ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลปกครองไม่มีคำสั่งคดี “อาคเนย์” ฟ้อง คปภ. ‘เจอ-จ่าย-จบ’

ศาลปกครองไม่มีคำสั่งคดี “อาคเนย์” ฟ้อง คปภ. ‘เจอ-จ่าย-จบ’

14 มกราคม 2022


ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ.

ศาลปกครองยังไม่มีคำสั่ง คดี “อาคเนย์” ฟ้องเลขาธิการ คปภ. ออกคำสั่งทางปกครอง ห้ามบริษัทประกันภัย ยกเลิกกรมธรรม์โควิดฯ ‘เจอ-จ่าย-จบ’

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 เวลา 9.00 น. ศาลปกครองกลาง นัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ 44/2565 ระหว่างบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กรณีออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 โดยห้ามบริษัทประกันภัยบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย โควิด-19 แบบ “เจอ-จ่าย-จบ” ถือเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทางผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว และในระหว่างที่กำลังพิจารณาคดี ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หรือ ทุเลาการบังคับใช้คำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำหรับวัตถุประสงค์ของการมาชี้แจงต่อศาลปกครองวันนี้ ประการแรก ไม่ใช่แค่มาแก้ต่างคดี แต่ตั้งใจมาทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน หรือ ผู้เอาประกันภัยโควิดกว่า 10 ล้านกรมธรรม์ หากยอมให้บริษัทประกันภัย บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดฯ แบบ “เจอ-จ่าย-จบ” ได้ ผู้เอาประกันภัยประเภทนี้ อาจะถูกลอยแพ ประการที่ 2 คปภ.ไม่ต้องการให้เกิดบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง เพราะก่อนที่บริษัทประกันภัยจะออกกรมธรรม์จำเป็นต้องมีความระมัดระวัง และคำนวณความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้ชัดเจน เพราะสิ่งที่รับประกันนั้น คือ ความเสี่ยง ถามว่าถ้าให้บริษัทประกันภัยอาศัยเหตุผลความเสี่ยงเปลี่ยนไปมาเป็นข้ออ้างในการบอกเลิกกรมธรรม์ ทั้งประกันชีวิต หรือ วินาศภัย ประชาชนจะทำประกันภัยไปเพื่ออะไร ซึ่งบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น หรือ ความน่าเชื่อถือของระบบประกันภัยได้ คปภ.จึงจำเป็นต้องต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด

“อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ศาลปกครองกลางได้รับฟังคำชี้แจงของทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว วันนี้ศาลปกครองการก็ยังไม่มีคำสั่งใดๆ จึงยังไม่ทราบว่าศาลจะรับพิจารณาคดีนี้ หรือไม่รับ คงต้องรอฟังคำสั่งของศาลต่อไป หากศาลรับฟ้องคดีนี้ ก็อาจจะนัดคู่ความมาไต่สวน ส่วนผลของคดีจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่ทราบ แต่ผมขอต่อสู่คดีให้ถึงที่สุด เช่น ถ้าศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว คปภ.ก็จะใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และถ้าแพ้คดีในชั้นศาลปกครองกลาง ก็จะต่อสู้คดีในชั้นศาลปกครองสูงสุดต่อไป” ดร.สุทธิพล กล่าว

  • “อาคเนย์ฯ” ฟ้องศาลปกครอง ถอนคำสั่ง คปภ. – ห้ามยกเลิกกรมธรรม์ “เจอ-จ่าย-จบ”
  • ส่วนประเด็นที่มีการไต่สวนกันในวันนี้ ดร.สุทธิพล กล่าวว่า มีหลายประเด็นที่ศาลพิจารณาจะรับฟ้องคดีนี้ หรือ ไม่รับ แต่ยังไม่ได้ลงไปในรายละเอียดของคำฟ้อง ซึ่งประเด็นหลัก ๆ คือ เรื่องระยะเวลาในการฟ้องคดี ซึ่งตามกฎหมายแล้ว หากพ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลอาจพิจารณาไม่รับฟ้อง ยกเว้นกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน ประเด็นนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าไม่ได้รับทราบคำสั่งของนายทะเบียน ทางบริษัทประกันภัยจะรับทราบก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากสำนักงาน คปภ.

    ศาลจึงถามถึงแนวทางปฏิบัติของ คปภ.ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ทางฝ่ายกฎหมายของ คปภ.ชี้แจงว่าคำสั่งนายทะเบียนเป็นคำสั่งทั่วไป ไม่มีกฎหมายบังคับให้ คปภ.ต้องออกหนังสือเวียนส่งตามบริษัทประกันภัยให้รับทราบแต่อย่างใด ซึ่งในทางปฏิบัติปกติ สำนักงาน คปภ.จะลงประกาศในเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. รวมทั้งเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ สื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์จึงนำเสนอข่าวกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งสื่อออนไลน์หลายสำนักเผยแพร่ข่าวนี้ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ส่วนหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ในวันที่ 17-19 กรกฎาคม 2564 ผู้ฟ้องคดีจะอ้างว่าไม่รับทราบคำสั่งของ คปภ.ไม่ได้

    นอกจากนี้หลังจากที่ คปภ.ออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวแล้ว ทางบริษัทที่รับทำประกันโควิดฯ รวมทั้งผู้ฟ้องคดีด้วย ก็ออกมายืนยันว่าจะคุ้มครองผู้ทำประกันโควิด ฯทุกรายไปจนกว่าจะสิ้นสุดอายุความคุ้มครอง ซึ่งตรงนี้น่าจะถือว่าเป็นการยืนยันในผลของคำสั่ง เพราะหากไม่มีคำสั่งนี้ออกมา ก็คงไม่มีบริษัทประกันภัยแห่งไหนออกมายืนยันความคุ้มครอง ทาง คปภ.จึงยืนยันต่อศาลว่าบริษัทประกันภัยผู้ฟ้องคดีทั้ง 2 ราย อ้างว่าไม่รับทราบคำสั่งดังกล่าว จึงไม่เป็นความจริง เพราะอย่างน้อยต้องรับทราบมาตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 หากนับตั้งแต่วันนี้มาจนถึงวันที่ยื่นคำฟ้องต่อศาล คดีจะเกินอายุความ ซึ่งตามกฎหมายกำหดให้ยื่นฟ้องต่อศาลภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่รับทราบ

    ขณะที่ฝ่ายผู้ฟ้องคดี ชี้แจ้งว่า ปกติตามกฎหมายนั้น คำสั่งนายทะเบียนต้องประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาก่อนถึงจะมีผลบังคับใช้ หากนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ยื่นคำฟ้องต่อศาล ก็ยังไม่ครบ 90 วัน ฝ่ายกฎหมายของ คปภ.ชี้แจงประเด็นนี้ว่าในกฎหมายของ คปภ.ไม่ได้กำหนดให้ ต้องนำคำสั่งทางปกครอง ซึ่งเป็นคำสั่งทั่วไป ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่เหตุที่ คปภ.ส่งคำสั่งนายทะเบียนไปลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากต้องการย้ำในประชาชนทั่วไปรับรู้

    ส่วนผู้พิพากษาถามว่า คปภ.เคยออกคำสั่งที่มีลักษณะย้อนไปถึงตัวกรมธรรม์ที่ออกก่อนคำสั่งนายทะเบียนหรือไม่ ทางฝ่ายกฎหมายของ คปภ. ตอบว่าในอดีตเคยมีการออกคำสั่งลักษณะนี้ โดยใช้อำนาจตามมาตรา 29 เปลี่ยนแปลงข้อความเงื่อนไขในกรมธรรม์ที่ขายไปแล้ว เช่น มีการเพิ่มข้อความในเรื่องของอนุญาโตตุลาการเข้าไปในกรมธรรม์ และให้มีผลย้อนกลับไปถึงตัวกรมธรรม์ที่ออกก่อนวันที่ คปภ.มีคำสั่งนายทะเบียน

    ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมในกรมธรรม์จึงกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทประกันภัย สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ได้ ดร.สุทธิพล กล่าวว่า ตรงนี้จะกำหนดเป็นเงื่อนไขทั่วไปอยู่ในกรมธรรม์ แต่อย่างที่กล่าวหากความเสี่ยงเปลี่ยนไปแล้ว บริษัทประกันภัยใช้เงื่อนไขตรงนี้มาเป็นข้ออ้างบอกเลิกกรมธรรม์ได้ ต่อไปกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือ ประกันสุขภาพ ก็สามารถยกเลิกได้ทั้งหมด เพราะประกันประเภทนี้มีความเสี่ยงเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่เคยมีประเทศไหนในโลกนี้นำเงื่อนไขดังกล่าวมาใช้เป็นเหตุผลในการยกเลิกกรมธรรม์แบบ “เหมาเข่ง” เจตนารมย์ที่ระบุเงื่อนไขทั่วไปไว้ในกรมธรรม์ เพื่อพิจารณากรณีที่ผู้เอาประกันเป็นฝ่ายผิด ซึ่งจะใช้พิจารณาเป็นรายกรณีๆไป ไม่ใช่ยกเลิกเหมาเข่งแบบนี้

    ดร.สุทธิพล กล่าวต่อว่า นอกจาก คปภ.จะมีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของผู้เอาประกันแล้ว อีกด้านหนึ่งก็มีหน้าที่ดูแลความมั่นคงของระบบประกันภัยควบคู่กันไป โดยทยอยออกมาตรการเยียวยาบริษัทประกันภัย ซึ่งมีทั้งหมด 11 แนวทาง แต่บริษัทประกันภัยบางแห่งไม่เลือกดำเนินการตามแนวทางของ คปภ.ก่อน แต่กลับไปเลือกแนวทางที่เป็นการรอนสิทธิของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา คปภ.ในฐานะผู้กำกับดูแล ก็เคยมีการหารือกับบริษัทประกันภัย 14 แห่งที่ออกกรมธรรม์ “เจอ-จ่าย-จบ” เพื่อแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาบริษัทประกันภัย ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ทั้งผู้กำกับดูแล , ภาคธุรกิจ และประชาชน ต้องจับมือกันร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ ไปให้ได้ รวมพลังต่อสู้ ไม่ใช่มาทะเลาะ หรือ ฟ้องร้องคดีกัน ควรมาร่วมกันหามาตรการเยียวยาธุรกิจประกันภัย เยียวยาประชาชน และที่สำคัญที่สุดจะทำอย่างไรถึงจะกู้ภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัยให้กลับคืนมา

    ถามว่าถ้าศาลคุ้มครองชั่วคราวจะเกิดอะไรขึ้น ดร.สุทธิพล กล่าวว่า คำว่า “คุ้มครองชั่วคราว” หมายความว่า ไม่ให้คำสั่งทางปกครองมีผลบังคับใช้ เช่น ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว 4 เดือน ระหว่างนี้คำสั่งนายทะเบียนก็จะไม่มีผลบังคับใช้ ก็จะเกิดความวุ่นวายตามมา ซึ่งตนกล่าวย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า คำสั่งนายทะเบียนนี้ เป็นคำสั่งที่ล้อมาจากหลักการของ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งประชาชนที่เสียสิทธิ ก็อาจใช้สิทธิฟ้องร้องบริษัทได้ ขอย้ำว่าไม่ได้ยุประชาชนฟ้อง หากบริษัทประกันภัยใช้บรรทัดฐานตรงนี้ บอกเลิกกรมธรรม์ แบบ “เจอ-จ่าย-จบ” ในระหว่างที่คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลมีผลบังคับใช้อยู่ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ก็อาจไม่พอใจนำไปฟ้องแพ่งได้ ซึ่งตนเคยเตือนบริษัทประกันภัยไปแล้วว่าคิดดีแล้วหรือ กรณีนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะบริษัทประกันภัยของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น แต่จะกระทบถึงระบบประกันภัย และกระทบภาพลักษณ์ของบริษัทประกันภัย ซึ่งทางบริษัทก็ยืนยันว่าจะฟ้อง คปภ.ก็ต้องต่อสู้ต่อไป