ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > จากรื้อสัมปทานดิวตี้ฟรีถึงแผนกู้เงิน…ถาม AOT สวมหมวกใบไหน! “รัฐวิสาหกิจ หรือ บริษัทมหาชนจำกัด”?

จากรื้อสัมปทานดิวตี้ฟรีถึงแผนกู้เงิน…ถาม AOT สวมหมวกใบไหน! “รัฐวิสาหกิจ หรือ บริษัทมหาชนจำกัด”?

11 กันยายน 2022


“ชาญชัย” ถาม AOT สวมหมากอะไรกันแน่ กรณีแก้สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี-ลดรายได้ให้เอกชน อ้างเป็นอำนาจบอร์ดตาม กม.บริษัทมหาชนจำกัด-ไม่ต้องขออนุมัติ ครม.ตาม พ.ร.บ.วินัยการคลังฯ ส่วนกรณีกู้เงินเสริมสภาพคล่อง 25,000 ล้านบาท-รับโอน 3 สนามบินจากกรมท่าอากาศยานมาบริหารต่อ กลับอ้างเป็น “รัฐวิสาหกิจ-หน่วยงานของรัฐ” เสนอ ครม.ผ่านความเห็นชอบ

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 หลังจากที่ประชุม ครม. (คณะรัฐมนตรี) นัดแรก ที่มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม แทนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ “AOT” เข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทท่าอากาศยานไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานของรัฐ เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยาน 3 แห่ง นอกจากนี้ที่ประชุม ครม. ยังมีมติให้นำความเห็นของกระทรวงการคลังและหน่วยงานต่างๆ ไปประกอบการพิจารณา และรายงาน ครม. รับทราบก่อนที่จะดำเนินการต่อไป

  • “บิ๊กป้อม” รักษาการนายกฯ นัดแรก เซ็นแบ่งงาน — มติ ครม. ยกสนามบิน “อุดร-บุรีรัมย์-กระบี่” ให้ AOT บริหาร
  • นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้แสดงความเห็น โดยไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวและออกมาคัดค้าน รวมทั้งมีประเด็นข้อสังเกตฝากไปถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลเกี่ยวสถานะของบริษัทท่าอากาศยานไทยว่า ตกลงแล้วเป็นรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ หรือบริษัทมหาชนจำกัด?

    นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์

    หากย้อนหลังกลับไปในช่วงปี 2563 เกิดไวรัสโควิดฯ ระบาด บริษัทท่าอากาศยานไทยได้ออกมาตรการมาเยียวยาผู้ประกอบการในสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ยอมลดรายได้ของตนเองลงหลายหมื่นล้านบาท แก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เอกชน ส่งผลกระทบไปถึงเงินปันผลที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ (70%) จนทำให้นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องออกมาตั้งข้อสังเกตผ่านสื่อมวลชนว่า การดำเนินการของ ทอท. ดังกล่าวนี้ อยู่ในข่ายที่ต้องเสนอ ครม. อนุมัติก่อนดำเนินการ ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 หรือไม่?

    นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ออกมาชี้แจงสื่อมวลชนในขณะนั้น(วันที่ 15 ธันวาคม 2563) มีใจความสำคัญๆ ว่า “…การดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. ไม่มีกฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์กำหนดให้ต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐนตรี อันที่จะส่งผลกระทบ หรือก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ ดังนั้น กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และ/หรือ การประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. จึงมิใช่การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคต และ/หรือการดำเนินการก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ หรือของหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น การประกอบกิจการดังกล่าวจึงไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561…และการให้สิทธิเอกชนประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และ/หรือการประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. อยู่ภายใต้อำนาจของคณะกรรมการ ทอท. ตามข้อบังคับ 36 และตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด 2535 มาตรา 77 …”

    และภายหลังจาก ทอท. ปรับลดรายได้และแก้ไขสัญญาสัมปทาน เป็นไปตามคาด การดำเนินการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อรายได้และกำไรของ ทอท. อย่างหนัก จากรายงานข้อมูลการเงินของ ทอท. ประจำปี 2563 (ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2562 – 30 ก.ย. 2563) ทอท. มีรายได้จากการขายหรือให้บริการประมาณ 31,174 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (non-aeronautical revenue) ประมาณ 14,553 ล้านบาท เทียบกับปี 2562 ลดลงไป 13,219 ล้านบาท โดยรายได้ที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นค่าผลประโยชน์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในช่วงที่โควิดฯ ระบาด แต่ผลประกอบการโดยภาพรวมของปี 2563 ยังมีกำไรสุทธิประมาณ 4,320 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับปี 2562 กำไรลดลงไป 20,705 ล้านบาท

    ปี 2564 ทอท. ขาดทุนสุทธิ 16,322 ล้านบาท จนเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องตามมา แต่เนื่องจาก ทอท. มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม จึงต้องทำเรื่องเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติกรอบวงเงินกู้ตามกฎหมายหนี้สาธารณะ โดย ทอท. ได้ทำแผนการกู้เงินภายใต้กรอบวงเงิน 25,000 ล้านบาท ส่งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะบรรจุเข้าไปอยู่ในแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 เสนอให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564

    นายชาญชัยจึงฝากคำถามไปถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลอีกครั้ง ตอนแก้สัญญาสัมปทาน ยอมลดรายได้ให้เอกชน ส่งผลกระทบต่อรายได้ที่ต้องนำส่งคลังลดลง ก็อ้างว่าเป็นบริษัทจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด 2535 ไม่อยู่ในข่ายต้องเสนอ ครม. อนุมัติ ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 แต่พอจะไปรับโอน 3 สนามบินจากกรมท่าอากาศยานมาบริหาร หรือกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง 25,000 ล้านบาท กลับอ้างว่าเป็นรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ตกลงแล้ว ทอท. สวมหมวกอะไรกันแน่

    “ครม. ก็ชุดเดิม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตีว่าการกระทรวงคมนาคมก็คนเดิม ทำไมปล่อยให้เป็นแบบนี้?”

  • AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (4) : “อดีต รมว.คลัง” โต้ AOT กาง “เหตุ-ผล” แก้สัญญาดิวตี้ฟรี ทำไมต้องขอครม.อนุมัติ
  • AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (3): ถามดังๆ เมื่อ AOT สวม 2 หมวก เลือกปฏิบัติได้ตามพอใจหรือไม่!!
  • AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (2): จากเหตุการณ์ปิดสนามบินถึงโควิด-19 ขออนุมัติ ครม.หรือไม่
  • AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (1): กับคำถามต้องขออนุมัติ ครม.หรือไม่
  • “ทัวร์ลง AOT” บอร์ดฯปรับลดรายได้ขั้นต่ำ – เลื่อนนับอายุสัมปทานดิวตี้ฟรี
  • AOT เลื่อนนับสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์ “กลุ่มคิง เพาเวอร์” เริ่ม เม.ย.65