ThaiPublica > เกาะกระแส > ก้าวแรกของโจ ไบเดนในเรื่องต่างประเทศยกเลิก “ลัทธิถอนตัว” ของโดนัลด์ ทรัมป์

ก้าวแรกของโจ ไบเดนในเรื่องต่างประเทศยกเลิก “ลัทธิถอนตัว” ของโดนัลด์ ทรัมป์

25 มกราคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มาภาพ : https://www.nytimes.com/2021/01/20/us/biden-executive-orders.html

ในวันแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน ก็ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร (executive order) ทันที 17 ฉบับ เพื่อยกเลิกนโยบายในสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ เช่น มาตรการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 นโยบายต่อต้านผู้อพยพ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน และการให้สหรัฐฯ กลับไปให้เงินสนับสนุนแก่องค์การอนามัยโลก (WHO)

นอกจากนี้ โจ ไบเดน ยังได้ลงนามในจดหมายที่สหรัฐฯ จะกลับไปเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาปารีสเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งจะมีผลในอีก 30 วันข้างหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2019 รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แจ้งสหประชาชาติอย่างเป็นทางการ เรื่องสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากสนธิสัญญาปารีส ทั้งๆ ที่มีเกือบ 200 ประเทศได้ดำเนินการร่วมกัน เพื่อหาทางยกเลิกการใช้พลังงานฟอสซิลที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

“ลัทธิถอนตัว” ของทรัมป์

ช่วงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มานาน 4 ปีนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศบางคนบอกว่า นโยบายต่างประเทศของทรัมป์ไม่ใช่เรื่องคำขวัญ ที่เรียกว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) แต่เป็นแนวคิดที่เรียกว่า “ลัทธิถอนตัว” (withdrawal doctrine) การถอนตัวถือเป็นโยบายต่างประเทศที่สำคัญของทรัมป์

ทรัมป์สั่งให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงระหว่างประเทศ และจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ถอนตัวจากข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่ประเทศสมาชิกเดิมจะมีสัดส่วนรวมกันถึง 40% ของการค้าโลก จุดประสงค์ของ TPP คือกำหนดหลักเกณฑ์การค้าที่มีมาตรฐานสูง หากจีนไม่สามารถทำตามหลักเกณฑ์นี้ ก็เสี่ยงที่จะเสียประโยชน์จากการค้าโลก แต่การถอนตัวของสหรัฐฯ จาก TPP ทำให้แรงกดดันที่จะมีต่อจีนลดน้อยลง ในอันที่จะปฏิรูปการผลิตอุตสาหกรรมของจีน และยังเป็นการลงโทษผู้ส่งออกสหรัฐฯ ที่จะเข้าถึงตลาดประเทศสมาชิก TPP

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังตัดเงินช่วยเหลือแก่ WHO และยังขู่จะถอนตัวจาก WHO ทั้งๆ ที่โควิด-19 ยังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทรัมป์ให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงปารีสเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านปี 2015 จากการเป็นสมาชิก UNESCO และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นอกจากนี้ ทรัมป์ยังประกาศว่า จะยกเลิกข้อตกลงสิทธิการบินแบบเปิดน่านฟ้าเสรี (Open Skies Treaty) ที่ทำกับกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

บทความของ Council on Foreign Affairs ชื่อ Trump’s Foreign Doctrine? กล่าวว่า นโยบายถอนตัวของสหรัฐฯ ดังกล่าว อาจมาจากการที่ทรัมป์คิดว่า วิธีการถอนตัวนี้จะช่วยให้สหรัฐฯ มีทางเลือกต่างๆ เพิ่มมากขึ้น หรือทำให้สหรัฐฯ มีอำนาจต่อรองมากขึ้นสำหรับการเจรจาในอนาคต แต่วิธีการของทรัมป์ก็ทำให้มีต้นทุนความเสียหายที่สูงเช่นเดียวกัน

การถอนตัวของสหรัฐฯ จากข้อตกลงปารีส สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ ที่ถือว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เป็นปัญหาที่เป็นภัยคุกคามการดำรงอยู่ การถอนตัวของสหรัฐฯ ทำให้นโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ มีลักษณะเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้และพึ่งพิงไม่ได้

หากไม่สามารถจะพึ่งพิงสหรัฐฯ ได้แล้ว ในการเผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นมหาอำนาจ ประเทศพันธมิตรเดิมของสหรัฐฯ ก็จะเผชิญกับทางเลือกที่ตัวเองก็ไม่ต้องการ หรือหันไปสร้างความสามารถทางกำลังทหารของตัวเองเพิ่มมากขึ้น สถานการณ์เหล่านี้เท่ากับไปการสร้างโอกาสให้แก่ประเทศคู่แข่งอย่างจีน

วิธีการของทรัมป์ที่ให้สหรัฐฯ ถอนตัวโดยเอกเทศฝ่ายเดียว ทำให้ปัญหาต่างๆ เลวร้ายลงไปอีก อย่างเช่น หากสหรัฐฯ หารือกับประเทศพันธมิตร และทำข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปให้กับ WHO ก็จะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป จากการถอนตัวฝ่ายเดียว กรณีอิหร่านก็เช่นเดียวกัน การถอนตัวจากความตกลงฝ่ายเดียว ทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถดึงฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมัน เพื่อจะร่วมเจรจาให้มีการแก้ไขข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน

ที่มาภาพ :https://www.whitehouse.gov/administration/president-biden/

ก้าวแรกด้านต่างประเทศ

บทความของ Council on Foreign Affairs ชื่อ Biden’s First Foreign Policy Move กล่าวว่า ก่อนเข้ารับตำแหน่ง โจ ไบเดน ได้เคยส่งสัญญาณมาแล้วว่า สหรัฐฯ จะกลับเข้าไปร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ที่ทรัมป์ให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกมาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

ตั้งแต่วันแรกที่ดำรงตำแหน่ง โจ ไบเดน ลงนามในจดหมายที่สหรัฐฯ จะกลับเข้าเป็นภาคีข้อตกลงปารีส ซึ่งจะมีผลในเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ประเทศที่เป็นภาคีข้อตกลงปารีส จะต้องกำหนดเป้าหมายการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก สหรัฐฯ สามารถแสดงความมุ่งมั่นในเรื่องนี้ ต่อที่ประชุมนานาชาติเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เรียกว่า COP26 (UN Climate Change Conference UK 2021) ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ไบเดนเองมีแผนที่จะทำให้สหรัฐฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero emission) ในปี 2050

นับจากวันแรกเช่นเดียวกัน โจ ไบเดน ได้ให้สหรัฐฯ กลับเข้าไปร่วมงานกับ WHO ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ตัดเงินช่วยเหลือ WHO และมีแผนจะถอนตัวออกมา เพราะเห็นว่า WHO ไม่ได้ลดอิทธิพลของจีนลง ไบเดนได้ให้ ดร.แอนโทนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของสหรัฐฯ หารือกับ WHO ดร.เฟาซียืนยันว่า สหรัฐฯ จะเข้าร่วมโครงการ COVAX ของ WHO ที่มีแผนการจะแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 พันล้านโดส ให้กับประเทศยากจนในปลายปีนี้

โจ ไบเดน ยังต้องให้สหรัฐฯ กลับเข้าเป็นภาคีข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน แต่ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ง่าย หลังจากทรัมป์ให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนี้ในปี 2018 ก็ได้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านมากขึ้น อิหร่านเองก็ตอบโต้ด้วยการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์เรื่องการผลิตยูเรเนียม

ไบเดนกล่าวว่า สหรัฐฯ จะเข้าเป็นภาคีข้อตกลง หากอิหร่านกลับมาทำตามความตกลงนี้ เจ้าหน้าที่อิหร่านก็แสดงท่าทีว่า ยินดีที่จะทำตามข้อตกลง แต่ไบเดนก็แสดงท่าทีว่าจะเจรจาให้มีข้อตกลงใหม่ ที่ครอบคลุมเรื่องโครงการขีปนาวุธของอิหร่าน และการที่อิหร่านสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นเรื่องที่อิหร่านปฏิเสธมาตลอด

ช่วงการหาเสียง ไบเดนกล่าวว่าจะเข้าเป็นภาคีคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ องค์กรที่รัฐบาลทรัมป์ถอนตัวออกมา เพราะเห็นว่ามีท่าทีต่อต้านอิสราเอล และมีประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นสมาชิกอยู่ในคณะมนตรีนี้ เช่นจีนกับเวเนซุเอลา

ข้อตกลงที่สหรัฐฯ อาจเข้าร่วม

บทความ Biden’s First Foreign Policy Move กล่าวว่า รัฐบาลไบเดนอาจจะเข้าร่วมข้อตกลงการค้า TPP ทรัมป์ให้สหรัฐฯ ถอนตัวจาก TPP เมื่อปี 2017 หลังจากสหรัฐฯ ถอนตัวออกมาแล้ว ประเทศสมาชิกที่เหลือ 11 ประเทศ ตัดสินใจเดินหน้าออกมาเป็นความตกลงฉบับใหม่เรียกว่า CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for the Trans-Pacific Partnership) สมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดี ไบเดนเคยสนับสนุนข้อตกลง TPP

สหรัฐฯ ไม่ได้ให้เงินทุนสนับสนุนแก่องค์การ UNESCO มาตั้งแต่ปี 2011 เนื่องจาก UNESCO ให้การรับรองดินแดนปาเลสไตน์ ในสมัยรัฐบาลทรัมป์ สหรัฐฯ ได้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิก UNESCO หากสหรัฐฯ จะกลับไปให้เงินสนับสนุน UNESCO ก็จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา

บทความ Trump’s Foreign Policy Doctrine กล่าวว่า ในทางหลักการ การที่ประเทศหนึ่งจะถอนตัวจากข้อตกลงระหว่างประเทศ อาจมีเหตุผลมาจากความบกพร่องของข้อตกลง หรือมีประเทศสมาชิกได้ละเมิดข้อตกลง แต่ข้อตกลงใดๆ ก็ตาม ที่เกิดขึ้นจากการเจรจา ย่อมมีความไม่สมบูรณ์ทั้งสิ้น คำถามมีอยู่ว่า ข้อตกลงที่มีอยู่นั้น มีข้อบกพร่องมากกว่าหรือน้อยกว่ากับกรณีที่ไม่มีข้อตกลงใดเลย

เอกสารประกอบ

Trump’s Foreign Policy Doctrine? The Withdrawal Doctrine, Richard Haas, May 22, 2020, cfr.org
Biden’s First Foreign Policy Move: Reentering International Agreements, Lindsay Maizland, January 21, 2021, cfr.org