ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ใช้ระบบคะแนนออกใบอนุญาตทำงาน EP

ASEAN Roundup สิงคโปร์ใช้ระบบคะแนนออกใบอนุญาตทำงาน EP

6 มีนาคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์-5 มีนาคม 2565

  • สิงคโปร์ใช้ระบบคะแนนออกใบอนุญาตทำงาน EP
  • ฟิลิปปินส์ผ่อนกฎดึงการลงทุนจากต่างประเทศ
  • รถไฟบรรทุกสินค้าขบวนแรกจากดานังไปยุโรป จะเปิดตัวในเดือนนี้
  • เวียดนามคุมส่งออกถ่านหินไว้ที่ 2 ล้านตัน
  • เวียดนามชู Mekong Delta ภูมิภาคเศรษฐกิจหลักเร่งขยายทางด่วน
  • สปป.ลาวมีแผนขยายทางด่วนก้าวสู่ land-linked
  • ธนาคารกลางเมียนมาอนุมัติใช้เงินบาท-จั๊ตค้าชายแดน

  • สิงคโปร์ใช้ระบบคะแนนออกใบอนุญาตทำงาน EP

    ที่มาภาพ: https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/recreation-leisure/viewpoints/merlion-park/
    สิงคโปร์จะใช้ระบบคะแนนออกใบอนุญาตทำงาน สำหรับ ผู้ยื่นขอ Employment Pass ตั้งแต่เดือน กันยายน 2023

    นายตัน สี เล้ง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงต่อรัฐสภาระหว่างการอภิปรายงบประมาณประจำปี 2022 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม

    โดยนอกจากปรับฐานเงินเดือน(Minimum qualifying salary) สำหรับต่างชาติที่ทำงานในสิงคโปร์ด้วยใบอนุญาตประเภท Employment Pass (EP)แล้ว ยังได้ปรับเปลี่ยนระบบการออกใบอนุญาตเป็นระบบคะแนนอีกด้วย

    โดยชาวต่างชาติที่ต้องการทำงานในสิงคโปร์ภายใต้ Employment Pass (EP) จะต้องผ่านเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำภายใต้ระบบคะแนนตั้งแต่เดือนกันยายนปีหน้าเป็นต้นไป

    ในสัปดาห์ที่แล้วสิงคโปร์ได้ปรับฐานเงินเดือนต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานแบบ EP จาก 4,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็น 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับภาคธุรกิจทั่วไปและ ปรับฐานเงินเดือนในภาคบริการทางการเงินเป็น 5,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ จาก 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์

    ฐานเงินเดือนของต่างชาติอาจะสูงถึง 10,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนสำหรับภาคธุรกิจทั่วไปและ 11,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับภาคบริการทางการเงิน

    ใบอนุญาตทำงานประเภท EP เป็นใบอนุญาต สำหรับคนต่างชาติระดับวิชาชีพ (Professional) และระดับบริหาร ผู้จัดการ (Managers) (Executive) วิศวกรและช่างเทคนิค(Engineers and Technicians) หรือ PMET

    ฐานเงินเดือนใหม่ที่ปรับให้สูงขึ้นจะใช้กับการยื่นของ EP ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนปีนี้และเพื่อต่ออายุใบอนุญาตในปีต่อไป

    นายตัน กล่าวว่า การปรับฐานเงินเดือนเพื่อให้สอดคล้องกับกับฐานของ PMET ในประเทศซึ่ง 1 ใน 3 หรือ 65% ได้รับค่าจ้างตามอายุ

    “เราทราบดีว่าตลาดแรงงานสำหรับแรงงานมีฝีมือยังตึงตัวอยู่พอสมควร ดังนั้นการดำเนินการครั้งนี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้มงวด แต่เป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนตามปกติของกระทรวง เพื่อให้ฐานเงินเดือนสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างในประเทศ ดังนั้นชาวต่างชาติจะไม่เข้ามาเพียงเพราะมีค่าจ้างถูกกว่า PMET ในประเทศ”

    นายตันกล่าวว่าผู้ถือใบอนุญาต EP ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับฐานเงินเดือนนี้เนื่องจากมีรายได้สูงกว่าเงินเดือน qualifying salary อยู่แล้ว

    ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ผู้ยื่นขอใบอนุญาต EP จะต้องทำคะแนนให้ได้มากพอภายใต้ระบบคะแนน COMPASS (Complementarity Assessment Framework) ใหม่เพื่อทำงานที่สิงคโปร์

    โดยจะมีผลบังคับใช้สำหรับการยื่นขอ EP ใหม่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2023 และสำหรับการต่ออายุตั้งแต่เดือนกันยายน 2024

    ตั้งแต่เดือนกันยายน 2023 การยื่นขอ EP ใหม่จะผ่าน 2 ขั้นตอน ขั้นแรกผู้ยื่นจะต้องมีเงินตาม qualifying salary ขั้นที่สองจะต้องได้คะแนนอย่างน้อย 40 คะแนนภายใต้กรอบการประเมินCOMPASSใหม่

    ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/singapore/employment-pass-jobs-foreign-workers-mom-budget-2022-debate-parliament-2538966
    คะแนนภายใต้COMPASS จะขึ้นอยู่กับเกณฑ์ 4 ข้อและเกณฑ์โบนัส 2 ข้อ

    ผู้ยื่นขอ EPs สามารถทำคะแนนได้ถึง 20 คะแนนสำหรับเกณฑ์แต่ละข้อได้แก่เงินเดือนของผู้ยื่น คุณสมบัติ ความหลากหลายของสัญชาติของบริษัทที่ว่าจ้าง และการสนับสนุนของบริษัทต่อการจ้างงานในประเทศ

    ผู้ที่ยื่นและ/หรือบริษัทที่มีคุณสมบัติตรงตามความคาดหวังสำหรับเกณฑ์แต่ละข้อจะได้ 10 คะแนน และหากเกินความคาดหมาย จะได้ 20 คะแนน

    ผู้ที่ยื่นหรือบริษัทสามารถทำคะแนนได้ตามเกณฑ์โบนัสสองข้อ หนึ่งคือ “โบนัสทักษะ” สำหรับผู้ยื่นขอในงานที่ยังขาดแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งสามารถบวกได้มากถึง 20 คะแนน

    ข้อสอง คือ“โบนัสความสำคัญทางเศรษฐกิจเชิงกลยุทธ์” Strategic Economic Priorities Bonus ซึ่งอาจจะได้สูงถึง 10 คะแนน สำหรับบริษัทที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านนวัตกรรมและความเป็นสากลโดยร่วมมือกับรัฐบาล

    ตัวอย่างเช่น ผู้ยื่นที่มีเงินเดือนที่ตรงตามเปอร์เซ็นไทล์ที่ 65 ถึง 90 ของเงินเดือน PMET ในประเทศ จะได้ 10 คะแนนภายใต้เกณฑ์ “เงินเดือน” และจะได้อีก 10 คะแนนภายใต้เกณฑ์ “คุณสมบัติ” หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาหรือเทียบเท่า

    หากผู้ยื่นมีคุณสมบัติเหนือความคาดหมาย เช่น เงินเดือนสูงกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 90 หรือหากวุฒิการศึกษามาจาก “สถาบันชั้นนำ” จะได้ 20 คะแนน

    สำหรับเกณฑ์ของบริษัทมี 2 ข้อ โดยบริษัทจะได้ 10 คะแนน หากสัดส่วนของพนักงานที่มีสัญชาติเดียวกับผู้ยื่นอยู่ระหว่าง 5- 25% แต่จะได้ 0 คะแนนหากสัดส่วนมากกว่า 25% และจะได้ 20 คะแนนหากน้อยกว่า 5% และบริษัทจะได้อีก 10 คะแนน หากสัดส่วน PMET ในประเทศของบริษัทอยู่ที่เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 20 ถึง 50 บริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงาน PMET น้อยกว่า 25 คนจะได้ 10 คะแนนจากเกณฑ์ความหลากหลายและการสนับสนุนการจ้างงานในท้องถิ่นโดยปริยาย

    ที่มาภาพ:https://www.channelnewsasia.com/singapore/employment-pass-jobs-foreign-workers-mom-budget-2022-debate-parliament-2538966

    นายตันกล่าวว่า กระทรวงตระหนักดีว่าบริษัทขนาดเล็ก อัตราส่วนกำลังคนสามารถ “เปลี่ยนแปลงอย่างมาก” จากการเปลี่ยนแปลงบุคลากรเพียงเล็กน้อย

    หากผู้ยื่นมีคุณสมบัติครบตรงตามความคาดหวังทั้ง 4 เกณฑ์ ก็จะผ่านการพิจารณาด้วยคะแนน 40 คะแนน หากไม่ได้ตามนี้ ก็อาจได้รับการอนุมัติโดยใช้เกณฑ์โบนัส

    นายตันกล่าวว่า COMPASS ไม่ได้ทำให้บริษัทได้ใบอนุญาต EP ยากขึ้น และผู้ยื่นส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็จะผ่านการพิจารณา

    กรอบการให้คะแนนแบบใหม่เพื่อพิจารณาใบอนุญาต EP จะทำให้กระบวนการนี้โปร่งใสยิ่งขึ้น และแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในแนวทางของสิงคโปร์ในการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ

    นายตันยังกล่าวอีกว่า กระทรวงได้รับข้อเสนอแนะจากนายจ้างที่มีความกังวลเกี่ยวกับการนำพนักงานอายุน้อยที่มีศักยภาพสูงเข้ามาภายใต้โครงการหมุนเวียนทั่วโลก เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องนี้ กระทรวงจะเริ่มโครงการนำร่อง Global Rotation Scheme และบริษัทจะต้องส่งชาวสิงคโปร์ไปต่างประเทศในโครงการพัฒนาความเป็นผู้นำแบบเดียวกัน

    ฟิลิปปินส์ผ่อนกฎดึงการลงทุนจากต่างประเทศ

    ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ที่มาภาพ:https://www.rappler.com/nation/duterte-message-new-year-2022/
    ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต แห่งฟิลิปปินส์ อนุมัติกฎหมายที่อนุญาตให้ต่างชาติลงทุนในภาคธุรกิจได้มากขึ้น ทำเนียบประธานาธิบดีแถลงเมื่อวันศุกร์(4 ก.พ.) เพื่อกระตุ้นการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    กฎหมายซึ่งแก้ไขกฎเกณฑ์การลงทุนของต่างชาติที่ใช้มากว่า 3 ทศวรรษ อนุญาตให้ผู้เล่นต่างชาติจัดตั้งและเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางได้อย่างเต็มที่ และถือหุ้น 100% ในบริษัทในภาคธุรกิจที่ดำเนินการได้อยู่แล้ว

    ก่อนหน้านี้ นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในธุรกิจขนาดเล็กได้ก็ต่อเมื่อจ้างคนงานชาวฟิลิปปินส์อย่างน้อย 50 คน

    กฎหมายฉบับใหม่กำหนดว่า ควรส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรที่ขยายโอกาสในการทำมาหากินและการจ้างงานของชาวฟิลิปปินส์อย่างมีนัยสำคัญ

    กฎหมายจะลดทุนขั้นต่ำในการจัดตั้งธุรกิจลงครึ่งหนึ่งเหลือ 100,000 ดอลลาร์ ตราบเท่าที่นักลงทุนต่างชาติจ้างคนงานในท้องถิ่นอย่างน้อย 15 คนและมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

    ฟิลิปปินส์พยายามดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศมาเป็นเวลานาน เพราะปัญหาต่างๆ เช่น การคอร์รัปชัน โครงสร้างพื้นฐานที่อ่อนแอ และความไม่แน่นอนของนโยบาย ธุรกิจจึงไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านที่ให้การลดหย่อนภาษีที่ดีกว่าและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ต่ำกว่า

    แต่รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อดึงการลงทุนเข้าประเทศปีที่แล้ว ประธานาธิบดีดูแตร์เต ได้ลดข้อกำหนดเงินทุนขั้นต่ำสำหรับธุรกิจค้าปลีกจากต่างประเทศ ในการเปิดร้านในฟิลิปปินส์

    ร่างกฎหมายอื่น ซึ่งอนุญาตให้ต่างชาติเป็นเจ้าของบริการสาธารณะของฟิลิปปินส์อย่างเต็มรูปแบบ เช่น โทรคมนาคม สายการบิน และบริษัทขนส่งในประเทศ กำลังรอการอนุมัติจากประธานาธิบดีดูแตร์เต

    ฟิลิปปินส์ได้ใช้มาตรการ “ส่งเสริมธุรกิจ” เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศเพื่อให้ฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ต่อเนื่อง 2 ปี

    ฟิลิปปินส์ขึ้นป้ายประเทศว่าเป็น “จุดหมายการลงทุนชั้นนำ” ที่บริษัทต่างชาติสามารถลงทุนใน “พื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตที่ยอดเยี่ยม” โดยระบุว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำธุรกิจในฟิลิปปินส์ที่กลับสู่สภาวะปกติใหม่ และคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว ระหว่าง 7-9%

    รัฐบาลได้ปรับลดข้อจำกัดในการควบคุมการแพร่ระบาดในมหานครมะนิลาและพื้นที่อื่น ๆ อีก 38 แห่ง จากการแจ้งเตือนระดับ 1 เป็นระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับต่ำ

    นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนจาก 157 ประเทศและภูมิภาคเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า หลังจากการสั่งห้ามการเดินทางและปิดพรมแดนเกือบสองปี

    “เศรษฐกิจของเรากำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว” นายคาร์ลอส โดมิงเกซ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกล่าวกับนักลงทุนในเวทีเสวนาที่ผู้นำธุรกิจและผู้กำหนดนโยบายเข้าร่วม และว่า แม้มีการระบาดใหญ่ รัฐบาลก็มุ่งเน้นการปฏิรูปเพื่อกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยชี้ไปที่การดำเนินการทางธุรกิจหลายด้านที่สนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในด้านบริการสาธารณะ

    เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ลดลงติดต่อกันนานที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2020 โดยหดตัวลง 9.6% ในปี 2020 ก่อนที่จะเติบโต 5.6% ในปี 2564 การฟื้นตัวทำให้ “เป็นประเทศที่ขยายตัวสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในกลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกันทั่วโลก”

    นายเซเฟริโน โรดอลโฟ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ฟิลิปปินส์มีแหล่งแร่ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งทั้งนิกเกิลและโคบอลต์ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน นอกจากนี้ยังส่งเสริมโอกาสในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเฟื่องฟูในฟิลิปปินส์เพราะเป็นห่วงโซ่อุปทานสำหรับการผลิต

    อีกด้านหนึ่งของการลงทุนในฟิลิปปินส์คือบริการ Business-Processing Outsources โดยเฉพาะ แอนิเมชั่น คอลล์เซ็นเตอร์ การพัฒนาเกม บริการshared services ระดับโลก การดูแลสุขภาพ ไอที และการพัฒนาซอฟต์แวร์

    BOI ได้อนุมัติการลงทุนมูลค่า 655.4 พันล้านเปโซ (ประมาณ 12.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) จาก 235 โครงการในปี 2021 ส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 218%

    รถไฟบรรทุกสินค้าขบวนแรกจากดานังไปยุโรป จะเปิดตัวในเดือนนี้

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/first-freight-train-linking-da-nang-to-europe-to-be-launched-this-month/222831.vnp

    บริษัทร่วมทุนรถไฟเพื่อการขนส่งและการค้า (Railways of Transport and Trade Joint Stock Company:Ratraco) ประกาศว่า จะเปิดตัว รถไฟบรรทุกสินค้าใหม่จากใจกลางเมืองดานังไปยุโรปในต้นเดือนมีนาคม

    รถไฟขบวนนี้จะบรรทุกผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ของอิเกียแบรนด์ดังของสวีเดนจำนวน 23 ตู้คอนเทนเนอร์

    ตามเส้นทาง รถไฟจะหยุดที่สถานีรถไฟสากลด่ง ดัง เพื่อผ่านพิธีการทางศุลกากร ก่อนเดินทางต่อไปยังสถานีรถไฟเจิ้งโจว ของจีน และเชื่อมเข้ากับขบวนรถไฟเอเชีย-ยุโรปเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง

    ผลิตภัณฑ์อิเกียจะถูกส่งไปยังหลายเมือง รวมทั้งเมืองลีแยฌในเบลเยียม ฮัมบูร์กในเยอรมนี และเมืองเมลโซของอิตาลี

    รถไฟขบวนนี้เป็นขบวนที่สองไปยุโปร หลังจากขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าเคลื่อนออกจากฮานอยไปยังเบลเยียมเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ซึ่งบรรทุกเสื้อผ้า สิ่งทอ และรองเท้าหนัง เส้นทางนี้เชื่อมรถไฟระหว่างสถานีรถไฟเยน เวียนในฮานอยและเมืองลีแยฌของเบลเยียม จากนั้นจะขนตู้คอนเทนเนอร์ลงก่อนที่จะส่งโดยรถบรรทุกไปยังจุดหมายปลายทางสุดท้าย คือเมืองท่ารอตเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์

    รายงานของการรถไฟเวียดนาม หรือ Vietnam Railway Corporation (VNR) ระบุว่า บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศมีการเติบโตในเชิงบวกในปีที่แล้วและในเดือนมกราคม

    แม้มีการระบาดของโควิด-19 แต่สินค้าราว 1.16 ล้านตันถูกขนส่งโดยรถไฟในปี 2021 ซึ่งเพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

    ปริมาณสินค้าที่สถานีรถไฟสากลด่ง ดังในทางเหนือของจังหวัดชายแดนหลั่งเซิน เพิ่มขึ้น 82% และความถี่ในการขนส่งเพิ่มขึ้น 117% ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว

    สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ แร่ กำมะถัน เคมีภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

    เวียดนามคุมส่งออกถ่านหินไว้ที่ 2 ล้านตัน

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/industries/vietnam-to-cap-coal-exports-at-two-mln-tons-in-2022-4435060.html

    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระบุว่า เวียดนามจะ จำกัดการส่งออกถ่านหินไว้ที่ 2.03 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 22.5% จาก 1.55 ล้านตันในปีที่แล้ว แต่เวียดนามนำเข้าถ่านหินเป็นจำนวนมาก การส่งออกสุทธิมีจำนวน 50,000 ตัน

    กระทรวงระบุว่า ผู้ส่งออกถ่านหินต้องแน่ใจว่ามีอุปทานเพียงพอสำหรับใช้ภายในประเทศก่อน ทั้งนี้มีผู้ส่งออกถ่านหิน 2 ราย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมถ่านหินและแร่แห่งชาติเวียดนาม และ Dong Bac Corporation ซึ่งทั้งสองแห่งมีรัฐเป็นเจ้าของ

    ในตลาดโลก ราคาถ่านหินแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีที่ 401 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในวันพุธ(2 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากผลกระทบของความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

    เวียดนามชู Mekong Delta ภูมิภาคเศรษฐกิจหลักเร่งขยายทางด่วน

    ทางด่วนเจือง เลือง-หมี ถ่วน ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/news/mekong-delta-to-add-800-km-of-expressways-by-2030-4435071.html

    รัฐบาลได้อนุมัติแผนแม่บทที่จะมีผลจนถึงปี 2030 เพื่อพัฒนาสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong Delta) ให้เป็นภูมิภาคเศรษฐกิจหลัก รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

    ภายใต้แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในช่วงปี 2021-2030 ที่ได้รับอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ เมื่อวันศุกร์( 4 ก.พ.) ภูมิภาคนี้จะมีทางด่วนเพิ่มอีก 830 กิโลเมตร (515 ไมล์) และทางหลวงแผ่นดิน 4,000 กิโลเมตร ภายในปี 2030 และ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจะกลายเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจการเกษตรที่ยั่งยืน มีพลวัต และมีประสิทธิภาพสูงของประเทศ ของภูมิภาค และของโลก”

    นอกจากการก่อสร้างทางหลวงแล้ว สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจะมีสนามบิน 4 แห่ง ท่าเรือ 13 แห่ง ท่าเรือโดยสาร 11 แห่ง และท่าเรือขนส่งสินค้าทางแม่น้ำ 13 แห่ง เพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ

    โครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ทั้งหมดที่จะสร้างขึ้น จะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจะมีการจัดตั้ง 3 ภูมิภาคย่อยทางนิเวศวิทยาในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง โดยระบบนิเวศน้ำจืดในพื้นที่ต้นน้ำและตอนกลางของภูมิภาคจะเป็นพื้นที่สำคัญในการผลิตข้าว ผลิตภัณฑ์จากน้ำจืด และผลไม้

    สปป.ลาวมีแผนขยายทางด่วนก้าวสู่ land-linked

    ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2021/08/11/new-vientiane-to-houaphan-expressway-project-under-consideration/

    รัฐบาลกำลังยกระดับเครือข่ายถนนของประเทศ และกำลังวางแผนที่จะสร้างทางด่วนเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงการขนส่งและเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศที่เชื่อมโยงทางบกหรือ land-linked country

    นายลาน เสงอาพอน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโยธาธิการและคมนาคม บรรยายสรุปผลงานการพัฒนาถนนตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ณ ที่ประชุมภาคส่วนงานโยธาและคมนาคม

    นายลานชี้ว่า แผนระยะแรกของทางด่วน ซึ่งเป็นเส้นทางระหว่างเวียงจันทน์และบ่อเต็นในแขวงหลวงน้ำทาที่มีชายแดนติดกับจีนได้เสร็จสิ้นแล้วในระยะทาง 109.12 กิโลเมตร ในส่วนเวียงจันทน์และวังเวียงในแขวงเวียงจันทน์

    ทั้งนี้ได้มีการสำรวจในส่วนระหว่างอำเภอบ่อเต็นและห้วยทราย ในแขวงบ่อแก้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และแผนการออกแบบโดยละเอียด

    การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างทางด่วนเวียงจันทน์-ปากเซ กำลังดำเนินการในส่วนที่ 1, 2, 3 และ 4 แต่บันทึกความเข้าใจในส่วนที่ 5 ได้ยกเลิก เนื่องจากผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด

    นอกจากนี้ยังมีการวางแผนทางด่วนใหม่ระหว่างสะพานมิตรภาพลาว-ไทยที่ 3 ในอำเภอท่าแขกไปยังชายแดนเวียดนามในแขวงคำม่วนซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

    รวมทั้งยังมีการวางแผนทางด่วนระหว่างอำเภอปากซันกับชายแดนเวียดนามในเขตไซจุมพน แขวงบอลิคำไซ และอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของทางด่วนระหว่างอำเภอไซธานี เวียงจันทน์ และหมู่บ้านแสงเล็ก อำเภอทุละคม แขวงจันทน์

    ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงโยธาธิการและคมนาคมได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาถนนเพื่อยกระดับการเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและประเทศที่เกลออกไป โดยการดำเนินการส่วนหนึ่ง คือการปรับปรุงถนนหมายเลข 13 ทางเหนือ ระหว่างสีเกิต และโพนโฮง มีการสร้างสะพานปากซาน-บึงกาฬ และสะพานคอนตึน-ห้วยแก้ว ไและกำลังมีการปรับปรุงในหลายที่ทั่วประเทศ

    กระทรวงกำลังปรับปรุงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 9 จากเมืองไกสอนพมวิหาน ไป เซโน(Xeno) นอกตัวเมืองท่าแขก ที่ชายแดนลาว-เวียดนาม

    การศึกษาความเป็นไปได้ในการยกระดับถนนแห่งชาติหมายเลข 8 ได้เสร็จสิ้นลงแล้วโดยได้รับทุนจาก KOICA ในขณะที่การศึกษาแบบเดียวกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(NEDA) ของไทย

    นอกจากนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การปรับปรุงถนนหมายเลข 6 จากเวียงไซไปน้ำโสย และถนนหมายเลข 6A จากหางหลง-สบเบา ในแขวงหัวพันได้รับทุนจากเอดีบี

    การปรับปรุงถนนหมายเลข 4B จากอำเภอหงสาในจังหวัดไซยะบุรีไปอำเภอเซียงมัน ในหลวงพระบางได้รับทุนจาก NEDA และการปรับปรุงถนน 2.6313 ระหว่างท่าปางทองและทุมเลนในจังหวัดสะหวันนะเขตได้รับทุนจาก NORINCO

    มีการสร้างสะพานสองแห่งตามถนนหลวงหมายเลข 9 ในสะหวันนะเขต รวมทั้งสะพานข้ามน้ำหุงในจังหวัดไซยะบุรีอีกสองแห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างสะพานอีก 2 แห่งข้ามแม่น้ำโขง ได้แก่ สะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งที่ 5 (จากอำเภอปากซันในจังหวัดบอลิคำไซถึงบึงกาฬของไทย) และสะพานคอนตึน-ห้วยแก้วในแขวงบ่อแก้ว

    ธนาคารกลางเมียนมาอนุมัติใช้เงินบาท-จั๊ตค้าชายแดน

    ที่มาภาพ: http://www.thaibizmyanmar.com/th/news/detail.php?ID=1420
    ธนาคารกลางเมียนมาออกประกาศ ลงวันที่ 3 มีนาคมเรื่องา การใช้เงินบาทและจั๊ตเมียนมเพื่อชำระโดยตรงที่ชายแดนเมียนมา-ไทย

    ธนาคารกลางระบุว่า เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าทวิภาคี การหมุนเวียนของสินค้า ระบบการชำระเงินและการชำระบัญชี และเพื่อส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นตามวัตถุประสงค์ของการรวมกลุ่มทางการเงินในอาเซียน ธนาคารกลางแห่งเมียนมาอนุญาตให้ใช้เงินบาทและจั๊ตสกุลเงินเมียนมา เพื่อชำระโดยตรงที่ชายแดนไทย-เมียนมา

    ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกที่จะทำการค้าข้ามแดนสามารถเปิดบัญชีธนาคาร กับธนาคารที่ได้รับอนุญาตตามที่กำหนดไว้

    ธนาคารที่ได้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามแนวทางกระบวนการชำระเงินโดยตรงเป็นเงินบาท/จั๊ตสำหรับการทำธุรกรรมในการค้าทวิภาคี

    ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2021 อนุญาตให้ใช้เงินหยวน จีนและจั๊ตเมียนมาสำหรับการชำระเงินโดยตรงที่ชายแดนเมียนมา-จีน