ThaiPublica > เกาะกระแส > ญี่ปุ่นในยุคนายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูกะ บทบาทที่ปกป้องระเบียบเสรีนิยมเอเชีย

ญี่ปุ่นในยุคนายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูกะ บทบาทที่ปกป้องระเบียบเสรีนิยมเอเชีย

21 เมษายน 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน พบปะกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โยชิฮิเดะ ซูกะ ที่มาภาพ : cnn.com

ในการพบปะเจรจาระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน กับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นโยชิฮิเดะ ซูกะ เมื่อวันศุกร์ที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา สหรัฐฯและญี่ปุ่นได้แสดงออกอย่างเด่นชัดที่สุดของความเป็นพันธมิตร และความมุ่งมั่นร่วมกันของสองประเทศ ในการที่จะรับมือกับจีน โดยเฉพาะท้าทายต่อทัศนะจีนที่มองว่า สหรัฐฯกับระบอบประชาธิปไตย กำลังเป็นฝ่ายถดถอย และถอนตัวจากบทบาทในโลก ที่เคยมีในอดีต

สำหรับผู้นำญี่ปุ่นทุกคน การจัดการเรื่องพันธมิตรกับสหรัฐฯ ถือเป็นงานภาระกิจที่ยากลำบากที่สุด เพราะทุกวันนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องพึ่งพาจีนอย่างมาก ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็ต้องพึ่งพิงสหรัฐฯในด้านความมั่นคง แต่ในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำญี่ปุ่นได้กล่าวอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาว่า คัดค้านความพยายามของจีน ที่จะครอบงำภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยกำลังหรือโดยการกดดัน

แถงการณ์ร่วมสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น

แถลงการณ์ร่วมสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นที่เผยแพร่หลังการประชุมของผู้นำ กล่าวว่า สองประเทศได้เริ่มต้นใหม่ของการเป็นพันธมิตร ที่จะเป็นพื้นฐานให้แก่สันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ทั้งสองประเทศแสดงพันธกรณีต่อค่านิยมสากลและหลักการร่วมต่างๆ ที่ประกอบด้วยเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม กฎหมายระหว่างประเทศ พหุนิยมภาคี และระเบียบเศรษฐกิจที่เสรีและเป็นธรรม

แถลงการณ์ร่วมยังกล่าวว่า สองประเทศคัดค้านการอ้างสิทธิทางทะเลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกิจกรรมในทะเลจีนใต้ของจีน โดยกล่าวย้ำอย่างหนักแน่นถึงผลประโยชน์ของสองประเทศ ที่ทะเลจีนใต้เป็นทะเลที่เสรีและเปิดกว้าง ถูกกำกับโดยกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเสรีภาพในการเดินเรือ และการบินเหนือน่านน้ำ เป็นสิ่งที่มีหลักประกัน สอดคล้องกับสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย กฎหมายทางทะเล

บทบาทใหม่ของญี่ปุ่น

บทความชื่อ The Underappreciated Power ของ foreignaffairs.com กล่าวว่า ญี่ปุ่นกลับมามีบทบาทขึ้นใหม่ในภูมิภาคเอเชีย เมื่อโลกเรากำลังกลับคืนสู่ยุคการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจ สหรัฐฯกับจีน ในอดีต โลกเรามองข้ามการเป็นมหาอำนาจภูมิภาคอย่างญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นไม่ได้มีเป้าหมายที่จะเป็นมหาอำนาจ และยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น จำนวนประชากรที่ลดลง เศรษฐกิจไม่ขยายตัว และข้อห้ามการใช้กองกำลังทหารในต่างประเทศ

แต่การมองข้ามญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องที่ผิดพลาด ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็ง เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จ ในการปรับตัวกับกระแสเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ หลายสิบปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเป็นผู้นำการให้เงินกู้แก่โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนเรื่องการใช้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เป็นเครื่องมือทางการทูต กล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นสามารถเป็นคู่แข่งของจีน

ทุกวันนี้ ผู้นำญี่ปุ่นเผชิญการทดสอบหลายอย่าง เช่น จะสามารถปกป้องระบบสาธารณสุขประเทศได้หรือไม่จากโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างไร จากภาวะถดถอยที่ยาวนาน และจะเป็นประเทศที่มีบทบาทปกป้องระเบียบเสรีระหว่างประเทศอย่างแข็งขันได้อย่างไร ส่วนคนญี่ปุ่นก็กังวลปัญหาที่ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจากจีนมากเกินไป และส่วนเรื่องความมั่นคง ก็พึ่งพิงสหรัฐฯมากเกินไป เมื่อชินโซะ อาเบะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกันยายน 2020 ทำให้เกิดความกังวลว่า นโยบายต่างประเทศที่ญี่ปุ่นมีบทบาทฝ่ายรุก อาจจะสิ้นสุดลง

ขณะที่ประเทศตะวันตกประสบปัญหา ที่คนทั่วไปหันไปชื่นชมผู้นำแบบประชานิยม ใช้นโยบายกีดกันการค้า และขาดความเชื่อมั่นต่อกระแสโลกาภิวัฒน์ แต่การเมืองในญี่ปุ่นกลับมีเสถียรภาพ ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเองก็สามารถรับมือได้อย่างดีต่อผลกระทบ 2 ด้านจากกระแสโลกาภิวัฒน์ คือการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ และการบูรณาการเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้ากับจีน

บทความ foreignaffairs.com กล่าวว่า กลางทศวรรษ 1980 เมื่อค่าเงินเยนพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดกระแสการลงทุนต่างประเทศของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชีย บริษัทญี่ปุ่นหันไปสร้างห่วงโซ่อุปทานในต่างประเทศ จนปัจจุบัน 50% ของชิ้นส่วนยานยนต์ขนส่งทั้งหมด ผลิตจากนอกญี่ปุ่น รวมทั้ง 30% ของเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรทั่วไป ก็ผลิตในต่างประเทศ การลงทุนญี่ปุ่นในจีน ช่วยทำให้จีนกลายเป็นโรงงานโลก การนำเข้าของญี่ปุ่นทั้งหมด 21% มาจากจีน และส่วนการส่งออกของญี่ปุ่น 19% ไปยังจีน

ในสหรัฐฯ การให้ต่างประเทศผลิตสินค้าแทน (outsourcing) และการนำเข้าสินค้าจากจีน มีผลกระทบมากต่อการจ้างงานด้านอุตสาหกรรม จนกลายเป็นประเด็นการเมือง แต่คนญี่ปุ่นมีความกังวลน้อยเรื่อง ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มาจากจีน คนญี่ปุ่นมองการค้าเสรีว่ามีคุณูปการต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ไม่ได้มองว่าปัญหาเศรษฐกิจประเทศ เกิดจากโลกาภิวัตน์หรือการค้าเสรี

การค้ากับจีนมีผลกระทบไม่มากต่อตลาดแรงงานญี่ปุ่น เหตุผลหนึ่งคือภูมิภาคของญี่ปุ่น ที่มีการค้าด้านห่วงโซ่อุปทานกับจีน จะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นมา และเหตุผลประการที่สอง การที่จะปลดคนงานที่ล้นเกิน บริษัทญี่ปุ่นจะประสบปัญหาทางกฎหมายมากมาย ดังนั้น การปลดคนงานจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องที่ขึ้นยากในญี่ปุ่น นอกจากนี้ ในปัจจุบัน บริษัทญี่ปุ่นต่างก็แย่งจ้างพนักงานใหม่ เพราะจำนวนประชากรแรงงานที่ลดลง และประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานทั่วไปในญี่ปุ่นจึงอยู่ที่ 2.4% ส่วนในช่วงแรกการแพร่ระบาดโควิด-19 อยู่ที่ 2.8%

บทบาททางเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมา โลกไม่ค่อยให้ความสนใจกับญี่ปุ่น เนื่องจากบทบาทที่ลดลงของญี่ปุ่นที่เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจโลก นับจากปี 1991 เมื่อเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่แตกขึ้นมา เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยเรื้อรัง การเข้มงวดด้านงบประมาณ ทำให้มีเงินทุนช่วยเหลือต่างประเทศลดน้อยลง ปี 2010 เศรษฐกิจจีนก้าวล้ำหน้าขึ้นมา ทำเศรษฐกิจญี่ปุ่นตกมาอยู่อันดับ 3 ของประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก

บทความของ foreignaffairs.com บอกว่า การมองญี่ปุ่นด้วยภาพลักษณ์ดังกล่าว จะเป็นการเข้าใจผิดที่ไม่ใช่ความจริง ในระยะที่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นหันมาเน้นหนักในสิ่งที่เป็นความสามารถหลักของตัวเอง (core competency) และสามารถยึดครองตลาดผลิตภัณฑ์เฉพาะในห่วงโซ่คุณค่าโลก โดยที่ผู้บริโภคทั่วโลกมองไม่เห็นว่า ญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนไฮเทคและวัสดุที่ก้าวหน้า และกว่าครึ่งหนึ่งของบรรดาสินค้าไฮเทค ญี่ปุ่นครองตลาดถึง 50-100%

แทนที่จะถอนตัวจากเศรษฐกิจโลก แต่ญี่ปุ่นกลับแข่งขันกับจีนในเรื่องการลุงทนและและการให้เงินสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ช่วง 10 ปีหลังจากวิกฤติการเงินโลกในปี 2008 ญี่ปุ่นลงทุนต่างประเทศเฉลี่ยปีหนึ่ง 122 พันล้านดอลลาร์ ส่วนจีนออกไปลงทุนเฉลี่ยต่อปี 109 พันล้านดอลลาร์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่นก็ลงทุนมากกว่าจีน

นายกฯญี่ปุ่น ซูกะไปเยือนเวียดนาม ที่มาภาพ : mofa.go.jp

จีนมีแผนที่จะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศ ผ่านโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เป็นมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่นอาจไม่ได้แข่งขันกับจีนแบบดอลลาร์ต่อดอลลาร์ แต่ใช้นโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบทางเลือก เช่น ปี 2015 รัฐบาลชินโซะ อาเบะ ประกาศโครงการ “หุ้นส่วนโครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพ” (Partnership for Quality Infrastructure) ที่มีมูลค่า 200 พันล้านดอลลาร์ โดยเสนอเงินสนับสนุนการพัฒนาในระยะยาวอย่างโปร่งใส ที่ไม่ทำให้ประเทศรับความช่วยเหลือติดกับดักเงินกู้

อีกโครงการหนึ่งคือ การริเริ่มอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง (Free and Open Indo-Pacific Initiative) ที่จะเชื่อมประเทศในแอฟริกาตะวันออก มาจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ การริเริ่มนี้จะประกอบด้วยโครงการด้านการเงินสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบการค้า เพื่อสนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจ การขยายเศรษฐกิจดิจิทัล และการสนับสนุนด้านกองกำลังดูแลชายฝั่งทะเล

ในปี 2017 เมื่อสหรัฐฯถอนตัวจากข้อตกลงหุ้นส่วนทรานแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership – TPP) ญี่ปุ่นก็เข้ามามีบทบาทนำแทนสหรัฐฯ ญี่ปุ่นยังเป็นฝ่ายดำเนินการทำข้อตกลงการค้าสำคัญของโลก คือ ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นกับกลุ่ม EU ที่มีผลตั้งแต่ปี 2019 และข้อตกลงการค้ากับ 14 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ที่กำลังใกล้จะบรรลุความตกลง นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังร่วมมือกับสหรัฐฯและ EU ในการปรับปรุงกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องการอุดหนุน

ผู้นำญี่ปุ่นกล่าวอย่างเปิดเผยเรื่องความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ที่อาศัยจีนมากเกินไป เดือนเมษายน 2020 รัฐบาลชินโซะ อาเบะ ได้ตั้งกองทุน 2.2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานของญี่ปุ่น ที่การผลิตไปกระจุกตัวอยู่ในจีน เงินอุดหนุนของรัฐบาลอาจจะไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนบริษัทญี่ปุ่นในจีน แต่ก็แสดงถึงการบริหารความเสี่ยง ที่ญี่ปุ่นจะย้ายฐานการผลิตบางส่วนมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกประเทศหนึ่ง บทบาทการนำใหม่ของญี่ปุ่น มีความหมายสำคัญต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก ความสำเร็จหรือล้มเหลวของบทบาทญี่ปุ่นจะพิสูจน์ว่า ประเทศมหาอำนาจระดับกลาง จะสามารถมีอิทธิพลต่อการค้าโลก ที่เปิดกว้างและเสรีได้หรือไม่

บทความ foreignaffairs.com สรุปว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว มีการหมายถึงการตกต่ำของญี่ปุ่น แต่สิ่งที่คาดการณ์นี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้น ญี่ปุ่นสามารถปรับตัวกับกระแสโลกาภิวัตน์ สร้างการเมืองที่มีเสถียรภาพ และรัฐบาลมีการบริหารงานเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง การที่ญี่ปุ่นจะสามารถรักษาฐานะความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ได้ต่อไปในอนาคตข้างหน้า ญี่ปุ่นจะต้องมีบทบาทสำคัญ ในการปกป้องระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานกฎกติกา

เอกสารประกอบ
Japan, US showcase alliance, resolve in dealing with China, April 17, 2021, washingtonpost.com
The Underappreciated Power: Japan After Abe, November/December 2020, foreignaffaits.com