคนต้องตกงาน
ปีที่คนไทยรู้จักกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ในฐานะเจ้าหนี้ที่คอยกำกับดูแลนโยบายการเงินและการคลังของประเทศ
ปีที่คนไทยที่เกิดมาก็ต้องเป็นหนี้กันถ้วนหน้า
ผมทบทวนเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง นับตั้งแต่ถูกปลดจากการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2539 และถูกกล่าวโทษจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งถึง 22 คดีในปีเดียวกัน ด้วยข้อหาฉ้อโกงทรัพย์จากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ธนาคารที่สร้างมาโดยคุณตาของผม พล.ต.อ.พระพินิจชนคดี (ชื่อเดิม พินิจ อินทรทูต)
ผมเพียงคนเดียวทำให้ประเทศชาติต้องเสียหาย กลายเป็นหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศกว่า 17,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 860,000 ล้านบาท (คิดที่อัตราแลกเปลี่ยนในปี 2540 ที่ 50 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ)
ผมเพียงคนเดียวเป็นต้นตอที่ทำให้คนทั้งชาติเป็นหนี้ คนหลายล้านคนต้องตกงานจริงหรือ
……
บทที่2…ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด(มหาชน)
….
บทที่ 3…แผนฟื้นฟูบีบีซี
….
บทที่ 4…การล่มสลายของบีบีซี
ผมเคยเล่าก่อนหน้านี้แล้วว่า ในปี 2529 เมื่อครั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องการจะปลดกรรมการผู้จัดการของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี ก่อนหน้าผม ก็ต้องไปหารือกับคุณตา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะประธานกรรมหารบริหารของธนาคารในขณะนั้น และเป็นนักการเมืองที่ได้รับการยอมรับนับถือ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยเกรงใจคุณตาคึกฤทธิ์ ทำให้การแก้ไขปัญหาธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เป็นไปแบบกล้าๆ กลัวๆ มาโดยตลอด
จนเมื่อคล้อยหลังมาอีก 10 ปี เมื่อ “คุณตาคึกฤทธิ์” ที่เป็นเสาหลักทางการเมืองและเสาหลักของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ป่วยหนักและสิ้นบุญลงในปี 2538 และในปีถัดมาก็เกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร โดยใช้ข้อมูลลับที่สุดของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเป็นหลักในการอภิปราย
ทั้งๆ ที่บีบีซีมีปัญหามานานแล้ว (บทที่ 2 กล่าวถึงปัญหาเก่าของบีบีซีมีหนี้เน่า 18,163.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.73 ของสินทรัพย์รวม กลายเป็นปัญหางูกินหาง เพราะยิ่งแก้ก็ยิ่งมีหนี้เพิ่ม และบทที่ 3 กล่าวถึงแผนฟื้นฟูกิจการบีบีซีระยะเวลา 5 ปี พ.ศ. 2538 -2542 เสนอต่อแบงก์ชาติ) แต่ไม่เคยปรากฏว่าเป็นที่สนใจของพรรคการเมืองใดมาก่อน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะพ้องกันโดยบังเอิญ แต่ก็เป็นเหตุการณ์?ทำให้ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ต้องล่มสลายไปหลังจาก “คุณตาคึก” สิ้นบุญไปเพียงไม่กี่เดือน
…
สิ่งที่เกิดขึ้นกับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ในวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2539 เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ถ้านักการเมืองมีความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าสนใจแต่ประโยชน์ส่วนตน
เมื่อนักการเมืองฝ่ายค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เอาบันทึกลับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ที่ผมไม่รู้ว่าเขาไปเอามาจากไหน เพราะบันทึกฉบับนี้เป็นเรื่องระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การที่คนนอกไม่ควรรู้หรือมีเอกสาร ถ้าไม่มีคนในธนาคารแห่งประเทศไทยนำไปให้)
โดยประเด็นที่นายสุเทพนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจคือ การที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การปล่อยกู้ให้กับกลุ่มนักการเมืองที่ร่วมรัฐบาลอยู่ในขณะนั้น โดยหยิบเอาข้อมูลบางส่วนจากรายงานการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยหยิบยกเอาบางประเด็นมาเสนอเพื่อประโยชน์ของตัวเอง อาทิ
“คนพวกนี้ (หมายถึงนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม) นึกว่าธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเหมือนกับบริษัทส่วนตัวของตัวเอง จะเอาเงินไปทำปู้ยี่ปู้ยำอย่างไรก็ได้ นี่เป็นธนาคารมหาชน ไม่ใช่สมบัติส่วนตัว ครอบครัว ตระกูล…ที่สำคัญเงินของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การได้มาจากการระดมเงินฝาก 132,235 ล้านบาท ใครล่ะครับที่เป็นเจ้าของเงินฝาก มีทั้งหมด 1,564,053 คน ที่อุตส่าห์เอาเงินออมไปฝากไว้กับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ นึกว่าปลอดภัย ไม่นึกว่าโจรมันจะไปปล้นที่นั่น”
ก่อนที่จะสรุปการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เผ็ดร้อนยาวนานกว่า 4 ชั่วโมง ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 ว่า …“สรุปว่ากรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ (ราเกซ) สมคบกับคนจีน คนแขก ทั้งแขกอินเดีย แขกตะวันออกกลาง ฝรั่งมังค่า ร่วมกันฉ้อฉลธนาคารไทย เงินของคนไทยไปไม่ต่ำกว่า 5หมื่นล้านบาท”
ผลงานอภิปรายไม่ไว้วางใจของนายสุเทพครั้งนั้นได้ผลเกินคาด เมื่อกระทรวงการคลังออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมการดำเนินงานของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 เมื่อประชาชนแห่ถอนเงินฝากจำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท จากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ
เจตนาของนายสุเทพในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในขณะนั้น ผมไม่แน่ใจว่ามีเจตนาที่จะเล่นงานนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือต้องการเล่นงานธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ
ผลสุดท้ายที่เกิดขึ้นคือ ธนาคารเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ต้องปิดกิจการในที่สุด และที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินเป็นโดมิโน จนต้องปิดกิจการตามมา 56 แห่ง ไม่นับรวมธนาคารพาณิชย์อีกหลายแห่งต้องแปลงสภาพจากธนาคารคนไทยไปเป็นของต่างชาติ
แต่ก่อนอื่นผมขออภิปรายให้เข้าใจว่า สินเชื่อในส่วนนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นธุรกรรมปกติที่ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับนักธุรกิจได้โดยปกติ โดยพิจารณาจากหลักทรัพย์ค้ำประกันและวัตถุประสงค์ในการเข้าไปลงทุน ซึ่งต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย แต่กรณีที่เกิดขึ้น บังเอิญนักธุรกิจที่ธนาคารปล่อยกู้เป็นนักการเมืองด้วย เลยถูกดึงเข้าไปเป็นประเด็นทางการเมือง และหลังจากการอภิปรายดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีนักการเมืองคนใดต้องโทษในคดีบีบีซีในข้อหาเพราะลงทุนโดยผิดกฎหมายหรือความผิดอื่นใด
อีกประเด็นสำคัญที่ผมอยากชี้แจงคือ การลงทุนในการครอบงำกิจการ (Merger and Acquisition) เป็นการลงทุนปกติที่ผู้ลงทุนเข้าซื้อต้องมองเห็นจุดอ่อนของบริษัทที่จะซื้อและเห็นโอกาสของการลงทุนว่า เมื่อเข้าไปลงทุนแล้วจะสามารถฟื้นฟูและพัฒนากิจการต่อไปให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม…ซึ่งต้องมีระยะเวลาในการฟื้นฟู แผนฟื้นฟูแต่ละแผนมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนจากสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจโดยทั่วไป แต่เมื่อเกิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทำให้แผนฟื้นฟูกิจการที่ถูกเข้าไปซื้อกิจการต้องสะดุด เหตุหนึ่งมาจากคณะกรรมการควบคุมกิจการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การระงับการปล่อยสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการดังกล่าว ทำให้บริษัทประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจนไม่สามารถฟื้นฟูกิจการได้ และเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
จากหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญ ในสมัยผู้บริหารก่อนผม จำนวน 11,000 ล้านบาท มาเป็น 19,730 ล้านบาท ในผู้บริหารชุดผม และก่อนการเข้ามาควบคุมของทางการ 45,280 ล้านบาท เพิ่มเป็นหนี้ที่คณะกรรมการควบคุมคาดว่าจะพัฒนาได้ 60,000 ล้านบาท และท้ายสุดเป็นจำนวน 83,176 ล้านบาท
การอภิปรายจึงเป็นอภิปรายความจริงเพียงครึ่งเดียว
ตอนต่อไปอ่าน …เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ เขียนถึง “ราเกซ สักเสนา”