ThaiPublica > เกาะกระแส > พิษคำสั่ง “คปภ.” อาคเนย์ประกันภัยขอเลิกกิจการ กรมธรรม์ Covid – Non Covid “ไม่มีใครถูกลอยแพ” -คปภ.สวนยังไม่อนุมัติ

พิษคำสั่ง “คปภ.” อาคเนย์ประกันภัยขอเลิกกิจการ กรมธรรม์ Covid – Non Covid “ไม่มีใครถูกลอยแพ” -คปภ.สวนยังไม่อนุมัติ

26 มกราคม 2022


นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้ถือหุ้นใหญ่ในเครือไทยโฮลดิ้งส์

เครือไทยโฮลดิ้งส์ เสนอทางออกรับมือมติบอร์ด คปภ. กรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 เจอ จ่าย จบ ขอเลิกกิจการ “อาคเนย์ประกันภัย” เพื่อไม่มีใครถูกลอยแพ

วันที่ 26 มกราคม 2565 เครือไทยโฮลดิ้งส์ได้ออกเอกสารข่าวแจ้งว่าสืบเนื่องจากปัญหาของสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในภาพรวม ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทในช่วงปลายปี 2564 ดังนี้

1.การจำหน่ายหุ้นของบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้แก่ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ (กลุ่ม TCC)

2.ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ บริษัทไทยประกันภัย ซึ่งนำไปชำระเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการเคลมประกัน COVID-19 ของลูกค้าผู้ถือกรรมธรรม์ของทั้งไทยประกันภัย และบริษัท อาคเนย์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นเงินจำนวน 9,900 ล้านบาท (อาคเนย์ประกันภัยเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ โดยบริษัทฯ ถือหุ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 97.33)

เงินสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ดังกล่าวได้นำมาชำระเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการเคลมประกัน COVID-19 ในส่วนของอาคเนย์ประกันภัย (ผ่านการทำสัญญารับประกันภัยต่อที่เข้าทำไว้กับไทยประกันภัย) เป็นจำนวนประมาณ 8,060 ล้านบาท ซึ่งช่วยให้อาคเนย์ประกันภัยยังสามารถคงสถานะมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินและสามารถประกอบกิจการต่อเนื่องมาได้ในช่วงที่ผ่านมา โดย ณ วันที่ 1 มกราคม 2565 อาคเนย์ประกันภัยมีสินทรัพย์สุทธิคงเหลือกว่า 1,800 ล้านบาท และยังสามารถดำรงอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 170

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการกลายพันธุ์และการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งยังคงเพิ่มความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและการดำรงอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) ของอาคเนย์ประกันภัยให้ลดต่ำลงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดในระยะเวลาอันใกล้นี้ อาคเนย์ประกันภัยจึงได้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อให้พิจารณามีมติดำเนินการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อนายทะเบียนตามกฎหมาย และโอนกิจการของอาคเนย์ประกันภัยให้แก่ บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน)

คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาร่วมกับตัวแทนฝ่ายจัดการของอาคเนย์ประกันภัยอย่างรอบด้าน โดยมีความมุ่งหมายที่จะดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่ให้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ดังเช่นกรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยอื่นที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจะไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงผู้เอาประกันตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้เอากรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ ประกอบกับหากในกรณีที่อาคเนย์ประกันภัย ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ก็จะทำให้กองทุนประกันวินาศภัยมีภาระทางการเงิน อันเนื่องจากต้องเข้ามาช่วยเหลือแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องอันจะเป็นภาระแก่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโดยรวมอีกด้วย

ประกอบกับเมื่อพิจารณาสถานะทางการเงินของอาคเนย์ประกันภัยในขณะนี้ ซึ่งยังมีสินทรัพย์สุทธิกว่า 1,800 ล้านบาทและเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) ประมาณร้อยละ 170 อาคเนย์ประกันภัยย่อมสามารถจ่ายเงินคืนผู้เอาประกันภัยได้ครบถ้วนทุกราย และยังมีเงินเหลือพอที่จะชำระหนี้ให้คู่ค้าทั้งหมดรวมถึงพนักงานลูกจ้างทุกคน ซึ่งความสามารถในการชำระหนี้ของอาคเนย์ประกันภัยจะลดลงหากการตัดสินใจดำเนินการในเรื่องนี้ล่าช้าออกไป

  • คปภ.โต้ ทำไมบริษัทประกันฯบอกเลิก “เจอ-จ่าย-จบ” ไม่ได้
  • ปมพิพาท กรมธรรม์ เจอ-จ่าย-จบ ทางออกที่ “ไม่มีใครถูกลอยแพ”
  • ลูกค้า “เอเชียประกันภัย” ร้องคลัง-ทวงค่าสินไหม 4 ล้านบาท
  • คปภ.ระดมเครือข่ายผู้บริโภค “ค้าน” ยกเลิกกรมธรรม์ “เจอ-จ่าย-จบ”
  • ศาลปกครองไม่มีคำสั่งคดี “อาคเนย์” ฟ้อง คปภ. ‘เจอ-จ่าย-จบ’
  • “อาคเนย์ฯ” ฟ้องศาลปกครอง ถอนคำสั่ง คปภ. – ห้ามยกเลิกกรมธรรม์ “เจอ-จ่าย-จบ”
  • คปภ.ออกคำสั่งยกเลิก การใช้สิทธิของ “บริษัทประกัน” บอกเลิกกรมธรรม์โควิด
  • จากปมกรมธรรม์ “เจอ-จ่าย-จบ” กับสิทธิบริษัทประกันภัยในการบอกเลิกสัญญาประกันภัย
  • สมาคมประกันวินาศภัยไทยชน “คปภ.” ปมกรมธรรม์โควิด-19 ใครกันที่ลอยแพประชาชน
  • ดังนั้น การเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจในขณะที่อาคเนย์ประกันภัยยังคงมีสถานะทางการเงินที่เพียงพอ และยังดำรงเงินกองทุนได้ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยขอให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยพิจารณาให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการในเรื่องการดำเนินการคืนเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัยทุกรายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ อาคเนย์ประกันภัย ยังมีภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อผู้เอาประกันภัยนั้น ๆ (ซึ่งรวมถึง กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)) รวมทั้งการจัดหาผู้รับประกันภัยรายใหม่ให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามหลักเกณฑ์และแนวทางของกองทุนประกันวินาศภัย

    โดยอาคเนย์ประกันภัย เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ในการดำเนินการของกองทุนประกันวินาศภัยดังกล่าวจึงเป็นมาตรการที่จำเป็นและเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และจะสามารถเยียวยาผู้เอาประกันภัยและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นธรรมสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงไม่ก่อภาระเพิ่มเติมแก่กองทุนประกันวินาศภัยแต่อย่างใด

    ในขณะที่การดำเนินการในทางเลือกอื่นๆ เช่น การเพิ่มทุนหรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อใช้ในกิจการของอาคเนย์ประกันภัยอาจจะไม่สามารถทำได้ รวมถึงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ เองก็ได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินไปแล้วเกือบ 10,000 ล้านบาทเพื่อช่วยพยุงธุรกิจประกันวินาศภัยของกลุ่มบริษัทฯ

    คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาผลกระทบในกรณีดำเนินกิจการของอาคเนย์ประกันภัยต่อไปซึ่งย่อมจะนำไปสู่การมีฐานะหรือการดำเนินงานที่ขาดดวามเหมาะสมจะประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและถูกเพิกถอนใบอนุญาต เปรียบเทียบกับกรณีขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจประกันภัยโดยสมัครใจตามขั้นตอนของกฎหมายประกันวินาศภัยแล้ว เห็นว่ามีข้อพิจารณาที่สำคัญหลายประการที่แสดงให้เห็นว่าการขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นทางเลือกที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

    ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ ครั้งที่ 2/2565 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 จึงได้มติเกี่ยวกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ อาคเนย์ประกันภัย ดังนี้

    1.เห็นชอบกับแผนการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของอาคเนย์ประกันภัยซึ่งเป็นการใช้สิทธิขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจและส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียนตามมาตรา 57 และ 57/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่การแก้ไขเพิ่มเติม)

    2.ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้ อาคเนย์ประกันภัย โอนกิจการของ อาคเนย์ประกันภัย ให้แก่ บริษัทอินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากมีความเห็นว่าเมื่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พิจารณาให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้เข้ามาดำเนินการจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ อาคเนย์ประกันภัย ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กองทุนประกันวินาศภัยมีอยู่แล้ว ก็ควรให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการในเรื่องการดำเนินการคืนเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัยทุกรายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ อาคเนย์ประกันภัย ยังมีภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อผู้เอาประกันภัยนั้น ๆ (ซึ่งรวมถึง กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)) รวมทั้งการจัดหาผู้รับประกันภัยรายใหม่ให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามหลักเกณฑ์และแนวทางของกองทุนประกันวินาศภัยด้วย โดยอาคเนย์ประกันภัย เป็นผู้ให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านต่างๆ แก่กองทุนประกันวินาศภัยดังกล่าวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เอาประกันภัย และเพื่อเป็นการดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและบุคคลที่เกี่ยวข้องในทุก ๆ ฝ่าย

    ดังนั้น บริษัทฯ จะมอบหมายให้ผู้รับมอบฉันทะนำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ อาคเนย์ประกันภัยเพื่อลงมติเห็นชอบให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้เข้ามาดำเนินการจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ อาคเนย์ประกันภัย ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กองทุนประกันวินาศภัยมีอยู่

    การพิจารณาให้ อาคเนย์ประกันภัย ในฐานะบริษัทย่อยของบริษัทฯ เลิกประกอบกิจการเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการบริษัทที่จะพิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการไปได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม การเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและการจัดการเกี่ยวกับภาระและกรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมดของ อาคเนย์ประกันภัย จะต้องเป็นไปตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นของอาคเนย์ประกันภัยซึ่งจะจัดให้มีการประชุมในวันที่ 26 มกราคม 2565 โดยหากมีความคืบหน้าเป็นประการใด บริษัทฯ จะแจ้งให้ทราบต่อไป

    คปภ.สวน “อาคเนย์ประกันภัย” ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการ

    ในช่วงดึกวันเดียวกันด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ออกเอกสารข่าวว่า ตามที่ปรากฏข่าวผ่านสื่อมวลชน กรณีที่บริษัทเครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีหนังสือแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทเกี่ยวกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ต่อกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 นั้น

    สำนักงาน คปภ. ขอเรียนชี้แจงว่า ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 กำหนดให้กรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยให้ยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสีย โดยคณะกรรมการมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ให้บริษัทต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จก่อนที่คณะกรรมการจะอนุญาตให้เลิกกิจการ อย่างน้อยดังต่อไปนี้

      1. วิธีจัดการหรือการโอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลผูกพันอยู่
      2. วิธีการบอกกล่าวให้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยและผู้มีส่วนได้เสียทราบ และใช้สิทธิตามกฎหมาย
      3. การโอนหรือการขอรับเงินสำรองที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียน
      4. การจัดการทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประกันวินาศภัยและการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท
      5. ระยะเวลาของการดำเนินการตาม (1) (2) (3) และ (4) ในกรณีที่คณะกรรมการอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และบริษัทประสงค์จะเลิกบริษัท การเลิกบริษัทให้มีผลนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและให้มีการชำระบัญชี
      แม้บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ต่อคณะกรรมการ คปภ. ผ่านสำนักงาน คปภ. แล้ว แต่คณะกรรมการ คปภ. ยังไม่ได้อนุญาต ในการนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียดต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายก่อนเสนอต่อคณะกรรมการ คปภ. พิจารณาต่อไป

    สำหรับกองทุนประกันวินาศภัยได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพเท่านั้น ตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดภารกิจของกองทุนฯ ให้ครอบคลุมถึงกรณีบริษัทประกันภัยขอเลิกประกอบธุรกิจเอง

    ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก โดยยืนยันว่าตอนนี้ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยังไม่สามารถปิดหรือหยุดประกอบกิจการได้จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการจากคณะกรรมการ คปภ. โดยสำนักงาน คปภ. ได้ตั้งทีมงานประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สายกำกับธุรกิจและการลงทุน สายตรวจสอบ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย สายกฎหมายและคดี และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว เพื่อเป็นการพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย และผู้มีส่วนได้เสีย

    อาคเนย์ยังเปิดบริการหลังยื่นขอคืนใบอนุญาต

    วันรุ่งขึ้น(27 มกราคม 2565) บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่ายังดำเนินธุรกิจตามปกติ แม้จะยื่นขอคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ โดยระบุว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ยังดำเนินธุรกิจและให้บริการ รวมถึงความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยตามปกติ และขณะนี้บริษัทฯ มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายอยู่ถึง 170% และยังมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าและคู่ค้าทุกราย ทั้งนี้ การดำเนินการใช้สิทธิขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจ และส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียน (คปภ.) เป็นไปเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดในการลดผลกระทบสำหรับลูกค้าผู้เอาประกันทุกประเภทและผู้เกี่ยวข้องของบริษัทฯ ให้ได้รับเงินคืนทุกราย ซึ่งลูกค้าทุกกรมธรรม์จะได้รับการคุ้มครองและดูแลตามสิทธิ์อย่างถูกต้อง รวมถึงการดูแลพนักงาน คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจทุกราย บริษัทฯ ขอยืนยันว่า “การตัดสินใจครั้งนี้ น่าจะเป็นการหาทางออกที่ดีที่สุด คือการยอมเลิกกิจการเพื่อให้ทุกคนได้เงินคืน”

    ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการแก้ปัญหาในกรณีกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ ผ่านหลายช่องทางที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงธุรกิจให้คงอยู่ได้โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดโคโรน่าไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้น ขั้นตอนขณะนี้ คือ การเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในวันที่ 28 มกราคม 2565

    สำหรับการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2565 ได้มีมติในเรื่องที่สำคัญเกี่ยวกับการขอคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและการจัดการเกี่ยวกับภาระและกรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมดของอาคเนย์ประกันภัย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

    1. เห็นชอบ การเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของอาคเนย์ประกันภัยซึ่งเป็นการใช้สิทธิขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจและส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียนตามมาตรา 57 และ 57/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่การแก้ไขเพิ่มเติม) โดยขอให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (“คปภ.”) และ/หรือกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการและจัดการเกี่ยวกับภาระและกรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมดของ อาคเนย์ประกันภัย ซึ่งรวมถึงการคืนเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัยทุกรายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ อาคเนย์ประกันภัย ยังมีภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อผู้เอาประกันภัยนั้นๆ (ซึ่งรวมถึงกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ และการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)) รวมทั้งการจัดหาผู้รับประกันภัยรายใหม่ให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่ คปภ. และ/หรือกองทุนประกันวินาศภัยเห็นชอบ โดยอาคเนย์ประกันภัย เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ในการดำเนินการข้างต้น ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 100 โดยไม่มีผู้ใดออกเสียงคัดค้าน

    2. ไม่เห็นชอบการโอนกิจการของ อาคเนย์ประกันภัย ให้แก่ บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 99.88 โดยไม่มีผู้ใดออกเสียงคัดค้าน ทั้งนี้ แนวทางจัดการเกี่ยวกับภาระและกรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมดของ อาคเนย์ประกันภัยจะดำเนินการโดยการคืนเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัยทุกรายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ อาคเนย์ประกันภัย ยังมีภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อผู้เอาประกันภัยนั้น ๆ (ซึ่งรวมถึง กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)) รวมทั้งการจัดหาผู้รับประกันภัยรายใหม่ให้แก่ผู้เอาประกันภัยเพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติม

    อาคเนย์ประกันภัย ขอยืนยันว่าจะทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังในสถานการณ์ที่ยากลำบากขณะนี้ เพื่อร่วมหาทางออกที่จะทำให้ทั้งลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และพนักงาน ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

    หมายเหตุ : แก้ไขเพิ่มเติม วันที่ 27 มกราคม 2565 เวลา14.20 น.