ThaiPublica > คอลัมน์ > สาเหตุที่ “ตะวันตก “ยังคว่ำบาตรรัสเซียไม่สำเร็จ

สาเหตุที่ “ตะวันตก “ยังคว่ำบาตรรัสเซียไม่สำเร็จ

30 มิถุนายน 2022


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/2022_Russian_invasion_of_Ukraine

สงครามยูเครนย่างเข้าสู่เดือนที่ห้าแล้วและยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นเสืยงปืน เมื่อ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมานั้น เชื่อกันว่า กองทัพรัสเซียที่มีอำนาจทางทหารเบอร์ต้นๆของโลก จะยึด เคียฟ ได้ภายใน 4 วัน แต่ท้ายที่สุดกองทัพรัสเซียเข้าไม่ถึงเมืองหลวงของ ยูเครน ติดอยู่รอบๆปริมณฑล หลังเจอกองทัพยูเครนต้านทาน อย่างเหนียวแน่น จน ปูติน ต้องปรับกลยุทธ์ ทำทีประกาศว่าจบสงครามเฟสแรกแล้ว ก่อนหันไปทุ่มกับภูมิภาค ดอนบาสในยูเครนตะวันตกแทน ( 26 มี.ค. 2565)

ไม่ต่างจาก กลุ่มพันธมิตรตะวันตก ที่นำโดย สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อังกฤษ แคนาดา ฯลฯ ที่หนุนยูเครนออกหน้าทำสงคราม ประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ด้วยมาตรการที่รุนแรงสุดในประวัติศาสตร์คล้อยหลังกองทัพรัสเซียบุกยูเครนไม่กี่วัน เริ่มต้นด้วยการปิดกั้นใม่ให้แบงก์ใหญ่รัสเซียเข้าถึงระบบการการชำระเงินระดับโลก SWIFT ซึ่งกระทบกับการค้าการลงทุนของรัสเซีย และโจมตีแบงก์ชาติรัสเซียด้วยการยึด สำรองระหว่างประเทศของรัสเซียราว 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายัดทรัพย์เศรษฐีรัสเซียที่ใกล้ชิด ปูติน รวมไปถึงกดดันให้เอกชนที่เข้าไปลงทุนในรัสเซียถอนการลงทุนจากรัสเซีย ฯลฯ โดยหวังว่าชุดมาตรการคว่ำบาครดังกล่าว จะสร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจรัสเซียและส่งแรงกระเพื่อมต่อเสถียรภาพทางการเมืองของปูตินในที่สุด

เมื่อค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงกว่า 30 % (รูเบิลอ่อนค่าสุด 151 รูเบิล/ดอลลาร์สหรัฐฯวันที่ 7 มี.ค.2565 )การเปลี่ยนแปลงดังกลาว ช่วยเติม ความเชื่อที่ว่าความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจในรัสเซีย จากมาตรการคว่ำมาตรของพันธมิตรตะวันตก เริ่มสั่นคลอนฐานอำนาจของปูตินแล้ว แต่การแก้เกมของแบงก์ชาติรัสเซีย ด้วยการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบโลกการเงินตะลึงจาก 9.5 % เป็น 20 % เพื่อรับมือกับ ค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าและเงินเฟ้อ เพิ่มสัดส่วนการค้าผ่านเงินหยวนของจีน มาตรการดังกล่าวช่วยลดแรงกระแทกจากการคว่ำบาตรของตะวันตกได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ปูติน ยังเอ่ยวาทกรรมสงครามด้วยการประกาศว่า พันธมิตรตะวันตกทั่วโลก รวม 48 ประเทศ เขตปกครองถือเป็น “ประเทศไม่เป็นมิตร” ของรัสเซียและประเทศเหล่านี้ต้องซื้อก๊าซจากรัสเซียด้วยรูเบิลเท่านั้น พร้อมกับใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่ราคาพลังงาน ทั้งก๊าซและน้ำมันใน ตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง และในฐานะผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซอันดับ 2 ของโลกมาเป็นจุดแข็งในการตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของกลุ่มพันธมิตรตะวันโดยเฉพาะอียูลูกค้าก๊าซรายใหญ่ของรัสเซีย ชุดมาตรการป้องกันที่รัสเซียขับเคลื่อนออกมาสามารถรับแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากมาตรการคว่ำบาตรจนค่าเงินรูเบิลกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทั่งปูติน ออกมาประกาศ เมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา ว่าการจู่โจมแบบสายฟ้าแลบของตะวันตกล้มเหลว

ทั้งนี้ค่าเงินรูเบิลเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาแข็งค่าสุดในรอบ 5 ปี อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 67 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

แน่นอนว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในรัสเซีย ณ เวลานี้แม้ดูอลหม่านจากการถอนตัวของทุนต่างชาติเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น แต่ยังไม่ใช่ ภาพอย่างที่ผู้นำตะวันตก มโนเอาไว้ก่อนหน้านี้ เพราะรัสเซียแม้เจ็บปวดจากเศรษฐกิจหายไปกว่า 11 % ตามคาดการณ์ของธนาคารโลก แต่ยังยืนหยัดอยู่ได้พร้อมกับเดินหน้าตอบโต้ทางการทหารต่อเนื่อง แล้วอะไรคือปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเบื้องต้นของรัสเซียต่อการต้านทานมาตรการคว่ำบาตรของกลุ่มพันธมิตรตะวันตก?

หากประมวลจากภาพใหญ่ นอกจากชุดมาตรการป้องกันที่รัสเซียขับเคลื่อนออกมาแล้ว ยังมีปัจจัยหนุนอื่น ๆ อีก อาทิรัสเซียมีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศมากกว่า 612,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ ปี 2564 ในจำนวนนี้เป็นทองคำ 131,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ถูกพันธมิตรตะวันตกอายัดไว้ราว 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เอลินา นาปิอูลลินา ผู้ว่าการแบงก์ชาติรัสเซีย บอกว่ารัสเซียมีสำรองในรูปของเงินหยวนและทองคำเพียงพอจำกัดผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร ของกลุ่มพันธมิตรตะวันตก โดยทุนสำรองฯในรูปเงินหยวน (ณ วันที่ 1 ม.ค. 2565 ) เพิ่มเป็น 17.1 % จากเดิม 12.8 % ขณะที่สำรองสกุลดอลลาร์สหรัฐฯลดจาก 21.7 % เหลือ 10.9 % ตามรายงานของอาร์ที่นิวส์

ปัจจัยถัดมา มาตรการคว่ำบาตรก๊าซของกลุ่มพันธมิตรตะวันตกโดยเฉพาะอียูใช้มาตรการแบบค่อยๆลดปริมาณสั่งซื้อแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่นกรณีจะแบนน้ำมันรัสเซ๊ย อียูประกาศลดปริมาณสั่งซื้อ 2 ใน 3 ทันที และ 90 % ในช่วงปลายปี เนื่องจากอียูพึ่งพาพลังงานรัสเซียมากจนไม่สามารถตัดขาดอย่างฉับพลันได้ทำให้รัสเซียยังมีเวลาเตรียมตัว

นอกจากนี้สมาชิกอียู 27 ประเทศ ไม่มีเอกภาพ แพคเกจมาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานที่เริ่มจากก๊าซมาถึงน้ำมัน ในประกาศมาตราการคว่ำบาตรรอบที่ 6 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 ที่พุ่งเป้าไปที่น้ำมัน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรัสเซียเหมือนอย่างที่นึก ตรงกันข้ามกับสร้างความอึดอัดกลุ่มประเทศพันธมิตรตะวันตกแทน เนื่องจากอียูซื้อก๊าซจากรัสเซียราว 40 % ของปริมาณการใช้รวม และหลายประเทศยังไม่พร้อมทำตามไทม์ไลน์ที่กำหนด ตัวอย่างชัดเจนคือ สโลวะเกีย ฮังการี ยอมทำตาม ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ของปูติน ที่ประกาศมาตรการ ซื้อก๊าซต้องจ่ายด้วยรูเบิลเท่านั้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีก๊าซใช้ในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง ซึ่งทำให้รายได้ของรัสเซียยังไม่หายไปอย่างฉับพลับจนส่งผลต่อการสงครามในยูเครน และยังเพิ่มความต้องการ รูเบิลในตลาดอีกด้วย

นอกจากนี้ ปูติน ยังฉวยโอกาสจากวิกฤติพลังงานอันเป็นผลพวงจากสงครามที่ตัวเองก่อขึ้น เสนอขายน้ำมันดิบราคาโปรโมชั่นให้กับประเทศที่เขาเรียกว่า ประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ กรณีอินเดีย คือตัวอย่างหนึ่งในเกมพลังงานระหว่างรัสเซียกับกลุ่มพันธมิตรตะวันตก อินเดียมีความสัมพันธ์อันดีทั้งกับรัสเซียและตะวันตกในฐานะสมาชิกกลุ่ม ควอด ( Quad ) กลุ่มจตุภาคี หรือ กลุ่มสี่สหาย ประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และ อินเดีย ตามบท อินเดีย น่าจะเทใจให้ ตะวันตก ร่วมประนานและคว่ำบาตรรัสเซีย

แต่อินเดียเป็นผู้บริโภคน้ำมันเบอร์ 3 ของโลก และราคาน้ำมันดิบที่พุ่งราวกับจรวด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนต์อยู่ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบราเรล หลังสงครามยูเครน ปะทุ ไม่เป็นผลดีกับรัฐบาลของนายกฯ นเรนทร โมดี เมื่ออินเดียได้รับข้อเสนอจากรัสเซียเสนอขายน้ำมันในราคามิตรภาพ ตามข่าวรายงานว่าให้ส่วนลดถึง 20 % อินเดียจึงใช้สิทธิสมาชิกกลุ่ม บริกส์ (BRICS) ซึ่งปูตินถือว่า ล้วนเป็นประเทศที่เชื่อได้ ประเดิมสั่งซื้อน้ำมันรัสเซียลอตแรก 3 ล้านบารเรล ท่ามกลางเสียงกระแอมจากพันธมิตรตะวันตกโดยเฉพาะหัวแถวของกลุ่ม ควอด โจ ไบเดน ประธานาธิบดี สหรัฐฯ

ทั้งนิ้สื่อต่างประเทศรายงานว่า ณ วันที่ 13 มิถุนายน ปีนี้อินเดียซื้อน้ำมันราคามิตรจากรัสเซียแล้ว 60 ล้านบารเรล เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าตัวเมื่อเทียบกับการนำเข้า 12 ล้านบารเรลในปีก่อนหน้า และรัสเซียก้าวขึ้นมาเป็นผู้ค้าน้ำมันให้อินเดียอันดับสองไปแล้วเวลานี้

จีนเป็นผู้ซื้อน้ำมันราคามิตรภาพรายใหญ่ของรัสเซียในช่วงนี้เช่นกัน จีนกับรัสเซียมีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งและเป็นมากกว่าประเทศน่าเชื่อถือเสียอีก โดยสื่อต่างประเทศประโคมข่าวหนักมากว่าในเดือนพฤษภาคที่ผ่านมา ยอดสั่งซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียของจีนพุ่งขึ้นจนแซงซาอุดิอาระเบีย ที่ครองอันดับหนึ่งผู้ค้าน้ำมันให้จีนมาช้านาน โดยการซื้อ-ขาย น้ำมันระหว่างจีนกับรัสเซียใช้เงินหยวนกับรูเบิลเป็นตัวกลางในการทำการค้า ทั้งนี้ธุรกรรมจากการซื้อ-ขาย ระหว่างสหายทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนระหว่างรูเบิลกับหยวนรายเดือนเพิ่ม 1,067 % หรือเกือบ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯนับแต่เกิดสงครามยูเครน ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

แน่นอนว่าเวลานี้มีอีกหลายประเทศที่ให้ความสนใจน้ำมันรัสเซียเป็นพิเศษ เช่น ศรีลังกา พม่า ลาว รวมทั้งประเทศไทย ที่ตัวแทนภาคธุรกิจเสนอให้รัฐบาลติดต่อซื้อน้ำมันดิบรัสเซียในราคามิตรภาพเพื่อนำมาบรรเทาสถานการ์ณน้ำมันแพงโดยไม่กล่าวถึงการคว่ำลาตรรัสเซียแต่ประการใด ตลาดใหม่เหล่านี้เป็นช่องทางชดเชยรายได้ที่หายไปได้ระดับหนึ่งและสามารถลดแรงกระแทกจากมาตรการคว่ำบาตรของกลุ่มพันธมิตรตะวันตกต่อเศรษฐกิจรัสเซียได้ไม่น้อย สะท้อนจากค่าเงินรูเบิลที่พลิกกลับมาแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา กระทั่งธนาคารกลางรัสเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ 11 % เช่นเดิมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

นอกจากนี้รัสเซียยังเร่งโปรโมทขั้วอำนาจเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมารับมือกับแนวรุกทางเศรษฐกิจของกลุ่มพันธิมิตรตะวันตกแบบหวังผลระยะยาว ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม บริกส์ ( BRICS ) ครั้งทื่ 14 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีสมาชิก 5 ชาติ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และ แอฟริกาใต้ ซึ่งปูตินระบุว่าล้วนเป็นประเทศที่เชื่อถือได้ โดยจีดีพี กลุ่มบริกส์รวมกันมีขนาดประมาณ 1 ใน 4 ของ จีดีพีโลก ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีนัยเพื่อประชันกับกลุ่ม จี 7 หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 7 ประเทศ

ปูตินกล่าวในที่ประชุมว่าสุดยอดบริกส์ตอนหนึ่งว่า รัสเซียกำลังปรับทิศทางการค้ามุ่งสู่กลุ่มประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งเขาหมายถึงสมาชิกกลุ่มบริกส์และกล่าวด้วยว่า กลุ่มบริสก์อยู่ระหว่างพัฒนาทางเลือกใหม่สำหรับชำระเงินระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องพึ่ง ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ยูโร ซึ่งเขาหมายถึงสมาชิกระหว่างประเทศชำระเงินด้วยสกุลเงินของตนดังที่ รัสเซียเริ่มทดลองกับจีน ปูตินยังระบุอีกด้วยว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา การค้าระหว่างรัสเซียกับสมาชิกกลุ่มบริสก์เพิ่มขึ้น 38 % แตะระดับ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามรายงานของสื่อต่างประเทศ

การขยายขนาดการค้าในประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์และจะพัฒนาระบบชำระเงินระหว่างประเทศขึ้นมา ไม่ได้ต่างจากการพัฒนาขั้วอำนาจเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา แนวทางดังกล่าวคงได้รับความสนใจจากหลายประเทศที่ต้องการลดอิทธิพล ดอลลาร์ฯ และ ยูโร ที่มีบทบาทในระบบชำระเงินโลกเวลานี้ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้รัสเซีย มีทางออกจากมาตรการคว่ำบาตรของกลุ่มพันธมิตรตะวันตกมากขึ้น

นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นยัง ส่งผลสะท้อนกลับไปยังกลุ่มพันธมิตรตะวันตกที่เผชิญปัญหาเงินเฟ้อซึ่งโยงไปสู่ปัญหาปากท้องเพิ่มความเครียดให้สังคมจนเกิดการประท้วง “ปัญหาหากท้อง “ในหลายประเทศในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า เช่น เบลเยียม กลุ่มแรงงานรถไฟในอังกฤษ ฯ เป็นต้น เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้นำในกลุ่มพันธมิตรตะวันตกต้องตัดสินใจทางการเมืองต่อปัญหารัสเซียอย่างระมัดระวังมากขึ้น

การประชุมกลุ่ม จี 7 ในฐานะกลุ่มประเทศทรงอิทธิพบทั้งกลุ่มครองสัดส่วน 37 % ของเศรษฐกิจโลก สัปดาห์ที่แล้วที่ประชุมสรุปว่า จะยกระดับมาตรการคว่ำบาตรรัยเซียโดยพุ่งเป้าไปการแบนทองคำ ๆ สินค้าส่งออกที่ทำเงินให้รัสเซียราว 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหวังจะตัดท่อน้ำเลี้ยงเพื่อทอนศักยภาพด้านสงครามของรัศเซีย ผู้นำกลุ่มประเทศพันธมิตรตะวันตกให้สัมภาษณ์สื่อว่า มาตรการแบนทองคำจะเป็นอาวุธหนักที่จะหยุดรัสเซียได้ แต่ถ้าพิจารณาจากกรณีแบน ก๊าซ มาจนถึง น้ำมันแล้ว การแบนทองคำคงอยู่ในสภาพไม่ต่างจาก ก๊าซและน้ำมันเวลานี้เช่นเดียวกัน

การที่กลุ่มพันธมิตรตะวันตก ยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน รัสเซียยังยิงจรวดใส่ยูเครนต่อเนื่อง ไม่ต่างจากการประกาศอย่างหนักแน่นของทั้ง 2 ฝ่าย ยูเครน กับ รัสเซีย ยังไม่ประสงค์คุยเรื่อง สันติภาพ เวลานี้ และยืนยันอีกด้วยว่า คู่กรณีรวมไปถึง ประเทศพ่อยก แม่ยก ทั้งหลาย ยังไม่คิด “….นับศพทหาร” ทั้งที่ร่างถมกองเป็นภูเขาแล้ว