ThaiPublica > คอลัมน์ > รัฐบาลจะบอกลา “คนละครึ่ง” อย่างไร ?

รัฐบาลจะบอกลา “คนละครึ่ง” อย่างไร ?

31 พฤษภาคม 2022


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

บรรยากาศทั่วๆไปเวลานี้ให้ความรู้สึกว่า บ้านเรากำลังเข้าสู่ช่วงหลังโควิด หลังผจญกับไวรัส Sars-cov-2 ซึ่งแตกลูกหลายไปอีกหลายสายพันธุ์มาตั้งแต่ต้นปี 2563 หลังรัฐบาล ประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ร้านเหล้า โรงนวด ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการได้ (ตามเงื่อนไขที่กำหนด) ตัวเลขผู้ป่วยโควิดใหม่ลดลงต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขเล็ง ลดชั้นโรคโควิดจากโรคระบาดร้ายแรงเหลือแค่ โรคประจำถิ่นในระดับชั้นเดียวกับไข้หวัด และใกล้ๆจะประกาศวันถอดหน้ากาก เริ่มจากกลุ่มเสี่ยงน้อย ฯลฯ แม้ว่าแนวรบด้านสาธารณสุขมีแนวทางออกจากวิกฤติที่ค่อนข้างชัดเจน แต่ด้านสมรภูมิเศรษฐกิจ ดูเหมือนว่ารัฐบาลยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะวางน้ำหนักมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อต่อไปอย่างไรดี

ตลอด 2 ปีเศษ ๆ ที่ผ่านมารัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ ด้วยการเติมเงินเช้ากระเป๋าประชาชน ออกมาเป็นช่วง ๆ เพื่อประคองกำลังซื้อให้เป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเอาไว้

นับหนึ่งจาก ‘โครงการเราไม่ทิ้งกัน’ ในเดือน มีนาคม 2563 ด้วยการแจกเงินกลุ่มแรงงานอิสระที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลรายละ 5,000 บาท 3 เดือน มีผู้รับสิทธิราว 15.3 ล้านคน (เดิมจะแจก 2,000 บาท 3 ล้านคน) ตามด้วย ‘โครงการเราเที่ยวด้วยกัน’ ในเดือนมิถุนายน 2563 จากนั้นรัฐบาลภูมิใจเสนอ ‘มาตรการคนละครึ่ง’ ที่กลายเป็นมาตรการที่มีเสียงตอบรับดีมาก โดยคนละครึ่งเฟสแรกนั้น รัฐบาลจ่ายให้ผู้ร่วมโครงคนละ 3,000 บาท จำนวน 10 ล้านคน หลักการคือรัฐบาลจ่ายให้ครึ่งหนึ่งเมื่อซื้อสินค้าหรือบริการที่เข้าร่วมโครงการ ระหว่างเดือนกันยายน 2563 ถึงสิ้นปี 2563

ต่อมาในปี 2564 ซึ่งรัฐบาลตั้งความหวังไว้อย่างสูงว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติในช่วงปลายปี รัฐบาลเริ่มโหมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่ต้นปี เริ่มด้วย ‘โครงการเราชนะ’ ที่รวมการแจกเงิน ผ่านผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง และ ผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เอาไว้ด้วยกัน กระทรวงการคลัง สรุปผลกานดำเนินงานโครงการนี้ ณ 29 มิถุนายน 2564 (โครงการสิ้นสุด 30 มิ.ย. 2564) เอาไว้ว่ามีผู้ร่วมโครงการ 33.2 ล้านคน งบประมาณที่ใช้ขับเคลื่อน 272,805 ล้านบาท และในเดือนกันยายน 2564 รัฐบาลเยียวยาผู้ประกันตน 3 มาตราคือ 33 39 และ 40 ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมาตาการควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คนละ 5,000 บาท ตรงนี้ใช้งบฯไปราว 9 หมื่นล้านบาท

ก่อนปิดท้ายปีด้วยมาตรการเติมเงินชุดใหญ่ 9.2 หมื่นล้านบาท เช่นเติมเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคนละ 300 บาท 2 เดือน (พ.ย. – ธ.ค. 2564) ช่วย ผู้ป่วยติดเตียงคนละ 300 บาท 2 เดือนเช่นกัน รวมถึงเพิ่มเม็ดเงินผ่าน โครงการคนละครี่งเฟส 3 อีก ตอนนั้นโครงการคนละครึ่ง ที่รัฐกับประชาชนร่วมจ่ายคนละ 50/50 มีเสียงตอบรับดีและเพิ่มอำนาจการบริโภคได้อย่างมีนัยสำคัญ ก่อนที่รัฐบาลตัดสินใจเดินหน้าโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ต่อ รวมแล้วช่วงเวลานั้นรัฐบาลใช้งบประมาณเพื่อเยียวยาผ่าน ‘โครงการเราไม่ทิ้งกัน’ เราชนะ คนละครึ่ง เยียวยากลุ่มเกษตรกร กว่า 40 ล้านรายเป็นเม็ดเงินไม่น้อยกว่า 660,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการคนละครึ่งมาตรการเยียวยาที่โด่งดังสุดเนื่องจากโครงการเกี่ยวข้องกับผู้ซื้อและผู้ขายซึ่งเป็นรายย่อยนับล้านรายทั่วประเทศ โดยแต่ละโครงการใช้งบประมาณต่างกันตามสถานการณ์และความพร้อมด้านงบประมาณ คนละครึ่งเฟสแรก (ต.ค – ธ.ค. 2563) รัฐบาลแจก 3,000 บาท 10 ล้านคน กรอบงบประมาณ 30,000 ล้าน คนละครึ่งเฟส 2 (ม.ค.-มี.ค.2564 ) ขยายสิทธิจากเฟสแรกอีก 1.3 ล้านสิทธิ รอบนี้แจก 3,500 บาท กรอบงบประมาณ 22,250 ล้านบาท ตามด้วยโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 แจก 4,500 บาท 3 ระยะ (ก.ค.-ต.ค. และ ธ.ค.2564) จำนวน 28 ล้านสิทธิ กรอบงบประมาณ 93,000 ล้านบาท และคนละครึ่งเฟส 4 จำนวน 29 ล้านสิทธิ รอบนี้รัฐบาลเติมเงินให้เพียง 1,200 บาท (ก.พ.-เม.ย. 2565) ใช้งบประมาณ 34,800 ล้านบาท รวมโครงการคนละครึ่งทั้ง 4 เฟสที่ดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึง ต้นปี 2565 รัฐบาลใช้งบประมาณไปแล้วไม่น้อยกว่า 180,000 ล้านบาท

ก่อนที่โครงการคนละครึ่งเฟส 4 จะสิ้นสุดนั้น มีเสียงเรียกร้องถึงขั้นโหยหาจากภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เสนอให้รัฐบาลต่อโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ออกไปอีก โดยเสนอให้แจก 1,000-1,500 บาทต่อคน จำนวน 30 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 30,000-45,000 ล้านบาท

‘สนั่น อังอุบลกุล’ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศ อ้างว่าหากใส่เม็ดเงินจำนวนดังกล่าวเข้าไปจะมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 60,000-90,000 ล้านบาท หนุนให้จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ขยายตัว 0.63-0.65 % เช่นเดียวกับ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ อยากเห็นคนละครึ่งเฟส 5

แม้เป็นที่ยอมรับกันว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการเยียวยาในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมา คือปัจจัยสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านจากช่วงเศรษฐกิจติดลบ 6.2 % ในปี 2563 มาเป็นบวก 1.6 % ในปี 2564 รวมถึงไตรมาสแรกปีนี้ ที่เศรษฐกิจ ขยายตัว 2.2 % ทั้งที่ต้องเผชิญกั สถานการณ์โอมิครอน และสงครามยูเครน สารพัดมาตรการกระตุ้นที่รัฐบาลลำเลียงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ มีส่วนร่วมสำคัญเช่นเดียวกับการส่งออกที่ขยายตัวดีและการเร่งเปิดประเทศของรัฐบาล แต่ทว่าสถานการณ์เวลานี้เปลี่ยนไปแล้วต่างจากช่วงก่อนหน้าโดยเฉพาะช่วง พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงิน ฯ 5 แสนล้านบาท มีผลบังคับใช้ใหม่

สองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อพยายามคาดคั้นเอาคำตอบจาก ‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ‘ดนุชา พิชยนันท์’ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ รวมไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว. กลาโหม ว่าจะต่ออายุโครงการคนละครึ่งเฟส 5 หรือไม่ ? คำตอบมีดังนี้

พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงโครงการคนละครึ่งว่า มีข้อดีแต่ใช้เงินเยอะ (20 เม.ษ. 2565) อาคม รัฐมนตรีคลัง บอกว่า “ …ต้องประเมินกันต่อไปว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้สำหรับผู้มีรายได้ประจำ ผู้มีรายได้รายวันนั้นเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพิ่มขึ้นอย่างไร หมายความว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ความจำเป็นในการเข้าไปกระตุ้นตรงนี้ก็อาจจะต้องลดลงไป” (25 เม.ษ 2565) ดนุชา เลขาฯสภาพัฒน์ฯ บอกว่า “มาตรการลักษณะนี้ไม่ใช่มาตรการประจำที่ต้องทำทั้งปี แต่เป็นการทำตามช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีปัญหาเท่านั้น ซึ่งไม่อยากให้เกิดความคุ้นชิน และเป็นภาระงบประมาณมาก” (26 พ.ค. 2565) อนึ่งก่อนหน้านี้ เลขาฯสภาพัฒน์ฯได้ให้ข้อมูลว่างบฯสำหรับใช้ในการเยียวยาเหลืออีกประมาณ 48,000 ล้านบาท (ณ พ.ค. 2565) ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะใช้อัดฉีดส่วนใด ช่วงเวลาใดเพื่อให้ตรงเป้าหมาย รวมทั้งโครงการคนละครึ่ง

แม้คำตอบข้างต้นไม่ชี้ชัด เป็นการตอบโดยไม่ตอบ หากในความคลุมเครือกลับมีความชัดเจนเช่นกัน เมื่อพิจารณาจากคำตอบที่ว่า ยังมีความจำเป็นต้องกระตุ้นแบบเดิมต่อไปหรือไม่ ในสภาวะที่เศรษฐกิจดีขึ้น ถึงดีขึ้นอย่างช้าๆก็ตาม และส่วนที่สอง งบกระตุ้นก้อนสุดท้ายที่เหลืออยู่ต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่ ไม่ต่างจากการบอกลามาตรการคนละครึ่งอยู่ในที ส่วนจะบอกลากันอย่างไร วิธีไหน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และงบประมาณ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะประเมินผลข้างเคียง จากการถอนมาตรการกระตุ้นที่ใช้มากว่า 2 ปี จนกลายเป็น ปกติใหม่ไปแล้ว อย่างไรเป็นสำคัญ