ThaiPublica > คอลัมน์ > ไทยจะบรรลุเป้า ฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสปีนี้?

ไทยจะบรรลุเป้า ฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสปีนี้?

31 กรกฎาคม 2021


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

นับจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศวาระวัคซีนแห่งชาติ ปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ความเพียงพอของวัคซีนเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมาโดยตลอด เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวอ้างตามจดหมายที่ บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย ) จำกัด เจ้าของสิทธิวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า สื่อสารกับกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการสั่งซื้อกับการส่งมอบวัคซีน โดยบริษัทแอสตร้าฯ แจ้งกับกระทรวงสาธารณสุขว่าสามารถส่งมอบวัคซีนได้ประมาณ 5- 6 ล้านโดสเดือน จากที่กระทรวงสาธารณสุขแจ้งไป 10 ล้านโดสต่อเดือนหรือ 61 ล้านโดสภายในปีนี้

ท่ามกลางความสับสนนั้น สัปดาห์ที่แล้ว นายเจมส์ ทีก ประธานบริษัทแอสตร้าฯ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงคนไทย เพื่อชี้แจงแผนการส่งมอบวัคซีนให้ไทย รวมทั้งข้อจำกัดต่างๆ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ยากจะคาดเดาความเป็นไป โดยระบุถึงสาเหตุของความไม่แน่นอนในการส่งมอบ (วัคซีน) เพราะ “วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็น “ชีววัตถุ” ที่เริ่มต้นด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิต จึงมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน ‘จำนวนเซลล์ที่สามารถนำไปใช้’ เพื่อการผลิตวัคซีนในแต่ละรอบการผลิตจึงมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตระยะแรกจากศูนย์การผลิตวัคซีนแห่งใหม่”

คุณทีกย้ำในจดหมายฉบับดังกล่าวด้วยว่า แม้มีข้อจำกัดมากมายแต่เรา (แอสตร้าฯ) คาดการณ์ว่าจะสามารถจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศไทยได้โดยเฉลี่ย 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ก่อนสรุปว่า บริษัทแอสตร้าฯ ส่งมอบวัควัคซีนให้กระทรวงสาธารณสุขแล้ว 9 ล้านโดส มีกำหนดส่งมอบอีก 2.3 ล้านโดสในสัปดาห์หน้ารวมเป็น 11.3 ล้านโดส ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม (2564) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากแผนการจัดหาวัคซีน 61 ล้านโดสในประเทศไทย

ส่วนจะได้เต็มจำนวน 61 ล้านโดสหรือไม่นั้นประธานบริษัทแอสตร้าฯ ไม่ปฏิเสธแต่ก็ไม่ยืนยันโดยบอกเพียงว่า “ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์เดลตา เราพยายามอย่างสุดความสามารถ และเสาะหาทุกวิถีทางที่จะเร่งการผลิตและส่งมอบวัคซีนให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้” คุณทีกยังบอกในตอนท้ายๆ ของจดหมายซึ่งมีใจความประมาณว่า จะระดมสรรพกำลังจากศูนย์การผลิตวัคซีนแอสตร้าฯ กว่า 20 แห่งทั่วโลก เพื่อส่งมอบวัคซีนให้ไทยและประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ออกตัวไว้ด้วยว่า

“… อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะขาดแคลนวัคซีนป้องกันโควิด-19 การขาดแคลนวัตถุดิบและส่วนประกอบที่จำเป็นในการผลิตวัคซีน ส่งผลให้เราไม่สามารถคาดการณ์จำนวนการผลิตที่แน่นอนได้ แต่เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำเข้าวัคซีนเพิ่มเติมมาให้กับคนไทยได้ในเดือนต่อๆ ไป”

สรุปคือการจะได้วัคซีนแอสตร้าฯ ซึ่งเป็นวัคซีนหลักหมายเลขหนึ่งของไทยตามเป้าหมาย 61 ล้านโดสปีนี้ ยังอยู่ในสภาวะแบบที่เรียกว่า ห้าสิบห้าสิบ

วัคซีนแอสตร้าฯ ถูกกำหนดให้เป็นวัคซีนหลักของไทยตั้งแต่ต้น โดยบริษัทแอสตราฯ จับมือกับบริษัทสยามไอโอไซเอนซ์ใช้ไทยเป็นฐานผลิตประจำอาเซียน จนเป็นที่มาของคำวิจารณ์เรื่อง “แทงม้าตัวเดียว” โดยรัฐบาลจองวัคซีนแอสตร้าฯ ลอตแรก 35 ล้านโดส ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ก่อนจองเพิ่มอีก 25 ล้านโดสเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ทว่า เมื่อสถานการณ์ระบาดโลกเปลี่ยน มีกระแสเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้นเพื่อยับยั้งการระบาดระลอกใหม่ และเป็นหลักประกันในการเปิดประเทศ แต่บริษัทแอสตร้าฯ สามารถส่งมอบวัคซีนได้เร็วสุดคือเดือน พฤษภาคม 2564 (ก่อนเลื่อนไปเดือน มิ.ย.) รัฐบาลได้ตัดสินใจสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคแบบเร่งด่วน 2 ล้านโดส ลอตแรกจำนวน 2 แสนโดส ส่งถึงไทยวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตามด้วยวัคซีนแอสตร้าฯ ลอตพิเศษ 117,600 โดส ในวันเดียวกัน และมีการทำพิธีฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันที่ 28 เดือนเดียวกัน ไม่ให้ไทยน้อยหน้าประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่ม “เข็มแรก” ไปก่อนหน้า

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เชื่อว่าวัคซีนที่รัฐบาลเตรียมไว้ทั้งจากแอสตร้าฯ และหาซื้อเพิ่มเติมจากซิโนแวค น่าจะพอรับมือกับสถานการณ์ระบาด นายกฯ เคยโพสต์ในเฟซบุ๊กเล่าเรื่องแผนการฉีดวัคซีนด้วยว่า “รัฐบาลมีแผนการฉีดวัคซีนฟรีเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนชาวไทยอย่างน้อย 50 % หรือครึ่งประเทศ”

หากสถานการณ์ระบาดจริงไม่ไปตามฉากทัศน์ที่ ศบค. มอง เมื่อเกิดการระบาดระลอก 3 ในเดือนเมษายน 2564 ที่ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ อัลฟา ตามต่อด้วยเดลตา ทยอยเข้ามายึดพื้นที่ระบาดในไทย จนเกิดการระบาดใหญ่อย่างที่ไม่ใครคาดคิด

ประเทศไทยที่เคยมี “ผู้ติดเชื้อศูนย์ราย” กลายเป็นหนึ่งในสมรภูมิโควิดของโลก จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสู่หลักหมื่นต่อวันและเสียชีวิตกันวันละหลักร้อย ประกอบเกิดกระแสจากภาคส่วนต่างๆ ให้รัฐบาลจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ และเรียกหาวัคซีนชนิด mRNA ดังขึ้นเรื่อยๆ นายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. จึงปรับแผนฉีดวัคซีนใหม่เพิ่มเป็นฉีด 100 ล้านโดสในปีนี้ และเริ่มนโยบายหาวัคซีนทางเลือกและเปิดทางให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถจัดซื้อวัคซีนมาฉีดบริการลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง

กับโจทย์ใหม่ กระทรวงสาธารณสุขสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 10.9 ล้านโดส ตามด้วยสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์อีก 20 ล้านโดส และองค์การเภสัชกรรม ซึ่งดูแลการจัดหาวัคซีนทางเลือก เป็นคนกลางจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาให้กลุ่มโรงพยาบาลเอกชน 4 ล้านโดส และสภากาชาดไทยอีก 1 ล้านโดย รวมเป็น 5 ล้านโดส

สรุปแล้วปีนี้ไทยจะมีวัคซีนเข้ามาจาก 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกันคือ

(1) ส่วนที่รัฐบาลสั่งซื้อวัคซีนมาฉีดต้านโควิดดังนี้ วัคซีนแอสตร้าฯ 61 ล้านโดส วัคซีนซิโนแวค ประมาณ 19.4 ล้านโดส (ไม่รวมบริจาค) วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส รวมประมาณ 100.4 ล้านโดส

(2) วัคซีนบริจาคประกอบด้วย วัคซีนซิโนแวคจากจีน 1 ล้านโดส วัคซีนแอสตร้าฯ จากญี่ปุ่น 1.05 ล้านโดส วัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐฯ 1.5 ล้านโดส และวัคซีนแอสตร้าฯ จากอังกฤษอีก 4.1 แสนโดส รวมประมาณ 3.96 ล้านโดส

(3) วัคซีนทางเลือกนำเข้าโดยโรงพยาบาลเอกชน ผ่านองค์การเภสัชฯ วัคซีนโมเดอร์นา 4 ล้านโดส ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้าซิโนฟาร์ม 9 ล้านโดส และสภากาชาดไทยนำเข้าโมเดอร์นา 1 ล้านโดส รวม 14 ล้านโดส รวมทั้ง 3 ส่วนประมาณ 118.36 ล้านโดส

ในส่วนของวัคซีนบริจาคและวัคซีนทางเลือก วัคซีน 2 ส่วนนี้คงมาตามนัด แต่ในส่วนเป้าหมายจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดสของรัฐบาลจะบรรลุหรือไม่นั้น คงต้องไปลุ้นว่าในช่วง 5 เดือนจากนี้ไป บริษัทแอสตร้าฯ ต้องส่งมอบวัคซีนอีก 49.7 ล้านโดส (ณ กรกฎาคม ส่งมอบแล้ว 11.30 ล้านโดส ตามที่คุณทีกระบุในจดหมายเปิดผนึก) เพื่อให้ครบ 61 ล้านโดสหรือไม่ และวัคซีนไฟเซอร์จะมาตั้งแต่ต้นๆ ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ไม่ไปกระจุกเอาในช่วงปลายปีจนเกิดการชุลมุนในการกระจายและฉีด

แต่ถึงการส่งมอบวัคซีนในส่วนของของรัฐบาลจะผิดไปจากแผนบ้าง วัคซีนบริจาคและวัคซีนทางเลือกน่าจะพออุดช่องโหว่ และบรรเทาผลข้างเคียงจากอาการหาวัคซีนไม่ครบโดสไปได้บ้าง