รายงานโดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
10 ปีที่แล้ว สปป.ลาว อาศัยรหัส 10-10-10 เป็นฤกษ์สำหรับการเริ่มต้นก้าวเข้าสู่กลไกตลาดการเงินสากล
ฤกษ์ 10-10-10 คือกำหนดการเปิดตลาดหลักทรัพย์ลาว (Lao Securities Exchange: LSX) อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 10 เดือน 10 ปี 2010 หรือวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553
กำหนดการในวันนั้นเป็นการเปิดตัวองค์กรและอาคารสำนักงาน ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนกำแพงเมือง เส้นทางที่จะออกไปยังสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย)
ส่วนการซื้อขายจริงเริ่มในอีก 3 เดือนถัดมา ตามฤกษ์ 11-01-11 วันที่ 11 เดือน 1 ปี 2011 (11 มกราคม พ.ศ. 2554)
10 ปีต่อมา ตลาดหลักทรัพย์ลาวก็ใช้ฤกษ์รหัส 30-10-20 เฉลิมฉลอง ด้วยการจัดงานครบรอบ 10 ปี ตลาดทุนลาว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ที่โรงแรมดอนจันพาเลส…
ตลาดหลักทรัพย์ลาว ก่อตั้งขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี (ค.ศ. 2006-2010) ฉบับที่ 6 ของลาว โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างธนาคารแห่ง สปป.ลาว (51%) กับตลาดหลักทรัพย์เกาหลี (49%) มีคณะกรรมการคุ้มครองหลักทรัพย์ (คลต.) ซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน เป็นประธาน เป็นหน่วยงานกำกับดูแล
11 มกราคม 2554 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นซื้อขาย ดัชนี LSX Composite เริ่มตั้งต้นที่ 1,000 จุด
สินค้าในตลาด ณ วันแรกของการซื้อขาย มีบริษัทจดทะเบียนเพียง 2 บริษัท คือ ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน (BCEL) และบริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาว มหาชน (EDL-Gen)
บริษัทสมาชิก (โบรกเกอร์) ในตลาดหลักทรัพย์ลาว มี 3 บริษัท ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ BCEL-KT บริษัทหลักทรัพย์ล้านช้าง และบริษัทหลักทรัพย์ลาว-จีน แบ่งใบอนุญาตให้ตามความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และบทบาทความร่วมมือของแต่ละประเทศในการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์
BCEL-KT เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารการค้าต่างประเทศลาว กับบริษัทหลักทรัพย์กรุงไทย ซีมิโก ของไทย
บริษัทหลักทรัพย์ล้านช้าง เป็นบริษัทร่วมทุนลาว-เกาหลี
ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ลาว-จีน โครงสร้างการถือหุ้นเป็นไปตามชื่อ คือบริษัทร่วมทุนลาว-จีน
10 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการในตลาดหลักทรัพย์ลาว เกิดขึ้นพอสมควร…
ระบบการซื้อขายช่วงเริ่มเปิดตลาดใหม่ๆ เป็นการจับคู่คำสั่งซื้อขายตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เนื่องจากปริมาณการซื้อขายยังมีเข้ามาไม่มาก
4 ปีแรก การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ลาว ใช้ระบบ call auction จับคู่คำสั่งซื้อ-ขาย เป็นช่วงๆ ในราคาที่ดีที่สุด กำหนดให้มีการจับคู่คำสั่ง 6 ครั้งต่อวันทำการ ในเวลา 9.00 น., 9.30 น., 10.00 น., 10.30 น., 11.00 น. และ 11.30 น.
ปี 2558 เข้าสู่ปีที่ 40 ของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนลาว และปีที่ 5 ของตลาดหลักทรัพย์ลาว ปริมาณการซื้อขายแต่ละวันมีเพิ่มขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ลาวจึงได้เปลี่ยนมาใช้ระบบการซื้อ-ขายแบบต่อเนื่อง (continuous auction) โดยการจับคู่คำสั่งที่มีระดับราคาที่ดีที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามระบบสากล
ปัจจุบัน ตลาดหุ้นลาวเปิดซื้อขายตั้งแต่ 8.30-15.00 น.
ช่วง 8.30-9.00 น. เป็นการจับคู่คำสั่งแบบประมูลเพื่อหาราคาเปิด การซื้อขายแบบต่อเนื่องทำตั้งแต่เวลา 9.00-14.50 น. ไม่มีการพักเที่ยง จากนั้นช่วง 14.50-15.00 น. เป็นการจับคู่คำสั่งแบบประมูลเพื่อหาราคาปิด
นับแต่เริ่มมีบทบาทในตลาดทุนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ถึงวันนี้ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนของ สปป.ลาว สามารถใช้กลไกตลาดหลักทรัพย์ลาว ระดมทุนได้เป็นเงินรวม 24,502 พันล้านกีบ หรือประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 320 กีบ = 1 บาท) คิดเป็นสัดส่วน 15% ของ GDP ลาว
ดัชนี LSX Composite ณ วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ปิดที่ 579.72 จุด
บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาวได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 11 บริษัท ประกอบด้วย
-
1. ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน (BCEL)
2. บริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาว มหาชน (EDL-Gen)
3. บริษัทลาวเวิล์ด มหาชน (LWPC)
4. บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิง ลาว มหาชน (PTL)
5. บริษัทสุวันนี โฮมเซ็นเตอร์ มหาชน (SVN)
6. บริษัทพูสีก่อสร้าง และพัฒนา มหาชน (PCD)
7. บริษัทซีเมนต์ลาว มหาชน (LCC)
8. บริษัทมหาทุน เช่าสินเชื่อ มหาชน (MHTL)
9. บริษัทลาวอะโกรเทค มหาชน (LAT)
10. บริษัทเวียงจันเซ็นเตอร์ ลาว มหาชน (VCL)
11. บริษัทลาวอาเซียน เช่าสินเชื่อ มหาชน (LALCO)
นอกจากนี้ ยังมีพันธบัตรรัฐบาลลาวที่ออกมาระดมทุนจากประชาชนอีกหลายชุด
มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) ของตลาดหลักทรัพย์ลาว ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน เท่ากับ 7,652,563.95 ล้านกีบ หรือเท่ากับ 23,914.26 ล้านบาท
5 บริษัทที่มี market cap สูงสุด ได้แก่
-
1. EDL-Gen 3,996,742.80 ล้านกีบ หรือ 12,489.82 ล้านบาท
2. BCEL 1,163,250.48 ล้านกีบ หรือ 3,635.15 ล้านบาท
3. LALCO 693,450.00 ล้านกีบ หรือ 2,167.03 ล้านบาท
4. LWPC 498,467.45 ล้านกีบ หรือ 1,557.71 ล้านบาท
5. PCD 471,420.00 ล้านกีบ หรือ 1,473.19 ล้านบาท
ณ เดือนตุลาคม 2563 ตลาดหุ้นลาวมีบัญชีนักลงทุน 15,000 บัญชี ในนี้ 12,000 บัญชี เป็นผู้ลงทุนในประเทศ อีก 3,000 บัญชี เป็นนักลงทุนต่างประเทศ ที่เมื่อแตกรายละเอียดแล้ว มีที่มาจาก 47 ประเทศ
5 บริษัทที่มีสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศมากที่สุด ได้แก่
-
1. LWPC นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นอยู่ 29.3%
2. LALCO นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นอยู่ 20.98%
3. LAT นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นอยู่ 17.81%
4. EDL-Gen นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นอยู่ 13.09%
5. PTL นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นอยู่ 12.22%
บทรายงานประจำไตรมาสที่ 1 ปีนี้ ที่ตลาดหุ้นลาวได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา อธิบายภาพการซื้อขายในตลาดหุ้นลาว ณ ปัจจุบันได้ดีพอสมควร
เนื้อหาคร่าวๆ ของบทรายงานชิ้นนี้ สรุปพอสังเขปได้ว่า…
ไตรมาส 1 ของปี 2563 มูลค่าตลาดของบริษัทจดทะเบียน และดัชนีราคาหุ้น ยังลดลงต่อเนื่องอีก 17.69% และ 26.48% ตามลำดับ เนื่องจากราคาหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ถึงจะมีบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นใหม่ก็ตาม
ในทางตรงกันข้าม มูลค่าการซื้อขายหุ้นในไตรมาส 1 เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 65.88 พันล้านกีบ หรือเพิ่มขึ้นถึง 287.06% เทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ในนี้เป็นมูลค่าการซื้อขายในชั่วโมงทำการปกติ 31.64% และเป็นการซื้อขายรายใหญ่ นอกชั่วโมงทำการปกติ 68.36% ส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันทำการ เท่ากับ 1.05 พันล้านกีบ
สัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศยังคงมีสัดส่วนการซื้อขายมากกว่านักลงทุนในประเทศ 2 ไตรมาสต่อเนื่องกันมาแล้ว โดยนักลงทุนต่างประเทศเป็นฝ่ายขายสุทธิมากกว่า โดยมีนักลงทุนในประเทศเป็นฝ่ายเข้ามาซื้อ
BCEL เป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจ เป็นหุ้นที่มีการซื้อขายกันคิดเป็นสัดส่วนถึง 89.30% ของมูลค่าการซื้อขายในชั่วโมงปกติ ส่วนหุ้นที่เหลือมีการซื้อขายกันเบาบาง คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10.70%…
ทั้งหมดข้างต้น เป็นภาพโดยรวมของตลาดหลักทรัพย์ลาวซึ่งมีอายุครบ 10 ปีเต็มในช่วงนี้
หลังจากนี้ หากรวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วน จะนำเรื่องราวของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาวแต่ละบริษัท มาบอกเล่าโดยละเอียดเป็นรายบริษัท สลับกับเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ เป็นลำดับๆ ไป…