ThaiPublica > เกาะกระแส > หนังสือ Leadership ของ Kissinger พูดถึงความเป็นผู้นำของ ‘ลี กวนยู’

หนังสือ Leadership ของ Kissinger พูดถึงความเป็นผู้นำของ ‘ลี กวนยู’

12 กรกฎาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

คิสซิงเจอร์และรองประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน (ในขณะนั้น) ในการประชุมความมั่นคงมิวนิกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2009 ที่มาภาพ :https://en.wikipedia.org/wiki/Henry_Kissinger#/media/File:Msc_2009-Saturday,_08.30_-_11.00_Uhr-Moerk_015_Biden_Kissinger.jpg

แม้จะมีอายุ 99 ปีแล้ว Henry Kissinger อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เขียนหนังสือเล่มใหม่ออกมาชื่อ Leadership หรือความเป็นผู้นำ หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ 19 ของ Kissinger และอาจเป็นเล่มสุดท้ายแล้วในชีวิตของเขา

ท่ามกลางบรรยากาศสงครามยูเครน คนทั่วไปสนใจ และถกเถียงกันในบทบาทของผู้นำประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น เป้าหมายของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และการต่อสู้ของโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี้ของยูเครน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะผลึกกำลังชาติตะวันตกไปได้ตลอดหรือไม่ และสี จิ้นผิง จะกดดันรัสเซียให้หาทางยุติสงครามได้หรือไม่

คำถามที่ว่า ผู้นำมีบทบาทอย่างไร ในการกำหนดทิศทางความเป็นไปของเหตุการณ์ต่างๆ หนังสือ Leadership ของ Kissinger ให้คำตอบว่า บทบาทของผู้นำและศิลปะการบริหารงานของรัฐ มีบทบาทสำคัญ ที่กำหนดทิศทางความเป็นไปของเหตุการณ์ต่างๆ

หนังสือ Leadership เลือกแบบอย่างผู้นำโลก 6 คนที่ Kissinger รู้จักเป็นการส่วนตัว 1 ใน 6 ที่ Kissinger ชื่นชมคืออดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวนยู ของสิงคโปร์ ผู้นำโลกที่ Kissinger รู้สึกเป็นมิตรที่เข้ากันได้มากสุด Kissinger ชื่นชมความสำเร็จของลี กวนยู ที่เปลี่ยนแปลงสิงคโปร์ จากเกาะเล็กๆ มีฐานะยากจน และประชากรหลากหลายเชื้อชาติ ให้กลายมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการเงินที่สำคัญ

สิ่งสำคัญของความเป็นผู้นำ

ที่มาภาพ : amazon.com

Kissinger เขียนไว้ในบทนำของ Leadership ว่า ไม่ว่าจะมีระบอบการเมืองแบบไหน ทุกสังคมจะอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่านตลอดเวลา จากอดีตที่เป็นความทรงจำของสังคม มาสู่วิสัยทัศน์ของอนาคต แนวคิดถึงอนาคตจะสร้างแรงดลใจให้กับวิวัฒนาการของสังคมนั้น ตลอดเส้นทางวิวัฒนาการนี้

ความเป็นผู้นำคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะสังคมต้องมีการตัดสินใจ สร้างความไว้วางใจ การรักษาพันธะความมุ่งมั่น และการเสนอแนวทางของอนาคตข้างหน้า ที่สังคมจะก้าวเดินไปให้ถึง

ในบรรดาสถาบันของสังคม เช่น รัฐ ศาสนา กองทัพ บริษัทธุรกิจ และโรงเรียน ความเป็นผู้นำเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อช่วยให้คนเราก้าวจากจุดที่ตัวเองยืนอยู่ในปัจจุบัน ไปสู่จุดหมายที่ไม่เคยไปมาก่อน หรือไม่กล้าแม้แต่การคาดคิดที่จะไปถึง หากปราศจากภาวะการเป็นผู้นำ สถาบันต่างๆของสังคมก็จะล่องลอยไปตามกระแส ประเทศกลายเป็นสิ่งที่หมดความสำคัญ ไร้ความหมาย และเสี่ยงที่จะประสบหายนะภัย

ผู้นำจะคิดและกระทำในฐานะบทบาทของสะพาน ที่เชื่อมต่อระหว่างอดีตกับอนาคต และระหว่างค่านิยมที่ยึดถือกันอยู่ กับความมุ่งมั่นของผู้คนต่างๆ ที่ผู้นำจะเป็นคนนำพาไปสู่อนาคตดังกล่าว ภาระที่ท้าทายต่อผู้นำคือการวิเคราะห์ โดยเริ่มต้นจากการประเมินสังคมที่เป็นจริง ผ่านประวัติศาสตร์ ค่านิยม และความสามารถของสังคม

หลังจากนั้น ผู้นำก็ต้องประเมินสิ่งที่รู้จากอดีต กับข้อสรุปเรื่องการคาดการณ์อนาคต ซึ่งจะมีความไม่แน่นอน เพราะการคาดการณ์อนาคต ย่อมจะมาจากข้อมูลไม่สมบูรณ์ ความคิดความเชื่อมั่นในอนาคต แม้จะคิดว่าเป็นสิ่งถูกต้องเป็นความจริง แต่ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์มาสนับสนุน แต่การคาดการณ์อนาคต ทำให้ผู้นำสามารถกำหนดเป้าหมายแลยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์จะสร้างแรงบันดาลใจแก่สังคมได้

ผู้นำก็ต้องเป็นนักการศึกษา สามารถสื่อสารเป้าหมาย โน้มน้าวคนที่เห็นต่าง และระดมเสียงสนับสนุน

หนังสือ Leadership กล่าวว่า ภาระกิจเป็นสะพานเชื่อมอดีตกับอนาคตนั้น ลักษณะสำคัญในตัวของผู้นำคือความกล้าหาญ และบุคลิกภาพ ความกล้าหาญที่จะตัดสินใจเลือกทิศทางอนาคต ส่วนบุคลิกภาพคือความหนักแน่น ในการเดินบนหนทางไปสู่เป้าหมาย ที่ประโยชน์และอันตรายยังมองเห็นไม่ชัดเจน ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ความเป็นผู้นำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ลี กวนยู ที่มาภาพ : www.bbc.com

ลี กวนยูกับยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศ

Kissinger เลือกลี กวนยู ผู้นำสิงคโปร์ เป็น 1 ใน 6 ผู้นำโลก ที่สร้างประวัติศาสตร์จากการสมาทานระหว่าง บุคลิกภาพความเป็นผู้นำกับสภาพแวดล้อมที่เผชิญอยู่ เป็นสถาปนิกที่ออกแบบการพัฒนาประเทศตัวเอง ในสภาพที่เป็นเมืองท่าเรือที่ยากจน มีผู้คนหลายเชื้อชาติ และประเทศเพื่อนบ้านไม่เป็นมิตร ให้กลายมาเป็นนครรัฐ ที่มั่นคง การบริหารงานที่ดีเลิศ มีความมั่งคั่ง และมีอัตลักษณ์ของชาติ ที่ความสร้างความสามัคคีในหมู่คนที่หลากหลาย

ในเดือนพฤศจิกายน 1968 ลี กวนยู นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ อายุ 45 ปี ขอลาพักงาน เพื่อมาแสวงหาความคิดใหม่ๆ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาบอกกับหนังสือพิมพ์ของนักศึกษา Harvard Crimson ว่า ตั้งใจจะศึกษาสิ่งที่ทำมาในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการทำตามสถานการณ์ (ad hoc) โดยที่ไม่ได้รับคำแนะนำจากใคร

Littauer Center ของฮาร์วาร์ด ปัจจุบันคือ Kennedy School of Government เชิญกวนยูมาพบปะพูดคุยกับอาจารย์ด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และการพัฒนา เวลานั้น นักวิชาการอเมริกันรู้จัก ลี กวนยู น้อยมาก รู้แต่เพียงว่า เป็นผู้นำพรรคการเมืองกึ่งสังคมนิยม และของประเทศเกิดหลังยุคอาณานิยม ลู กวนยู ตั้งคำถามบรรดาอาจารย์เหล่านั้นว่า มีความเห็นอย่างไรต่อสงครามเวียดนาม

ในเวลานั้น นักวิชาการอเมริกันคัดค้านสงครามเวียดนาม และการที่สหรัฐฯจะเข้าไปเกี่ยวข้อง จากนั้นที่ประชุมเชิญให้ ลี กวนยู แสดงความเห็นในเรื่องนี้ ลี กวนยูพูดออกมาตรงประเด็นว่า “พวกคุณทำให้ผมเบื่อหน่าย” และอธิบายต่อไปว่า สิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก การอยู่รอดของประเทศนี้ ขึ้นกับความเชื่อมั่นของอเมริกา ในภาระกิจที่จะสร้างความมั่นคงของโลก และมีอำนาจพอที่จะต่อต้านขบวนการกองโจรคอมมิวนิสต์ ที่กำพลังบั่นทอนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Kissinger มองว่าว่า คำพูดของ ลี กวนยู สะท้อนการวิเคราะห์ความเป็นจริงด้านภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคนี้ และพูดในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติของสิงคโปร์ 2 อย่าง คือ การบรรลุศักยภาพกับความสามารถทางเศรษฐกิจ และการมีความมั่นคง สิงคโปร์จะทำในสิ่งที่จะทำให้ประเทศตัวเองบรรลุเป้าหมาย 2 อย่างนี้ เป้าหมายของสิงคโปร์มาจากการวิเคราะห์ที่ชัดเจนของลี กวนยู ต่อจุดยืนทั้งของอเมริกาและของสิงคโปร์ในเวทีโลก

ลี กวน ยู ที่มาภาพ : https://www.washingtonpost.com/world/asia_pacific/lee-kuan-yew

ความเป็นผู้นำที่ต่างจากประเทศอื่น

Kissinger บอกว่า เมื่อ ลี กวนยู เป็นผู้นำสิงคโปร์ ที่เป็นเอกราชในปี 1965 เขาต้องรับผิดชอบประเทศที่ไม่เคยมีฐานะการเป็นประเทศมาก่อน ไม่มีอดีตทางการเมือง เป็นเพียงดินแดนในอาณานิคม ความสำเร็จของ ลี กวนยู คือการเอาชนะสภาพที่เป็นมาของประเทศ สถาปนาแนวคิดให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ตัวเอง คือการสร้างอนาคตที่มีพลวัตของประเทศ ที่ระกอบด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ และเปลี่ยนแปลงเมืองที่เต็มไปด้วยความยากจน ให้กลายเป็นเศรษฐกิจที่ดีสุดของโลก

ความสำเร็จของ ลี กวนยู เกิดขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยเลย ดินแดนของสิงคโปร์เล็กกว่านครชิคาโก้ ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติพื้นฐาน แม้แต่น้ำดื่มก็มีไม่พอเพียง ประชากร 1.9 ล้านคน ประกอบด้วยสามเชื้อชาติ จีน มาเลย์ และอินเดีย ที่มีความตึงเคลียดระหว่างกัน ถูกล้อมรอบด้วยประเทศที่ใหญ่กว่า และมีอิทธิพลมากกว่า ที่อยากจะมีท่าเรือน้ำลึกและตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์เส้นทางการค้าทางทะเล แบบสิงคโปร์

ลี กวนยู กล่าวว่า สิงคโปร์จะไม่สามารถอยู่รอดได้ หากไม่กระทำการในสิ่งที่เป็นมาตรฐานระดับสูงสุดที่เป็นไปได้

เขาเตือนคนสิงคโปร์ไว้ในหนังสือ From Third World to First (2000) ว่า สิงคโปร์ไม่ใช่ “ประเทศแบบธรรมชาติ แต่เป็นประเทศที่คนสร้างขึ้นมา” (man-made) และเตือนว่า หากสิงคโปร์ไม่มีรัฐบาลและประชาชนที่แตกต่าง จากประเทศเพื่อนบ้าน สิงคโปร์ก็จะดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้

ดังนั้น ในการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของสิงคโปร์ในฐานะการเป็นประเทศ นโยบายในประเทศและต่างประเทศจะเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด ความอยู่รอดของสิงคโปร์จึงต้องการ 3 อย่าง คือ

    (1) การเติบโตของเศรฐกิจ เพื่อหล่อเลี้ยงประชากร
    (2) ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนในประเทศ เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายในระยะยาว
    (3) นโยบายต่างประเทศที่คล่องตัว เพื่ออยู่รอดท่ามกลางประเทศยักษ์ใหญ่ เช่นรัสเซีย จีน และเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียกับอินโดนีเซีย

แต่วิสัยทัศน์ของ ลี กวนยู ไม่ได้มีแค่การอยู่รอดของสิงคโปร์เท่านั้น แต่รวมถึงความเจริญรุ่งเรือง ผ่านจากการแสวงหาความเป็นเลิศ สิ่งนี้มีความหมายมากกว่าผลงานความเป็นเลิศของตัวบุคคล แต่หมายถึงการที่ความเป็นเลิศ กลายเป็นวัฒนธรรมและค่านิยมที่ซึมซับทั่วสังคม

ดังนั้น ในงานบริการของรัฐบาล การดำเนินธุรกิจ สาธารณสุข หรือการศึกษา ผลงานแบบคุณภาพในเกณฑ์เฉลี่ยและการคอร์รัปชัน คือสิ่งที่รับไม่ได้ คนละเมิดกฎหมายไม่มีโอกาสแก้ตัวครั้งที่สอง ส่วนความล้มเหลวก็เป็นเรื่องที่สังคมไม่ยอมรับ ในจุดนี้ สิงคโปร์มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในเรื่องการดำเนินงานที่เป็นเลิศแบบรวมหมู่ ความรู้สึกในความสำเร็จร่วมกัน จึงช่วยสร้างความเป็นเอกภาพในสังคม แม้จะมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม

หนังสือ Leadership สรุปความเป็นรัฐบุรุษของ ลี กวนยู ว่า สิ่งที่กำหนดชะตาชีวิตของสังคม ไม่ใช่ความมั่งคั่งทางวัตถุหรืออำนาจ แต่เป็นคุณภาพประชาชนของประเทศนั้นและวิสัยทัศน์ของผู้นำ เหมือนที่ ลี กวนยู เคยพูดไว้ว่า

“ถ้าคุณเป็นแค่คนมองโลกเป็นจริง คุณจะกลายเป็นคนธรรมดาเดินบนท้องถนน และคุณก็จะล้มเหลว ดังนั้น คุณจึงต้องลอยตัวเหนือความเป็นจริง และพูดว่า นี่คือสิ่งที่เป็นไปได้”

เอกสารประกอบ
Leadership: Six Studies in World Strategy, Henry Kissinger, Penguin Press, 2022.