ThaiPublica > สู่อาเซียน > ความมั่นคงของธุรกิจในเมียนมา 9 เดือนหลังรัฐประหาร ใครถอนตัวบ้าง!!

ความมั่นคงของธุรกิจในเมียนมา 9 เดือนหลังรัฐประหาร ใครถอนตัวบ้าง!!

4 พฤศจิกายน 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

การรัฐประหารในเมียนมา ได้เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของการทำธุรกิจในประเทศนี้ออกไปอย่างมากมาย และทั้งหมด…เปลี่ยนไปในเชิงลบ

ตลอดเวลากว่า 9 เดือน นับจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา บริษัทและโรงงานหลายแห่งในเมียนมาจำต้องปิดตัวลง การลงทุนของนักธุรกิจต่างประเทศ ทั้งที่เป็นการลงทุนโดยตรงหรือร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่น หลายกิจการตัดสินใจถอนตัวออกจากเมียนมา

ความมั่นคงทางธุรกิจในเมียนมาทุกวันนี้ ลดลงไปไม่น้อย!!!

……

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 BETV Business สำนักข่าวด้านเศรษฐกิจการเงิน รายงานถึงบรรยากาศการทำธุรกิจในเมียนมาขณะนี้ว่าน่าเป็นห่วง มีการถอนการลงทุนของนักธุรกิจต่างประเทศออกไปเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นการลงทุนโดยตรงหรือโครงการการร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่น

เนื้อข่าวอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของ Melvin Pun ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Yoma Strategic Holdings ที่ได้ให้เหตุผลกับสำนักข่าว Nikei Asia ถึงการปิดกิจการของห้างค้าส่ง Metro ในกรุงย่างกุ้ง เมื่อสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า เป็นเพราะอุปสงค์จากธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหาร ได้ลดลงไปอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2564 Nikei Asia ได้เผยแพร่ภาพรถบรรทุกของ Metro ซึ่งจอดเรียงรายอยู่ในที่จอดรถด้านข้างคลังสินค้า ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษตีละหว่า รถทุกคันถูกลบโลโก้ตัวอักษร METRO สีเหลืองบนพื้นน้ำเงิน ออกจากตัวรถไปหมดแล้ว เหลือเพียงพื้นที่สีขาวว่างเปล่าบนตู้สินค้า

รถขนส่งสินค้าที่ถูกลบโลโก้ของ Metro ไปหมดแล้ว จอดเรียงรายอยู่ในที่จอดรถด้านข้างคลังสินค้า ในเขตเศรษฐกิจพิเศษตีละหว่า ที่มาภาพ : Nikei Asia

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของ Metro คนหนึ่ง บอก Nikei Asia ว่า Metro ได้ให้บริการส่งสินค้าตามออเดอร์ไปยังบ้านของลูกค้าจนถึงเมื่อวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม เป็นวันสุดท้าย

ก่อนหน้านั้น 2 เดือน ในวันที่ 1 กันยายน 2564 เพจทางการของ Metro Wholesale Myanmar ได้เผยแพร่ประกาศ แจ้งว่า Metro จะหยุดกิจการในเมียนมาตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคมเป็นต้นไป

ในประกาศไม่ได้ระบุเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้ Metro ตัดสินใจปิดกิจการในเมียนมา บอกเพียงว่าฝ่ายบริหารได้พิจารณาอย่างละเอียดแล้ว และพบว่าสถานการณ์ในเมียนมา ทำให้ Metro ไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ภายใต้มาตรฐานของบริษัทที่ได้ตั้งไว้

Metro เป็นธุรกิจค้าส่งจากประเทศเยอรมนี ที่เน้นจำหน่ายวัตถุดิบสำหรับธุรกิจอาหาร โดยมีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหาร

Metro เปิดตัวในเมียนมาเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นธุรกิจร่วมทุนระหว่าง Metro AG ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นแฟรงค์เฟิร์ต กับ Yoma Strategic Holdings ในสัดส่วน 85 : 15

เดือนกุมภาพันธ์ 2562 โครงการร่วมทุนระหว่าง Metro AG กับ Yoma Strategic Holdings ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ(IFC : International Finance Corporation) ในเครือธนาคารโลก เป็นเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

รูปแบบธุรกิจของ Metro ไม่มีหน้าร้านเป็นของตนเอง แต่ใช้วิธีการขายและนำส่งสินค้าถึงมือผู้ซื้อผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ โดย Metro ได้สร้างคลังสินค้าขนาด 5,800 ตารางเมตร อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษตีละหว่า ย่านสิเรียม ชานกรุงย่างกุ้ง

หนังสือแจ้งยุติกิจการในเมียนมาของ Metro Wholesale Myanmar

อย่างไรก็ตาม หลังเปิดตัวได้เพียง 1 ปี Metro ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขัน เมื่อห้าง Makro ไฮเปอร์มาร์ทในเครือเจริญโภคภัณฑ์จากประเทศไทย ซึ่งทำธุรกิจคล้ายคลึงกัน ได้ไปเปิดห้างในกรุงย่างกุ้งเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563

หลังการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ บรรยากาศธุรกิจในเมียนมาได้ซบเซาลง พร้อมกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่เริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน ทำให้โรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหาร แทบทุกแห่งในเมียนมา ซึ่งล้วนเป็นลูกค้าหลักของ Metro ต้องหยุดกิจการ

ขณะที่ลูกค้าที่เป็นประชาชนทั่วไป มักคุ้นชินกับการเดินเข้าไปเลือกซื้อสินค้าภายในห้างมากกว่า เพราะสามารถจับต้องได้

……

Yoma Strategic Holdings จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ เป็นบริษัทในเครือโยมะ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของเมียนมา ซึ่งก่อตั้งโดย “เซอร์เก ปัน” นักธุรกิจชาวพม่าเชื้อชาติจีน

เซอร์เก ปัน มีชื่อในภาษาพม่าว่า “อู เตงเหว่”

เซอร์เก ปัน(ที่ 3 จากซ้าย) ผู้ก่อตั้งกลุ่มโยมะ ที่มาภาพ : BETV Business

กลุ่มโยมะมีธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งธุรกิจการเงิน อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ท่องเที่ยว ค้าปลีก ธุรกิจอาหาร ยานยนต์ฯลฯ

Yoma F&B บริษัทที่ทำธุรกิจร้านอาหารในเครือโยมะ เคยสร้างความฮือฮาไว้ เมื่อครั้งที่นำแฟรนไชส์ร้านไก่ทอด KFC ไปเปิดสาขาในกรุงย่างกุ้งเมื่อปี 2558 ในวันที่ร้าน KFC เปิดให้บริการสาขาแรก ชาวย่างกุ้งได้มายืนต่อแถวยาวเหยียดเพื่อเข้าคิวรอซื้อไก่ทอด KFC ปรากฏเป็นภาพข่าวไปในหลายประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม 1 ปีที่ผ่านมา กิจการร่วมทุนของบริษัทในกลุ่มโยมะหลายแห่ง ต้องเผชิญกับความยากลำบาก

เริ่มตั้งแต่แผนที่จะกันหุ้นส่วนหนึ่งของบริษัท Wave Holdco เพื่อขายให้กับ Ant Group เจ้าของแอพพลิเคชั่นระบบชำระเงิน Alipay ในเครืออาลีบาบาของมหาเศรษฐี แจ๊ค หม่า ซึ่งต้องสะดุดลงด้วยเหตุที่รัฐบาลจีนสั่งเบรคการทำ IPO ของ Ant Group อย่างกระทันหัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563

Wave Holdco ถือหุ้นใหญ่อยู่ใน Wave Money ผู้ให้บริการโอนเงินและระบบชำระเงินที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมา ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 และเคยเป็นกิจการร่วมทุนระหว่าง Telenor Myanmar กับกลุ่มโยมะ ในสัดส่วน 51 : 49

  • “รู้จักกระเป๋าเงินในเมียนมา-ลาว”
  • เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 Wave Money ประกาศว่า Telenor Myanmar จะถอนตัวออกจาก Wave Money ขณะเดียวกัน Ant Group ก็มีแผนจะเข้ามาถือหุ้น 33% ใน Wave Money

    วันที่ 24 มิถุนายน 2563 Yoma Strategic Holdings ได้ตั้งบริษัท Wave Holdco ขึ้นเพื่อซื้อหุ้น 51% ที่ Telenor Myanmar ถืออยู่ใน Wave Money ในมูลค่า 76.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้กลุ่มโยมะได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 100% ใน Wave Money จากนั้นจะกันหุ้น 33% ออกมาขายต่อให้กับ Ant Group

    ขณะนั้น Ant Group กำลังมีแผนจะทำ IPO กระจายหุ้นขายกับประชาชนทั่วไป ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และฮ่องกงในต้นเดือนพฤศจิกายน ตามขั้นตอนที่วางไว้ หลังจาก Ant Group ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้ามาถือหุ้น 33% ใน Wave Money

    แต่ปรากฏว่า Ant Group ถูกรัฐบาลจีนสั่งเบรคการทำ IPO เสียก่อน…

    กิจกรรมสังคมที่ Telenor Myanmar ทำในช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาดในเมียนมาใหม่ๆ ที่มาภาพ : เพจ Dtac Myanmar

    การรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ส่งผลกระทบกับธุรกิจของ Telenor Myanmar อย่างมาก เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 NikKei Asia รายงานว่า บริษัทแม่ของ Telenor ที่นอร์เวย์ จำเป็นต้องตัดบัญชีการลงทุนในเมียนมาเป็นหนี้สูญคิดเป็นมูลค่าถึง 750 ล้านดอลลาร์ ไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

    จากนั้น ในต้นเดือนกรกฎาคม 2564 Telenor ที่นอร์เวย์ ก็ได้ตกลงขายหุ้นและสินทรัพย์ทั้งหมดของ Telenor Myanmar ให้กับ M1 Group กลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมจากประเทศเลบานอน ในมูลค่า 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ……

    ย้อนกลับมาที่กลุ่มโยมะ นอกจาก KFC แล้ว Yoma F&B ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ร้านอาหาร YKKO และเป็นผู้นำเข้าแบรนด์ร้านกะทะร้อน Little Sheep จากมองโกเลีย เข้าไปเปิดในกรุงย่างกุ้ง

    รวมถึงเคยเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ร้านขนมปังกรอบสัญชาติอเมริกัน “อานตี้ แอนส์” (Auntie Anne’s)

    Yoma F&B เปิดตัวแบรนด์ “อานตี้ แอนส์” ในกรุงย่างกุ้งเมื่อปี 2562 โดยเปิดสาขาแรกที่ Junction City ในเดือนมีนาคม สาขาที่ 2 ที่ Junction Square ในเดือนพฤษภาคม และสาขาที่ 3 ที่ Myanmar Plaza ในเดือนตุลาคม

    หลังเริ่มมีความเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารในเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา เกิดการก่อวินาศกรรมขึ้นหลายจุดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกรุงย่างกุ้ง ทั้งในย่านชุมชน ย่านอุตสาหกรรม รวมถึงห้างสรรพสินค้า

    จดหมายแจ้งปิดกิจการทั้ง 3 สาขาของอานตี้ แอนส์ในเมียนมา

    วันที่ 30 มิถุนายน 2564 “อานตี้ แอนส์” ได้แถลงผ่านเพจเฟซบุ๊กทางการของร้าน แจ้งว่าสาขาทั้ง 3 แห่ง ต้องปิดกิจการลงอย่างถาวร โดยสาขา Junction Square ปิดตัวลงทันทีในวันที่ประกาศ(30 มิถุนายน) อีก 2 สาขา ปิดในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564

    “อานตี้ แอนส์” ให้เหตุผลการตัดสินใจครั้งนี้ว่า เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ…

    หลังจาก“อานตี้ แอนส์” ประกาศปิดสาขา 3 แห่งในเมียนมาได้เพียงสัปดาห์เดียว วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ฮิเดโตชิ คิโมโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท First Japan Tire Services(FJTS) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายยางรถยนต์แบรนด์ “บริดจสโตน” (Bridgestone) ในเมียนมา ได้มีหนังสือแจ้งถึงดีลเลอร์ คู่ค้า และร้านจำหน่ายยางบริดจสโตนทั่วเมียนมาว่า FJTS ต้องยุติการทำธุรกิจในนามบริดจสโตนและการจำหน่ายยางบริดจสโตนในเมียนมา ในสิ้นเดือนกรกฎาคม

    ร้านบริดจสโตนในเมียนมา

    ในหนังสือที่ FJTS ส่งไปถึงดีลเลอร์ และคู่ค้า ไม่ได้แจ้งเหตุผลโดยละเอียดของการตัดสินใจหยุดธุรกิจในเมียนมาว่าเป็นเพราะเหตุใด

    FJTS เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทเมียนมา มอเตอร์ พีทีอี บริษัทลูกของ Yoma Strategic Holdings กับมิตซูบิชิ คอร์ป จากญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เพื่อเปิดร้านค้าและศูนย์บริการยางบริดจสโตนทั่วเมียนมา โดยมิตซูบิชิ คอร์ป ถือหุ้น 70% และเมียนมา มอเตอร์ พีทีอี ถือหุ้น 30%

    การร่วมทุนระหว่างกลุ่มโยมะกับมิตซูบิชิ คอร์ป เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายผ่อนคลายเงื่อนไขการลงทุนจากต่างประเทศ ที่เริ่มต้นในสมัยของประธานาธิบดีเตงเส่ง โดยในเดือนตุลาคม 2556 มิตซูบิชิ คอร์ป ยังได้ทำสัญญากับบริษัท Serge Pun & Associates (Myanmar) Ltd. เพื่อร่วมขยายโอกาสทางธุรกิจในเมียนมา โดยมุ่งเน้นในธุรกิจยานยนต์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับลิฟต์

    จดหมายแจ้งยุติการทำธุรกิจในนามบริดจสโตนและการจำหน่ายยางบริดจสโตนในเมียนมา ของบริษัท First Japan Tire Services

    ทั้งอานตี้ แอนส์ จากสหรัฐอเมริกา, บริดจสโตน จากญี่ปุ่น และ Metro จากเยอรมนี เป็น 3 แบรนด์ดังจากต่างประเทศ ที่เคยอยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มโยมะ และต้องถอนตัวออกไป หลังเกิดการรัฐประหารในเมียนมา

    นี่ยังไม่นับรวม Telenor จากนอร์เวย์
    ……

    เมื่อวันพุธที่ 27 ตุลาคม 2564 บริษัท Adani Ports and Special Economic Zone จากอินเดีย ก็ได้ประกาศการตัดสินใจถอนการลงทุนออกจากเมียนมาในเดือนมิถุนายนปีหน้า

    Adani ได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นผู้บริหารท่าเรือสากลอะโลนในกรุงย่างกุ้ง ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ท่าเรือแห่งนี้เป็นของ Myanmar Economic Corporation(MEC) แขนขาทางธุรกิจของกองทัพพม่า และนับแต่เกิดการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ มีแรงกดดันจำนวนมากถูกส่งไปถึง Adani ในฐานะที่ทำธุรกิจร่วมกับกองทัพพม่า จนล่าสุด Adani ก็จำเป็นต้องถอนตัว

    โรงแรม Kempinski กรุงเนปิดอ ที่มาภาพ : Eleven Media Group

    ก่อนหน้านั้น ในศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2564 Kempinski โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ในกรุงเนปิดอ ซึ่งเป็นการลงทุนจากสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้ประกาศปิดกิจการ ผู้บริหาร Kempinski ให้เหตุผลว่าสถานการณ์ในเมียนมา ส่งผลให้โรงแรมแห่งนี้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

    โรงแรม Kempinski กรุงเนปิดอ เคยถูกใช้เป็นที่พักของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งเดินทางเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2557

    ไม่กี่วันก่อนการประกาศปิดกิจการของโรงแรม Kempinski ในวันพุธที่ 12 ตุลาคม 2564 British American Tobacco ซึ่งได้เข้าไปลงทุนอยู่ในเมียนมาตั้งแต่ปี 2556 ก็ได้ประกาศถอนการลงทุนจากเมียนมาในปลายปีนี้ โดยอ้างถึงผลการประเมินปัจจัยเสี่ยงต่างๆในระยะยาว ทำให้จำเป็นต้องตัดสินใจเช่นนี้

    วันที่ 27 กันยายน 2564 Eleven Media Group รายงานบทสัมภาษณ์ผู้บริหารเขตอุตสาหกรรม 3 แห่งในย่านหล่ายต่าหย่า กรุงย่างกุ้ง ประกอบด้วย เขตอุตสาหกรรมหล่ายต่าหย่า, เขตอุตสาหกรรมฉ่วย ตานลวิน และเขตอุตสาหกรรมฉ่วย ลินปาน พบว่านับแต่เกิดการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา จนถึงในเดือนกันยายน มีโรงงานอุตสาหกรรมอย่างน้อย 73 แห่ง ได้ปิดตัวลงไปแล้ว

    โดยในเขตอุตสาหกรรมหล่ายต่าหย่า มีโรงงาน 29 แห่ง ที่แจ้งมายังฝ่ายบริหารเขตอุตสาหกรรมฯว่าขอปิดโรงงานชั่วคราว และได้จ่ายเงินชดเชยให้กับคนงานครบถ้วนตามกฏหมาย

    พื้นที่อุตสาหกรรมในย่านหล่ายต่าหย่า กรุงย่างกุ้ง ที่มาภาพ : เพจ HTY Information

    ส่วนในเขตอุตสาหกรรมฉ่วย ตานลวิน มีโรงงาน 9 แห่ง ที่ปิดตัวลง บางแห่งแจ้งมาว่าขอปิดโรงงานชั่วคราว ขณะที่อีกบางแห่งแจ้งปิดกิจการถาวร และได้ย้ายเงินลงทุนไปยังที่อื่น

    แรงงานอย่างน้อย 3,000 คน ในเขตอุตสาหกรรมฉ่วย ตานลวิน ได้รับผลกระทบ ต้องตกงานจากการปิดตัวลงของโรงงานทั้ง 9 แห่ง

    ในเขตอุตสาหกรรมฉ่วย ลินปาน มีโรงงาน 35 แห่งได้ปิดตัวลง ในนี้ 30 แห่งแจ้งว่าเป็นการปิดโรงงานชั่วคราว ส่วนอีก 5 แห่ง แจ้งว่าขอปิดกิจการถาวร และในจำนวน 35 โรงงาน มี 10 แห่งที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ จำนวนแรงงานที่ต้องตกงานจากการปิดตัวของโรงงานทั้ง 35 แห่ง มีประมาณ 10,000 คน

    สถานการณ์ธุรกิจในเมียนมาตอนนี้ ดูไม่มั่นคงเลยจริงๆ…