ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อเปิดประเทศ เราต้องอยู่กับโควิด

เมื่อเปิดประเทศ เราต้องอยู่กับโควิด

29 ตุลาคม 2021


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

ที่มาภาพ : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/47298

การประกาศให้นักท่องเที่ยวจาก 10 ประเทศสามารถเดินทางเข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัว ก่อนปรับเพิ่มเป็น 45 ประเทศ และ 1 เขตบริหารพิเศษ ( ฮ่องกง ) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ระบุว่าประเทศเหล่านั้น “มีความเสี่ยงต่ำ” นัยของการประกาศครั้งนี้ คือการบอกกล่าวให้ทราบโดยทั่วกันทั้งคนไทยและต่างชาติว่า ประเทศไทยกำลังเลี้ยวกลับเพื่อกลับไปสู่ภาวะปกติ หลังเผชิญกับวิกฤติโควิดมาตั้งแต่ต้นปี 2563

เดิมรัฐบาลฝันจะเปิดประเทศตั้งแต่ปลายปีที่แล้วหลังมีผู้ติดเชื้อ “ศูนย์ราย” และไม่พบการติดเชื้อต่อเนื่องเกือบเดือนในช่วงเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องมิถุนายนปีที่แล้วจน พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯและรมว.กลาโหม ออกทีวีประกาศว่า “ตอนนี้เราเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว “(17 มิ.ย. 2563) แต่แผนเปิดเมืองครั้งนั้นต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด หลังเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา จากกรณีตลาดกลางกุ้งที่ สมุทรสาคร ตามด้วยการระบาดระลอก 3 จากกรณีผับฉาวย่านทองหล่อ (คริสตัลคลับ และ เอเมอร์รัลด์ผับ) ในเดือนเมษายนที่ผานมา และซ้ำด้วยการระบาดระลอก 4 ในเดือนมิถุนายน หลังโควิดกลายพันธุ์ตระกูล “เดลต้า” ยึดกรุงเทพฯ จนคนป่วยล้นโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตรายวันทำนิวไฮต่อเนื่องในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

แผนเปิดประเทศถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ นายกฯและรมว.กลาโหม ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 64 ประกาศว่า จะเปิดประเทศใน 120 วัน “ถึงเวลาแล้วครับที่เราต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกัน หากความเสี่ยงนั้นเราได้ประเมินอยางรอบครอบแล้ว” นายกฯกล่าวตอนหนึ่ง น่าสังเกตว่า นายกฯประกาศเปิดประเทศในขณะที่สถานการณ์ระบาด เริ่มทวีความรุนแรงก่อนพุ่งขึ้นจุดวิกฤติในช่วงเดือนสิงหาคม ที่ผู้ป่วยรายวันมากกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน จนผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลทำเอาระบบสาธารณสุขเฉียดล่มสลาย

เชื่อว่าการตัดสินใจเปิดประเทศของนายกฯ ในช่วงโควิดขาขึ้นมากจากหลักคิดที่พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯและรมว.กลาโหมกล่าวถึงเสมอๆถึง การอยู่ร่วมกับโควิด ผนวกกับ แรงกดดันทางการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงการบรรลุเป้าหมายในการจัดหาวัคซีนที่เป็นจุดอ่อนในการบริหารสถานการณ์โควิดของรัฐบาล และศบค. ในช่วงก่อนหน้าเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินครั้งนี้เช่นกัน

“ในส่วนของการเดินหน้าจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม จนถึงตอนนี้ยืนยันการจัดหา โดยมีการลงนามในสัญญาจอง หรือ สัญญาซื้อไปแล้ว 105.5 ล้านโดส ทำให้เกิดเป้าหมายที่เราตั้งไว้สำหรับปีนี้ โดยทั้งหมดส่งมอบภายในปีนี้ “นายกฯกล่าวคราวเดียวกับที่ประกาศเปิดประเทศ และยังย้ำด้วยว่า การเดินหน้าแผนการฉีดวัคซีนจะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชน 10 ล้านโดสต่อเดือน (ถ้าวัคซีนจัดส่งมาเพียงพอ)” …ประมาณต้นเดือนตุลาคมจะมีประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วจำนวน 50 ล้านคน”

อนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯและรมว.กลาโหม ประกาศวาระวัคซีนแห่งชาติ โดยเริ่มระดมฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน หลังตกเป็นเป้าโจมตีจากฝ่ายค้าน และฝ่ายต้านในช่วงก่อนหน้าว่ารัฐบาลไม่สามารถจัดหาวัดซีนมารับมือกับสถานการณ์ระบาดได้ทันท่วงที และรัฐบาลยกระดับการจัดหาและฉีดวัคซีน ด้วยการติดต่อวัคซีนเกือบทุกค่ายในโลก จนตัวเลขวัคซีนในมือล่าสุด รัฐบาลประกาศว่าสามารถจัดหามาฉีดให้ประชาชนปีนี้ประมาณ 178.2 ล้านโดส ซึ่งมากกว่าแผนเดิมที่วางแผนจัดหาราว 60 ล้านโดสสำหรับการฉีดในปีนี้

นอกจากนี้ไทม์ไลน์เปิดประเทศที่นายกฯ วางไว้บังเอิญเป็นจังหวะที่สอดคล้องกับ 2 สถานการณ์สำคัญที่มีส่วนหนุนการเปิดประเทศ คือ หนี่ง สถานการณ์โควิดระบาดได้ผ่านจุดสูงสุดมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่และเสียชีวิตลดลงต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนเศษที่ผ่าน ณ 27 ต.ค.64 ศบค.รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ อยู่ที่ 8,452 ราย และเสียชีวิต 57 คน (เทียบวันที่ 18 ส.ค.2564 ที่ผู้เสียชีวิตสูงสุด 312 คน) หรือผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ 534 ราย (เทียบวันที่ 15 ส.ค. 2564 ที่ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจสูงสุด 1,172 ราย) และ สอง เศรษฐกิจภาพใหญ่ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ตามที่แบงก์ชาติได้ออกมาประกาศ ซึ่งหมายความว่าจังหวะเศรษฐกิจช่วงต่อจากนี้ไปกำลังเข้าสู่โหมดฟื้นตัว

สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกมาคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ (2564) ใหม่เป็น บวก 0.2 % จากเดิมที่ปรับเป็น ติดลบ 0.5 % (ตั้งแต่เดือนสิงหาคม) โดยมีปัจจัยการฉีดวัคซีน การเปิดประเทศที่เร็วกว่ากำหนดเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังกล่าวก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้คือ 1. 3 % หลังรัฐบาล อัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 มาตรการร่วมไปกับมาตรการเปิดประเทศ ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้และข้ามไปเดือนมกราคมปีหน้า (2565)

โดย 4 มาตรการ เป็นชุดมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ อาทิ เติมเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เติมเงินให้ผู้ต้องการความเช่วยเหลือเป็นพิเศษ ขยายโครงการคนละครึ่งเฟส 3 จำนวน 28 ล้านสิทธิ ขยายวงเงินยิ่งใช้ยิ่งได้ รวม 4 มาตรการคิดเป็นเม็ดเงินรวม 54,000 ล้านบาท และยังมีมาตรการอุดหนุนการจ้างงานเอสเอ็มอีซึ่งตั้งกรอบวงเงินไว้ 37,500 ล้านบาทโดยประมาณ

แม้การเปิดเมืองมีผลบวกต่อภาคเศรษฐกิจแต่อีกด้านหนึ่ง การสำรวจความเห็นประชาชนเกี่ยวกับ “ความกังวลกับการเปิดเมือง เปิดประเทศเริ่ม 1 พ.ย.2564” หรืออนามัยโพลล์ โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 14-25 ต.ค.2564 พบว่าในพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัด มีความกังวล 92.4 % โดยเรื่องที่กังวลมากที่สุดได้แก่ เกิดการระบาดระลอกใหม่ 75.8 % รองลงมาประชาชนการ์ดตก และไม่ป้องกันตนเอง 49.7 % สถานที่ประกอบการ สถานที่ท่องเที่ยว ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด 45.10 % กลัวตนเองและครอบครัวติดเชื้อ 41 %

ผลโพลล์ดังกล่าวสอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิดของผู้คนทั่วๆไป เพราะการเปิดประเทศแม้ภาพใหญ่การติดเชื้อลดลง แต่อีกด้านยังเกิดคลัสเตอร์ย่อย ๆ กระจายในหลายภูมิภาค และยังไม่มั่นใจว่ามาตรการป้องกันชุดใหญ่ แบบครอบจักรวาลที่ กระทรวงสาธารณสุข เตรียมไว้จะรับมือไม่ให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งข้อกังวลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น จะเป็นโจทย์ให้รัฐบาล นายกฯ ศบค. กระทรวงสารณสุข ฯลฯ ที่ต้องหาจุดร่วมในการอยู่กับโควิด โดยผู้คนไม่ป่วยหนัก ถึงขั้นล้มตาย และเศรษฐกิจยังขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างไร