ThaiPublica > คอลัมน์ > เกิดอะไรขึ้นกับบริษัทประกันภัย

เกิดอะไรขึ้นกับบริษัทประกันภัย

11 กุมภาพันธ์ 2022


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

บมจ.อาคเนย์ประกันภัย ในเครือ บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ (TGH) เรือธงกลุ่มธุรกิจการเงินกลุ่ม ทีซีซี ของ เจริญ สิริวัฒนภักดี แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมาว่า บริษัทได้ยื่นขอเลิกกิจการโดยสมัครใจต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และพร้อมจะส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียนตาม มาตรา 57 และ 57/1 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภันภัย พ.ศ. 2535 เมื่อได้รับการอนุมัติ

การเคลื่อนไหวข้างต้นมีขึ้นหลัง บมจ.อาคเนย์ประกันภัย กับพวก เพิ่งยื่นฟ้อง “สุทธิพล ทวีชัยการ” เลขาฯ คปภ. ต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนคำสั่ง นายทะเบียนเลขที่ 38/2564 ซึ่งห้ามยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เป็นการชั่วคราวก่อนศาลฯ มีคำสั่งพิจารณาคดีดังกล่าว โดยคดีเพิ่งนับหนึ่งเมื่อ 15 มกราคม ที่ผ่านมา

บมจ.อาคเนย์ประกันภัย เป็น 1 ใน 16 บริษัทประกันวินาศภัยที่บุกตลาดประกันโควิดตั้งแต่ช่วงแรกในเดือนมีนาคม 2563 โดยบริษัทเหล่านั้นเน้น จุดขายคล้ายๆ กันคือ เจอ-จ่าย-จบ ประกอบกับค่าเบี้ยประกันไม่สูงมีราคาตั้งแต่ 99 บาทขึ้นไป และเสนอการคุ้มครองแบบน่าสนใจสุดๆ เช่น เบี้ยประกัน 455 บาท หากตรวจพบเชื้อรับทันที 50,000 บาท มีเงินชดเชยระหว่างรักษาตัว เป็นต้น อีกทั้งขายผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้ประกันโควิด เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ตลาดจึงไปได้ดีในระยะแรก

ยอดขายประกันโควิดอ้างอิงจากข้อมูลที่ อานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัย ให้สัมภาษณ์สื่อ (15 พ.ย. 2564) ระบุว่าปีแรก 2563 ที่ไวรัสโควิด-19 บุกไทย มีการขายประกันโควิดถึง 9 ล้านกรมธรรม์ เบี้ยประกันประมาณ 4,000 ล้านบาท อัตราเคลมไม่สูง ประมาณ 10% ของเบี้ยประกันทั้งระบบ ซึ่งสัมพันธ์กับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายวันในระยะนั้นที่ช่วงระบาดระลอกแรกที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันไม่สูงมาก อยู่ระหว่างหลักสิบกับร้อย

ในปี 2564 ตลาดประกันโควิดพีกสุดๆ โดยเฉพาะหลังการระบาดระลอก 3 (เริ่ม 1 เมษายน 2564) และการมาของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่เดลตา คนแห่ซื้อประกันโควิดกันอย่างคึกคัก ประมาณว่ายอดขายกรมธรรม์ทั้งระบบพุ่งขึ้นไปถึง 14 ล้านกรรมธรรม์ ในจำนวนนี้ขายไตรมาสแรก (2564) เพียง 1.8 ล้านกรมธรรม์ อีก 13 ล้านกรมธรรม์ขายในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2564

ส่วนสถานการณ์ระบาดช่วงเวลานั้น กราฟผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งชันขึ้น และชันขึ้นต่อเนื่อง ยอดผู้ป่วยทะลุหลักพันหลังวันสงกรานต์ ขึ้นมาหลักสามสี่พันรายต่อวันในเดือนมิถุนายน 2564 ช่วงนั้นบริษัทประกันหลายแห่งเริ่มไหวตัว บางบริษัทออกมาประกาศเลิกขายประกันโควิด หรือปรับเงื่อนไขเพิ่มเติม ก่อนที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่แตะหลักหมื่นต่อวันเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 (ยอดผู้ติดเชื้อ 10,082 ราย) และยอดผู้ติดเชื้อขึ้นไปสูงสุดนับจากมีการระบาดในประเทศไทย ในวันที่ 13 สิงหาคม ปีเดียวกัน สถิติที่บันทึกไว้คือ 23,418 ราย

ยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่ทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างไม่มีสิ้นสุด ไม่เพียงส่งผลให้ระบบสาธารณสุขอยู่ในสภาพโกลาหลเท่านั้น หากวงการประกันก็สั่นสะเทือนไปทั้งระบบเช่นเดียวกัน เพราะเงื่อนไขของประกันโควิดที่ออกจำหน่ายนั้นระบุว่า เจอ-จ่าย-จบ เช่น กรมธรรม์ของสินทรัพย์ประกันภัยเบี้ยประกัน 299 บาท หากตรวจเจอเชื้อสัญญาระบุว่าจะได้ชดเชย 50,000 บาท หรือกรมธรรม์ของไทยประกันภัย เบี้ยประกัน 599 รายได้ชดเชย 50,000 บาท เป็นต้น ได้สร้างภาระมหาศาลให้กับบริษัทประกันเหล่านั้นเมื่อจำนวนลูกค้าที่ซื้อกรมธรรม์ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามสัดส่วนผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน

ลูกค้าที่บุกทวงเงินชดเชยจากบริษัทประกันหลายแห่งในช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว ไม่ต่างจากมหาคลื่นสึนามิที่ถาโถมเข้าหาบริษัทประกันภัยฯ ตัวเลขเคลมประกันโควิดที่สมาคมประกันวินาศภัยประเมินไว้ ณ สิ้นปี 2564 ตัวเลขอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท แต่สุทธิพล เลขาฯ คปภ. ระบุว่า ตัวเลขอยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาท หากยอดเคลมหลักหมื่นล้านทำเอาบริษัทที่ขายประกันโควิดหลายบริษัทเผชิญปัญหาสภาพคล่องในการจ่ายค่าชดเชยให้ลูกค้าก่อนลามถึงฐานะบริษัท ทำให้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

ตอนนั้น 3 บริษัทคือ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย บมจ.ไทยประกันภัย และ บมจ.เดอะวันประกันภัย (สินทรัพย์ประกันภัยเดิม) ต้องเข้าโครงการผ่อนผันเงินกองทุนกับ คปภ. เพื่อประคองสถานการณ์ แต่ในท้ายที่สุดกระทรวงการคลังได้ถอนใบอนุญาต บ.เอเชียประกันภัย 1995 และ บมจ.เดอะวันประกันภัย ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาหลังไม่สามารถเติมทุนและจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกค้าตามเวลาที่กำหนดได้

ห้วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันนั้น สมาคมประกันวินาศภัย ออกมาเรียกร้องให้ คปภ. ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียน 2 ฉบับ คือ คำสั่งนายทะเบียนเลขที่ 38/2564 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท ในกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย และคำสั่งนายทะเบียนตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือเอกสารแนบท้าย เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย

โดยอ้างว่า การออกคำสั่งให้มีผลบังคับย้อนหลังถึงกรมธรรม์ก่อนหน้าขัดต่อหลักการออกกฎหมายของประเทศ ขณะที่เลขาฯ คปภ. ยืนยันว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการดูแลผลประโยชน์ของประชาชน สถานการณ์ทำท่าจะยกระดับไปไกลเมื่อ บมจ.อาคเนย์ประกันภัย กับพวก ร้องศาลปกครองกลาง ตามที่กล่าวไว้ตอนต้น ก่อนบรรยากาศหักมุมเมื่อ บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ประกาศขอเลิกกิจการ บมจ. อาคเนย์ประกันภัย ซึ่งเป็นบริษัทลูก โดยสมัครใจ

ข้อมูลจากจดหมายที่ โชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ แจ้งต่อ ตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากยกข้อดีมาก ๆ ของการยกเลิก บมจ.อาคเนย์ประกันภัยโดยสมัครใจเมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินธุรกิจต่อไปซึ่งเสี่ยงต่อการถูกยึดใบอนุญาต ฯลฯ เพราะหากเลิกกิจการ (ตอนนี้) บริษัทยังมีสินทรัพย์คงเหลือประมาณ 1,800 ล้านบาท (ณ 1 ม.ค. 2565) ซึ่งเพียงพอต่อดูแลลูกหนี้และผู้ถือกรมธรรม์ทุกรายแล้ว

ประธานกรรมการบริการ บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ ยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มทีซีซีเข้ามาซื้อหุ้นใน บมจ.ไทยประกันภัย (กิจการในเครือ บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์) เพื่อนำไปชำระค่าสินไหมจากการเคลมประกันโควิดของ ลูกค้าทั้งของ บมจ.ไทยประกันภัย และ บมจ.อาคเนย์ประกันภัย เป็นเงินถึง 9,900 ล้านบาท

สาระบางส่วนในจดหมายฉบับดังกล่าว ได้อ้างถึงในส่วนของ บมจ.อาคเนย์ประกันภัยว่า “เงินสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่” ได้นำมาชำระการเคลมประกันโควิดในส่วนของ บมจ.อาคเนย์ประกันภัยที่ทำประกันภัยต่อไว้กับ บมจ.ไทยประกันภัย ประมาณ 8,060 ล้านบาท (บมจ.อาคเนย์มีประกันโควิดอยู่ 1,851,921 กรมธรรม์) นัยหนึ่งก็คือ กลุ่มทีซีซีของเจ้าสัวเจริญได้แสดงความรับผิดชอบต่อลูกค้าประกันโควิดของกิจการในเครือไปแล้วเฉียด 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ คำขอเลิกกิจการโดยสมัครใจของ บมจ.อาคเนย์ประกันภัย อยู่ระหว่างการพิจารณาของ คปภ. ซึ่งคาดว่าจะมีคำตอบออกมาในไม่ช้า แต่ผลจากประกันโควิดยังไม่จบ แม้บริษัทประกันภัยหยุดขายประกันโควิด เจอ-จ่าย-จบ ไปตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เพราะยังมีประกัน เจอ-จ่าย-จบ เหลือในระบบอีก 7 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งจะหมดความคุ้มครองในเดือน มิถุนายน ปีนี้

ผลจากประกันโควิด เจอ-จ่าย- จบ ที่เดิมบริษัทประกันภัยมองว่าจะเป็นสินค้าทำเงิน สามารถขายได้เป็นล้านๆ กรมธรรม์ แต่กลับกลายมาเป็นระเบิดเวลาและส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยอย่างลึกซึ้ง เมื่อประเมินความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 พลาด เพราะการระบาดใหญ่ไม่ได้มีระลอกเดียวหากเกิดขึ้นอีกหลายระลอกในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้วงการประกันวินาศภัยต้องเผชิญกับวิกฤติรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

อ่านเพิ่มเติม…

  • “อาคเนย์-ไทยประกันภัย” คืนเบี้ยประกันโควิดฯ 1-7 ก.พ.นี้
  • บอร์ด คปภ. รับคำขอ ‘อาคเนย์-ไทยประกันภัย’ เลิกกิจการ ให้รอชี้ขาดว่าทำตามเงื่อนไขหรือไม่
  • พิษคำสั่ง “คปภ.” อาคเนย์ประกันภัยขอเลิกกิจการ กรมธรรม์ Covid – Non Covid “ไม่มีใครถูกลอยแพ” -คปภ.สวนยังไม่อนุมัติ
  • “อาคเนย์ฯ” ฟ้องศาลปกครอง ถอนคำสั่ง คปภ. – ห้ามยกเลิกกรมธรรม์ “เจอ-จ่าย-จบ”
  • ปมพิพาท กรมธรรม์ เจอ-จ่าย-จบ ทางออกที่ “ไม่มีใครถูกลอยแพ”
  • ศาลปกครองไม่มีคำสั่งคดี “อาคเนย์” ฟ้อง คปภ. ‘เจอ-จ่าย-จบ’
  • จากปมกรมธรรม์ “เจอ-จ่าย-จบ” กับสิทธิบริษัทประกันภัยในการบอกเลิกสัญญาประกันภัย
  • สมาคมประกันวินาศภัยไทยชน “คปภ.” ปมกรมธรรม์โควิด-19 ใครกันที่ลอยแพประชาชน
  • คปภ.ระดมเครือข่ายผู้บริโภค “ค้าน” ยกเลิกกรมธรรม์ “เจอ-จ่าย-จบ”
  • คปภ.โต้ ทำไมบริษัทประกันฯบอกเลิก “เจอ-จ่าย-จบ” ไม่ได้
  • ลูกค้า “เอเชียประกันภัย” ร้องคลัง-ทวงค่าสินไหม 4 ล้านบาท