ThaiPublica > คอลัมน์ > “คนละครึ่ง” กับรู้สึกว่า มีผลดีต่อเศรษฐกิจ

“คนละครึ่ง” กับรู้สึกว่า มีผลดีต่อเศรษฐกิจ

30 พฤศจิกายน 2020


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

โครงการ “คนละครึ่ง” มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่รัฐบาลประกาศว่าจะขยายเฟสสองไปจนถึงเทศกาลตรุษจีนปีหน้า หลังมีเสียงตอบรับคึกคักมากกว่ามาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลเคยออกมาก่อนหน้าทั้งที่ใช้งบประมาณน้อยกว่า โดยจะเปิดให้ลงทะเบียน “คนละครึ่งเฟสสอง” วันที่ 1 มกราคม 2564

หนึ่งในมุมสะท้อนต่อโครงการคนละครึ่งคือ การสำรวจความเห็นของพ่อค้าแม่ค้าต่อโครงการคนละครึ่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 20-25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ ในประเด็น ภาพรวมโครงการคนละครึ่ง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประเทศมากน้อยเพียงใด? ที่ 63.5% บอกว่าช่วยได้ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด อีก 35.8% บอกว่าช่วยได้ระดับปานกลาง และ 0.7% บอกว่า ช่วยได้ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด

หรือคำถามที่ว่า “หากมีมาตรการโครงการคนละครึ่งอีกในปีหน้าท่านจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่? ปรากฏว่า 97.9% บอกว่าจะเข้าร่วม 1.9% ไม่แน่ใจ และ 0.9% บอกว่าจะไม่เข้าร่วม บ่งบอกถึงความรู้สึกที่ดีต่อโครงการซึ่งปรากฏน้อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา

สัปดาห์ที่แล้วคุณพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ออกมาให้ ข้อมูลว่า ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ตอนเที่ยงตรง มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 8.5 แสนร้านค้า มีผู้มาใช้สิทธิ 9,493,942 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 28,609 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายเอง 14,599 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายอีก 14,100 ล้านบาท จังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมสูงสุด 5 อันดับแรกคือ กรุงเทพฯ สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่

หากเราย้อนกลับไปดูมาตรกระตุ้นการบริโภคที่รัฐบาลประยุทธ์หนึ่งและสองขับเคลื่อนออกมานับจากเปิดตัว บัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปี 2560 ตามด้วยมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ที่กำหนดให้นำค่าใช้จ่ายจากกาชอปมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท

ต่อมาในปี 2562 รัฐบาลประยุทธ์ภูมิใจนำเสนอ “ชิมช้อปใช้” ที่ใช้ “เป๋าตัง” เป็นช่องทางมอบสิทธิสำหรับการชอป 1,000 บาท จำนวน 10 ล้านคน และเพิ่มแรงจูงใจ ให้เกิดการบริโภคเพิ่มเติม ด้วยการให้ ส่วนที่จับจ่ายเกินสามารถใช้เป็นค่าใช้จ่ายนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่นไม่เกิน 30,000 บาท ได้ชดเชยไม่เกิน 4,500 บาท เป็นต้น โดยร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการมีทั้งค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมทั้งร้านธงฟ้า

ชิมช้อปใช้กระแสค่อนข้างดี รัฐบาลถึงกับต่อเฟสสอง เพิ่มจำนวนผู้รับสิทธิอีก 3 ล้านคน และเฟสสามมอบสิทธิใช้เงินผ่านเป๋าตัง 50,000 บาทสำหรับการท่องเที่ยว แต่เสียงตอบรับจากพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดสดเบามากเมื่อเทียบกับห้างใหญ่

ในช่วงต้นของวิกฤติโควิดรัฐบาลได้จัดอภิมหามาตรกระตุ้นการบริโภค “เราไม่ทิ้งกัน” แจกเงิน 3,000 บาท สามเดือนจำนวน 15.3 ล้านคน (เดิมตั้งใจจะแจกแค่ 3 ล้านคน เตรียมงบฯ ไว้ 45,000 ล้านบาท) แจกให้เกษตรกร 10 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนละ 5,000 บาทสามเดือนเช่นเดียวกัน และยังมอบให้กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ คนพิการอีก 6.7 ล้านคน คนละ1,000 บาทสามเดือน

กลางปีที่ผ่านมา มีโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมให้คนเดินทางท่องเที่ยว เช่น อุดหนุนค่าที่พัก 40 % ค่าอาหาร 600 บาทต่อวัน และโครงการให้กำลังใจ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) แนวหน้าซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19ในชุมชน รวมงบประมาณที่ใส่ไปประมาณ 22,400 ล้านบาท

ก่อนมาปิดท้ายปีด้วยโครงการคนละครึ่ง ซึ่งออกมาพร้อมๆ กับโครงการ เติมเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ด้วยการเพิ่มเงินอีก 500 บาทต่อคน 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.63) จากเดิมที่รับ 200-300 บาทต่อเดือนเพิ่มเป็น 700-800 บาท/เดือน งบประมาณ 21,000 ล้านบาท และโครงการช้อปดีมีคืน ชอปปิงแล้วนำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 บาท

ข้อสังเกตคือ ตลอด 2 ปีเศษที่ผ่านมานับจากรัฐบาลประยุทธ์หนึ่งสู่รัฐบาลประยุทธ์สอง แม้รัฐบาลโหมอัดโครงการกระตุ้นการบริโภคอย่างต่อเนื่อง แต่เสียงบ่นเรื่องกำลังซื้อหายไปและเศรษฐกิจฝืดเคืองยังออกมาจากกลุ่มคนฐานรากอย่างต่อเนื่อง พ่อค้าแม่ค้าคนทำมาหากินพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เงียบ” ทั้งที่จีดีพีในช่วงที่ผ่านมาเติบโตพอสมควร และมาตรการกระตุ้นแต่ละชุดใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งต่างจากมาตรการ “คนละครึ่ง” กลับมีเสียงตอบรับดังกว่ามาตรการอื่น และให้ความรู้สึกกับพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ว่า “ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากถึงมากที่สุด” ตามที่กรุงเทพโพลล์สำรวจความคิดเห็นมา และเสียงสะท้อนผ่านสื่อต่างๆ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

การที่โครงการ “คนละครึ่ง” ให้ความรู้สึกว่าน่าจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจน่าจะมาจาก 5 ปัจจัย คือ

    หนึ่ง โครงการทำให้เกิดการบริโภคทันที (ต่างจากเงินที่เติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ)

    สอง กิจกรรมนี้ลงไปถึงร้านแผงลอย มากที่สุดหากเปรียบเทียบกับมาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลเคยออกมา

    สาม การที่รัฐอุดหนุนค่าใช้จ่าย “ครึ่งหนึ่ง” เท่ากับเติมเงินเข้ากระเป๋าผู้ซื้อและผู้ขายในเวลาเดียวกัน

    สี่ คือประสบการณ์ด้านไอทีของกลุ่มคนฐานรากจากการซื้อขายโดยไม่ใช้เงินสดช่วยสร้างบรรยากาศการค้าการขายที่แปลกใหม่ขึ้นมา

    ห้า โครงการคนละครึ่ง ให้สิทธิกับกิจการของคนตัวเล็กเท่านั้น ต่างจากโครงการกระตุ้นการบริโภคอื่นๆ ที่เปิดให้รายใหญ่ทั้งค้าปลีกทันสมัย ร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจใหญ่ เข้าร่วมโครงการ คนที่รับสิทธิชิมช้อปใช้จึงเลือกชอปในห้างใหญ่มากกว่าเพราะคุ้นเคย

บทเรียนจากกรณีคนละครึ่ง บอกเราว่า การกระตุ้นให้ได้ทั้งผลบวกต่อจีดีพีและคนฐานรากได้ประโยชน์ ต้องยึดคนส่วนใหญ่เป็นฐาน ทำให้เกิดการบริโภคทันที ใช้ไอทีให้เป็นประโยชน์ และต้องล้วงเงินจากกระเป๋าประชาชนมาเสริมงบกระตุ้นของรัฐอีกแรงด้วย ความคึกคักจึงจะปรากฏ