ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (4) : “อดีต รมว.คลัง” โต้ AOT กาง “เหตุ-ผล” แก้สัญญาดิวตี้ฟรี ทำไมต้องขอครม.อนุมัติ

AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (4) : “อดีต รมว.คลัง” โต้ AOT กาง “เหตุ-ผล” แก้สัญญาดิวตี้ฟรี ทำไมต้องขอครม.อนุมัติ

20 ธันวาคม 2020


“อดีต รมว.คลัง” โต้ AOT กางรายประเด็น “เหตุ-ผล” แก้สัญญาสัมปทาน “ดิวตี้ฟรี-บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์” ทำไมต้องขออนุมัติ ครม. ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ฯ

ตามที่นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ทอท.’ ทำ หนังสือชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ว่า“…การดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. ไม่มีกฎ ระเบียบ หรือ หลักเกณฑ์กำหนดให้ต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐนตรี (ครม.) อันที่จะส่งผลกระทบ หรือก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ ดังนั้น กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และ/หรือการประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. จึงมิใช่การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคต และ/หรือการดำเนินการก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น การประกอบกิจการดังกล่าวจึงไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561…”

  • AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (3): ถามดังๆ เมื่อ AOT สวม 2 หมวก เลือกปฏิบัติได้ตามพอใจหรือไม่!!
  • ต่อกรณีดังกล่าวนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก : Thirachai Phuvanatnaranubala เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 เรื่อง “ทอท.กับพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ฯ” โดยแสดงความเห็นต่อกรณี ทอท.ออกหนังสือชี้แจงข่าวเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาดิวตี้ฟรี โดยยินยอมให้เอกชนลดผลประโยชน์แก่รัฐเป็นเงินระดับแสนๆล้านบาท ซึ่ง ทอท.ได้พิจารณาอนุมัติแก้ไขสัญญาเอง โดยไม่เสนอต่อ ครม. การดำเนินงานดังกล่าวนี้ ถือเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ฯ มาตรา 27 หรือไม่?

    นายธีระชัยได้วิเคราะห์หนังสือที่ ทอท.ดังกล่าว เป็นประเด็นต่างๆดังนี้

    ข้ออ้างที่หนึ่ง : ไม่มีกฎ ระเบียบ หรือ หลักเกณฑ์กำหนดให้เรื่องดิวตี้ฟรีต้องขออนุมัติต่อ ครม.

    ข้อสังเกต

    • การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจทุกแห่งกระทำโดยออกเป็นกฎหมายเฉพาะ และใช้เงินทุนจากรัฐ โดยเมื่อมีกำไร รัฐวิสาหกิจจะสามารถนำส่งรัฐเป็นรายได้แผ่นดิน และหนี้ของรัฐวิสาหกิจ ก็เป็นภาระต่อกระทรวงการคลัง เพราะเป็นหนี้สาธารณะ ดังนั้น รัฐวิสาหกิจจึงเข้าข่าย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ฯ โดยอัตโนมัติ
    • การที่ ทอท.จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ฯในเรื่องที่ ‘ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ’ นั้น ไม่จำเป็นต้องมีการกำหนดเป็นกฎ ระเบียบ หรือ หลักเกณฑ์ไว้ในกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับ ทอท.
    • ไม่มี กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ภายใน ทอท. ที่มีศักดิ์ทางกฎหมายเหนือกว่าพระราชบัญญัติ
    • พ.ร.บ. บริษัทมหาชน ฯบัญญัติวิธีการให้ ทอท.บริหารงานบริษัท แต่ก็ไม่เป็นข้อยกเว้นที่ ทอท.จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ฯ

    ข้ออ้างที่ 2 : การให้สิทธิดิวตี้ฟรีของ ทอท.ไม่มีลักษณะอยู่ภายใต้มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ฯ

    ข้อสังเกต

    • “พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ฯ ไม่มีการระบุกิจกรรมแต่ละชื่อ ไม่ว่าเรื่องดิวตี้ฟรี หรือ เรื่องใด แต่ถ้ากิจกรรมใดเข้าเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ ก็ต้องปฏิบัติโดยไม่มีข้อยกเว้น”

    ข้ออ้างที่ 3 : กิจการดิวตี้ฟรีมิใช่ ‘กิจกรรม มาตรการ หรือ โครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคต และ/หรือการดำเนินการก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ หรือ ของหน่วยงานของรัฐ’
    ข้อสังเกต

    • รัฐวิสาหกิจต้องทำรายงานการรับและการใช้จ่ายเงิน ตลอดจนรายได้ที่ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เสนอต่อ ครม.เมื่อสิ้นปีงบประมาณทุกปี เหตุผลก็เพื่อให้รัฐบาลนำตัวเลขรายได้ดังกล่าวไปใช้ในการวางแผนงบประมาณในอนาคต ดังนั้น ผลในทางบวก หรือ ผลในทางลบต่อรายได้ของ ทอท.ย่อมมีผลเปลี่ยนแปลงภาระต่องบประมาณของรัฐอยู่แล้ว
    • ผลต่อภาระต่องบประมาณดังกล่าว ย่อมจะต้องรวมถึงรายได้ดิวตี้ฟรี เพราะเป็นรายได้ที่มีนัยสำคัญของ ทอท.
    • การแก้ไขสัญญาที่ลดรายได้ระดับแสน ๆล้านบาท ย่อมจะส่งผลให้ ทอท.ต้องเปลี่ยนแปลงแผนการระดมทุนและ/หรือแผนการกู้ยืมเงินในอนาคต ซึ่งภาระต่อหนี้สาธารณะที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะมีผลต่อภาระการคลังอีกประการหนึ่ง
    • นอกจากนี้ รายได้ในอนาคตของ ทอท.ที่ลดลง จะกระทบความสามารถของ ทอท. ในการจ่ายเป็นเงินปันผลนําส่งเป็นรายได้แผ่นดินให้แก่กระทรวงการคลัง ซึ่งย่อมจะมีผลต่องบประมาณในอนาคต
    • เหตุผลที่ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ บัญญัติให้ต้องเสนอ ครม. ก่อนนั้น ก็เพื่อให้รอบคอบ และเปิดให้กระทรวงต่าง ๆ พิจารณาแง่มุมให้ครบถ้วน และเพื่อป้องกันมิให้รัฐวิสาหกิจใด ลุแก่อำนาจทำการพิจารณาหลักเกณฑ์ที่จะใช้ในการเจรจาต่อรองด้วยตนเอง และทำการต่อรองด้วยตนเอง โดยไม่มีข้อศึกษาและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกที่น่าเชื่อถือ และเพื่อปิดประตูความเสี่ยงการฉ้อราษฎร์บังหลวงนั่นเอง

    ข้ออ้างที่ 4 : กิจการดิวตี้ฟรีไม่เข้าข่ายต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ข้อสังเกตว่า “เป็นคนละกฎหมาย และเป็นคนละเรื่องกับการที่ ทอท.จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ฯ”

    ส่วนข้ออ้างที่เหลือ เช่น คณะกรรมการ ทอท.มีอำนาจตามข้อบังคับของบริษัท และตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชน ฯที่จะแก้ไขสัญญาได้ , การให้สิทธิดิวตี้ฟรีเป็นไปตามขั้นตอนการคัดเลือก , ทอท.ให้ความช่วยเหลือ COVID-19 เป็นการทั่วไป มิได้ช่วยดิวตี้ฟรีเป็นการเฉพาะ และหาก ทอท.ไม่ช่วยเหลือ อาจเกิดความเสียหาย

    นายธีระชัยให้ข้อสังเกตว่า “ทั้งหมดนี้ล้วนมิได้เป็นข้อยกเว้นตามกฎหมายที่ ทอท.จะได้สิทธิพิเศษไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ฯ”

    สรุปแล้ว สิ่งที่ ทอท.นำมาอ้างทั้งหมด ไม่เป็นข้อยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ฯ แต่อย่างใด จึงต้องรอดูว่าจะมีแถลงข่าวใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่

    พร้อมหมายเหตุว่าการกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ