ThaiPublica > สู่อาเซียน > รู้จักกระเป๋าเงินในเมียนมา-ลาว…

รู้จักกระเป๋าเงินในเมียนมา-ลาว…

31 ตุลาคม 2020


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย

กล่าวเฉพาะ 2 ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ตั้งแต่อดีตนานมาแล้ว ที่คนลาว คนเมียนมา เคยชินกับการจับจ่ายซื้อสินค้าด้วยเงินสด พวกเขาเพิ่งเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มรู้จักกับบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์เพียงไม่กี่ปีมานี้

แต่พอโควิด-19 ระบาด หลายพื้นที่มีการล็อกดาวน์ตลาด ร้านค้า ร้านอาหาร ธนาคาร ถูกปิด การซื้อข้าวปลาอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน หากจ่ายเงินสดแบบเดิม ทำได้ไม่เต็มที่ การจ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์จึงเพิ่มบทบาทขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด

ช่วงโควิด-19 ระบาด ขณะที่กิจการบริษัทและห้างร้านหลายแห่งกำลังซบเซา แต่ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในลาวและเมียนมา กลับคึกคัก มีกิจกรรม การแข่งขันที่มีสีสัน สวนทางกับธุรกิจอื่น…

ในเมียนมา ค่าย Wave Money เป็นผู้ให้บริการ e-wallet รายใหญ่ที่สุด ผ่านแอปพลิเคชันที่ใช้ชื่อว่า Wave Pay ฐานลูกค้าของ Wave Money มีถึง 21 ล้านบัญชี มีร้านค้าเครือข่ายถึง 57,000 แห่ง ทั่วประเทศ

ปี 2562 ธุรกรรมการเงินที่ทำผ่านระบบของ Wave Money มีมูลค่าสูงถึง 6.4 ล้านล้านจัต (ประมาณ 4.3 พันล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 3 เท่า

เทียบกับ KBZPay ผู้ให้บริการอันดับที่ 2 ที่มีมูลค่าธุรกรรมการเงินในปีเดียวกัน 2.8 ล้านล้านจัต ต่างกันมากกว่าครึ่งต่อครึ่ง

KBZPay เกิดจากการร่วมทุนระหว่างธนาคาร KBZ สายการบิน Myanmar Airways International (MAI) และ Huawei จากจีน เพิ่งตั้งบริษัทและเริ่มให้บริการเมื่อเดือนธันวาคม 2561

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก KBZPay

ขณะที่ Wave Money ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เป็นการร่วมทุนระหว่าง Telenor ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากนอร์เวย์ กับ Yoma Group กลุ่มธุรกิจการเงินยักษ์ใหญ่ในเมียนมา ในสัดส่วน 51:49

Wave Money เริ่มจากการเป็นผู้ให้บริการโอนเงิน และขยายมาให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอปพลิเคชัน Wave Pay ในภายหลัง

ช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาดระลอกแรกในเมียนมา ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ขณะที่การค้าการขาย การทำธุรกิจในหลายเมืองเงียบเหงาเพราะถูกล็อกดาวน์

ปรากฏว่าปริมาณธุรกรรมการเงินที่ทำผ่านแอปพลิเคชัน Wave Pay ใน 2 เดือนนั้น เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มากกว่า 800% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน!!!

18 พฤษภาคม Ant Financial ประกาศว่าจะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายที่ 3 ใน Wave Money โดยจะใช้เงิน 73.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งจะทำให้ Ant Financial เป็นผู้หุ้นส่วนน้อยของ Wave Money

Ant Financial เป็นบริษัทในเครืออาลีบาบาของแจ็ก หม่า และเป็นผู้ให้บริการแอปพลิเคชันชำระเงิน Alipay

Ant Financial กำลังจะนำหุ้นออกมาขายแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) ในเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ มูลค่าที่คาดว่า Ant Financial จะระดมได้จาก IPO รอบนี้ ประมาณ 34.4 พันล้านดอลลาร์ ถือเป็น IPO ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติการณ์ของตลาดการเงินโลก

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Wave Money

ย้อนกลับไปในเมียนมา มีการเปิดเผยกระบวนการเข้าไปถือหุ้นใน Wave Money ของ Ant Financial เพิ่มเติมในวันที่ 24 มิถุนายน โดย Yoma Strategic ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ได้ประกาศจัดตั้งบริษัท Wave Holdco ที่จะเป็น Holding Company ของ Yoma Group ที่จะเข้ามาถือหุ้นใน Wave Money

Wave Holdco จะซื้อหุ้น 51% ที่ Telenor ที่ถืออยู่ใน Wave Money ด้วยเงิน 76.5 ล้านดอลลาร์ ทำให้ Yoma Group ได้อำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหาร Wave Money

ส่วน Telenor ถอนตัวจากการเป็นผู้ถือหุ้นเพื่อเปิดช่องให้ Ant Financial ได้เข้ามา แต่ยังคงเป็นคู่ร่วมธุรกิจกับ Wave Money ในเมียนมาต่อไป

“ทั้ง Yoma Group และ Ant Group ต่างทำธุรกิจการเงิน จะทำให้ Wave Money สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ภายใต้การดูแลของผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่ง” เนื้อหาส่วนหนึ่งในเอกสารข่าวของ Telenor ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563

กระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใน Wave Money ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ คาดว่าสัดส่วนการถือหุ้นใน Wave Money จะเปลี่ยนเป็น Yoma Group 67% และ Ant Group 33%…

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก U-Money

ฟากเพื่อนบ้านฝั่งตะวันออก บริษัท Star Fintech เป็นผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์รายแรกและรายใหญ่ที่สุดในลาว ผ่านแอปพลิเคชัน U-Money

Star Fintech เป็นบริษัทในเครือ Star Telecom ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้เครือข่าย Unitel

Star Telecom เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Lao Asia Telecom กับ Viettel Groupบริษัทสื่อสารรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ที่ถือหุ้นใหญ่โดยกองทัพเวียดนาม เข้ามาตั้งบริษัทในลาวเมื่อปี 2550 เริ่มให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2552

ปี 2557 Star Telecom เริ่มพัฒนาบริการโอนเงินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ Unitel จากนั้นได้ตั้งบริษัทลูก Star Fintech และเริ่มให้บริการแอปพลิเคชัน U-Money ในเดือนสิงหาคม 2561

ปัจจุบัน ในลาวมีโทรศัพท์เคลื่อนที่กว่า 100,000 เลขหมายที่โหลตแอปพลิเคชัน U-Money และมีร้านค้ากว่า 10,000 แห่งที่รับชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันนี้

ลาวก็เหมือนกับเมียนมาที่โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักกับหลากหลายธุรกิจ

ขณะที่บริษัทห้างร้านหลายแห่งต่างเงียบเหงา แต่ผู้ให้บริการ e-wallet กลับคึกคัก

ตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน ทุกๆ เดือน Star Fintech ต้องมีงานเซ็นสัญญาร่วมเป็นเครือข่ายพันธมิตรกับหลายบริษัท โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์

ทั้งๆ ที่ในบางช่วง ยังเป็นระยะที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่กิจกรรมธุรกิจของ Star Fintech ยังคงมีอยู่

ทว่า…..

วันที่ 17 กรกฎาคม มีงานใหญ่เกิดขึ้นในสังคมธุรกิจของลาว ไม่ใช่เป็นงานของ Star Fintech แต่เป็นการเปิดตัวบริษัท Lao Mobile Money ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านแอปพลิเคชัน M Money

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก M Money

เป็นแอปพลิเคชัน e-wallet รายที่ 2 และน่าจะเป็นคู่แข่งหลักของ U-Money

Lao Mobile Money เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาวกับบริษัท Lao Tetecom ในสัดส่วน 51:49

Lao Tetecom เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาวกับบริษัทชินวัตร อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์มือถือระบบ GSM และ CDMA และอินเทอร์เน็ต ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2539

นอกจากการเปิดตัว Lao Mobile Money แล้ว วันเดียวกัน Lao Mobile Money ยังได้เซ็นสัญญาความร่วมมือทางธุรกิจกับอีก 16 บริษัท ประกอบด้วย

1. Lao Tetecom
2. บริษัท Tplus ดิจิตัล
3. บริษัท ETL
4. ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว(BCEL)
5. ธนาคารอุตสาหกรรมและการค้าจีน(ICBC)
6. ธนาคารพัฒนาลาว
7. ธนาคารส่งเสริมกสิกรรม
8. ธนาคารร่วมพัฒนา
9. ธนาคารร่วมธุรกิจลาวเวียด
10. ธนาคารอินโดจีน
11. ธนาคารเอซิลิด้า
12. ธนาคารมารูฮันแจแปนลาว
13. บริษัท NCC
14. บริษัทรัฐวิสาหกิจหวยพัฒนา
15. บริษัทรุ่งอรุณ โลจิสติก
16. บริษัทโกเทดดี้

เรียกได้ว่า Lao Mobile Money ขมวดกิจกรรมทางธุรกิจที่ Star Fintech ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี มาไว้ในงานนี้ งานเดียว

U-Money เซ็นสัญญาเป็นคู่ร่วมธุรกิจกับพงสะหวันประกันภัย เมื่อบ่ายวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ที่มาภาพ: เพจ U-Money

ความคึกคักของผู้ให้บริการ E-Wallet ในลาวยังไม่หยุด…

บ่ายวันที่ 27 ตุลาคมที่เพิ่งผ่านมา Star Fintech ได้เซ็นสัญญาร่วมธุรกิจกับบริษัทพงสะหวันประกันภัย ในสัญญานี้ ลูกค้าของพงสะหวันประกันภัยสามารถทำประกันภัย จ่ายเบี้ยประกัน ต่อสัญญากรมธรรม์ ฯลฯ ผ่านแอปพลิเคชัน U-Money

พงสะหวันประกันภัย เป็นบริษัทในกลุ่มพงสะหวัน กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และหลากหลายที่สุดกลุ่มหนึ่งในลาว

ธุรกิจของกลุ่มพงสะหวัน มีทั้งธุรกิจการเงิน ธุรกิจการบิน ธุรกิจไม้ ธุรกิจพลังงาน เป็นผู้บริหารคลังสินค้ากับท่าเรือบกที่ท่านาแล้ง และได้สัมปทานเส้นทางรถไฟลาว-เวียดนามฯลฯ

ผ่านไปไม่ถึง 1 วันเต็ม เช้าวันที่ 28 ตุลาคม Lao Mobile Money ก็จัดพิธีเซ็นสัญญาร่วมธุรกิจกับบริษัท PTT Lao และบริษัท Lao Beverage Sole

ผู้ที่โหลตแอปพลิเคชัน M Money สามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการจากปั๊มน้ำมันและร้านค้าเครือข่ายของ ปตท. รวมถึงร้านค้าในเครือ Lao Beverage ทุกแห่ง

เช้าวันที่ 28 ตุลาคม 2563 M Money เซ็นสัญญาเป็นคู่ร่วมธุรกิจกับ PTT Lao และ Lao Beverage ที่มาภาพ : เพจ M Money

Lao Beverage มีวีเพ็ด สีหาจักร เป็นประธานบริษัท เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ร้านอาหาร และร้านค้าที่มีชื่อ อาทิ ร้านสุกี้ MK, Hard Rock Café, ร้านอาหารญี่ปุ่น Miyazaki, ร้านอาหาร Dalilao และร้านค้า Daiso ในลาว

วีเพ็ดเป็นนักธุรกิจที่มีเครือข่ายและสายสัมพันธ์หลากหลาย ทั้งในระดับลึกและระดับกว้าง
เขาเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยในรัสเซีย สมัยยังเป็นสหภาพโซเวียต กลับมายังลาวในปี 2535

วีเพ็ดเป็นผู้นำสิ่งใหม่ๆ เข้าไปในลาว เช่น ฟื้นตลาดให้กับแบรนด์รถ Mercedes-Benz เปิดตลาดให้กับแบรนด์รถ Ford รวมถึงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปิดตลาดในลาวให้กับแฟรนไชส์ เช่น True Coffee, The Pizza Company และร้านไอศครีม Swensen’s

รวมถึงตำแหน่งทางสังคม เป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติลาว

วีเพ็ด สีหาจักร (ขวา) มอบกระเช้าดอกไม้ให้กับทันสะไหม ชามุนตี (ซ้าย) ผู้อำนวยการ Lao Mobile Money ที่มาภาพ : เพจ M Money

นอกจากมีความเคลื่อนไหวที่คึกคัก และแข่งขันกันอย่างมีสีสันแล้ว เห็นได้ว่าผู้เล่นและคู่ค้าของธุรกิจ e-wallet ทั้งในเมียนมาและลาวล้วนไม่ธรรมดา

ธุรกิจอื่นเงียบ แต่บริการ e-wallet ไม่เงียบ

สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมคน จากที่เคยชินกับการใช้เงินสดมาช้านาน มาใช้โทรศัพท์มือถือจับจ่ายใช้สอย

ตอนนี้ การเดินทางข้ามประเทศยังเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อวันใดที่สามารถควบคุมโควิด-19 ได้ มีการเปิดชายแดนขึ้นมาอีกครั้ง

หากมีโอกาสได้เดินทางไปในเมียนมาและลาว การได้รู้จักเรื่องราวของกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ใน 2 ประเทศเหล่านี้ไว้บ้าง เป็นเรื่องที่น่าจะเป็นประโยชน์…

อ้างอิง: