ThaiPublica > เกาะกระแส > ตะวันตกจะแข่งขันกับจีนและหัวเว่ยได้ ต้องลงทุนด้านดิจิทัลในประเทศกำลังพัฒนา

ตะวันตกจะแข่งขันกับจีนและหัวเว่ยได้ ต้องลงทุนด้านดิจิทัลในประเทศกำลังพัฒนา

7 ธันวาคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : rferl.org

คณะกรรมาธิการ สหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศริเริ่มโครงการ “ประตูสู่โลก” (Global Gateway) เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงที่ประณีต สะอาด และมั่นคง ในด้านดิจิทัล การขนส่ง และพลังงาน และเสริมความเข้มแข็งด้านสาธารณสุข การศึกษา และการวิจัยทั่วโลก

โครงการ Global Gateway นี้ สนับสนุนการเชื่อมโยงที่ยั่งยืนและจริงใจต่อกัน ซึ่งทำงานเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนและโลกเรา จัดการปัญหาท้าทายเร่งด่วนที่สุดของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การปกป้องสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงระบบสาธารณสุข ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน และในห่วงโซ่อุปทานโลก

ทางเลือกการลงทุนที่แตกต่างจากจีน

โครงการ Global Gateway ของ EU จะระดมเงินทุน 300 พันล้านยูโร จากประเทศสมาชิก สถาบันการเงิน และภาคเอกชน Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการอียู กล่าวว่า โครงการ Global Gateway จะเสนอการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก บนหลักการของค่านิยมประชาธิปไตย และความโปร่งใส

ส่วนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (Belt and Road Initiative — BRI) ที่ถูกเรียกว่า “เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21″ เข้าไปลงทุนในกว่า 70 ประเทศ ครอบคลุมประชากรโลก 50% คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ โครงการ BRI ช่วยทำให้ประเทศในเอเชีย แอฟริกา และยุโรปตะวันออก มีเส้นทางรถไฟและท่าเรือที่เชื่อมโยงกับจีน แม้อาจจะเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของจีน

ประธานคณะกรรมาธิการอียูกล่าวว่า ในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ประเทศต่างๆ จะมีทางเลือกอยู่จำกัด ทางเลือกที่มีอยู่ก็มักจะส่งผลกระทบในกว้างใหญ่ ทั้งทางการเงิน การเมือง และสังคม หลายประเทศเคยมีบทเรียนกับการลงทุนจากจีนแล้ว ทำให้ต้องมีทางเลือกที่ดีกว่าและแตกต่างออกไป

ทางอียูต้องการเสนอทางเลือกที่ว่า เป็นการลงทุนที่เป็นแบบประชาธิปไตย และขับเคลื่อนด้วยค่านิยม สามารถรับมือกับปัญหาการท้าทายต่างๆ เช่น เศรษฐกิจสีเขียว และเทคโนโลยีดิจิทัล ประเทศที่อาศัยเงินกู้จากอียู จะเป็นฝ่ายกำหนดลำดับความสำคัญด้วยตัวเอง แต่ฝ่ายอียูจะเน้นเป้าหมายเรื่อง การรักษาสิ่งแวดล้อม และเรื่องดิจิทัล

ที่มาภาพ : amazon.co.uk

ศึกษาจากกลยุทธ์หัวเว่ย

บทความใน foreignaffairs.com ชื่อ Huawei Strikes Back ที่เนื้อหาสรุปจากหนังสือ The Digital Silk Road (2021) เขียนไว้ว่า นับจากปีที่แล้ว สหรัฐฯ ได้จำกัดการส่งออกชิ้นส่วนไฮเทคแก่หัวเว่ย (Huawei) ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคของจีน ทำให้หัวเว่ยถูกตัดขาดจากห่วงโซ่อุปทานด้านเซมิคอนดักเตอร์ สหรัฐฯยัง กดดันพันธมิตรให้กีดกันหัวเว่ย ออกจากระบบเครือข่าย 5G

แต่หัวเว่ยก็ปรับตัวรับมือกับการถูกต่อต้านกีดกันดังกล่าว โดยหันเหจากการเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้านอุปกรณ์โทรคมนาคม โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ระบบเครือข่าย มาสู่เรื่องของ cloud computing บริการ e-service ของรัฐบาล และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งไม่ต้องพึ่งหาเซมิคอนดักเตอร์ที่ก้าวหน้าทันสมัยมากมาย

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังรุกตลาดประเทศกำลังพัฒนาด้วยเทคโนโลยีของหัวเว่ยเอง โดยเฉพาะประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย บราซิล และไนจีเรีย ปัจจุบัน หัวเว่ยกลายเป็นผู้ให้บริการ server ของรัฐบาลเอธิโอเปีย ระบบกล้องจับภาพในปากีสถาน และศูนย์ข้อมูลในปาปัวนิวกีนี

บทความ Huawei Strikes Back บอกว่า หากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกต้องการจะแข่งขันจริงจังกับจีน ทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และทางยุทธศาสตร์ จะต้องมีนโยบายเร่งให้ระบบดิจิทัล ขยายตัวออกไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา

นับจากปี 2017 เป็นต้นมา รายได้แบบดิจิทัลออนไลน์ในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่ม 2 เท่า และเพิ่มอย่างรวดเร็วเหมือนกับในประเทศเจริญแล้ว ประเทศที่มีรายได้สูงแบบดิจิทัลออนไลน์ 30 ประเทศในโลก มาจากประเทศกำลังพัฒนา 16 ประเทศ

ความสำเร็จของหัวเว่ยคือ การใช้กลยุทธ์พึ่งพาตลาดที่เติบโตรวดเร็วและเป็นตลาดคนมีรายได้ต่ำ ตลาดแบบนี้มีความเสี่ยงสูง ทำให้บริษัทเทคโนโลยีในประเทศตะวันตกไม่อยากเข้าไปลงทุน ดังนั้น ประเทศตะวันตกจะแข่งขันกับจีนได้จะต้องใช้เทคโนโลยีที่ประเทศยากจนสามารถลงทุนได้ เพื่อเป็นอีกทางเลือกของเทคโนโลยีที่แตกต่างจากจีน

จุดเริ่มต้นของหัวเว่ย

บทความ Huawei Strikes Back บอกว่า กลยุทธ์บุกตลาดของหัวเว่ยที่ถูกมองข้าม เริ่มต้นมาจากในประเทศจีนก่อน ปี 1987 เมื่อเหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ก่อตั้งหัวเว่ยขึ้นมา เขาบอกพนักงานใหม่ของบริษัทว่า ให้ออกไปที่ชนบทที่ห่างไกล เพราะความสำเร็จมากมาย กำลังรออยู่ที่นั่น

ทุกวันนี้ หัวเว่ยใช้กลยุทธ์แบบเดียวกันนี้กับโลกเราในทศวรรษ 1990 และ 2000 บริษัทเทคโนโลยีของอเมริกาและยุโรป เน้นที่ตลาดมีกำลังซื้อสูง แต่หัวเว่ยเน้นตลาดชนบทกับประเทศยากจน

หัวเว่ยใช้เวลาหลายปีในการบุกตลาดต่างประเทศ ปี 2003 รัฐบาลที่สหรัฐฯตั้งขึ้นมาในอัฟกานิสถาน ทำสัญญากับหัวเว่ยกับบริษัทจีน ZTE ให้เป็นฝ่ายจัดหาอุปกรณ์เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เวลาต่อมา ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ถือหุ้นใหญ่ ให้เงินกู้แก่ Roshan บริษัทโทรศัพท์มือถือในอัฟกานิสถาน ซื้ออุปกรณ์จากหัวเว่ย

ที่มาภาพ : dw.com

นักการเมืองท้องถิ่นก็นิยมหัวเว่ย

บทความ Huawei Strikes Back ยกตัวอย่างสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ผู้บริหารเมืองใหญ่ๆ ต้องเผชิญปัญหามากมาย การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ฐานะการเงินของท้องถิ่นแทบจะล้มละลาย หนี้สินก็เพิ่มมากขึ้น และปัญหาอาชญากรรมก็รุนแรงมากขึ้น ท้องถิ่นจะหันไปกู้เงินมาขึ้นมาใช้ลงทุน ก็มีข้อจำกัดมากมาย

โครงการ “เมืองปลอดภัย” ของหัวเว่ยกลายเป็นโครงการที่น่าสนใจทันที โครงการนี้ประกอบด้วย กล้องจับภาพในที่สาธารณะ พร้อมแจ้งอุณหภูมิร่างกายของคนทั่วไปว่าเป็นไข้หรือไม่ โครงการยังมีซอฟต์แวร์จับภาพใบหน้าคนว่าเป็นผู้ร้ายตามหมายจับหรือไม่ และมีการวิเคราะห์พฤติกรรมคนบนท้องถนนว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ หากมี ก็แจ้งตำรวจทันที

ส่วนโครงการ “สมาร์ทซิตี้” ของหัวเว่ย สามารถช่วยปรับปรุงการไหลเวียนของจราจร ลดจราจรติดขัดบนท้องถนน รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายจราจรกับคนที่ละเมิด หากเลือกใช้โครงการ “สมาร์ทซิตี้” ของหัวเว่ย ธนาคารของจีนก็พร้อมเสนอเงินกู้ระยะยาวเวลา 20 ปี

ความสามารถของหัวเว่ยในการเสนอโครงการแบบแพ็กเกจ ที่ประกอบด้วยการบริการดิจิทัล การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารของจีน ทำให้หัวเว่ยสามารถชนะการประมูลงานในรัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกมาแล้ว

ดังนั้น สิ่งที่ประเทศตะวันตกจะต้องทำในการแข่งขันกับหัวเว่ย ก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเทคโนโลยีในด้านไหน ระบบสื่อสารที่เรียกว่า Open RAN หากมีการใช้อย่างกว้างขวาง จะทำให้ผู้ผลิตจากชาติตะวันตกสามารถเสนอขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ 5G ให้กับประเทศกำลังพัฒนาในราคาที่แข่งขันได้

หรือโครงการสื่อสารผ่านดาวเทียมของ Elon Musk และ Project Kuiper ของ Amazon ที่ให้บริการบรอดแบรนด์ทั่วโลกได้รวดเร็ว และด้วยต้นทุนถูกลง เพราะไม่ต้องลงทุนสร้างสถานีภาคพื้นดินถ่ายทอดสัญญาณ หรือโครงการ “เมืองที่ยั่งยืน” ของชาติตะวันตก ที่เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบทางสังคม และมีความปลอดภัยด้านข้อมูล เป็นต้น

การแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างตะวันตกกับจีนจะเป็นผลดีอย่างมากแก่ประเทศกำลังพัฒนา เพราะโลกมีความต้องการมากมายในด้านเทคโนโลยี มากเกินกว่าที่จะตอบสนองได้จากประเทศเดียว หรือจากบริษัทเดียว

เอกสารประกอบ
EU launches 300bn Euro fund to challenge China’s influence, December 1, 2021, theguardian.com
Huawei Strikes Back, November 9, 2021, foreignaffairs.com
The Digital Silk Road: China’s Quest to Wire the World and Win the Future, Jonathan Hillman, Profile Books Ltd, 2021.