ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กป้อม” รักษาการนายกฯ นัดแรก เซ็นแบ่งงาน — มติ ครม. ยกสนามบิน “อุดร-บุรีรัมย์-กระบี่” ให้ AOT บริหาร

“บิ๊กป้อม” รักษาการนายกฯ นัดแรก เซ็นแบ่งงาน — มติ ครม. ยกสนามบิน “อุดร-บุรีรัมย์-กระบี่” ให้ AOT บริหาร

30 สิงหาคม 2022


พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ครม. นัดแรก
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

“ประวิตร” รักษาการแทนนายกฯนัดแรก เซ็นแบ่งงานรองนายกฯ -ตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า” รับมือน้ำท่วม-ฝาก “คลัง-พลังงาน-มหาดไทย” คิดมาตรการหนุนใช้ “โซลาร์รูฟทอป”- มติ ครม. ยกสนามบิน “อุดร-บุรีรัมย์-กระบี่” ให้ AOT บริหาร-อนุมัติ 1,050 ล้าน จ่ายเบี้ยเสี่ยงภัย “อสม.- อสส.”-โยกข้ามห้วย “วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” นั่งปลัดดีอีเอส

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประวิตร ได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ และตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกรัฐมนตรี

ตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า” รับมือน้ำท่วม

นายอนุชา กล่าวถึงข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เรื่องสถานการณ์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมฉับพลันว่า “ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับฤดูฝน ดูแลและช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด พร้อมทั้งได้ประชุมกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือ ตามแนวทาง 13 มาตรการ เพื่อรับมือฤดูฝนและสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ พลเอกประวิตร ได้เห็นชอบให้ตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าใน 4 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก ชัยนาท อุบลราชธานีและสุราษฎร์ธานี และเน้นย้ำให้กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะเกิดน้ำท่วม ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเชิงรุกป้องกันน้ำท่วมตามมาตรการที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติเห็นชอบ โดยย้ำเรื่องความรวดเร็วและกระจายความช่วยเหลือให้ทั่วถึง รวมทั้งพิจารณาปรับแผนให้ทันสถานการณ์ เพื่อลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ห่วงหนี้ครัวเรือน สั่งคลัง หาทางช่วยลูกหนี้

นายอนุชา กล่าวต่อว่า พลเอก ประวิตรมอบหมายให้กระทรวงการคลัง แก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน โดยให้แยกสถานะของลูกหนี้ประเภทต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และแก้ปัญหาได้ตรงจุด

ฝาก “คลัง-พลังงาน-มหาดไทย” คิดมาตรการหนุนใช้ “โซลาร์รูฟทอป”

นายอนุชา กล่าวต่อว่า พลเอก ประวิตร ยังมอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้หารือแนวทางส่งเสริมการใช้โซลาร์รูฟทอป หรือ การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก

รักษาการแทนนายกฯนัดแรก เซ็นแบ่งงานรองนายกฯ

อย่างไรก็ตาม นายอนุชา ได้กล่าวถึง ‘อำนาจและหน้าที่’ ของพลเอก ประวิตร ว่า “วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติ มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีในกรณีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ หรือ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ หรือ ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง” เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้น รายละเอียด ดังนี้

    ส่วนที่ 1 คณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีดังนี้ ให้พลเอก ประวิตร วงส์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ และให้รองนายกรัฐมนตรีท่านอื่น เป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ดังนี้ นายวิษณุ เครืองาม, นายอนุทิน ชาญวีรกุล, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, นายดอน ปรมัตถ์วินัย และนายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์

    ทั้งนี้ ในการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่ในการเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการ หรือ องค์กรใด แต่หากรองนายกรัฐมนตรีในลำดับต่อไป เป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในเรื่องการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณที่อยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับความเห็นชอบจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีก่อน

    ส่วนที่ 2 เป็นการมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี กรณีที่รองนายกรัฐมนตรีได้รับมอบหมาย และมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ หรือ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ หรือ พ้นจากตำแหน่ง ให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งฯ ในคราวนี้ด้วย
    ส่วนที่ 3 เป็นการมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี กรณีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ หรือ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ หรือ ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างอื่น

นายอนุชา กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรีชุดนี้ยังมีอำนาจเต็มทุกประการ ไม่ใช่ ครม. รักษาการ นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตามประกาศพระบรมราชโองการวันที่ 10 กรกฎาคม 2562

อ่านรายละเอียด คำสั่งแบ่งงานรองนายกรัฐมนตรี เพิ่มเติม

มติ ครม. มีดังนี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล , ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงข่าวการประชุม ครม.
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

จัดงบฯ 5,283 ล้าน ซ่อมถนน-ขุดสระน้ำ-คลอง 69 จว.

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 5,282,570,100 บาท เพื่อก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมถนน และพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย หรือเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนพื้นที่ใน 69 จังหวัด จำนวน 2,086 โครงการ เพื่อเร่งฟื้นฟูสิ่งก่อสร้าง ถนน และพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ของ อปท. ให้สามารถกลับมาใช้งานได้ปกติและมีประสิทธิภาพโดยเร็ว โดยครอบคลุมทั่วประเทศทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ หน่วยรับงบประมาณ ประกอบด้วย

  • องค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 12 จังหวัด 414 โครงการ วงเงิน 528,498,100 บาท
  • เทศบาลนคร จำนวน 1 จังหวัด 2 โครงการ วงเงิน 20,989,000 บาท
  • เทศบาลเมือง จำนวน 10 จังหวัด 19 โครงการ วงเงิน 67,192,100 บาท
  • กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 68 จังหวัด 1,651 โครงการ วงเงิน 4,665,890,900 บาท
  • เทศบาลตำบล จำนวน 58 จังหวัด 430 โครงการ วงเงิน 1,230,243,800 บาท
  • องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 68 จังหวัด 1,221 โครงการ วงเงิน 3,435,647,100 บาท
  • วงเงินงบประมาณ จำแนกตามภาค ดังนี้

  • ภาคเหนือ จำนวน 9 จังหวัด 183 โครงการ วงเงิน 346.13 ล้านบาท
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 19 จังหวัด 883 โครงการ วงเงิน 1,884.28 ล้านบาท
  • ภาคกลาง จำนวน 16 จังหวัด 580 โครงการ วงเงิน 1,146.00ล้านบาท
  • ภาคตะวันออก จำนวน 7 จังหวัด 52 โครงการ วงเงิน 142.02 ล้านบาท
  • ภาคตะวันตก จำนวน 5 จังหวัด 65 โครงการ วงเงิน 325.90 ล้านบาท
  • ภาคใต้ จำนวน 13 จังหวัด 323 โครงการ วงเงิน 1,438.24 ล้านบาท
  • นายอนุชา ได้ยกตัวอย่างโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในครั้งนี้จะเป็นโครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมถนน และพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำที่อยู่ในความร่วมรับผิดชอบของ อปท. อาทิ ก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ซ่อมแซมถนนลาดยางมะตอย ปรับปรุงผิวจราจรจากลูกรังเป็นถนนหินคลุกบดอัด ซ่อมแซมไหล่ถนน ขุดลอกคูคลองและขุดสระน้ำเป็นต้น ซึ่งที่ประชุม ครม. เน้นย้ำ ให้จัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของราชการและประชาชนด้วย

    อนุมัติ 1,050 ล้าน จ่ายเบี้ยเสี่ยงภัย “อสม.- อสส.”

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบกลาง 1,050.31 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชยและค่าเสี่ยงภัยสำหรับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1,039,729 คน และ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จำนวน 10,577 คน รวมทั้งสิ้น 1,050,306 คน ในอัตรา 500 บาท/คน/เดือน ระยะเวลาเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 ภายใต้ โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชยและค่าเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ในชุมชน

    จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้อสม.และอสส. ร่วมดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในชุมชน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยมีการดำเนินงาน เช่น การให้ความรู้ในการป้องกันและดูแลสุขภาพตนเองแก่ประชาชน การเฝ้าระวังและคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การเคาะประตูบ้านต้านภัยโควิด-19 ร่วมทีมแพทย์ ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 แยกจากรักษาตัวในชุมชน (CI) และแยกกักรักษาตัวที่บ้าน (HI) แนะนำกลุ่มเป้าหมายตรวจ ATK และรายงานผลผ่านแอพพลิเคชั่น “สมาร์ท อสม.” รวมทั้ง เชิญชวนกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีโรคประจำตัวมารับวัคซีนเข็มที่ 1/2/3 ด้วย ทั้งนี้รัฐบาลได้เคยให้ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยแก่อสม. และ อสส.ในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค โควิด-19 ในชุมชนไปแล้วก่อนหน้านี้เป็นระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-มีนาคม 2565 แล้วจำนวนเงิน 3,150.92 ล้านบาท

    ยกระดับข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2561 ได้มีมติให้ทบทวนและยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีของอาเซียนภายในปี 2565 ให้มีความทันสมัยตามรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน และความตกลงเขตการค้าเสรีที่อาเซียนทำกับประเทศคู่เจรจา รวม 5 ฉบับ ประกอบด้วย ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ดังนั้น ทางกระทรวงพาณิชย์จึงได้เตรียมการเจรจาเพื่อยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียนและอาเซียนกับคู่เจรจา โดยจัดทำร่างเอกสารจำนวน 3 ฉบับ เสนอ ครม. พิจารณาในวันนี้ ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบร่างเอกสารการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน และอาเซียนกับคู่เจรจา รวม 3 ฉบับ ที่จะมีการจัดประชุมที่เกี่ยวข้องภายในเดือนกันยายน 2565 โดยร่างเอกสารแต่ละฉบับมีสาระสำคัญ ดังนี้

    ฉบับแรก ร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีของไทย ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียนและอาเซียนกับคู่เจรจา มีสาระสำคัญเป็นกรอบการเจรจาของไทยที่ใช้สำหรับจัดทำ ทบทวน หรือยกระดับความตกลงต่างๆ ภายในอาเซียนและอาเซียนกับคู่เจรจามีเนื้อหาครอบคลุม 25 หัวข้อ ซึ่งจะใช้แทนกรอบการเจรจาเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2552 ที่มี 15 หัวข้อเดิม และเพิ่มเติมใหม่ 10 หัวข้อ อาทิ หัวข้อเดิม เช่น 1.การเข้าสู่ตลาดการค้าสินค้า ให้ลดอุปสรรคด้านศุลกากร 2.มาตรการปกป้องและมาตรการเยียวยาด้านการค้า กำหนดมาตรการปกป้องหรือเยียวยาภาคเกษตร 3.การลงทุน ให้ลดมาตรการทางกฎหมาย 4.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ส่วนหัวข้อเพิ่มเติม 10 หัวข้อ เช่น 1.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เช่น ให้มีกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ที่สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตให้มากที่สุด 2.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกที่สอดคล้องกับหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) 3.การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา เช่น อำนวยความสะดวกให้บุคลากรมีฝีมือสามารถเข้าไปทำงานในประเทศภาคีได้ 4.วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) เช่น ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายธุรกิจของ MSMEs 5.อื่นๆ เช่น ส่งเสริมความร่วมมือในสาขาอื่น เช่น การต่อต้านคอร์รัปชั่น การส่งเสริมสิทธิของเพศภาวะ กลุ่มเปราะบาง ชุมชนท้องถิ่น และให้สามารถเจรจาในเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อไทยได้

    ฉบับที่ 2 ร่างเอกสารข้อเสนอแนวทางการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน เป็นร่างเอกสารที่กำหนดแนวทางการเจรจายกระดับความตกลงการค้า เพื่อให้ความตกลงมีลักษณะครอบคลุมทั้งรูปแบบการค้าดั้งเดิมและประเด็นใหม่ในปัจจุบัน เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกมากขึ้น และมีพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงความตกลงหัวข้อเดิมที่มีอยู่ให้ทันสมัย อาทิ 1.มาตรการที่มิใช่ภาษี เช่น จะไม่ใช้การจำกัดปริมาณกับสินค้านำเข้า/ส่งออก 2.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น พิธีการศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับการค้าแบบไร้กระดาษ

    ฉบับที่ 3 ร่างเอกสารขอบเขตการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน – อินเดีย เป็นการปรับเนื้อหาตามหัวข้อต่างๆ ของความตกลงให้ทันสมัยขึ้น รวมทั้งปรับกฎระเบียบให้อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เช่น 1.การลดและยกเลิกมาตรการทางภาษีศุลกากรและที่มิใช่ภาษี 2.กฎว่าด้วยถิ่นกาเนิดสินค้า 3.พิธีการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4.มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 5.อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า นอกจากนี้ มีหัวข้อหารือใหม่เพิ่มเติม เช่น 1.การเยียวยาทางการค้า ให้เป็นไปตามพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก โดยใช้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียนกับประเทศอื่น (ASEAN+1) เป็นแนวทางในการเจรจา และ 2. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแนวทางเตรียมความพร้อมและเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการยกระดับความตกลงไว้แล้ว อาทิ 1. การเตรียมความพร้อมภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น สร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อปรับตัวและใช้ประโยชน์จากความตกลง ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม และลดต้นทุนการผลิตที่ไม่จำเป็น พัฒนาด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและระบบอิเล็กทรอนิกส์ ปรับปรุงกฎระเบียบที่จะอำนวยความสะดวกต่อการประกอบธุรกิจ เป็นต้น 2. พัฒนาระบบเตือนภัยทางการค้า (Trade Monitoring System) เพื่อเฝ้าระวังและเตือนภัยความผิดปกติทางการค้า และให้สามารถใช้มาตรการปกป้องกรณีที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมากจนเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศได้ทันท่วงที

    เห็นชอบความร่วมมือการค้า “ไทย-มองโกเลีย”

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงการต่างประเทศแห่งมองโกเลีย และเห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย – มองโกเลีย ครั้งที่ 1 ซึ่งประเทศมองโกเลียเป็นภาพจัดประชุมระหว่างวันที่ 5 – 6 กันยายน 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ในการส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมถึงการหารือในประเด็นอื่นๆ ที่สนใจร่วมกัน ซึ่งการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้ากำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยประธานมาจากผู้แทนที่ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกัน ส่วนกรรมการจะเป็นผู้แทนภาครัฐและเอกชนจากทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากสองประเทศ ทั้งนี้ ร่างบันทึกความเข้าใจมีผลบังคับใช้ 5 ปี และต่ออายุ 5 ปีอัตโนมัติ เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรต่ออีกฝ่าย

    สำหรับท่าทีไทยที่ใช้เป็นกรอบหารือในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย – มองโกเลีย ครั้งที่ 1 ครอบคลุมความร่วมมือหลายมิติ อาทิ

      1.การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ไทยจะขอให้มองโกเลียร่วมผลักดันมูลค่าการค้ารวมระหว่างสองประเทศ ตั้งเป้า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2570 เพื่อให้สอดรับกับแผนความร่วมมือระยะ 5 ปี ไทย – มองโกเลีย (พ.ศ.2565 – 2570) ใน 5 สาขา ได้แก่ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม การเกษตร และความร่วมมือทางวิชาการ
      2.ไทยจะผลักดันการจัดทำความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างความตกลงร่วมกับมองโกเลีย
      3.ไทยเสนอให้มีการทบทวนอนุสัญญา เพื่อยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงภาษีในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้ร่วมกับมองโกเลีย เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในปัจจุบัน เช่น กรอบความร่วมมือ Inclusive framework ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีและสร้างความเป็นธรรมในการเก็บภาษีแก่ประเทศต่างๆ เป็นต้น
      4.ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อาทิ (1) ด้านการเกษตร : มองโกเลียจะจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการเกษตรกับไทย รวมทั้งพิจารณาเปิดตลาดนำเข้าสินค้าศักยภาพของแต่ละฝ่าย ซึ่งข้อมูลในปี 2564 สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากมองโกเลีย คือ สินแร่โลหะ ส่วนสินค้าส่งออกไปมองโกเลีย ได้แก่ กระดาษ ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เป็นต้น (2) ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ไทยจะเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างอูลานบาตาร์ (เมืองหลวงของมองโกเลีย) – ภูเก็ต (3) ด้านการท่องเที่ยว ไทยจะส่งเสริมให้คนมองโกเลียมาเที่ยวไทยและส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (4) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มองโกเลียต้องการให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในกิจการรีไซเคิลขยะและพลังงานหมุนเวียน และ (5) ด้านความร่วมมือทางวิชาการ ไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่มองโกเลีย เช่น การฝึกอบรมบุคลากรด้านเกษตร สาธารณสุข เป็นต้น

    “การประชุมครั้งนี้ จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับมองโกเลีย รวมถึงขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์ในการนำเข้าแร่ธาตุ เช่น ทองแดง ถ่านหิน ดีบุก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งมองโกเลียยังจะเป็นประตูบานใหม่ที่จะเปิดสู่ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศยูเรเซียได้” ดร.รัชดากล่าว

    ตั้งศูนย์ฝึกอบรมศุลกากรโลกที่บางคอแหลม

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เกี่ยวกับการจัดทำบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งสถาบันวิทยาการศุลกากรเป็นศูนย์ฝึกอบรมระดับภูมิภาคขององค์การศุลกากรโลก (World Customer Organization (WCO) Regional Training Center: RTC) ระหว่างกรมศุลกากรและองค์การศุลกากรโลก เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมระดับภูมิภาคขององค์การศุลกากรโลก (บันทึกความเข้าใจฯ) และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายให้เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ

    สำหรับสาระสำคัญเป็นการยอมรับร่วมกัน เกี่ยวกับการดำเนินการจัดตั้งสถาบันวิทยาการศุลกากร ซึ่งตั้งอยู่ ณ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์ฝึกอบรมระดับภูมิภาคขององค์การศุลกากรโลก โดยใช้อาคารศูนย์ฝึกอบรม และอาคารที่พักพร้อมระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในภายในสถาบันวิทยาการศุลกากร เพื่อดำเนินกิจกรรมในด้านการพัฒนาสมรรถนะ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านศุลกากรของบุคลากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ แลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาบุคลากร ยกระดับบทบาทของกรมศุลกากรบนเวทีระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับองค์การศุลกากรโลก ในด้านการพัฒนาขีดสมรรถนะของบุคลากรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น

    โดยที่ประชุม WCO Asia Pacific Regional Heads of Customs Administrations Conference ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2565 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้มีมติรับรองการจัดตั้งสถาบันวิทยาการศุลกากรเป็นศูนย์ฝึกอบรมระดับภูมิภาคขององค์การศุลกากรโลกอย่างเป็นทางการแล้วซึ่งถือเป็นศูนย์ฝึกอบรมระดับภูมิภาคขององค์การศุลกากรโลกลำดับที่ 9 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

    นางสาวทิพานัน กล่าวอีกว่า ศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าว มีจำนวน 4 ชั้น มีพื้นที่ประมาณ 5,000 ตารางเมตรสามารถรองรับผู้เข้าอบรมได้ประมาณ 500 คน รวมถึงมีอาคารพักอาศัยสำหรับผู้เข้าอบรมตลอดจนมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีความพร้อมรองรับการจัดกิจกรรม หรือ โครงการฝึกอบรมสำหรับบุคลากรจากหน่วยงานศุลกากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

    นอกจากนี้ กรมศุลกากรได้รับการทาบทามจากผู้แทนองค์การศุลกากรโลกในการเป็นเจ้าภาพ Meeting of Heads of the WCO Asia / Pacific Regional Training Centers ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างผู้แทนศูนย์ฝึกอบรมระดับภูมิภาคฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ทั้งหมดนี้ การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในฐานะศูนย์ฝึกอบรมระดับภูมิภาคฯ จะสามารถเริ่มต้นได้เมื่อเสร็จสิ้นการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ อย่างเป็นทางการ

    ยกสนามบิน “อุดร-บุรีรัมย์-กระบี่” ให้ AOT บริหาร

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานของรัฐเข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลแลบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์และท่าอากาศยานกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยท่าอากาศยานอุดรธานี จะมีบทบาทเป็นท่าอากาศยานหลัก ทำหน้าที่เป็น Gateway ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สามารถตอบสนองความต้องการในการเดินทางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดย ทอท.มีแนวทางการพัฒนาให้ท่าอากาศยานอุดรธานีเป็นท่าอากาศยานระดับภาค และท่าอากาศยานศูนย์กลางรองในอนาคต ซึ่งจะสามารถพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงร่วมกับท่าอากาศยานบุรีรัมย์ที่ทำหน้าที่เป็นท่าอากาศยานรองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีปัจจัยมาจากศักยภาพของทำเลที่ตั้ง ความพร้อมด้านกายภาพและห้วงอากาศ และนโยบายสนับสนุนจากทางภาครัฐ ด้านการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง

    ขณะที่ท่าอากาศยานกระบี่นั้น จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดที่มีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ตั้งอยู่กึ่งกลางของจังหวัดฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย สามารถตอบสนองนโยบายด้านการท่องเที่ยวได้ และท่าอากาศยานกระบี่ยังสามารถเป็นท่าอากาศยานที่ช่วยบรรเทาปัญหาความแออัดของท่าอากาศยานภูเก็ต ที่มีข้อจำกัดด้านการขยายขีดความสามารถในการรอบรับปริมาณการจราจรทางอากาศทั้งภาคพื้นและภาคอากาศในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และท่าอากาศยานกระบี่ยังสามารถรองรับความต้องการเดินทางในรูปแบบอากาศยานส่วนตัวที่มีมากขึ้นในอนาคต

    ทั้งนี้ ทอท.ได้กำหนดแผนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง มีกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 9,199.90 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงา เปิดให้บริการในปี 2574) หรือ วงเงินลงทุนรวม 10,471 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ) แยกเป็น ท่าอากาศยานอุดรธานี กรอบวงเงินลงทุน 3,523 ล้านบาท ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ 460 ล้านบาท และท่าอากาศยานกระบี่ กรณีท่าอากาศยานพังงาเปิดให้บริการในปี 2574 วงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 5,216 ล้านบาท และกรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ วงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 6,487 ล้านบาท

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า จากการวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวภายในปี 2567 หลังจากที่ผ่านมาได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์โควิด 19 ประกอบกับนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และการส่งเสริมการตลาดที่เน้นการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน จึงได้มีการทบทวนให้ ทอท.เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานแทนทย.จากเดิม 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานตาก และท่าอากาศยานชุมพร เปลี่ยนเป็น 3 แห่ง คือท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ เพื่อความเหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์ตามแนวคิดการพัฒนาโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศในภาพรวมและการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Cluster ด้านการขนส่งทางอากาศ

    “การให้ทอท.เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ แทน ทย.พบว่า จะเป็นการสนับสนุนให้มีการกำหนดบทบาทท่าอากาศยานของประเทศและการจัดรูปแบบการพัฒนาระบบท่าอากาศยานของประเทศในรูปแบบ Cluster ด้านการขนส่งทางอากาศ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย โดยจะเป็นการเชื่อมต่อการขนส่งทางอากาศภายใต้โครงข่ายระบบท่าอากาศยานภายในประเทศไปสู่การเชื่อมโยงโครงข่ายระบบท่าอากาศยานระหว่างประเทศต่อไป” นางสาวไตรศุลีกล่าว

    ทส.แจงความคืบหน้าโครงการปลูกป่าชายเลน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยได้กล่าวถ้อยแถลงยืนยันว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในหรือก่อนปี 2065 และมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดเตรียมการดำเนินงานตามภารกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ตามถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีในการประชุมดังกล่าว

    ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้จัดทำโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2574 เป้าหมายเนื้อที่ 300,000 ไร่ ในพื้นที่ 23 จังหวัด ดำเนินการในปี 2565 เนื้อที่ 44,712 ไร่ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนและชุมชนชายฝั่งเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ และส่งเสริมให้มีการปรับตัวเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เป็นการรองรับภารกิจข้อตกลงในการมีส่วนร่วมและมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต และยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าชายเลนที่ถูกบุกรุกหรือเสื่อมโทรมให้กลับคืนสภาพเป็นป่าชายเลนที่มีระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า โครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 นอกจากนี้ยังจะมีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันสั้น มีการบำรุงรักษาต่อเนื่อง 10-30 ปี สามารถประหยัดงบประมาณภาครัฐไม่น้อยกว่า 600-700 ล้านบาทต่อปี และการมีระบบนิเวศป่าชายเลนที่สมบูรณ์ จะเกิดการสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชุมชนชายฝั่ง ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ในการจับสัตว์น้ำ เก็บหาสมุนไพร การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และนิเวศบริการอื่นๆได้ตามวิถีชุมชนปกติ

    นอกจากนี้คาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการปลูกป่าชายเลน สามารถใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่างๆ ในระบบทะเบียนของ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปสนับสนุนให้ชุมชนใช้ในการจัดการทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งในพื้นที่ ขณะเดียวกันยังเป็นการเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐในการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนให้เกิดความยั่งยืน และประเทศไทยจะมีฐานข้อมูลการกักเก็บคาร์บอนภาคป่าชายเลน

    ผ่อนผันใช้ที่ดินป่าชายเลน สร้างถนนเลี่ยงเมืองสตูล

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลน สำหรับโครงการถนนเลี่ยงเมืองสตูล ฝั่งตะวันออก ต.คลองขุน อ.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล ของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) เพื่อใช้ประกอบการดำเนินโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

    ทั้งนี้ โครงการถนนเลี่ยงเมืองสตูลฝั่งตะวันออกฯ จะเป็นการก่อสร้างทางหลวงแนวเส้นทางใหม่ ในรูปแบบถนนขนาด 4 ช่องจราจร ผิวทางแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (Asphaltic Concrete) รวมระยะทาง 3.89 กม. โดยในช่วงที่ตัดผ่านป่าชายเลนจะดำเนินการก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก (สะพานบก) ขนาดช่องจราจรเท่ากับถนนของโครงการฯ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ตามโครงการจะมีการก่อสร้างตัดผ่านป่าชายเลน 2 ประเภท รวมระยะทาง 1.29 กม. ได้แก่ 1) ป่าชายเลนที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเลนตอนที่ 5 เนื้อที่ 8.44 ไร่ ระยะทาง 450 เมตร 2) พื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี (ตัดผ่าน 2 ช่วง) เนื้อที่ 5.06 ไร่ ระยะทาง 270 เมตร และ เนื้อที่ 10.65 ไร่ ระยะทาง 568 เมตร

    ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวเป็นไปตามแผนแม่บทด้านการขนส่งและจราจร จ.สตูล ซึ่งได้บรรจุโครงการไว้ในแผนงานเพิ่มขีดความสามารถของโครงการการคมนาคม เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมือง โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ลดการเกิดอุบัติเหตุ และสร้างศักยภาพการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของ จ.สตูล

    จ่ายเงินบำเหน็จ บอร์ด ป.ป.ท. กรณีพ้นจากเก้าอี้เมื่ออายุครบ 75 ปี

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ พ.ศ. …. โดยกำหนดให้กรรมการ ป.ป.ท. ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่า 1 ปีมีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุมีอายุครบ 75 ปี เพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดให้กรรมการ ป.ป.ท. ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่า 1 ปีมีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเมื่อพ้นจากตำแหน่งจากการครบกำหนดตามวาระ และ ลาออก และให้กรรมการ ป.ป.ท. ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเพราะเสียชีวิต ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งครบ 1 ปีหรือไม่ก็ตามให้มีสิทธิรับบำเหน็จตอบแทน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ที่บัญญัติให้กรรมการ ป.ป.ท.พ้นจากตำแหน่งตามวาระเมื่อมีอายุครบ 75 ปี

    ทั้งนี้ กำหนดให้กรรมการ ป.ป.ท. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับมีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นตามพระราชกฤษฎีกานี้ตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และให้กรรมการ ป.ป.ท. ซึ่งพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุมีอายุครบ 75 ปี ไปก่อนที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนตามพระราชกฤษฎีกานี้ด้วย

    อย่างไรก็ตามสำนักงบประมาณได้เห็นชอบในหลักการ โดยมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ให้สำนักงาน ป.ป.ท. ใช้จ่ายงบประมาณจากรายการค่าตอบแทนคณะกรรมการ ป.ป.ท. ที่ได้จัดสรรงบประมาณให้แล้ว หากไม่เพียงพอขอให้พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป โดยคำนึงถึงความประหยัด คุ้มค่า หรือประโยชน์ที่จะได้รับเพื่อไม่ก่อให้เกิดภาระงบประมาณ

    โยกข้ามห้วย “วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” นั่งปลัดดีอีเอส

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มี ดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 12 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ สับเปลี่ยนหมุนเวียน ทดแทนตำแหน่งที่จะว่าง และตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ
      2. นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการต่างประเทศ
      3. นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย
      4. นางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา เครือรัฐออสเตรเลีย
      5. นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล อธิบดีกรมการกงสุล ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก
      6. นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
      7. นางกาญจนา ภัทรโชค เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสารนิเทศ
      8. นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน
      9. นางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ราชอาณาจักรเสปน ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      10. นางต้องฤดี มากบุญ เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      11. นายรุจ ธรรมมงคล เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวต รัฐคูเวต ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการกงสุล
      12. นายกิตติศักดิ์ กล่อมจิตต์ อัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย

    ทั้งนี้ ข้าราชการในข้อ 1. – 11. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 และข้าราชการในข้อ 12. ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศตามข้อ 1, 3, 4, 6, 8, และ 12 รวม 6 ราย ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

      1. นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
      2. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
      3. นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

      1. นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      2. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
      3. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

    ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 7 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะว่าง สับเปลี่ยนหมุนเวียน และผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ดังนี้

      1. นายธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมควบคุมโรค
      2. นายสุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
      3. นายพงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      4. นายธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการแพทย์
      5. นายทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      6. นายยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      7. นายธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

    ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    5. ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอรับโอน นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้อำนวยการ (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) สำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะว่างลงในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    6. การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในกระทรวงวัฒนธรรม

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในกระทรวงวัฒนธรรม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ผู้ครองตำแหน่งอยู่เดิมจะเกษียณอายุราชการ และเพื่อการสับเปลี่ยนหมุนเวียน จำนวน 4 ราย ดังนี้

      1. นายชัยพล สุขเอี่ยม ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
      2. นายพนมบุตร จันทรโชติ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
      3. นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงาน (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
      4. นายประสพ เรียงเงิน ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม ไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงาน (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    7. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย รวม 8 คน ซึ่งเป็นการแต่งตั้งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 ดังนี้

      1. ศาสตราจารย์ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ ประธานกรรมการ
      2. นางสาวดารุณี ธรรมโพธิ์ดล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปหัตถกรรมไทย
      3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอกพงษ์ ตรีตรง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านออกแบบผลิตภัณฑ์
      4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์รุ่งโรจน์ โชคงามวงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
      5. รองศาสตราจารย์ธีร เจียศิริพงษ์กุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหาร
      6. นายปรีชา เอื้ออนันตธนกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบัญชี
      7. หม่อมราชวงศ์ศศิพฤนท์ จันทรทัต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตลาด
      8. นายชายพงษ์ นิยมกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตลาด

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป

    8. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง นายมนตรี เนรกัณฐี และนางวัลยา สุวรรณาภิรมย์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่ขอลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ซึ่งตนแทน

    9. แต่งตั้งประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาด

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาด รวม 10 คน เนื่องจากประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการอื่นเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ดังนี้

      1. นายสมคิด จันทมฤก ประธานกรรมการ
      2. นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร รองประธานกรรมการ
      3. นายสมศักดิ์ สรวิจักษณ์ กรรมการอื่น
      4. นายสุรเชษฐ์ สักษมีพงศ์ กรรมการอื่น
      5. นางสาวกอบกุล โมทนา กรรมการอื่น
      6. รองศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ อุตตมากร กรรมการอื่น
      7. นางพัฒนา สังขทรัพย์ กรรมการอื่น
      8. นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช กรรมการอื่น
      9. นาวาอากาศเอก ประสงค์ ปราณีตพลกรัง กรรมการอื่น
      10. นายสมศักดิ์ ภู่สกุล ผู้แทนกระทรวงการคลัง กรรมการอื่น

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป

    10. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีอีกหนึ่งวาระ จำนวน 3 ราย ดังนี้

      1. นายรณภพ ปัทมะดิษ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2565
      2. นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2565
      3. นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 30 สิงหาคม 2565 เพิ่มเติม