ThaiPublica > เกาะกระแส > บทเรียนจากประชาธิปไตยญี่ปุ่น การเมืองที่ครองอำนาจโดย LDP พรรคเดียว

บทเรียนจากประชาธิปไตยญี่ปุ่น การเมืองที่ครองอำนาจโดย LDP พรรคเดียว

6 ตุลาคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

นายฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) ที่มาภาพ :https://twitter.com/kishida230/status/1445051050554126336/photo/1

เมื่อวันพุธ 29 กันยายน 2564 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party – LDP) ของญี่ปุ่น ลงคะแนนเลือกนายฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ให้เป็นผู้นำพรรค LDP คนใหม่ ในเดือนตุลาคมนี้ สภาผู้แทนฯ ของญี่ปุ่นจะประชุมเพื่อเลือกนายฟูมิโอะ คิชิดะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อแทนนายโยชิฮิเดะ ซูกะ

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลก มีการเมืองระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ในช่วง 66 ปี นับจากปี 1955-2021 พรรค LDP มีอำนาจปกครองญี่ปุ่นนานถึง 62 ปี มีการเว้นวรรคการครองอำนาจเพียงแค่ 4 ปี ในช่วงปี 1993-1994 และ 2009-2012 เท่านั้น แต่ทว่า ในช่วงเว้นวรรคของ LDP นั้น 3 ใน 6 คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็เคยเป็นสมาชิกพรรค LDP มาก่อน

พรรค LDP ตั้งขึ้นในปี 1955 หลังจากที่สหรัฐฯ สิ้นสุดการยึดครองญี่ปุ่นเมื่อปี 1952 พรรค LDP เป็นการรวมตัวของพรรคการเมืองอนุรักษนิยม 2 พรรค คือ พรรค Liberal Party กับพรรค Japan Democratic Party บทความของ New York Times บอกว่า เนื่องในเวลานั้น ขบวนการแรงงานของญี่ปุ่นเข้มแข็งมากขึ้น ทำให้กลัวเกรงกันว่าญี่ปุ่นจะมีรัฐบาลฝ่ายซ้าย ทาง CIA จึงผลักดันให้พรรคอนุรักษนิยมต่างๆ รวมตัวเป็นพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียว

พรรคเก่าแต่ปัญหาท้าทายใหม่

บทความของ New York Times ชื่อ Japan Faces Big Problems, Its nest Leader Offers Few Bold Solutions บอกว่า ทุกวันนี้ ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาใหม่ๆ เช่น ประเทศมีประชากรสูงอายุมากที่สุด อัตราการเกิดของประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว หนี้สาธารณะมีจำนวนมาก และภัยธรรมชาติที่เกิดบ่อยขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ปัญหาเหล่านี้ท้าทายต่อพรรค LPD มีอำนาจมายาวนาน แต่ล้มเหลวที่จะหาทางแก้ไข

การเลือกนายฟูมิโอะ คิชิดะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทางพรรค LDP เลือกผู้นำที่ไม่ได้มีแนวคิด ที่จะเสนอการแก้ปัญหาแบบชัดเจนเด็ดขาด แต่ LDP ต้องการผู้นำที่เดินสายกลาง พวกนักการเมืองอาวุโสของพรรค LDP ไม่รู้สึกว่ามีแรงกดดันทางการเมือง เพราะการเมืองญี่ปุ่นขาดฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง และคนมาลงคะแนนเลือกตั้งก็ต่ำ แม้ว่าคนญี่ปุ่นทั่วไปจะไม่ต้องการผู้นำแบบเดิมๆ

นายฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/fkishida

ประชาธิปไตยที่ปกครองโดยพรรคเดียว

ในทางรัฐศาสตร์ถือว่า การที่พรรคการเมืองและนักการเมืองมีอำนาจต่อเนื่องมายาวนาน จะทำให้เกิดภาวะเสื่อมถอยทางการเมือง คือจะห่างเหินและไม่อ่อนไหวต่อความต้องการของประชาชน การเมืองแบบประชาธิปไตยจะมีพลังพลวัตมากกว่า เมื่อมีการเปลี่ยนพรรคที่ครองอำนาจเป็นระยะๆ ในด้านนโยบายก็ดีกว่า เมื่อมีการสลับการครองอำนาจของพรรคการเมือง

นอกจากนี้ ตัวอย่างส่วนใหญ่ของประเทศที่ปกครองโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว ก็สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว คือมักเป็นประเทศที่การเติบโตทางเศรษฐกิจชะงักงัน มีปัญหาคอร์รัปชันมากมาย ดัชนีคุณภาพชีวิตประชากรก็ตกต่ำ ดังนั้น การเปลี่ยนขั้วอำนาจเป็นระยะๆ จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันโดยตรง ที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีการดำเนินการที่มีประสิทธิผล และประเทศก็จะมีนโยบายรัฐที่ดี

ตัวอย่างจากประชาธิปไตยญี่ปุ่น

แต่หนังสือชื่อ Japanese Democracy and Lessons for the United States (2020) กล่าวว่า บทเรียนจากญี่ปุ่นกลับตรงกันข้ามกับความคิดเห็นแบบปกติทั่วไปดังกล่าว ญี่ปุ่นเป็นประเทศประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่ก็เป็นประเทศปกครองโดยพรรคเดียวมาตลอด พรรค LPD ไม่เพียงแต่จะมีอำนาจนำในการเมืองระดับประเทศเท่านั้น แต่ยังมีอำนาจนำในการเมืองท้องถิ่นมานานหลายชั่วอายุคน

ที่มาภาพ : amazon.com

หนังสือ Japanese Democracy ถามว่า หากการสลับขึ้นครองอำนาจของพรรคการเมือง เป็นผลลัพธ์จากการมีระบอบประชาธิปไตยที่อิสระเสรีและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทำไมประเทศอย่างญี่ปุ่น ที่ให้การปกป้องค่านิยมประชาธิปไตยสูงมาก จึงเกิดการปกครองโดยพรรคการเมืองพรรคเดียวมายาวนาน เป็นไปได้หรือไม่ที่การปกครองโดยพรรคเดียว ก็เป็นผลลัพธ์ที่มาจากระบอบประชาธิปไตยที่เสรีและเที่ยงธรรมเช่นเดียวกัน

กรณีที่ญี่ปุ่นปกครองโดยพรรคเดียวอย่าง LPD มายาวนานไม่ใช่เรื่องผิดปกติ สวีเดนก็เคยปกครองโดยพรรคสังคมประชาธิปไตยมายาวนาน เช่นเดียวกับสภาล่างของรัฐสภาสหรัฐฯ พรรคเดโมแครจก็ครองเสียงข้ามมากเป็นเวลานานเช่นเดียวกัน หลายรัฐและเมืองในสหรัฐฯ ก็บริหารโดยนักการเมืองจากพรรคเดียวมาเป็นเวลาหลายสิบปี

เสียงวิจารณ์ต่อระบบการเมืองที่พรรคเดียวมีอำนาจมายาวนาน คือเรื่องแนวโน้มที่จะเกิดคอร์รัปชัน และนักการไม่มีความอ่อนไหวต่อความต้องการของคนที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง แต่การประเมินผลงานรัฐบาลไม่ได้มีเพียงมิติเรื่องปัญหาคอร์รัปชันหรือการไม่สนองต่อความต้องการของประชาชน แต่ยังมีเรื่องประสิทธิภาพรัฐบาล นอกจากนี้ รัฐบาลที่ครองอำนาจโดยพรรคเดียว ยังทำให้ปัญหาต่างๆ ไม่ถูกนำไปโยงกับประเด็นการเมืองทั้งหมด

หนังสือ Japanese Democracy บอกว่า การมีรัฐบาลที่ดี ไม่จำเป็นต้องมาจากการเปลี่ยนพรรคการเมืองที่จะขึ้นมามีอำนาจ แต่มาจากความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนพรรครัฐบาล ซึ่งก็คือการเมืองที่มีพรรคฝ่ายค้าน ที่มีความสามารถในการแข่งขันทางการเมือง

จุดอ่อนของการเมืองแบบมีพรรคเดียวครองอำนาจ จึงอยู่ที่การขาดโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนพรรครัฐบาล ดังนั้น เป็นเรื่องถูกต้องที่จะวิจารณ์ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่ไปทำลายกลไกประชาธิปไตย ทำให้ฝ่ายค้านไม่มีโอกาสที่จะมีอำนาจ แต่การมีอำนาจปกครองมานานของพรรค LDP ในญี่ปุ่น หรือของพรรคเดโมแครตในรัฐแมสซาชูเซตส์ ไม่ได้ทำให้กลไกประชาธิปไตยถูกทำลายลงไปเหมือนที่เกิดขึ้นในรัสเซีย

การประชุมตั้งพรรค LDP ครั้งแรกปี 1955 ที่มาภาพ : wikipedia.org

จุดอ่อนและจุดแข็ง

หนังสือ Japanese Democracy ระบุว่า จุดแข็งของระบอบประชาธิปไตยที่มีพรรคการเมืองเดียวปกครองมานาน

ประการแรกคือเรื่องประสิทธิภาพ เปรียบเทียบกับระบอบการเมืองอเมริกา ที่มักมีปัญหาเหมือนสภาพรถติดขยับเขยื้อนไม่ได้เลยเรียกว่า gridlock เพราะเต็มไปด้วยระบบการถ่วงดุลอำนาจ คนอเมริกันยอมรับว่า สิ่งนี้เป็นต้นทุนขององค์กรการเมืองทั้งหลายที่มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่มิติสำคัญของการเมืองที่สามารถตอบสนองอย่างรวดเร็ว คือความสามารถของรัฐบาล ที่จะดำเนินการหรือออกกฎหมายได้ทันเวลา

จุดแข็งประการที่ 2 คือ การมีพรรคการเมืองเดียวมีอำนาจมานาน ทำให้เกิดประโยชน์ที่การแก้ไขปัญหาไม่ถูกโยงเป็นเรื่องประเด็นการเมืองไปทั้งหมด พรรคฝ่ายค้านรู้ว่ากฎหมายจะต้องผ่านรัฐสภาแน่นอน จึงหันมาใช้ท่าทีการเจรจาต่อรองที่สร้างสรรค์ เช่น จะปรับปรุงร่างกฎหมายอย่างไรให้ดีขึ้น ตัวอย่างคือ การเพิ่มภาษีขายของญี่ปุ่นจาก 5% เป็น 8% และปัจจุบัน 10% แม้จะเป็นประเด็นที่ไม่ได้รับความนิยมจากคนญี่ปุ่น แต่พรรค LPD ก็สามารถดำเนินการในเรื่องนี้

แต่จุดแข็งของดังกล่าว ก็ต้องเอาไปชั่งน้ำหนักกับสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของระบบการเมืองที่มีพรรคเดียวครองอำนาจมายาวนาน โดยเฉพาะจุดอ่อนที่เป็นแนวโน้มจะเกิดปัญหาคอร์รัปชันมากขึ้น เนื่องจากพรรคการเมืองที่ครองอำนาจนั้นมีโอกาสน้อยที่จะแพ้การเลือกตั้ง

แต่ญี่ปุ่นก็เป็นตัวอย่างของการเมืองที่มีพรรคเดียวครองอำนาจมายาวนาน และประเทศก็ประสบความสำเร็จ ไม่แพ้ประเทศประชาธิปไตยที่มีการสับเปลี่ยนพรรคการเมืองที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จนับจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา จากประเทศอำนาจนิยม มาเป็นประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว

ที่ทำการพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party – LDP) ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Liberal_Democratic_Party_(Japan)

ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลก แม้ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะประสบภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน แต่อัตราการว่างงานต่ำ อัตราเงินเฟ้อต่ำ การอ่านออกเขียนได้ของประชากรสูงเกือบทั้งหมด แม้ภาษาเขียนของญี่ปุ่นจะยากมาก และเป็นประเทศแนวหน้าของโลก ที่เทคโนโลยีกระจายสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ญี่ปุ่นก็ยังมีจุดอ่อนบางด้าน เช่น นักการเมืองสตรีในรัฐสภามีจำนวนน้อยกว่าประเทศตะวันตก ทำให้สังคมยอมรับฐานะของสตรีในระดับที่ต่ำ ภาพลักษณ์ญี่ปุ่นเรื่องคอร์รัปชันอยู่ต่ำสุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว แต่ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจ ที่สงบมั่นคง แทบไม่มีอาชญากรรม และประชาชนมีสุขภาพที่ดี

ดัชนีที่วัดคุณภาพชีวิตเหล่านี้ อาจมาจากหลายปัจจัย เช่น วัฒนธรรม แต่การดำเนินงานของรัฐบาลก็มีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน

เอกสารประกอบ
Japan Faces Big Problems. Its Next Leader Offers Few Bold Solutions, September 29, 2021, nytimes.com
Japanese Democracy and Lessons for the United States, Ray Christensen, Routledge, 2020.