ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ช่วงค่ำวันที่ 5 เมษายน 2565 The Karen Post เพจข่าวภาษาอังกฤษที่นำเสนอเรื่องราวทางการทหารของกองทัพชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในเมียนมา โพสต์ข้อความแสดงถึงสถานการณ์ตึงเครียดในรัฐกะเหรี่ยง โดยเฉพาะตามแนวถนนสาย AH1 หรือทางหลวงเอเซียหมายเลข 1 ช่วงตั้งแต่หน้าด่านชายแดนเมืองเมียวดี ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไปถึงเมืองกอกะเรก จังหวัดดูบลายา
ถอดเนื้อความคร่าวๆ ได้ว่า…
คำเตือน!
ห้ามขับรถบนถนนที่กำลังเป็นพื้นที่สงคราม! ทหารพม่าและกองกำลังป้องกันชายแดน (BGF) ได้ใช้ทางหลวงเอเซียและถนนเมียวดีเพื่อเคลื่อนย้ายกำลัง ลำเลียงทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ หากท่านไม่อยากเจอปัญหา จงปฏิบัติตามกฎและป้ายเตือนต่างๆ ที่ทหารกะเหรี่ยงและกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาล (PDF) กำหนด
สำคัญที่สุด ห้ามให้ความช่วยเหลือทหารพม่า กับ BGF ด้วยการให้ที่ซ่อนบนรถของท่าน หรือช่วยขนส่งยุทโธปกรณ์เข้ามาในพื้นที่กะเหรี่ยง เพราะหากทหารพม่ามีโอกาสได้เข้ามาในรัฐกะเหรี่ยงแล้ว พวกเขาจะทำร้ายชาวกะเหรี่ยง
สุดท้าย การสู้รบที่เกิดขึ้นระหว่างทหารพม่า กับทหารกะเหรี่ยง และ PDF เกิดขึ้นตลอดเวลาในดินแดนกะเหรี่ยง จนถึงชายแดนประเทศไทย จึงเป็นการดีที่จะไม่เดินทางเข้าไปยังพื้นที่ซึ่งกำลังมีสถานการณ์อันตราย
……
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) โดยกองบัญชาการกองพลที่ 6 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA 6) ที่จังหวัดดูบลายา ออกประกาศปิดถนน 2 สายหลัก ห้ามรถทุกชนิดสัญจรผ่าน ได้แก่ ทางหลวงเอเซียหมายเลข 1 (AH1) ช่วงตั้งแต่ตัวเมืองเมียวดี จังหวัดเมียวดี ไปถึงเมืองกอกะเรก จังหวัดดูบลายา และถนนจากเมืองเมียวดีลงไปยังตำบลวาเล่ย์ ตรงข้ามอำเภอพบพระ
เนื้อความในประกาศให้เหตุผลว่า…
เนื่องจากทหารพม่าได้เคลื่อนกำลังจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่ทางตอนใต้ของเมืองกอกะเรก โดยใช้เส้นทางสายเมียวดี-กอกะเรก
และเมียวดี-วาเล่ย์ ซึ่งเป็นการรบกวนการดำรงชีวิตของประชาชน และเป็นการท้าทายต่อ KNLA 6
เพื่อเผชิญกับการท้าทายดังกล่าว จึงประกาศปิดถนน ห้ามใช้เส้นทางทั้ง 2 สาย เป็นทางผ่านสำหรับค้าขายชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง…
เนื้อความในประกาศ แม้ดูเป็นเรื่องภายในรัฐกะเหรี่ยง แต่ความจริง มีส่วนกระทบกับประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทางหลวงเอเซียหมายเลข 1 เป็นเส้นทางหลักสำหรับขนส่งสินค้า ที่ประเทศไทยและเมียนมาซื้อขายกันผ่านด่านชายแดนเมียวดี
ประตูการค้าที่มีมูลค่าการค้าสูงที่สุดของ 2 ประเทศ
นอกจากนี้ ยังกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเมียนมาในอีกหลายเขตและหลายรัฐชาติพันธุ์ เพราะสินค้าอุปโภค-บริโภค ข้าวของเครื่องใช้จำเป็นหลากหลายชนิดที่เมียนมาต้องซื้อจากประเทศไทย เกือบทั้งหมดล้วนถูกส่งเข้าไปทางด่านเมียวดี
สินค้าเหล่านี้ถูกลำเลียงผ่านทางหลวง AH1 จากเมียวดีสู่กอกะเรก ต่อไปยังผะอัน เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง เมืองสะเทิม กับไจก์โท ในรัฐมอญ ก่อนข้ามแม่น้ำสะโตงไปยังเมืองพะโค ภาคพะโค และลงไปสู่กรุงย่างกุ้ง เพื่อกระจายต่อไปยังทั่วทุกภาคของเมียนมา
การปิดถนนช่วงเมียวดี-กอกะเรก คือการตัดการลำเลียงสินค้าเหล่านี้ ตั้งแต่ต้นทาง ทำให้สินค้าไม่มีโอกาสได้กระจายต่อไปยังที่อื่นๆ
ตัวเลขอย่างเป็นทางการจากกระทรวงพาณิชย์เมียนมา ระบุว่าปีงบประมาณ 2561-2562 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 การค้าไทย-เมียนมาผ่านด่านเมียวดี มีมูลค่ารวม 969.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปีงบประมาณ 2562-2563 มีมูลค่า 1,209.91 ล้านดอลลาร์ และปีงบประมาณ 2563-2564 มีมูลค่า 1,943.17 ล้านดอลลาร์ แต่ข้อมูลในพื้นที่เปิดเผยว่าตัวเลขที่ซื้อขายกันจริง สูงกว่าที่รายงานเอาไว้มาก
วันที่ 3 มีนาคม 2565 ธนาคารกลางเมียนมา (The Central of Myanmar — CBM) เพิ่งมีคำสั่งฉบับที่ 5/2022 อนุญาตให้ใช้เงินสกุลบาท/จั๊ต ชำระค่าสินค้าได้โดยตรงสำหรับการค้าชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าและการไหลเวียนของสินค้าระหว่าง 2 ประเทศ อำนวยความสะดวกต่อระบบชำระเงินและการเคลียริงข้ามพรมแดน รวมถึงส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นตามแนวทางบูรณาการระบบการเงินอาเซียน
หลัง CBM มีคำสั่งฉบับที่ 5/2022 ออกมาได้เพียงไม่กี่วัน ความตึงเครียดบนทางหลวงสายเอเซียหมายเลข 1 ก็ปรากฏขึ้น!

เวลา 8.00-9.00 น. วันที่ 12 มีนาคม 2565 กลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายใช้อาวุธหนักโจมตีรถ 3 คัน บนทางหลวง AH1 ช่วงบริเวณใกล้กับทางขึ้นน้ำตกตอหน่อ ในพื้นที่เมืองกอกะเรก (โปรดดูแผนที่ประกอบ) รถที่ตกเป็นเหยื่อ เป็นรถบรรทุกสินค้าขนาด 12 ล้อ 2 คัน กับรถบัสโดยสาร 6 ล้อ อีก 1 คัน รถทั้ง 3 คัน ถูกเผาจนเสียหายหมด
หลังเกิดเหตุ กองทัพพม่าระดมกำลังทหารกว่า 100 นาย ลงพื้นที่ปูพรมค้นหาเบาะแสกลุ่มผู้ก่อเหตุ มีการสั่งปิดทางหลวง AH1 ห้ามรถทุกชนิดขับผ่านช่วงน้ำตกตอหน่อเป็นเวลา 1 วัน ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ของวันที่ 12 มีนาคม 2565 หลังจากนั้น บรรยากาศการสัญจรบนทางหลวงสายนี้ตึงเครียดขึ้นมาทันที

วันที่ 21 มีนาคม 2565 เมืองเมียวดีและกอกะเรก เข้าสู่ภาวะสงครามเต็มตัว เมื่อกำลังผสมของกองทัพกะเหรี่ยงได้บุกโจมตีค่ายทหารพม่า ที่บ้านมอคี ตำบลวาเล่ย์ ตรงข้ามกับอำเภอพบพระ จังหวัดตาก มีทหารพม่าอย่างน้อย 8 นาย เสียชีวิต ทหารกะเหรี่ยงสามารถยึดอาวุธ ยุทโธปกรณ์ ของทหารพม่าไปได้หลายรายการ
กำลังผสมของกองทัพกะเหรี่ยงที่บุกโจมตี เป็นการสนธิกำลังกันของทหารจาก KNLA 6 กับทหารจากองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO) กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) และกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล (PDF)
เป็นที่มาของประกาศจาก KNLA 6 ให้ปิดการสัญจรบนทางหลวง AH 1 และถนนเมียวดี-วาเล่ย์ อย่างไม่มีกำหนด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2565

……
กล่าวกันว่ากะเหรี่ยงเป็นชนชาติที่รักสันติ แต่ก็มีความสามารถในการรบ
ช่วงที่อังกฤษปกครอง เป็นเจ้าอาณานิคมในพม่า ข้าหลวงอังกฤษไม่ยอมให้ชนชาติพม่ามีกองกำลังเป็นของตนเอง กำลังทหารและตำรวจที่อังกฤษใช้ในระหว่างที่ปกครองพม่าอยู่นั้น เป็นชาวกะเหรี่ยงเกือบทั้งหมด
กองทัพกะเหรี่ยง จึงถือเป็นกองกำลังติดอาวุธที่มีอายุยืนยาวและยังดำรงอยู่มาถึงทุกวันนี้
แต่กองทัพกะเหรี่ยงก็แตกออกเป็นหลายกลุ่ม ข้อมูลเท่าที่รวบรวมได้ กองทัพกะเหรี่ยงปัจจุบัน ประกอบด้วย
กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) กับองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO) ทั้ง 2 กลุ่มนี้ เป็นกองกำลังติดอาวุธที่อยู่ภายใต้ปีกของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และเป็นกองทัพที่มีขนาดใหญ่ เฉพาะ KNLA ยังแบ่งออกเป็นกองพลต่างๆ ถึง 7 กองพล ครอบคลุมพื้นที่กว้างทั้งในรัฐกะเหรี่ยง และบางส่วนของภาคพะโค รัฐมอญ และภาคตะนาวศรี
กองทัพสภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNLA-PC) เป็นกองกำลังที่แยกตัวออกมาจาก KNU เมื่อปี 2550
กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) เป็นกองกำลังที่แยกตัวออกมาจาก KNU เมื่อเดือนธันวาคม 2539
DKBA ยังมีการแตกตัวออกมาอีกในปี 2553 โดยกำลังพล DKBA บางส่วนได้แยกตัวออกมาเพื่อแปรสภาพเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force — BGF) กองกำลังติดอาวุธที่ทำงานภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพพม่า เพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ
โครงการ “ฉ่วยก๊กโก” เมืองใหม่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ทางตอนเหนือของเมียวดี ที่มีจุดขายเป็นบ่อนคาสิโนขนาดใหญ่บนพื้นที่ 30,000 เอเคอร์ หรือ 75,900 ไร่ มูลค่าการลงทุนสูงถึงกว่า 15,000 ล้านบาท ก็เป็นโครงการที่ BGF ได้ให้สัมปทานแก่กลุ่ม Yatai International Holding Group จากจีนเมื่อปี 2559
ทั้ง KNU, KNLA-PC และ DKBA ต่างร่วมลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลเมียนมา ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2558 ในปลายสมัยของประธานาธิบดีเตงเส่ง
……
เกือบ 10 ปีที่แล้ว รัฐบาลไทย โดยสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) ได้ให้ความช่วยเหลือปรับปรุงทางหลวง AH1 ช่วงเมียวดี-กอกะเรก ระยะทาง 45.446 กิโลเมตร มีทั้งการสร้างถนนใหม่และบูรณะถนนเดิมให้ได้มาตรฐานขนาด 2 ช่องจราจร รวมถึงซ่อมแซมสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 ที่แม่สอด ด้วยงบประมาณ 1,320 ล้านบาท เป็นการช่วยเหลือทั้งแบบให้เปล่าและให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
การก่อสร้าง ซ่อมแซม เสร็จสมบูรณ์ และมีพิธีส่งมอบถนนสายนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2558 โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นตัวแทนส่งมอบ มี อู ญาน ทูน รองประธานาธิบดีเมียนมา ในรัฐบาลของประธานาธิบดีเตงเส่ง เป็นตัวแทนรับมอบ
ในพิธีส่งมอบ มีตัวแทนทหารกะเหรี่ยงจากกองทัพต่างๆ มาร่วมด้วย เช่น ซอ มูตู เซโพ ประธาน KNU พ.อ. ซอ เนเซอ เมียะ หรือผู้การเตเล ผู้บังคับกองพันรบพิเศษ KNLA-PC ลูกชายคนเล็กของนายพลโบเมียะ อดีต ประธาน KNU พ.อ. ซอ ชิดตู่ ผู้บัญชาการกองพลที่ 3 และ พ.ต. ซอ โมะโต่ง ผู้บัญชาการกองพลที่ 2 ของ BGF ฯลฯ
2 รายหลัง ปัจจุบันกำลังร่วมรบอยู่ฝั่งเดียวกับทหารพม่า ที่ต่อสู้อย่างเข้มข้นอยู่กับกองกำลังผสมกะเหรี่ยงในพื้นที่เมืองเมียวดี
……
ทางหลวง AH1 ที่ปรับปรุงใหม่ เมื่อเปิดใช้ ได้ช่วยร่นระยะเวลาเดินทางจากเมียวดีไปยังกอกะเรก จากเดิม 2 ชั่วโมง 30 นาที ในฤดูแล้ง เหลือเพียง 90 นาที โดยไม่ต้องไปใช้ถนนสายเก่าที่อยู่ทางทิศเหนือ ซึ่งต้องขับรถขึ้นภูเขาดอนะ ที่เป็นเส้นทางเล็กแคบ เต็มไปด้วยทางโค้ง คดเคี้ยว ลาดชัน ต้องสลับวันเดินรถขาขึ้น-ขาล่อง แบบวันคู่-วันคี่
หลังเปิดใช้งาน ทางหลวง AH1 ได้กลายเป็นเส้นทางที่เอื้อประโยชน์ ทั้งแก่ผู้ส่งออกไทย ประชาชนเมียนมา สำคัญที่สุด คือกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ของกองทัพกะเหรี่ยงเอง ล้วนได้ประโยชน์จากถนนเส้นนี้
ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2558 ก่อนมีพิธีส่งมอบและเปิดใช้ทางหลวง AH1 อย่างเป็นทางการ ตลอดแนวทางหลวง AH1 ได้เกิดการสู้รบอย่างหนักระหว่างกองทัพพม่ากับ DKBA ทำให้ต้องปิดใช้เส้นทางนี้เป็นการชั่วคราวทั้งที่สร้างเสร็จแล้ว ก่อนที่ 2 ฝ่ายสามารถเจรจาตกลงกันได้ในภายหลัง และ DKBA ได้สิทธิ์ส่งตัวแทนลงเลือกตั้งใหญ่ที่จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2558
หลังเปิดใช้ทางหลวง AH1 อย่างเป็นทางการ KNU ได้จัดตั้งเครือข่ายธุรกิจ เพื่อดำเนินกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับทางหลวง AH1 บริษัทส่วนใหญ่ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้การดูแลของ KNLA กองพลที่ 7 (KNLA 7)

KNLA 7 ได้จดทะเบียนตั้งบริษัทที่ชื่อ “โมโก่ซาน” ขึ้น ในเดือนกรกฎาคม 2556 ในช่วงที่เพิ่งเริ่มการก่อสร้างทางหลวง AH1 บริษัทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำธุรกิจท่องเที่ยว เป็นตัวแทนนำเข้า-ส่งออกสินค้าของรัฐกะเหรี่ยงกับประเทศอื่นๆ มีสำนักงานอยู่ในเมืองผะอัน
และเมียวดี
เดือนธันวาคม 2558 บริษัทโมโก่ซานได้รับใบอนุญาตทำธุรกิจเดินรถโดยสารจากแผนกขนส่ง รัฐกะเหรี่ยง และได้ตั้งบริษัทลูกชื่อ
“โดะเม็กส่วย” ขึ้น เพื่อใช้รถตู้ขนาด 15 ที่นั่ง วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารในเส้นทางเมียวดี-ย่างกุ้ง, เมียวดี-ตองอู และเมียวดี-พะสิม โดยเริ่มวิ่งรถเที่ยวแรก ในวันที่ 24 มกราคม 2559


เดือนกันยายน 2561 KNLA 7 ขยายบทบาทสู่การเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยจัดตั้งบริษัท Stepping Stone ขึ้น เพื่อทำโครงการที่ใช้ชื่อว่า “เซงแหล่ะมย่าย” (Sein Lei Myaing)
ในโครงการ ประกอบด้วยห้องพักอาศัยจำนวน 10,000 หน่วย ตลาด โรงเรียน โรงพยาบาล ตั้งอยู่โดยรอบสถานีรถโดยสาร ในเมืองเมียวดี บนเนื้อที่ 48 เอเคอร์ (122 ไร่) ริมทางหลวง AH1 ห่างจากจากสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ไปประมาณ 4 ไมล์
ห้องพักอาศัยต้นทุนต่ำในโครงการเซงแหล่ะมย่าย เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่เคยอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ ที่อยู่บริเวณตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา ในรัฐกะเหรี่ยง รวมถึงคนงานที่ข้ามมาทำงานรายวันตามโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในแม่สอด และชาวเมืองเมียวดีบางส่วน โดยเน้นจุดขายที่สามารถผ่อนส่งระยะยาวถึง 20 ปี ในอัตราค่างวดเพียงเดือนละ 100,000 จั๊ต
การที่ KNU มอบหมายให้ KNLA 7 ดูแลด้านธุรกิจ เนื่องจากพื้นที่รับผิดชอบของ KNLA 7 อยู่ตอนกลาง ค่อนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐกะเหรี่ยง และครอบคลุมเมืองผะอัน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง
ขณะที่ KNLA 6 รับผิดชอบตอนกลางของรัฐกะเหรี่ยง มีพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดเมียวดีและดูบลายา จึงมีอำนาจในการออกประกาศปิดถนน ห้ามการสัญจรบนทางหลวง AH1 ช่วง “เมียวดี-กอกะเรก”
……
สถานการณ์สู้รบในรัฐกะเหรี่ยงไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลอด เป็นเวลาหลายปีแล้ว ในทุกฤดูแล้ง กองทัพพม่ามักปฏิบัติการโจมตีฐานที่มั่นหลายแห่งของทหารกะเหรี่ยง ทำให้มีการปะทะกันเกิดขึ้นเป็นระยะ
นักธุรกิจ พ่อค้าชายแดน ผู้ส่งออกสินค้า รวมถึงผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเข้าไปในเมียนมาต่างรับรู้สถานการณ์พวกนี้ พวกเขาแต่ละคนต่างมีแหล่งข้อมูลของตนเองที่สามารถเช็คได้ว่า หากต้องการส่งสินค้าเข้าไปในเมียนมาวันใด ต้องประสานงานกับใคร กลุ่มไหน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า สินค้าจะไปถึงปลายทางได้อย่างปลอดภัย ภายใต้ต้นทุนขนส่งที่เหมาะสม

แต่สำหรับการสู้รบที่เกิดขึ้นรอบใหม่ นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2565 จนมีคำสั่งปิดทางหลวง AH1 ตามมาในวันที่ 27 มีนาคมนั้น นักธุรกิจเหล่านี้ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นสถานการณ์ที่ “แตกต่าง” ไปจากในอดีต
นับแต่วันที่ 27 มีนาคม 2565 เป็นต้นมา มีรถสินค้าที่ฝืนใช้เส้นทาง AH1 ถูกเผาไปแล้วมากกว่า 10 คัน มีคนขับรถหรือผู้โดยสารเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 2 ราย
ผู้ส่งออกหลายราย จำเป็นต้องเลี่ยงไปส่งสินค้าออกทางด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี ทำให้มีต้นทุนขนส่งสินค้าที่สูงขึ้น และไม่สามารถกำหนดเวลาที่แน่นอนได้

“รอบนี้ เราไม่รู้เลยว่าต้องเช็คข้อมูลกับใคร หรือต้องประสานงานกับกลุ่มไหน…จริงๆ”