ThaiPublica > เกาะกระแส > ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ต่อ “อินโด-แปซิฟิก” ภูมิภาคที่ยาวจาก Hollywood ถึง Bollywood

ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ต่อ “อินโด-แปซิฟิก” ภูมิภาคที่ยาวจาก Hollywood ถึง Bollywood

22 กันยายน 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://theprint.in/world/why-india-could-gain-major-leverage-as-australia-uk-us-join-hands-to-take-on-china/734550/

เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ผู้นำออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ได้แถลงการณ์ร่วมกันในการตั้งภาคีทางทหารที่เรียกว่า AUKUS (ชื่อย่อจาก Australia, United Kingdom, US) ภาคี 3 ชาตินี้ถือเป็นก้าวสำคัญ ที่จะท้าทายการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในทะเลแปซิฟิก โดยสหรัฐฯ กับอังกฤษจะช่วยออสเตรเลียในการสร้างเรือดำน้ำขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ เท่ากับเป็นการเพิ่มบทบาททางทหารของชาติตะวันตกในภูมิภาคนี้

หากโครงการดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล ออสเตรเลียจะสามารถปฏิบัติการทางทหาร เข้าไปลาดตะเวนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จะทำให้การลาดตะเวนไม่มีข้อจำกัดในเรื่องระยะทาง และปฏิบัติการเดินเรือมีความเงียบสงบและยากต่อการตรวจจับ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า ภาคีทางทหาร AUKUS แสดงถึง “การลงทุนในแหล่งที่เป็นจุดแข็งที่สุดของสหรัฐฯ คือประเทศพันธมิตร และยกระดับพวกเขาให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามในปัจจุบันและอนาคต”

“ความไม่สะดวกจากระยะทาง”

บทความชื่อ Why Nuclear Submarines for Australia Make Perfect Sense ในเว็บไซต์ 19fortyfive.com กล่าวว่า เรือดำน้ำนิวเคลียร์เหมาะสมกับออสเตรเลีย เพราะเป็นประเทศที่มีทำเลทางยุทธศาสตร์ อยู่นอกพื้นที่ทะเลจีนใต้ แต่ออสเตรเลียก็ตกอยู่ในสภาพเหมือนกับประเทศในแปซิฟิกอื่นๆ คือเผชิญปัญหาที่เรียกกันว่า “ความไม่สะดวกจากระยะทาง” (tyranny of distance)

ความไม่สะดวกดังกล่าวทำให้เรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซลที่มีอยู่ของออสเตรเลียสามารถไปลาดตะเวนในทะเลจีนใต้ แต่ปฏิบัติการอยู่ได้ไม่นานก็ต้องเดินทางกลับมาเติมพลังงาน เรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซลสามารถออกปฏิบัติการจากท่าเรือในออสเตรเลียมายังทะเลจีนใต้เป็นเวลา 11 วัน แต่เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์สามารถออกปฏิบัติการได้นาน 77 วัน เพราะมีข้อกัดแค่ปริมาณเสบียงอาหารสำหรับลูกเรือเท่านั้น

เรือดำน้ำขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/AUKUS#/media/File:US_Navy_040730-N-1234E-002_PCU_Virginia_(SSN_774)_returns_to_the_General_Dynamics_Electric_Boat_shipyard.jpg

บทความของ 19fortyfive.com กล่าวว่า ภาคี AUKUS ทำให้การวางตำแหน่งทางทหารของประเทศตะวันตกในอินโด-แปซิฟิก แตกต่างไปจากเดิม ทุกวันนี้ ฐานทัพของสหรัฐฯ ตั้งอยู่ในจุดที่เป็นปลายขั้วตามแนวนอนของอินโด-แปซิฟิก คือทางตะวันออกอยู่ที่ญี่ปุ่นกับเกาะกวม และทางตะวันตกคือบาห์เรน ความสามารถทางทหารของออสเตรเลียจะเข้ามาแทนฐานทัพสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ และออสเตรเลียยังอยู่กึ่งกลางระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย

“เวลาที่ต้องตัดสินใจ”

บทความของ nytimes.com ชื่อ The sharp US pivot to Asia is throwing Europe off balanceThe sharp US pivot to Asia is throwing Europe off balance กล่าวว่า ภาคี AUKUS ที่ต่อต้านจีน ผลักดันให้ยุโรปเข้าไปใกล้คำถามที่ตัวเองพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด คือ ยุโรปจะอยู่ฝ่ายไหนในความขัดแย้งสหรัฐฯ กับจีน ผู้นำยุโรปคาดหวังว่าความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจจะมีภาวะมั่นคง โดยยุโรปยังสามารถรักษาความสมดุลของผลประโยชน์ที่ตัวเองมีกับทั้งสองฝ่าย

ภาคีพันธมิตร AUKUS ที่สหรัฐฯ กับอังกฤษจะช่วยออสเตรเลียพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ สำหรับลาดตะเวนในแปซิฟิก เป็นการฉีกสัญญามูลค่า 66 พันล้านดอลลาร์ ที่ออสเตรเลียจะให้ฝรั่งเศสสร้างเรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซล 8 ลำ ถือเป็นสัญญาค้าอาวุธที่มีมูลค่ามากที่สุดของฝรั่งเศส การฉีกสัญญานี้ทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจอย่างมาก และเรียกเอกอัครราชทูตในสหรัฐฯ และออสเตรเลีย กลับประเทศทันที

ประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ของฝรั่งเศส มีนโยบาย “ความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์” ที่รักษาความสมดุลในความสัมพันธ์กับสองมหาอำนาจ แต่รัฐบาลไบเดนก็เหมือนกับรัฐบาลทรัมป์ คือกลายเป็นตัวเร่งทำให้ยุโรปเดินใกล้มาถึงจุดที่เรียกว่า “เวลาที่ต้องตัดสินใจ” (moment of truth) ในการเลือกข้าง

ส่วนออสเตรเลียวิตกว่า เรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซลที่จะผลิตโดยฝรั่งเศส จะล้าสมัยเมื่อถึงเวลาส่งมอบในอีก 15 ปีข้างหน้า จึงสนใจที่จะเปลี่ยนมาเป็นเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่ทำงานได้เงียบกว่า เป็นเรือดำน้ำที่ออกแบบโดยสหรัฐฯ และอังกฤษ สามารถลาดตะเวนในทะเลจีนใต้ และมีความเสี่ยงน้อยที่จะตรวจจับได้

ออสเตรเลียรู้ดีว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยโจ ไบเดน พร้อมรับฟังและสนองความต้องการของออสเตรเลีย เพราะนโยบายความมั่นคงที่สำคัญของโจ ไบเดน คือ การสกัดกั้นการขยายการอ้างกรรมสิทธิ์ด้านดินแดนของจีน สหรัฐฯ เองก็เห็นว่า เรือดำน้ำที่สร้างโดยฝรั่งเศสไม่สามารถไปปฏิบัติการที่ชายฝั่งจีนโดยไม่ถูกตรวจจับ อาวุธดังกล่าวจึงไม่ได้เพิ่มความได้เปรียบทางทหารแก่ฝ่ายตะวันตก

ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

เส้นทางเดินเรือในอินโด-แปซิฟิก ที่มาภาพ : Indo-Pacific Empire (2020)

เมื่อสิบปีที่แล้ว วงการการเมืองระหว่างประเทศไม่มีใครสนใจคำว่า “อินโด-แปซิฟิก” แต่ปัจจุบัน คำคำนี้กลายเป็นแนวคิดใหม่ในการมองภูมิภาคเอเชียของสหรัฐฯ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้แต่งตั้งนายเคิร์ต แคมป์เบลล์ ให้เป็นผู้ประสานงานด้านอินโด-แปซิฟิก เคิร์ต แคมป์เบลล์ เคยเป็นคนวางนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลโอบามา โดยถือเอเชียเป็น “แกน” หรือ Pivot to ASIA

เมื่อต้นปีนี้ เคิร์ต แคมป์เบลล์ เขียนบทความชื่อ How American Can Shore Up Asian Order ใน ถึงยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ จะกลับมาสร้างความแข็งแกร่งแก่ระเบียบเอเชียใหม่ว่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ต่ออินโด-แปซิฟิกต้องอาศัยประสบการณ์จากยุโรปในอดีต ที่ช่วงหนึ่งมีเสถียรภาพยาวนานถึง 100 ปี

ยุทธศาสตร์ดังกล่าว คือ (1) ความจำเป็นเรื่องการถ่วงดุลอำนาจ (2) การรักษาระเบียบที่ประเทศในภูมิภาคนี้เห็นว่าชอบธรรม และ (3) สร้างกลุ่มพันธมิตรที่จะรับมือกับการท้าทายของจีนใน 2 สิ่งดังกล่าวนี้

ยุทธศาสตร์ 3 ประการดังกล่าว จะสร้างหลักประกันว่า อนาคตในศตวรรษที่ 21 ของของอินโด-แปซิฟิก จะยังมีลักษณะเปิดกว้าง ไม่เกิดสภาพที่ประเทศหนึ่งมีฐานะครองความเป็นใหญ่ และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคกลายเป็นเขตอิทธิพล คล้ายๆ กับโลกในศตวรรษที่ 18

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างดุลอำนาจ หมายถึงการที่สหรัฐฯ จะช่วยประเทศพันธมิตรในอินโด-แปซิฟิกพัฒนาสมรรถนะทางทหารที่ไม่สมดุลกับสมรรถนะของจีน เพราะระเบียบระหว่างประเทศจะรักษาได้ต้องได้รับการปกป้องจากดุลอำนาจทางทหาร นอกจากกำลังทหารส่วนหน้าของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ สหรัฐฯ ต้องกระจายกำลังทหารในเอเชียอาคเนย์และในมหาสมุทรอินเดีย เพื่อลดความเสี่ยงที่ต้องอาศัยฐานทัพในเอเชียตะวันออก

ยุทธศาสตร์ที่ 2 กอบกู้ความชอบธรรม หมายถึงบทบาทของสหรัฐฯ ในด้านการค้า เทคโนโลยี และความร่วมมือระหว่างประเทศ ระเบียบของเอเชียมีทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ สหรัฐฯ ต้องกลับเข้ามาสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับประเทศในภูมิภาคนี้ เข้าร่วมการประชุมผู้นำขององค์กรในภูมิภาค ไม่หลีกเลี่ยงเหมือนรัฐบาลทรัมป์ และสร้างหลักประกันของระบบที่เป็นอยู่ ให้เกิดประโยชน์แก่ประทสสมาชิก

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างกลุ่มพันธมิตร การที่สหรัฐฯ จะรักษาระเบียบอินโด-แปซิฟิกในสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน จำเป็นต้องมีพันธมิตรที่กว้างขวาง การสร้างพันธมิตรและประเทศหุ้นส่วนจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น กลุ่มพันธมิตรไม่จำเป็นต้องเป็นการรวมตัวขนาดใหญ่ แล้วมีเป้าหมายครอบคลุมในทุกเรื่อง

สหรัฐฯ อาจเน้นกลุ่มเฉพาะกิจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น กลุ่ม D-10 คือประเทศประชาธิปไตย G7 บวกกับออสเตรเลีย อินเดีย และเกาหลีใต้ เพื่อพิจารณาเรื่องการค้า เทคโนโลยี ห่วงโซ่อุปทาน และมาตรฐานสินค้า หรือขยายกลุ่มที่มีบทบาทการยับยั้งทางทหารเรียกว่า Quad ที่ปัจจุบันประกอบด้วยออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ กลุ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือกลุ่มเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
เคิร์ต แคมป์เบลล์ ผู้ประสานงานอินโด-แปซิฟิกของรัฐบาลไบเดน กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของกลุ่มพันธมิตรที่หลากหลายนี้ บางกลุ่มทำหน้าที่เป็นตัวถ่วงดุลอำนาจ บางกลุ่มทำหน้าที่สร้างความเห็นพ้องในเรื่องสำคัญของระเบียบภูมิภาค และบางกลุ่มเป็นการส่งสัญญาณเตือนจีนต่อนโยบายที่เป็นอยู่

อนาคตของอินโด-แปซิฟิก

ที่มาภาพ : https://www.porchlightbooks.com/product/indo-pacific-empire-china-america

ในหนังสือชื่อ The Indo-Pacific Empire รอรี่ เมดคาล์ฟ เขียนในบทสรุปไว้ว่า อินโด-แปซิฟิกเป็นอภิมหาภูมิภาค ที่กว้างใหญ่และซับซ้อน เกินกว่าที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง จะประสบความสำเร็จในการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองอย่างเดียว ทุกประเทศต้องหาทางช่วยกันนำทางให้กับภูมิภาคนี้ในการเดินไปข้างหน้า ในยามที่กำลังมีการปรับความสมดุลของอำนาจใหม่

ความคิดสรุปยอดของประเทศในภูมิภาคนี้ก็คือ การมีขั้วอำนาจหลากหลาย ความเป็นเอกภาพ และความอดทนทางยุทธศาสตร์ อนาคตของภูมิภาคจะไม่ได้อยู่ในกำมือของจีนที่มีระบบอำนาจนิยม หรือสหรัฐฯ ที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง

หากเกิดความผิดพลาดขึ้นมา ภูมิภาคนี้อาจเป็นสถานที่เกิดสงครามครั้งใหญ่ครั้งแรก นับจากปี 1945 เป็นต้นมา แต่หากอนาคตที่คาดหมายหวังกันของภูมิภาคนี้เป็นสิ่งที่สามารถบรรลุได้ ภูมิภาคนี้จะรุ่งเรื่องในฐานะที่เป็นหัวใจของโลกที่เชื่อมโยงกัน เหมือนกับความใฝ่ฝันของนักเดินเรือในอดีต ที่มาสำรวจภูมิภาคนี้

เอกสารประกอบ

Why nuclear submarines for Australia make perfect sense, James Holmes, 17 September 2021, 19fortyfive.com
How America Can Shore Up Asian Order, Kurt Campbell and Rush Doshi, January 12, 2021, foreignaffairs.com
Indo-Pacific Empire: China, America and the contest for the world’s pivotal region, Rory Medcalf, Manchester University Press, 2020.