ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลแพ่งรัชดานัดไต่สวนนัดแรก กรณีสมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 โดยสืบพยานฝ่ายโจทก์ได้ 1 คนจากประมาณ 4 คน และนัดไต่สวนนัดต่อไปในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน เนื่องจากทนายความจากโรงพยาบาลกรุงเทพไม่ว่าง ด้านสำนักคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีหนังสือแจ้งสมาชิกว่า สัญญาไลฟ์พริวิเลจคลับเข้าข่ายประกันภัยหรือไม่อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ทั้งนี้จากกรณีที่สมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับ รวม 102 คนยื่นฟ้องรพ.กรุงเทพกรณีผิดสัญญาการให้บริการรักษาพยาบาลตลอดชีพต่อศาลแพ่งรัชดา และยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและขอไต่สวนฉุกเฉินเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 แต่ศาลยกฟ้องเพราะยังไม่มีความเสียหายปรากฏเข้าข่ายเป็นเรื่องฉุกเฉิน เลยทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวตกไปด้วยนั้น วันต่อมา (21 กุมภาพันธ์ 2560 ) สมาชิกจึงยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลอีกครั้ง
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ศาลแพ่งรัชดานัดไต่สวนครั้งแรก เวลา 10.00 น. กรณีขอคุ้มครองชั่วคราว ณ ศาลแพ่ง รัชดา กรุงเทพฯ โดยพยานทั้งหมดจากฝ่ายโจทก์มีประมาณ 4 คน แต่ให้การได้เพียง 1 คนเท่านั้น
อย่างไรก็ตามทางทีมทนายความของสมาชิกไลฟ์พริวิเลจกล่าวว่า พยานประมาณ 4 คนที่กำหนดไว้ในวันนี้ อาจเพิ่มหรือลดลงได้ ขึ้นอยู่กับประเด็นที่ต้องการบอกต่อศาลว่าพยานแต่ละคนมีเนื้อหาซ้ำกันหรือไม่อย่างไร ซึ่งหลังจากทางสมาชิกให้การครบถ้วนแล้วทางฝ่ายโรงพยาบาลกรุงเทพต้องให้การด้วย หลังจากนั้นศาลจึงพิจารณาและพิพากษาได้ว่า คุ้มครองชั่วคราวได้หรือไม่ แต่สำหรับวันนี้สมาชิกให้การได้เพียงคนเดียว พยานที่เหลือจึงต้องรอนัดสืบพยานครั้งต่อไป
สำหรับนัดสืบพยานครั้งต่อไปนั้้น ต้องเป็นวันที่สะดวก 3 ฝ่ายคือ ผู้พิพากษา ทนายฝ่ายโจทก์ และทนายฝ่ายจำเลย ขณะที่ทางสมาชิกมีข้อจำกัดด้านเวลา ทางทนายจึงต้องการให้ไต่สวนให้เร็วที่สุด แต่นัดครั้งต่อไปที่ได้คือ 8 พฤษภาคม 14 มิถุนายน และ 26 มิถุนายน 2560 เนื่องจากทนายฝ่ายจำเลย (โรงพยาบาลกรุงเทพ) ไม่สะดวก
ทั้งนี้ทีมทนายความฝ่ายสมาชิกได้ปรึกษากับผู้พิพากษาเพื่อขอให้ไต่สวนในคดีหลักที่ฟ้องโรงพยาบาลกรุงเทพกรณีผิดสัญญาควบคู่ไปกับการไต่สวนขอคุ้มครองชั่วคราวด้วย เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินคดี แต่ทางทนายของโรงพยาบาลกรุงเทพเห็นว่า ขอให้ทำให้เสร็จเป็นเรื่องๆ ไป ดังนั้นการฟ้องร้องในคดีนี้จะใช้เวลาในการกระบวนการชั้นศาลนานขึ้น
ด้านสมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับซึ่งเป็นพยานปากแรกกล่าวว่า “เราเป็นผู้เสียหายจากกรณีที่โรงพยาบาลกรุงเทพยกเลิกสัญญารักษาพยาบาลตลอดชีพ วันนี้จึงมาเป็นพยานประกอบการพิจารณาเพื่อขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว ปัจจุบันเจ็บป่วยและมีโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่องประมาณ 14 โรค เช่น โรคกระดูกที่เกิดจากอุบัติเหตุรถชน โรคไฮโปไทรอยด์ ซึ่งทุกวันนี้ต้องใช้เงินรักษาจำนวนมาก เมื่อไม่มีโครงการไลฟ์พริวิเลจแล้วเราจึงเดือดร้อน ดังนั้นจึงต้องการชี้ให้ศาลเห็นความจำเป็นและคุ้มครองชั่วคราวให้สมาชิกทุกคน”
“ประเด็นที่มีซักค้านในวันนี้มีประเด็นเดียวคือ เรื่องทราบหรือไม่ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นการประกันภัย และการที่มีสมาชิกมาร่วมฟังการไต่สวนจำนวนมากในวันนี้ ทำให้เห็นว่าคดีนี้สร้างความเสียหายให้กลุ่มคนจำนวนมาก ใช้ความระมัดระวังในการใช้ดุลพินิจ และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ไต่สวนข้อเท็จจริง” สมาชิกผู้ที่ได้รับความเสียหายกล่าว
ขณะเดียวกันจากกรณีที่สมาชิกมีหนังสือถามสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ว่า สัญญาโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับเข้าข่ายการประกอบธุรกิจประกันภัยหรือไม่นั้น ล่าสุด คปภ.แจ้งหนังสือตอบกลับสมาชิกเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560 ว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ถึงแม้จะเป็นสัญญาประกันภัยก็มีคำพิพากษาฎีกาที่ 4211 – 4212/2528 พิพากษาว่า นิติบุคคลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัยแต่ได้รับประกันวินาศภัยไว้ เมื่อได้รับเบี้ยประกันภัยแล้ว นิติบุคคลนั้นจะปฏิเสธว่าเป็นเรื่องนอกวัตถุประสงค์เพื่อให้พ้นความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัยไม่ได้ และสัญญาจะเป็นโมฆะก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นคู่สัญญาทราบถึงการไม่ได้รับอนุญาตนั้น และเมื่อผู้เอาประกันภัยทราบแล้ว ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย