ThaiPublica > เกาะกระแส > โลกจะหลีกเลี่ยงและดำเนินการอย่างไร ไม่ให้เกิดสงครามระหว่างจีน-สหรัฐฯ

โลกจะหลีกเลี่ยงและดำเนินการอย่างไร ไม่ให้เกิดสงครามระหว่างจีน-สหรัฐฯ

30 พฤษภาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

การประชุมผู้นำกลุ่มพันธมิตรทางทหาร QUAD ประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Narendra Modi

ระหว่างการไปเยือนญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนเข้าร่วมประชุมผู้นำกลุ่มพันธมิตรทางทหาร QUAD ที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ในการแถลงข่าวร่วมกับ นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตีญี่ปุ่น เมื่อผู้สื่อข่าวถามเรื่องไต้หวัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวถึงนโยบายสหรัฐฯว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ นโยบายเป็นแบบเดิม โดยสหรัฐฯจะสนับสนุนการต่อสู้ของไต้หวัน หากเกิดการรุกรานของจีน

แต่การตอบคำถามสื่อมวลชนของโจ ไบเดน เกิดปัญหาขึ้นมา เมื่อ Nancy Cordes ผู้สื่อข่าวจาก CBS ถามต่อเนื่องว่า จากที่เธอเห็นว่า โจ ไบเดน ปฏิเสธที่สหรัฐฯ จะเข้าไปเกี่ยวข้องทางทหารโดยตรงในสงครามยูเครน แล้วในกรณีเหตุการณ์แบบเดียวกับยูเครนเกิดขึ้นกับไต้หวัน สหรัฐฯจะเข้าไปเกี่ยวข้องทางทหารโดยตรงหรือไม่ เพื่อปกป้องไต้หวัน โจ ไบเดน ตอบว่า “ใช่ เพราะเป็นพันธะที่เราได้ทำไว้”

“ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์”

คำตอบของไบเดนดังกล่าว คือ สิ่งที่ไปไกลกว่าการสนับสนุนทางทหารที่ให้แก่ไต้หวัน เพื่อป้องกันตัวเอง แต่มีความหมายถึงการที่สหรัฐฯ จะมีการเกี่ยวพันทางทหารโดยตรง ทั้ง ๆ ที่ไต้หวันไม่ได้รับหลักประกันความมั่งคงจากสหรัฐฯ ในฐานะเดียวกันกับที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือประเทศสมาชิกนาโต้ ได้รับจากสหรัฐฯ

กรณีไต้หวันเป็นประเด็นที่อาจทำให้ ความขัดแย้งทางทหารและสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เกิดปะทุขึ้นมาได้ นโยบายต่อไต้หวัน ที่รัฐบาลสหรัฐฯยึดถือมายาวนาน คือสิ่งที่เรียกว่า “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” (strategic ambiguity) ที่สหรัฐฯจะรับมืออย่างไร กรณีที่จีนใช้วิธีการทางทหารกับไต้หวัน

แนวทางดังกล่าวไม่เปิดเผยว่า สหรัฐฯจะดำเนินการอย่างไร หากต้องเผชิญหน้ากับจีน โดยเปิดทางไว้สำหรับความเป็นไปได้ ที่สหรัฐฯจะตอบโต้ทางทหาร ในเวลาเดียวกัน แนวทางนี้ก็มีเป้าหมาย ไม่ให้หลักประกันแก่ไต้หวัน ที่จะดำเนินการประกาศตัวเป็นประเทศอิสระ แนวทางความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อรักษาสถานะภาพเดิม และหลีกเลี่ยงสงคราม

หลายประเทศก็ใช้นโยบาย “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” เช่นอิสราเอลจงใจให้เกิดความคลุมเครือว่า ตัวเองครอบครองอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ ส่วนอังกฤษใช้กลยุทธ์นี้ในเรื่องที่ว่า หากรัฐบาลอังกฤษถูกทำลายลงจากการถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ก่อน กองเรือดำน้ำติดขีปนาวุธของอังกฤษ จะตอบโตด้วยอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่

ดังนั้น ทุกครั้งที่อังกฤษมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็จะมีการส่งจดหมายเปิดผนึกเขียนเป็นลายมือ เรียกว่า Letters of Last Resort ถึงผู้บัญชาการเรือดำน้ำ 4 ลำ โดยเขียนคำสั่งข้อความเดียวกันว่า ให้ดำเนินการอย่างไร เมื่ออังกฤษถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์จากฝ่ายตรงกันข้าม หากจดหมายไม่ได้ถูกเปิดออกมา ในสมัยของนายกรัฐมนตรีคนนั้นที่เป็นผู้เขียนจดหมาย เมื่อพ้นจากตำแหน่ง จดหมายนั้นก็ถูกทำลาย ทำให้ไม่มีใครรู้เนื้อหาของจดหมาย ยกเว้นคนที่เขียน

  • รายงานของ Harvard Kennedy School การแข่งขันทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จีนกับสหรัฐฯ
  • ความเป็นเลิศที่ทำให้ไต้หวันติดอันดับ 2 ชาติที่มีระบบสาธารณสุขดีที่สุดของโลก ในปี 2021
  • ตะวันตกจะแข่งขันกับจีนและหัวเว่ยได้ ต้องลงทุนด้านดิจิทัลในประเทศกำลังพัฒนา
  • หวัง ฮูหนิง อาจารย์ที่ปรึกษาของ สี จิ้นผิง กับหนังสือ America Against America
  • ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ต่อ “อินโด-แปซิฟิก” ภูมิภาคที่ยาวจาก Hollywood ถึง Bollywood
  • ที่มาภาพ: https://www.internationalaffairs.org.au/australianoutlook/us-china-relations-controversial-framing/

    เส้นทางสู่การเผชิญหน้าที่รุนแรง

    Kevin Rudd อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ในปี 2007-2010 และปี 2013 เขียนหนังสือที่เพิ่งออกวางตลาดชื่อ The Avoidable War โดยกล่าวว่า ภาพหายนะจากสงครามยูเครน ที่คนหลายล้านคนต้องอพยพออกจากประเทศตัวเอง ทำให้โลกเราได้ให้ความสำคัญต่อภัยสงคราม ที่คนจำนวนมากมองว่า สงครามขนาดใหญ่ในยุโรป ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แล้ว

    ในช่วงเดียวกันนี้ สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ การคาดคิดถึงความเสี่ยงของสงคราม ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่มาจากความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ ไม่ใช่สิ่งที่อยู่เกินการคาดหมายใดๆอีกแล้ว

    นักยุทธศาสตร์ของจีนและสหรัฐฯ เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางดุลอำนาจ ระหว่างสองประเทศ ที่จะเกิดขึ้นอย่างชี้ขาด ในช่วงทศวรรษ 2020 นี้ ระยะ 10 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงที่โลกเรา จะดำรงอยู่ท่ามกลางอันตราย แต่หากจีนและสหรัฐฯสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ไปละเมิด “ผลประโยชน์สำคัญสุด” (core interest) ของอีกฝ่ายหนึ่ง โลกเราจะก้าวหน้าไปด้วยดี

    Kevin Rudd อธิบายว่า ความเป็นไปได้ของสงครามจีนกับสหรัฐฯ มีสาเหตุที่เกิดจากดุลอำนาจระหว่างสองมหาอำนาจ เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ นับจากปี 2014 เป็นต้นมา สี จิ้นผิง เปลี่ยนยุทธศาสตร์หลักของจีน จากเดิมส่วนใหญ่มีท่าทีตั้งรับ มาเป็นฝ่ายรุก เพื่อขยายผลประโยชน์จีนในทั่วโลก

    อีกส่วนหนึ่งมาจากการตอบโต้ของสหรัฐฯ นับจากปี 2017 ทั้งรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ และ โจ ไบเดน หันมายึดถือนโยบายใหม่ เรียกว่า “การแข่งขันทางยุทธศาสตร์” กับจีน ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้จีนกับสหรัฐฯเดินบนเส้นทาง ที่จะเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง ในห่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า

    Kevin Rudd เห็นว่า สงครามจีนกับสหรัฐฯไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ วิธีการดีที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งนี้ คือการเข้าใจความคิดทางยุทธศาสตร์ของอีกฝ่ายหนึ่ง และวางกรอบที่จีนกับสหรัฐฯจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยที่ยังมีการแข่งขัน หรือแม้ความขัดแย้งจะยังมีอยู่

    หากโลกเราสามารถรักษาสันติภาพไว้ได้ในระยะ 10 ปีข้างหน้า สภาพแวดล้อมการเมืองอาจเปลี่ยนไป และความคิดทางยุทธศาสตร์ของแต่ละฝ่าย อาจพัฒนาต่างจากเดิม เมื่อโลกเราต้องเผชิญปัญหาท้าทายใหม่ๆ ที่เป็นภัยต่อการดำรงอยู่ร่วมกันของโลกเรา ผู้นำมหาอำนาจอาจหันมาให้ความสำคัญต่อการร่วมมือกันมากขึ้น แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อก่อนอื่นทั้งหมด ในทศวรรษ 2020 นี้ ไม่มีการทำลายร้างกันและกัน

    ที่มาภาพ: https://asiasociety.org/new-york/events/dangers-catastrophic-conflict-between-us-and-xi-jinpings-china

    ประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งกันมานาน

    ภาวะปัจจุบันของความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐฯ เป็นผลผลิตที่มาจากประวัติศาสตร์ที่นานกว่า 150 ปี ทำให้เกิดความหวาดระแวงไม่เข้าใจกันและกัน ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ในความหมายที่แคบ ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของสองประเทศ เป็นเรื่องผลประโยชน์เศรษฐกิจร่วมกันเท่านั้น

    ในบางครั้งบางช่วง สองประเทศก็มีศัตรูร่วม เช่น อดีตสหภาพโซเวียต การรักษาเสถียรภาพการเงินโลก หรือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นต้น เป็นเวลานานที่เสา 3 ต้นในด้านเศรษฐกิจ ภูมิยุทธศาสตร์ และระบบพหุภาคีโลก ช่วยค้ำจุนความสัมพันธ์ของสองประเทศ ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่ปัจจุบันเสาที่ค้ำจุนนี้เกิดการแตกร้าวขึ้นมาแล้ว

    คนอเมริกันและกลุ่มผู้นำสหรัฐฯ พยายามอย่างมากที่จะเข้าใจว่า ระบอบการเมืองของจีนคอมมิวนิสต์ทำงานอย่างไร การไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรม ค่านิยมจริยธรรมของจีน รวมทั้งระบบผู้นำปัจจุบันของจีน ทำให้คนอเมริกันไม่ไว้วางใจ ต่อการที่จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของการเป็นประเทศผู้นำโลก

    ทุกวันนี้ สหรัฐฯไม่เชื่ออีกแล้วในสิ่งที่จีนประกาศว่า จีนจะก้าวขึ้นมารุ่งเรืองเป็นมหาอำนาจ “อย่างสันติ” หน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯมองไปที่การขยายอิทธิพลของจีน ผ่านอำนาจทางทหาร เช่น การเปลี่ยนพื้นที่ทะเลจีนใต้ ให้เป็นพื้นที่เกาะขึ้นมา และการสร้างฐานทัพเรือในแถบมหาสมุทรอินเดีย

    ส่วนจีนก็ไม่เชื่อต่อสิ่งที่สหรัฐฯประกาศว่า ไม่มีนโยบาย “ปิดล้อม” สะกัดการพุ่งขึ้นมาเป็นใหญ่ของจีน โดยจีนชี้ถึงกรณีการขายอาวุธให้ไต้หวันมากขึ้น สงครามการค้าที่ต้องการจะทำให้เศรษฐกิจจีนพิการเสียหาย และการต่อต้านบริษัทหัวเหว่ย เพื่อยับยั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจีน ส่วนการที่สหรัฐฯยืนหยัดเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ จีนถือว่าเป็นการแทรกแซงอธิปไตยทางน่านน้ำของจีน

    “กับดักธุไซดิเดส”

    เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว ธุไซดิเดส (Thucydides) นักประวัติศาสตร์กรีซโบราณ เขียนเรื่องราวสงครามระหว่าง นครรัฐเอเธนส์กับสปาร์ต้าว่า “การก้าวขึ้นมารุ่งเรืองของเอเธนส์ และความรู้สึกหวาดกลัวของสปาร์ต้า ทำให้สงครามกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น” Graham Allison จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นำความคิดนี้ มาเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความคิด “กับดักธุไซดิเดส” (Thucydides Trap) ที่หมายถึงสถานการณ์ที่เกิดความปั่นป่วน เมื่อมหาอำนาจที่กำลังพุ่งขึ้นมา กลายเป็นภัยคุกคาม โดยการที่จะเข้ามาแทนที่มหาอำนาจเดิม

    Kevin Rudd บอกว่า มีองค์ประกอบหลายอย่างในความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐฯ ที่ตรงกับเงื่อนไข “กับดักธุไซดิเดส” เหตุการณ์หลายอย่างพัฒนาไปสู่สงครามเย็น 2.0 ระหว่างสองประเทศ สหรัฐฯมีพันธมิตรในเอเชียที่จะให้การปกป้อง ส่วนจีนก็ต้องการทดสอบว่า อะไรคือขอบเขตของพันธะทางทหารของสหรัฐฯ จากไต้หวันถึงทะเลจีนใต้ จากฟิลิปปินส์ถึงทะเลจีนตะวันออก และญี่ปุ่น

    สิ่งที่สหรัฐฯวิตกกังวลมากสุดในเรื่องการขยายอำนาจทางทหารของจีน คือการพัฒนากองทัพเรือจีนให้ทันสมัย และความสามารถด้านเรือดำน้ำของจีน

    ความทันสมัยของกองทัพเรือจีน จะทำให้ขยายอำนาจไปทั่วมหาสมุทรอินเดีย ไปจนถึงแอฟริกาตะวันออก โดยการสนับสนุนจากท่าเรือจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ การร่วมมือทางกองทัพเรือจีนกับรัสเซีย ในการซ่อมรบร่วมกันทางรัสเซียตะวันออกไกล สิ่งเหล่านี้ทำให้นักการทหารของสหรัฐฯมองว่า จีนมีเป้าหมายมากกว่าช่องแคบไต้หวัน

    ภายใต้การนำของสี จิ้นผิง จีนมีเป้าหมายภายในปี 2035 ที่จะเพิ่มรายได้ต่อหัวของคนจีน ให้สูงขึ้นมาที่ระดับประเทศพัฒนาแล้วระดับกลาง นักเศรษฐศาสตร์จีนอธิบายว่า เป้าหมายนี้คือจีนมีรายได้ต่อคนที่ 20,000-30,000 ดอลลาร์ เท่ากับระดับเดียวกับเกาหลีใต้

    เป้าหมายนี้หมายความว่า ขนาดเศรษฐกิจจีนจะต้องเพิ่มอีกเท่าตัว จากปัจจุบันที่ 14.7 เป็น 29.4 ล้านล้านดอลลาร์ สี จิ้นผิง คงจะได้เห็นถึงการเปลี่ยนดุลอำนาจครั้งสำคัญของโลก เมื่อจีนกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนยกเลิกข้อจำกัดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกิน 10 ปี หรือสองสมัย

    สิ่งที่จะต้องทำ

    Kevin Rudd กล่าวว่า คนที่เป็นมิตรทั้งต่อจีนกับสหรัฐฯ มีพันธะทางมโนธรรม ที่จะค้นหาคำตอบต่อปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ที่ยากที่สุดในปัจจุบัน คือทำอย่างไรที่จะรักษาความสงบรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นกับโลกเราในช่วง 70 กว่าปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ก็ยอมรับถึงการเปลี่ยนแปลงด้านดุลอำนาจ ระหว่างสหรัฐฯกับจีน เราต้องสามารถระบุว่า อะไรคือทางออกทางยุทธศาสตร์ ที่ช่วยรักษาสันติภาพระหว่างมหาอำนาจ ในเวลาเดียวกัน ก็ยังรักษาระเบียบโลกที่ยึดถือกฎเกณฑ์ ที่มีมานับตั้งแต่หลังสงครามโลก

    ถ้าจะยืมคำถามจากเลนินที่ว่า “อะไรคือสิ่งที่ต้องทำ” (What is to be done?”) ก้าวแรกคือแต่ละฝ่ายต้องระมัดระวังในเรื่อง การดำเนินการของตัวเองจะถูกตีความจากอีกฝ่ายอย่างไร ความเข้าใจทางยุทธศาสตร์ของกันและกัน เป็นจุดเริ่มต้น แต่สิ่งที่ยากที่สุดต่อมาคือ การสร้างกรอบทางยุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ใน 3 ด้าน คือ

  • สองฝ่ายตกลงในหลักการ ที่จะช่วยชี้นำว่า อะไรคือ “เส้นแดงทางยุทธศาสตร์” (strategic red line) ของอีกฝ่ายหนึ่ง คำว่า “เส้นแดง” หมายถึงจุดที่ก้าวข้ามมา ที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่พร้อมเจรจา สำหรับเส้นแดงของจีน คือกรณีไต้หวัน หากข้ามมาหมายถึงความขัดแย้งทางทหาร
  • พื้นที่ที่ตกลงร่วมกันว่า การแข่งขันทางยุทธศาสตร์เป็น “ภาวะปกติใหม่” (new normal) เช่น นโยบายต่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจ และการพัฒนาเทคโนโลยี เช่นเซมิคอนดักค์เตอร์
  • ระบุพื้นที่ที่สองฝ่ายเห็นว่า เป็นความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก ที่จะต้องร่วมมือกันต่อไป
  • กรอบทางยุทธศาสตร์ร่วมกันของสองมหาอำนาจ อาจไม่ได้ป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติ ความขัดแย้ง หรือสงคราม ระหว่างสองฝ่าย แต่จะช่วยลดความเป็นไปได้ ที่จะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ และช่วยบริหารจัดการวิกฤติ กรณีที่เกิดอุบัติเหตุการเผชิญหน้าทางทหารในทะเล เป็นต้น

    เอกสารประกอบ
    Biden’s new stance of strategic confusion on Taiwan, May 23, 2022, cnn.com
    The Avoidable War, Kevin Rudd, PublicAffairs, 2022.