ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงานของ Harvard Kennedy School การแข่งขันทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จีนกับสหรัฐฯ

รายงานของ Harvard Kennedy School การแข่งขันทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จีนกับสหรัฐฯ

7 พฤษภาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

Graham Allison ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย Harvard เขียนไว้ใน barron.com โดยตั้งคำถามว่า ใครคือประเทศที่มีฐานะเป็นโรงงานการผลิตของโลก ใครคือประเทศที่เป็นคู่ค้ารายสำคัญของประเทศส่วนใหญ่ในโลก ใครคือประเทศที่ส่งออกชิ้นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานโลก และใครคือประเทศที่เป็นทั้งผู้ผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่สุดของโลก

คนที่ไม่แน่ใจที่จะตอบคำถามเหล่านี้ สามารถหาคำตอบได้จากรายงานล่าสุดของ Harvard Kennedy School ชื่อ การแข่งขันทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จีนกับสหรัฐฯ (The Great Economic Rivalry: China vs the US, 2022) รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างสองมหาอำนาจ ที่เกิดขึ้นในช่วง 21 ปีของศตวรรษที่ 21

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว จีนถูกเรียกว่าเป็น “ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจน” พยายามต่อสู้เพื่อให้เข้าเป็นสมาชิดองค์การการค้าโลก (WTO) มูลค่า GDP ของจีนในเวลานั้นคิดเป็นเพียง 1 ใน 10 ของมูลค่าปัจจุบัน และประชาชนจีน 460 ล้านคนมีชีวิตอยู่ด้วยรายได้ที่น้อยกว่า 2 ดอลลาร์ต่อวัน

การพุ่งขึ้นมาของจีน

การพุ่งขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีนทำให้ดุลอำนาจของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในปี 2000 เศรษฐกิจจีนตามมูลค่าตลาดเทียบได้กับ 10% ของมูลค่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ในปี 2021 สัดส่วนเพิ่มเป็น 78% ลี กวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เคยกล่าวไว้ว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะคิดว่าสิ่งนี้ (การพุ่งขึ้นมาของจีน) คือการที่มีผู้เล่นรายใหญ่อีกรายหนึ่ง แต่เป็นผู้เล่นรายใหญ่สุดในประวัติศาสตร์โลก”

การพุ่งขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน สร้างผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้สหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ต้องปรับท่าทีใหม่ต่อจีน ในปี 2001 เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของประเทศส่วนใหญ่ในโลก แต่ปัจจุบัน ฐานะดังกล่าวเปลี่ยนเป็นจีน ในปี 2010 จีนเป็นผู้ผลิตด้านอุตสาหกรรมอันดับ 1 ของโลก ปัจจุบัน จีนครองสัดส่วน 1 ใน 3 ของมูลค่าการผลิตของโลก ส่วนสหรัฐฯลดมาเหลือ 1 ใน 5

ความสำคัญของ GDP

ปี 2000 เศรษฐกิจจีนมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ และเพิ่มเป็น 17.7 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 ทำให้ IMF กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีนเป็น “ความรุ่งเรืองของธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่มากที่สุดและยาวนานสุดในประวัติศาสตร์” ช่วงปี 2000-2021 เศรษฐกิจจีนขยายตัวเฉลี่ยปีละ 8.7% ช่วงแรก 2000-2009 ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10.3% ช่วงที่สอง 2010-2021 เฉลี่ยปีละ 8.7%

นับจากปี 2008 เป็นต้นมา ในทุกๆ 4 ปี เศรษฐกิจจีนจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเท่ากับมูลค่า GDP ของอินเดีย หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจจีนจะมีมูลค่าเพิ่ม 1 เท่าตัวในทุกๆ 7 ปี เปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ปี 2000 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีมูลค่า 10.3 ล้านล้านดอลลาร์ และเพิ่มเป็น 24.0 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2021 ในช่วง 2000-2021 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวเฉลี่ยปีหนึ่ง 2%

เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็ว ทำให้รายได้ต่อคนของจีนเพิ่ม 10 เท่า จาก 1,000 ดอลลาร์ในปี 2000 เป็น 10,000 ดอลลาร์ในปี 2020 จีนยังสร้างความมหัศจรรย์ในการต่อสู้กับความยากจน ปี 1979 คนจีน 9 ใน 10 คน ต้องใช้ชีวิตจากรายได้น้อยกว่า 2 ดอลลาร์ต่อวัน ทุกวันนี้ ตัวเลขคนยากจนแบบสุดขั้วแทบจะเป็นศูนย์ มาจนถึงปี 2019 คนจีน 400 ล้านคนกลายเป็นคนชั้นกลาง

การค้า

เมื่อเริ่มต้นศตวรรษที่ 21 สหรัฐฯเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญสุด ของทุกประเทศสำคัญๆในโลก ปัจจุบัน จีนกลายเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุด ของแทบทุกประเทศ ปี 2018 มี 130 ประเทศที่ค้าขายกับจีนมากกว่ากับสหรัฐฯ การค้าไม่เพียงแต่ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโต แต่ยังทำให้ห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศต้องพึ่งพาจีนด้วย ปี 2021 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ประมาณครึ่งหนึ่งมาจากการนำเข้าสินค้าจากจีน

การมีตลาดเศรษฐกิจที่ใหญ่และมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้จีนใช้ความได้เปรียบนี้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจแบบ “soft power” เช่น การซื้อ การขาย หรือการลงทุน ปี 2016 เมื่อเกาหลีใต้เข้าร่วมโครงการป้องกันขีปนาวุธ THAAD ของสหรัฐฯ จีนตอบโต้ด้วยการขัดขวางการดำเนินงานของร้านสรรพสินค้า Lotte ในจีน และนักท่องเที่ยวจีนมาเกาหลีใต้ลดลง 50% ความสัมพันธ์กลับมาปกติเมื่อเกาหลีใต้ประกาศไม่เข้าร่วมระบบป้องกันขีปนาวุธดังกล่าว

รายงานของ Harvard Kennedy School กล่าวว่า จีนได้พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นการเชื่อมโยงที่ขาดไม่ได้ในห่วงโซ่อุปทานโลกของบริษัทชั้นนำทั้งหลาย แม้สหรัฐฯ จะพูดถึงเรื่อง “การสิ้นสุดของการเชื่อมโยง” (decoupling) และ “การย้ายมาผลิตกลับมาใกล้ชายฝั่ง” (reshoring) แต่สัดส่วนการค้าโลกของจีนกลับเพิ่มมากขึ้น ทั้งๆ ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การค้าโลกลดลง 5%

ส่วนมาตรการสำคัญของของประเทศตะวันตก ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ล้วนต้องพึ่งพิงจีนมากยิ่งขึ้น เพราะจีนเป็นประเทศผู้ผลิตรายสำคัญของสินค้าทุกอย่างที่เรียกว่า “สีเขียว” จีนเป็นผู้ผลิต 80% ของแผงโซลาเซลล์ในโลก 40% ของกังหันลม และ 90% ของแร่หายาก (rare earth) วัตถุดิบสำคัญของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ คาดว่าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 1.4 ล้านคันในปี 2028 แต่เมื่อปี 2021 จีนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 3.3 ล้านคัน และคาดว่าจะผลิต 8.8 ล้านคนในปี 2028

ธุรกิจกับการลงทุน

ปี 2021 นิตยสาร Fortune ประกาศว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ Global 500 ของโลก มีบริษัทจีน 124 บริษัท ส่วนสหรัฐฯมี 121 บริษัท Fortune สรุปว่า “ศตวรรษอเมริกา” ได้ถอยออกไปจากสภาพความจริงใหม่ แต่การแข่งขันของบริษัท Global 500 ยังไม่จบลง รายได้บริษัทอเมริกันใน Global 500 มีเกือบ 10 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนของจีนมี 8.3 ล้านล้านดอลลาร์ ตราสินค้าของบริษัทอเมริกันยังมีมูลค่ารวมกันที่ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่าของจีนที่มีมูลค่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จีนก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสหรัฐฯ ในด้านแหล่งการลงทุนต่างประเทศโดยตรง และกลายเป็นประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนต่างประเทศมากที่สุด ในช่วงปี 2000-2020 การลงทุนต่างประเทศในจีนเพิ่มจาก 41 พันล้านดอลลาร์ เป็น 163 พันล้านดอลลาร์ ในอีก 10 ปีข้างหน้า การเปิดตลาดแก่นักลงทุนต่างประเทศ จะทำให้ตลาดจีนยังสามารถดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น

การเงิน

แต่สหรัฐฯ ยังเป็นผู้นำในเรื่องระบบการเงินโลก ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ยังถือเงินสกุลดอลลาร์เป็นเงินทุนสำรอง แต่ก็ลดสัดส่วนจาก 70% ในปี 2000 มาเหลือ 60% ในปัจจุบัน ดอลลาร์ยังเป็นเงินสกุลหลักของการค้าเงินตราต่างประเทศ การชำระเงินระหว่างประเทศ และการชำระเงินทางการค้า

รายงาน Harvard Kennedy School กล่าวถึงเรื่องที่สหรัฐฯ ใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ อิหร่าน และรัสเซีย แต่การจะใช้เป็นอาวุธกับจีน ยังเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอยู่ว่าจะได้ผลหรือไม่ เพราะเศรษฐกิจที่พึ่งพากันของจีนกับสหรัฐฯ ทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่า “การชะงักงันทางเศรษฐกิจร่วมกัน” หรือ MAED (mutual assured economic disruption)

หากสหรัฐฯ กีดกันจีนออกจากระบบการเงินโลก ที่มีสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลาง และจีนตอบโต้ด้วยการระงับการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ จะทำให้ห้าง Walmart, Home Depot และ Targets ขาดแคลนสินค้า เศรษฐกิจและสังคมของสองประเทศ จะเกิดการหยุดชะงักที่รุนแรง การจะทดสอบว่าฝ่ายไหนจะมีความอดทนและอยู่ได้นานกว่ากัน เป็นการแข่งขันที่ไม่มีฝ่ายไหนอยากจะเข้าไปเล่นเกมนี้

ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการเงิน หรือ fintech ของจีน ทำให้จีนพัฒนาอย่างรวดเร็วในเรื่อง ระบบการชำระเงินของประชาชน ในขณะที่ผู้นำการเงินสหรัฐฯ ยังถกเถียงกันเรื่องการนำเงินดิจิทัลดอลลาร์ (digital dollar) มาใช้ แต่จีนกลายเป็นประเทศนำหน้าในเรื่องทำให้เศรษฐกิจทั้งระบบเป็นแบบดิจิทัล และพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลหยวน หรือ eCNY ที่ออกโดยธนาคากลางจีน eCNY จะทำให้ธุรกรรมการเงินของประชาชนจีน มีความรวดเร็ว ต้นทุนถูกลง และมั่นคงปลอดภัย ภาคการเงินจีนก็สร้างแอปใหม่ๆ มารองรับ

การพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลของจีนจะสั่นคลอนฐานะนำของสหรัฐฯ ในระบบการเงินโลก เงินสกุลดิจิทัลหยวนจะทำให้บรรดาพ่อค้าสะดวกที่จะใช้ระบบการชำระเงินแบบใหม่ โดยก้าวข้ามระบบการชำระเงินที่มีดอลลาร์เป็นพื้นฐาน เมื่อนานาประเทศยอมรับเงินสกุลดิจิทัล จีนก็จะอยู่ในฐานะที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ของธุรกิจการเงินดิจิทัล

ในเรื่องตลาดทุน ปี 2003 ตลาดหุ้นของจีนมีมูลค่า 500 พันล้านดอลลาร์ แต่ปี 2021 เพิ่มเป็น 14 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่มูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ สูงถึง 53 ล้านล้านดอลลาร์ แต่การพุ่งขึ้นมาของธุรกิจธนาคารในจีนก็โดดเด่น ปี 2000 ธนาคารจีนไม่ติดอันดับ 10 ธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลก

แต่ปัจจุบัน มีธนาคารจีน 4 แห่งติดอันดับ 10 ธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลก มีทรัพย์สินรวม 17.3 ล้านล้านดอลลาร์ พัฒนาการสำคัญของธนาคารจีน คือ การปล่อยเงินกู้ระหว่างประเทศ ที่มีมูลค่ามากกว่าธนาคารประเทศตะวันตก โดยเน้นที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ธุรกรรมนี้ถือกันว่าเป็น “แหล่งรายได้หลัก” (bread and butter) ของธุรกิจธนาคารระหว่างประเทศ

สุดท้าย จีนยังไม่ประสบความสำเร็จในการดึงคน ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี จำนวนคนที่โอนสัญชาติเป็นคนจีนมีน้อยกว่า 2,000 คน แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ให้สัญชาติแก่คนเหล่านี้ 15 ล้านคน ผู้อพยพมีบทบาทสำคัญในการสร้างสหรัฐฯ ให้เป็นผู้นำเทคโนโลยี ผู้ก่อตั้งบริษัทไฮเทคล้วนเป็นผู้อพยพ เช่น Google, Intel หรือบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 เช่น Pfizer และ Moderna

สำหรับอนาคตต่อไป การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในอัตราปีหนึ่ง 5-6% ยังเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยตอบคำถามสำคัญที่ว่า นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูงสุด เมื่อชังน้ำหนักความเสี่ยง ยังจะลงทุนในจีนมากขึ้นหรือที่อื่น บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องการผลิตสินค้ามีคุณภาพสูงสุด แต่มีต้นทุนต่ำสุด จะขยายการผลิตในจีนหรือไปที่อื่น ผู้นำประเทศต่างๆ ต้องตัดสินใจเลือกข้างหรือไม่ ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เป็นต้น

เอกสารประกอบ
Economic Weight Is Power. China Is Gaining Fast, Graham Allison, April 15, 2022, barrons.com
The Great Economic Rivalry: China vs the US, Belfer Center for Science and International Affairs, Harvard Kennedy School, March 2022.