ThaiPublica > สู่อาเซียน > สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว สปป.ลาวเปิด มี.ค.นี้ เมื่อมังกรน้อยติดปีก กับผลกระทบต่อประเทศไทย

สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว สปป.ลาวเปิด มี.ค.นี้ เมื่อมังกรน้อยติดปีก กับผลกระทบต่อประเทศไทย

28 กุมภาพันธ์ 2022


ศรีนาคา เชียงแสน

สนามบินนานชาติบ่อแก้ว ที่ใกล้จะแล้วเสร็จ (ภาพเผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม 2564)

มีการยืนยันแน่ชัดจากนายคำพะหยา พมปันยา รองเจ้าแขวงบ่อแก้ว ที่ให้สัมภาษณ์ในรายการ “รอบบ้าน ผ่านเมือง” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ระบุว่าจะมีการเปิดสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว อย่างเป็นทางการภายในเดือนมีนาคม 2565 ที่จะถึงนี้

ความฝันของ จ้าว เหว่ย นักธุรกิจหมื่นล้านชาวจีน ที่ต้องการสร้างให้เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำกลายเป็นเมืองใหม่ศูนย์กลางด้านการพักผ่อน ด้านการบันเทิง และเมืองศูนย์กลางด้านธุรกิจแห่งใหม่ของภูมิภาค กำลังขยับเข้าใกล้ความเป็นจริงเพิ่มมากขึ้นอีกขั้นหนึ่ง

หากไม่มีตัวแปรเรื่องโรคระบาดโควิด-19 ที่เป็นเหตุให้ทางการจีนเลือกใช้มาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางอย่างเข้มงวดของประชาชนในการเข้า-ออกประเทศของตน ก็เชื่อได้ว่าการเปิดสนามบินนานาชาติบ่อแก้วในเดือนมีนาคม 2564 นี้ จะกลายเป็นมหกรรมนานาชาติครั้งใหญ่และกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก และจะต้องมีเที่ยวบินและนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากบินตรงมาเสพสุขในสวรรค์แห่งใหม่นี้เป็นจำนวนมาก

น่าเสียดายที่สถานการณ์โรคระบาดยังไม่คลี่คลายจนน่าไว้วางใจได้มากนัก ทำให้การเปิดสนามบินนานาชาติบ่อแก้วในเดือนหน้านี้อาจเงียบเหงาลงไปบ้าง แต่ด้วยสายตาและวิสัยทัศน์ของนักธุรกิจหมื่นล้านอย่างมังกรน้อย จ้าว เหว่ย ดูเหมือนว่าเขาไม่ได้วิตกกังวลกับเรื่องนี้เลย ตลอดเวลากว่า 2 ปี ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ดูเหมือนกิจกรรมด้านอื่นๆ ในเมืองใหม่สามเหลี่ยมทองคำจะหยุดชะงักลงไปแทบทังหมด แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหยุดเลยคือการเร่งก่อสร้างสนามบินนานาชาติเพื่อให้ทันตามกำหนดเดิมภายใน 18 เดือน

การเร่งก่อสร้างสนามบินนานาชาติบ่อแก้วอย่างรวดเร็ว และยังเป็นสนามบินนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศลาวในขณะนี้ จึงน่าจะมีนัยอะไรซ่อนอยู่มากไปกว่าการเป็นสนามบินพาณิชย์เพื่อดึงดูดนักแสวงโชค หรือเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนในแบบสมมุติฐานธรรมดาๆ ทั่วไป เพราะคนอย่าง จ้าว เหว่ย เจ้าของอาณาจักรมังกรน้อย ไม่ใช่คนที่คิดอะไรแบบชั้นเดียวอยู่แล้ว…

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ริมแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ที่มาโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ(คิงส์โรมัน)

ย้อนไปในปี 2550 รัฐบาล สปป.ลาว ได้ให้สัมปทานในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแก่บริษัทดอกงิ้วดำ ระยะแรกพื้นที่ประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร ระยะเวลา 40 ปี ก่อนจะได้รับอนุมัติจากทางการลาวขยายให้เป็น 102 ตารางกิโลเมตร ระยะเวลา 99 ปี โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณเกาะดอนซาว แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงกันข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ให้เป็นแหล่งศูนย์รวมทางการค้าและการท่องเที่ยว โดยเน้นการสร้างสถานบันเทิงขนาดใหญ่ครบวงจร ในแผนงานระยะแรกของโครงการจะเน้นไปที่การสร้างบ่อนคาสิโนถูกกฎหมายเพื่อดึงดูดนักเสี่ยงโชคชาวจีนให้ขนเงินเข้ามาเล่นการพนัน และพักผ่อนใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหม่แห่งนี้ รวมทั้งสร้างให้เมืองใหม่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจแห่งใหม่ของภูมิภาคสามเหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552 เป็นที่รู้จักในชื่อว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษคิงส์โรมัน มีนาย จ้าว เหว่ย นักธุรกิจผู้มีอิทธิพลชาวจีนเป็นเจ้าของ โดยมีรัฐบาลลาวถือหุ้นอยู่ด้วยร้อยละ 30 ปัจจุบันมีนายจันทะวอน วางฟางแซง มือขวาคนสนิทของนายจ้าว เหว่ย ทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหารพื้นที่พิเศษแห่งนี้ โดยมีการเปิดให้บริการในด้านต่างๆ อย่างคึกคัก ทั้งโรงแรม รีอสร์ท ศูนย์การค้าที่ขายสินค้าปลอดภาษี อาคารพาณิชย์ ร้านอาหาร ถนนขนาด 4-8 เลน สนามกีฬา สปอร์ตคอมเพล็กซ์ ท่าเรือ พื้นที่การเกษตร ฯลฯ

แต่ที่โดดเด่นและเป็นไฮไลต์ที่สุดคือบ่อนคาสิโน ซึ่งสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากฝั่งไทย พร้อมๆ กันนี้ทางกลุ่มทุนก็มีแผนในการสร้างสนามบินพาณิชย์ เป็นสนามบินนานาชาติขึ้นในพื้นที่โครงการด้วย เพื่อลองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเดินทางตรงผ่านเครื่องบินพาณิชย์เช่าเหมาลำเข้ามาพักผ่อน และใช้ชีวิตในเมืองคาสิโนแห่งใหม่นี้ และรวมถึงเป็นการเปิดทางอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน นักธุรกิจที่ต้องการเดินทางเข้ามาทำธุรกิจหรือเปิดการลงทุนในภูมิภาคสามเหลี่ยมทองคำนี้ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นไปตามแผนที่จะทำให้อาณาจักรคิงส์โรมันกลายเป็นเมืองใหม่ศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคนั่นเอง

  • “สามเหลี่ยมทองคำ” ล็อกดาวน์ 2 ปี สปป.ลาวได้สนามบินนานาชาติใหม่ 1 แห่ง
  • ดินแดนจีนตรงข้ามฝั่งโขง
  • “คิงส์โรมัน” มาเก๊าแห่งลุ่มน้ำโขง อาณาจักรมังกรน้อยสามเหลี่ยมทองคำ
  • ศึกภายในรัฐกะเหรี่ยง เมียนมา กับการแทรกแซงของมือที่สาม

  • ภาพจำลองของสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว

    พัฒนาการของสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว

    สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว เดิมจะใช้ชื่อว่า สนามบินสามเหลี่ยมทองคำ ตามแผนงานเดิมมีแผนจะก่อสร้างตั้งแต่ปี 2557 แต่ถูกชาวบ้านในพื้นที่บ้านสีเมืองงามและหมู่บ้านใกล้เคียงรวมตัวกันออกมาต่อต้านการเวนคืนที่ดิน ทำให้ต้องพับแผนการก่อสร้างเอาไว้ก่อนเพื่อแก้ไขปัญหาด้านมวลชนในพื้นที่ แต่ด้วยความเป็นนักธุรกิจผู้กว้างขวาง ใจถึง และยังมีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับผู้นำระดับสูงของทางการลาว ในที่สุดจ้าว เหว่ย ก็สามารถแก้ไขปัญหาการต่อต้านจากชาวบ้านได้ และเริ่มเจรจากับรัฐบาลลาวผ่านทางท่านสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี จนทำให้รัฐบาลเปิดไฟเขียวยอมให้มีการสร้างสนามบินแห่งนี้ขึ้นมาจนได้

    โดยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2563 คณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษแขวงบ่อแก้ว อนุมัติให้กลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำจากจีน เจ้าของสัมปทานเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ก่อสร้างสนามบินขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ มูลค่าการก่อสร้าง 150 ล้านดอลลาร์ เป็นสนามบินขนาดรันเวย์ยาว 2,500 เมตร กว้าง 60 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินโบอิ้ง 737-900ER และเครื่องบินพาณิชย์อื่นๆ ในขนาดใกล้เคียงกัน

    การก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 20 กันยาย 2563 ในพื้นที่บ้านสีเมืองงาม เมืองต้นผึ้ง ห่างจากเขตตัวเมืองของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำไปทางทิศตะวันออก 5 กิโลเมตร ฝั่งตรงข้ามกับตัวสนามบินในฝั่งไทยเป็นเขตตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน เวลาก่อสร้าง 18 เดือน จะเปิดใช้ภายในเดือน มีนาคม 2565 ที่จะถึงนี้ เป้าหมายตามที่ระบุในแผนงาน ระบุว่าการสร้างสนามบินแห่งนี้ขึ้นเพื่อใช้อำนวยความสะดวกและรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากจีนที่จะเดินทางมาเสี่ยงโชคในคาสิโนของเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังจะใช้เป็นศูนย์กลางคมนาคม เพื่อเชื่อมแขวงบ่อแก้ว กับภูมิภาคต่างๆ ทั้งภายในลาวและต่างประเทศ

    (ปัจจุบันในพื้นที่แขวงบ่อแก้วของ สปป.ลาว มีสนามบินอยู่แล้ว 1 แห่ง คือ สนามบินห้วยซาย ซึ่งถูกใช้เป็นสนามบินหลักสำหรับการเดินทางระหว่างเวียงจันทน์-บ่อแก้วของสายการบินลาว ซึ่งเป็นสนามบินเก่าแก่ที่สร้างไว้ตั้งแต่ปี 2518 และมีข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะเครื่องบินขนาดใหญ่ไม่สามารถลงจอดได้ จึงไม่คุ้มค่าที่จะพัฒนาให้สมบูรณ์กว่าปัจจุบันได้)

    ต่อมา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารคิงส์โรมัน และทางการเมื่องบ่อแก้ว ของ สปป.ลาว ได้ทำพิธีเปิดสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว โดยได้นิมนต์พระสงฆ์มาประกอบพิธีทางศาสนา ก่อนเปิดให้เครื่องบินของสายการบินลาว และสายการบินลาวสกายเวย์ ทดลองบินขึ้น-ลงเพื่อทดสอบรันเวย์ ระบบนำร่องเพื่อการลงจอด ระบบสื่อสารที่ทันสมัย ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในสนามบิน ซึ่งทั้งหมดเป็นเทคโนโลยีล้ำยุคจากจีนแทบทั้งสิ้น และตามแผนงานเชื่อว่าการก่อสร้างทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์ สามารถเปิดใช้งานสนามบินได้ภายในเดือนมีนาคม 2565 นี้

    ที่ตั้งสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว

    ผลกระทบต่อไทย

    การสร้างสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว ย่อมมีผลกระทบต่อไทยหลายประการ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสามารถสรุปผลกระทบในด้านต่างๆ ได้ดังนี้

    1. ผลกระทบทางตรง: ก่อนมีวิกฤติโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าไปปีละกว่า 300,000 คน และในจำนวนนี้เกินกว่าครึ่งหนึ่งเดินทางผ่านเข้าออกทางชายแดนด้าน อ.เชียงแสน จ. เชียงราย ส่งผลทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่อำเภอชายแดนเล็กๆ แห่งนี้คึกคักขึ้นอย่างผิดหูผิดตาตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว ร้านค้า ที่พัก ร้านอาหาร และแม้แต่อสังหาริมทรัพย์ในทำเลทองต่างๆ ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำนี้ทั้งสิ้น ในจำนวนนี้มีนักท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 30-40 เดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ บินตรงจากเมืองต่างๆ ของจีนมาลงจอดที่สนามบินนานาชาติแม่ฟ้าหลวงเชียงราย แล้วต่อรถยนต์ตู้เช่าเหมาคันนำไปส่งข้ามฝั่งที่ อ.เชียงแสน ข้ามฝั่งไปยังคิงส์โรมัน ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และกระตุ้นให้การค้า การลงทุน และเกิดเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ตั้งแต่เจ้าของอาคารที่พัก พ่อค้าแม่ค้าในตลาด คนขับรถยนต์รับจ้าง คนขับเรือข้ามฝาก หรือแม้แต่คนไทยที่เข้าไปทำงานรับจ้างเป็นแรงงานก่อสร้างและด้านบริการต่างๆ อยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้

    หากการสร้างสนามบินนานาชาติบ่อแก้วเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้งานจริง จะทำให้คนจีนสามารถเดินทางตรงเข้าสู่คิงส์โรมันได้โดยตรง เที่ยวบินเช่าเหมาลำก็ไม่จำเป็นต้องลงจอดที่สนามบินนานาชาติแม่ฟ้าหลวงเชียงรายอีก จะทำให้ไทยขาดรายได้จากค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน และทำให้ผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น คนขับรถยนต์ตู้รับจ้าง หรือคนขับเรือข้ามฝากมีรายได้ลดลงไม่เหมือนก่อน ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะรายได้จากภาคบริการต่างๆ ในฝั่งไทยก็จะลดน้อยลงไปด้วย

    ในประเด็นเหล่านี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หอการค้า หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ของไทย จะต้องมีการทำการบ้าน เตรียมแผนงานรองรับว่าหากสถานการณ์โรคระบาดกลับมาเป็นปกติแล้ว แต่นักท่องเที่ยวที่เคยผ่านแดนไทยที่เคยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในดินแดนไทยเหล่านี้หายไป จะแก้ไขยังไง ทำอย่างไรจะสามารถไปดึงนักท่องเที่ยวจากฝั่งโน้นกลับมา หรือทำให้เกิดการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว หรือด้านการค้า การขนส่ง และด้านอื่นๆ ตามมา เพื่อไม่ให้ไทยต้องเสียประโยชน์จากสถานการณ์นี้ไปโดยสิ้นเชิง

    2. ผลกระทบทางอ้อม: การสร้างสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่ในพื้นที่ติดแนวชายแดนไทย แม้ว่าจะเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ แต่ในแง่ยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศย่อมมีผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากสนามบินแห่งนี้ออกแบบมาให้มีศักยภาพสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ โบอิ้ง 737-900ER และเครื่องบินพาณิชย์อื่นๆ ในขนาดใกล้เคียงกันได้ นั่นยอมหมายความว่าสามารถรองรับเครื่องบินลำเลียง และเครื่องบินทางทหารอื่นๆ ได้เช่นกัน

    ประเด็นสำคัญแม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ของ สปป.ลาว แต่ก็ได้รับสิทธิพิเศษ เปรียบเสมือนดินแดนของจีน ที่ทางการจีนสามารถส่งกองกำลังเข้ามาดูแลปกป้องผลประโยชน์พลเมืองของจีนได้ อีกทั้งก่อนหน้านี้ทางการจีนมีความพยายามอย่างต่อเนื่องมาตลอดที่จะขอส่งกองกำลังพลของตนเข้ามาลาดตระเวนในลำน้ำโขงเข้ามาจนถึงบริเวณพื้นที่เขตเศษฐกิจพิเศษแห่งนี้ แต่ทางการไทยเราไม่ยอม แต่ต่อไปนี้หากสนามบินแห่งนี้สร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานเต็มรูปแล้ว ทางการจีนก็สามารถส่งกองกำลังพลของตน รวมทั้งอาวุธยุทธภัณฑ์ และเครื่องมือพิเศษต่างๆ ที่จะใช้ในการปฏิบัติการพิเศษ หรือการจารกรรมบินตรงเข้ามาในพื้นที่พิเศษนี้ได้ง่าย โดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานของ สปป.ลาว และไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องร้องขอในการเข้ามาดำเนินการทางการทหารหรือกิจกรรมพิเศษผ่านประเทศไทยอีก ซึ่งฝ่ายไทยเราก็ไม่มีสิทธิจะต่อรองใดๆ ได้อีกต่อไป

    ประเด็นที่อาจกลายเป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศตามมาก็คือ ปัจจุบันทางการสหรัฐอเมริกากำลังจับตาการขยายอิทธิพลของจีนเข้ามาในพื้นที่ทางตอนใต้โดยเฉพาะในประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว จนถึงขั้นมีการมอบหมายให้สถานกงสุลสหรัฐอเมริกา ที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบดูและการขยายตัวของอิทธิพลจีนในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำขึ้นเป็นการเฉพาะ หากมีการเปิดใช้สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ขึ้น ย่อมทำให้พื้นที่บริเวณนี้กลายเป็นเวทีประลองกำลังของสองมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ได้ และประเทศไทยและ สปป.ลาว อาจจะต้องเข้าไปพัวพันกับสงครามเย็นครั้งใหม่โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

    อนึ่ง บริษัทดอกงิ้วดำเป็นบริษัทในเครือ บริษัท จินมู่เหนียน (Jin Mu Nain) เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัท คิงส์โรมัน อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสต์เมนต์ กรุ๊ป (Kings Romans International Investment Co.Limited) เป็นกลุ่มธุรกิจคาสิโนที่จดทะเบียนอยู่ในฮ่องกง มีนายจ้าว เหว่ย (Zhao Wei – แต่ชื่อในหนังสือเดินทางคือ Chio Wai) เป็นประธานเครือข่าย

    เจ้าเหว่ย(ซ้าย) กับสมสะหวาด เล่งสะหวัด อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผู้มีบทบาทสำคัญของ สปป.ลาว(ภาพจากเพจเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/Golden.Triangle.Special.Economic.Zone)

    นายจ้าว เหว่ย เป็นมหาเศรษฐีชาวจีน ที่มีประสบการณ์จากบ่อนคาสิโนในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ที่เขตปกครองพิเศษมาเก๊า ต่อมาขยับขยายมาสร้างอาณาจักรที่เมืองลา ชายแดนประเทศเมียนมากับจีน ก่อนจะได้รับผลกระทบจากนโยบายชายแดนของจีนที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กระทบต่อธุรกิจคาสิโนที่เมืองชายแดนแห่งนั้น

    จากสายสัมพันธ์ที่เขามีกับผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล สปป.ลาว ทำให้เขาเลือกเข้ามาลงทุนและสร้างอาณาจักรแห่งใหม่ที่บริเวณเกาะดอนซาว พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ จุดที่มีทำเลที่ตั้งเหมาะสมที่สุดเพราะติดกับชายแดน 3 ประเทศ คือ ลาว เมียนมา และไทย

    พื้นที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ หรือ คิงส์โรมันนี้ มีขนาดพื้นที่ใหญ่โตพอ ๆ กับเกาะมาเก๊า จนสื่อจากหลายสำนักขนานนามให้เป็น “มาเก๊าแห่งลุ่มน้ำโขง” แม้ในความเป็นจริงจะรับรู้ว่าอาณาจักรแห่งนี้มีรัฐบาลลาวถือหุ้นอยู่ด้วยร้อยละ 30 ทำให้คิงส์โรมันไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานรายปี และได้รับการยกเว้นภาษีตามสิทธิพิเศษอีกหลายประการ จึงกล่าวได้เต็มปากว่ามันคืออาณาจักรของ จ้าว เหว่ย จริง ๆ

    ในทางการข่าวเชื่อได้ว่า พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำแห่งนี้มีรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แต่นายจ้าว เหว่ย มักจะออกมาปฏิเสธอยู่เสมอว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีนเลย มีเพียงแค่ความร่วมมือด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวกับทางมณฑลยูนานเท่านั้น ปัจจุบันมีนายจันทะวอน วางฟางแซง มือขวาคนสนิทของจ้าว เหว่ย ทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหารพื้นที่พิเศษแห่งนี้