จิตติศักดิ์ นันทพานิช
คลื่นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสร้างมหาเศรษฐีทางการเงิน มาทุกยุค ทุกสมัย ย้อนไปกว่าครึ่งศตวรรษก่อนหน้า ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลง (พ.ศ. 2488) แม้ช่วงเวลานั้นไฟสงครามยังไม่ดับ แต่กลุ่มพ่อค้าชาวจีนพากันรวมตัวตั้งแบงก์หลังเห็นโอกาสจากการค้าต่างประเทศที่เริ่มขยายตัวโดยเฉพาะการส่งออกข้าว แบงก์กรุงเทพเป็นหนึ่งในแบงก์ที่ก่อตั้งในห้วงเวลานั้น โดยผู้ถือหุ้นและกรรมการชุดแรกมี “ชิน โสภณพนิช” ร่วมลงทุนครั้งแรก 4 แสนบาทรวมอยู่ด้วย ชินเป็นลูกจีน เคยเรียนระดับมัธยมในเมืองจีน เมื่อเข้าสู่วงการค้า ชินได้ชื่อว่าเป็นพ่อค้าที่เฉลียวฉลาด ประสบความสำเร็จในการเก็งกำไรค้าวัสดุก่อสร้างและข้าว ที่ความต้องการพุ่งพรวดในช่วงหลังสงครามสิ้นสุด และขึ้นชื่อนักในเรื่องเก็งกำไรทองคำและเงินตรา
ปี 2495 ชินเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แบงก์กรุงเทพ (คนที่สอง) เวลานั้นอายุ 42 ปี ก่อนก้าวขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเวลาต่อมา ยุทธศาสตร์ในการทำแบงก์กรุงเทพมุ่งหน้าสู่ธนาคารเพื่อการค้าและการพาณิชย์ที่ชินวางไว้ตั้งแต่ตอนนั้นยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน ความสามารถด้านการบริหาร ผนวกกับการมองการณ์ไกลของชิน คือปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ธนาคารกรุงเทพในยุคของชินผงาดขึ้นมาเป็นแบงก์อันดับต้นๆ ของเมืองไทยในเวลาต่อมา แม้บางช่วงชินต้องหลบลมร้อนการเมืองไปปักหลักขยายธุรกิจที่ฮ่องกงหลังขั้วอำนาจการเมืองเปลี่ยนในปี 2505
เมื่อชินลงจากเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ในปี 2520 หลังทำหน้าที่กัปตันมา 25 ปี แบงก์กรุงเทพมีสินทรัพย์ 68,405 ล้านบาท ถือว่ามาไกลมากเมื่อเทียบกับปี 2495 ที่ชินเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ที่มีทรัพย์สินเพียง 113 ล้านบาท แบงก์กรุงเทพเติบใหญ่พร้อมกับอาณาจักรธุรกิจของโสภณพนิช ปัจจัยที่นำความมั่งคั่งขึ้นสู่ระดับ “เจ้าสัว” ของชิน นอกจากความเก่งกาจในเชิงธุรกิจแล้ว คนสนิทของชินเคยบันทึกไว้ว่า “แบงก์กรุงเทพเติบโตพร้อมกับการพัฒนาระบบทุนในประเทศไทย” นักวิชาการที่ศึกษาความมั่งคั่งของกลุ่มธุรกิจในช่วงเวลานั้นให้สมญาชินว่า “ธนราชัน” หรือ ราชาแห่งเงิน อาจกล่าวได้ว่าโลกการเงินในยุคของชินคือ ยุคของธนราชัน
ต่อมาในช่วงปลายทศวรรษ 2530 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตสองหลักต่อเนื่องจนถูกขนานนามว่า “ยุคทอง” และเป็นห้วงเวลาที่หลายคนมองเห็นโอกาสจากธุรกิจการเงินที่เกี่ยวโยงกับหุ้น พวกเขานำเสนอกลยุทธ์การขยายธุรกิจแบบทางลัดด้วยการเข้าเทกโอเวอร์กิจการ การสร้างมูลค่าหุ้นด้วยการบริหารราคาหุ้น พ่วงด้วยเครื่องมือการเงินแปลกใหม่เพื่อใช้ในการระดมทุน หรือเปลี่ยนกิจการที่เหลือแต่ซากให้กลายเป็นบริษัทที่หุ้นได้รับความนิยม ฯลฯ เทคนิคที่สร้างมูลค่าธุรกิจได้ราวกับมีเวทมนตร์ของนักการเงินในช่วงเวลานั้นทำให้พวกเขาถูกเรียกว่า “พ่อมดการเงิน”
ปิ่น จักกะพาก คือหนึ่งในพ่อมดการเงินที่โดดเด่นและมีเรื่องอื้อฉาวที่สุดอยู่ในคนเดียวกัน ปิ่นมาจากตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งของเมืองไทย เขาเก็บประสบการณ์ ทำแบงก์ในต่างประเทศ กลับมาเมืองไทยและเริ่มฟื้นฟูบริษัทเงินทุน (บง.) ยิบอินซอย กิจการของครอบครัว ในปี 2527 อีกสองปีถัดมา (ปี 2529) ปิ่นเข้าซื้อธุรกิจหลักทรัพย์ (บล.) โกลด์ฮิลล์ และเปลี่ยนชื่อเป็น บล.เอกธำรง และเปลี่ยนชื่อ บง.ยิบอินซอย เป็น บง.เอกธนกิจ ในปี 2530 ตอนนั้นปิ่นอายุ 37 ปี ในปีถัดมาปิ่นนำ “เอกธนกิจ” เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นและเริ่มต้น ขยายอาณาจักร “เอกธนกิจ” ด้วยการรุกเข้าครอบงำกิจการอย่างต่อเนื่องทั้งธุรกิจการเงิน หลักทรัพย์ ประกันภัย อุตสาหกรรม รวมไม่น้อยกว่า 8 บริษัท โดยมี “เอกธนกิจ” เป็นแกนกลางเข้าไปถือหุ้นในกิจการต่างๆ เพียง 5 ปี เอกธนกิจกลายเป็นธุรกิจการเงินแถวหน้าของเมืองไทย ในปี 2535 เอกธนกิจมีทรัพย์สินรวมเพิ่มเป็น 42,267 ล้านบาท จาก 2,000 ล้านบาทในปี 2529
ปิ่นเติมความฝันสร้างอาณาจักรการเงินด้วยการเข้าถือหุ้นในแบงก์เอเชียประมาณ 24% ผ่านการประมูลจากกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ก่อนล่าถอยหลังเจอแรงต้านจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมขณะนั้น (เอื้อชูเกียรติ ภัทรประสิทธิ์) ในปี 2537 (ช่วงเดือนสิงหาคม) ราคาหุ้นเอกธนกิจ FIN-1 ปั่นป่วนอย่างหนักหลังปิ่นระดมทุนครั้งใหญ่และมีข่าวลือว่อนเกี่ยวกับปิ่นมากมายในตลาดและเป็นจุดเปลี่ยนของอาณาจักรเอกธนกิจและตัวปิ่น ต้นปี 2540 นักลงทุนเทขายหุ้น FIN-1 อย่างหนักหลังมีข่าวลือ การซ่อนผลขาดทุนของเอกธนกิจสะพัดออกมาเป็นระลอกผนวกกับสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงนั้นเริ่มอึมครึม ปีเดียวกันนั้น ปิ่นพยายามทาบทามแบงก์ไทยทุนเข้ามาร่วมทุนแต่ดีลไม่สำเร็จ
วันที่ 27 มิถุนายน 2540 กระทรวงการคลังสั่งปิดไฟแนนซ์ชั่วคราว 16 แห่ง หนึ่งในนั้นมีเอกธนกิจรวมอยู่ด้วย หลังวิกฤติต้มยำกุ้งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ เมื่อแบงก์ชาติประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 แบงก์ชาติในยุคนั้นไล่ล่ากล่าวโทษผู้บริหารไฟแนนซ์จากธุรกรรมการเงินต้องสองสัยของพวกเขา ปิ่นกับผู้บริหารระดับสูงของเอกธนกิจถูกกล่าวโทษในข้อหาปล่อยสินเชื่อโดยไม่มีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกันแก่ลูกหนี้ 2 บริษัท 2,127 ล้านบาท ปิ่นหนีออกจากประเทศไทยปลายเดือนธันวาคม 2541 ตำรวจไทยประสานงานตำรวจอังกฤษรวบปิ่นได้ในอะพาร์ตเมนต์หรูแห่งหนึ่งในลอนดอน
ปิ่นสู้คดีเพื่อไม่ต้องถูกส่งกลับมาดำเนินคดีในไทย ศาลชั้นต้นตัดสินให้ส่งตัวปิ่นกลับมาดำเนินคดีในไทย ปิ่นอุทธรณ์ วันที่ 27 กรกฎาคม 2544 ศาลอุทธรณ์ตัดสินไม่ต้องส่งตัวปิ่นกลับมาดำเนินคดีในไทย จากนั้นเรื่องราวของปิ่นก็จางหายไปจากหน้าสื่อพร้อมกับการสิ้นสุดของยุคพ่อมดการเงิน
โลกการเงินมาถึงจุดเปลี่ยนระดับโกลาหลอีกครั้งเมื่อคลื่นลูกที่สี่นำมาสู่ยุคดิจิทัลที่นำการปฏิวัติมาสู่โลกการเงินด้วยเทคโนโลยี ความหมายของแบงก์และเงินตราต่างไปจากเดิม โลกดิจิทัลมีสกุลเงินของตัวเองโดยไม่ต้องรอรัฐบาลเป็นประกัน และสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มได้รับการยอมรับว่ามูลค่านั้นมีอยู่จริง
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 สื่อเศรษฐกิจหลายสำนักรายงงานข่าว บล.ไทยพาณิชย์เข้าเทกโอเวอร์ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ผู้นำศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ส่วนแบ่งตลาด 92%) ด้วยการเข้าซื้อหุ้น 51% จาก บริษัท (บ.) บิทคับ แคปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ของจำนวนหุ้นทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าราว 17,850 ล้านบาท ส่งผลให้ บ. บิทคับ แคปิตอลฯ กลายเป็น ยูนิคอร์น (บริษัทที่มีขนาดธุรกิจ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป) รายที่สองของไทย
บ.บิทคับ ออนไลน์ และ บ.แคบิทคับ แคปิตอลฯ ก่อตั้งโดยจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา วัย 31 ปี กับพวก จิรายุสจบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ทดลองทำงานการเงินในต่างประเทศช่วงสั้นๆ ก่อนตัดสินใจกลับบ้านมาเริ่มธุรกิจ คริปโทเคอร์เรนซี* ในปี 2557 ด้วยคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องโต๊ะทำงาน 1 ตัว บนร้านค้าเสื้อผ้าย่านประตูน้ำของพ่อแม่ ในช่วงบุกเบิกธุรกิจ จิรายุสเคยให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ ว่า ธุรกิจของเขาถูกหน่วยงานรัฐมองว่าเป็นแชร์ลูกโซ่บ้าง เป็นช่องทางฟอกเงินบ้าง แต่ความเชื่อของจิรายุสไม่เคยเปลี่ยนว่า คริปโทคือเงินตราแห่งอนาคต และทุก 50 ปีโลกการเงินจะเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งหนึ่ง
เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออก พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ในปี 2561 บ.บิทคับ ออนไลน์ เป็น 1 ใน 5 ที่ได้ใบอนุญาตประกอบการ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ ดิจิทัล ส่วน บ.บิทคับ แคปิตอลฯ ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลและที่ปรึกษาด้านบล็อกเชน อีก 3 ปีเศษต่อมา มูลค่าธุรกิจเพิ่มเป็นหมื่นล้าน ขึ้นทำเนียบยูนิคอร์นรายที่ 2 ของไทย และกลายเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์มุ่งสูการเป็นเทคคอมพานีของกลุ่มไทยพาณิชย์
มูลค่าธุรกิจกลุ่มบิทคับในมือของจิรายุส กับพวก ที่เพิ่มขึ้นเป็นหมื่นล้านในช่วงเวลาเพียง 7 ปี ลบสถิติอัตราเติบโตของธุรกิจการเงินในยุคของก่อนหน้าทั้งยุคธนราชันและพ่อมดการเงินลงอย่างสิ้นเชิง ซึ่งสะท้อนข้อเด่นของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มูลค่าสามารถเพิ่มขึ้นแบบตีลังกาก้าวกระโดด และเป็นจุดเริ่มของการสะสมทุนของนายทุนยุคใหม่อีกด้วย
*(พ.ร.ก.การประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2561 มาตรา 3 อธิบายความหมายคริปโทเคอร์เรนซีว่า คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบ หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล )