ThaiPublica > เกาะกระแส > IMF ประเมินภาคการเงินไทยประสิทธิภาพสูง หนุนมาตรการดูแลความเปราะบางหนี้ครัวเรือน ให้คะแนนกำกับตลาดทุนดีมากเทียบชั้นก.ล.ต.โลก

IMF ประเมินภาคการเงินไทยประสิทธิภาพสูง หนุนมาตรการดูแลความเปราะบางหนี้ครัวเรือน ให้คะแนนกำกับตลาดทุนดีมากเทียบชั้นก.ล.ต.โลก

7 ตุลาคม 2019


จากซ้าย นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

วันนี้(7 ตุลาคม 2562) ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ร่วมแถลงข่าว ผลการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program – FSAP) ของประเทศไทย โดยคณะผู้ประเมินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) และธนาคารโลก(World Bank) เมื่อ พ.ศ. 2561 – 2562 ที่ผ่านมา

ในภาพรวมพบว่า ระบบการเงินของไทยมีเสถียรภาพ มีความมั่นคงสามารถรองรับความผันผวนได้ดี และการกำกับดูแลภาคการเงินของไทยมีประสิทธิภาพสูง เป็นไปตามมาตรฐานสากลเทียบเคียงได้กับประเทศชั้นนำ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีบทบาทหลักในภาคการเงิน ขณะที่ภาคตลาดทุนและภาคประกันเติบโตขึ้นมาก แม้ว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น เช่น ความเปราะบางในภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้ประเมินได้สนับสนุนการออกมาตรการเชิงป้องกัน (macroprudential policy) เพื่อดูแลไม่ให้ความเปราะบางของหนี้ภาคครัวเรือนขยายจนส่งผลกระทบในวงกว้าง

การเข้ารับการประเมินนี้เป็นการรับการประเมินครั้งที่ 2 โดยสมัครใจของไทย หลังจากการประเมินครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2550 ซึ่งประโยชน์ของการเข้ารับการประเมินครั้งนี้ จะช่วยให้ทราบถึงจุดแข็งและจุดที่ควรปรับปรุงในภาคการเงิน และผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้เข้มแข็งและก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้ง เป็นการส่งเสริมให้หน่วยงานกำกับดูแลพัฒนากรอบการกำกับดูแลให้สอดรับกับแนวโน้มความเสี่ยงในระบบ รวมถึงพัฒนาการกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้น นอกจากนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจการเงินไทย

ผลการประเมิน FSAP ภาคการเงินในส่วนที่ ธปท. กำกับดูแล มีดังนี้

  • การกำกับดูแลภาคการธนาคาร (banking supervision)

    ธปท. ได้เข้ารับการประเมินตามมาตรฐาน Basel Core Principles for Effective Banking Supervision (BCP) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลด้านการกำกับดูแลด้านการธนาคารฉบับล่าสุด จำนวน 29 ข้อ โดยได้รับผลการประเมินอยู่ในระดับดีมากจำนวน 24 ข้อ และระดับดี 5 ข้อ ซึ่งแสดงถึงพัฒนาการของภาคการธนาคารไทยที่ดีขึ้นมาก จากการประเมินครั้งก่อน โดยผู้ประเมินมีความเห็นว่า

    1) ธนาคารพาณิชย์ไทยมีฐานะมั่นคง มีเงินกองทุนและสภาพคล่องสูง

    2) มีหลักเกณฑ์การดูแลความมั่นคงและการตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ที่มีประสิทธิภาพเท่าทันความเสี่ยง

    3) ธปท. มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับธนาคารพาณิชย์และหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในและต่างประเทศ

  • การกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินที่สำคัญ (financial market infrastructures) ในส่วนของระบบบาทเนต
    ธปท. ได้เข้ารับการประเมินการกำกับดูแลระบบบาทเนต ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินที่มีมูลค่าสูงของประเทศไทย ตามมาตรฐานPrinciples for Financial Market Infrastructure (PFMI) ที่เป็นมาตรฐานสากลด้านการกำกับโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินที่สำคัญฉบับล่าสุดจำนวน 17 ข้อ โดยได้รับผลการประเมินอยู่ในระดับดีมากจำนวน 16 ข้อ และระดับดี 1 ข้อ และด้านหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำกับดูแล (responsibilities for authority) ได้รับผลการประเมินอยู่ในระดับดีมากทั้งหมด

    โดยผู้ประเมินมีความเห็นว่า
    1) ระบบบาทเนตมีความมั่นคงปลอดภัย มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องตามมาตรฐานสากลในทุกด้าน เช่น มีกฎหมายรองรับรายการที่ชำระดุลแล้วมีผลสมบูรณ์ ไม่สามารถเพิกถอนได้ (payment finality)

    2) ระบบบาทเนตมีการจัดการด้านธรรมาภิบาลและการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนโปร่งใส

    3) ธปท. กำกับดูแลระบบการชำระเงิน รวมถึงระบบบาทเนตเป็นไปตามมาตรฐานสากลระดับสูง และมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (Thailand Securities Depository Co., Ltd. – TSD) เพื่อให้ระบบสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องตามมาตรฐานสากล

    ทั้งนี้ ผู้ประเมินมีข้อเสนอแนะให้มีการพัฒนากรอบกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้เทียบเคียงกับธนาคารพาณิชย์ และพิจารณานำกรอบกฎเกณฑ์และแนวทางตรวจสอบธนาคารพาณิชย์มาปรับใช้กับสหกรณ์การเงินตามความเหมาะสม อีกทั้ง พิจารณาขยายการใช้มาตรการเชิงป้องกัน (macroprudential policy) ไปยังสถาบันการเงินอื่น เช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และสหกรณ์การเงิน รวมถึง พิจารณารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน

    ในระยะต่อไป ธปท. จะติดตามและประเมินความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินในลักษณะมองไปข้างหน้ามากขึ้น เพื่อให้สามารถประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของความเสี่ยงใหม่ ๆ และกำหนดนโยบายรองรับได้อย่างเท่าทัน โดย ธปท. จะประสานงานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้กำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับปรุงและบังคับใช้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศอย่างยั่นยืนต่อไป

    การกำกับดูแลตลาดทุนเทียบเคียงก.ล.ต.โลก

    นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้เข้ารับการประเมิน FSAP แบบสมัครใจเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2561 – 2562 ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาภาคการเงินของไทยให้มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยภาคตลาดทุนถือเป็นกลไกสำคัญช่วยขับเคลื่อนระบบการเงินของประเทศ จึงได้เข้าร่วมโครงการ FSAP เพื่อประเมินประสิทธิผลของภาคตลาดทุน ซึ่งประกอบด้วย 2 เรื่องที่สำคัญ คือ การกำกับดูแลตลาดทุน ประเมินเทียบกับมาตรฐานสากลของ ก.ล.ต. โลก (IOSCO Principles) จำนวน 37 ข้อ และโครงสร้างพื้นฐานของระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ ประเมินเทียบกับมาตรฐานสากล Principles for Financial Market Infrastructure (PFMI)

    สำหรับการประเมินตาม IOSCO Principles นั้น ตลาดทุนไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่ได้รับการประเมินตามมาตรฐานใหม่ ซึ่งได้ถูกพัฒนาเพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านตลาดทุนสามารถจัดการได้เท่าทันกับความท้าทาย และความเสี่ยงใหม่ ๆ โดยประเมินทั้งการทำหน้าที่ของ ก.ล.ต. อาทิ ความโปร่งใส ความเป็นอิสระ กระบวนการออกกฎเกณฑ์ ทรัพยากร และประเมินการกำกับดูแลผู้ร่วมตลาด ตั้งแต่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ รวมไปถึงบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้สอบบัญชี CRA เป็นต้น

    โดยผลประเมินได้คะแนนในระดับดีและดีมาก จำนวน 35 จาก 37 ข้อ สะท้อนให้เห็นว่า การกำกับดูแลตลาดทุนไทยได้มาตรฐานสากล ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก สำหรับผลประเมินตาม Principles for Financial Market Infrastructure ก.ล.ต. ได้รับคะแนนเต็มจากการทำหน้าที่กำกับดูแลทุกด้าน ส่วนผลประเมินการทำหน้าที่โอนหลักทรัพย์และเป็นศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ของ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) (TSD) ได้รับคะแนนดีและดีมาก จำนวน 17 จาก 20 ข้อ

    จากผลประเมิน 2 ด้านที่สำคัญในตลาดทุน แสดงถึงความสำเร็จและพัฒนาการที่ก้าวหน้าของตลาดทุนไทยได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุนทั่วโลก และเพิ่มทางเลือกในการดำเนินธุรกิจและการลงทุน รวมทั้งแสดงถึงศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นตลาดทุนที่เติบโตอย่างมีศักยภาพและยั่งยืน โดยจะเป็นกลไกสำคัญต่อระบบการเงินและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

    ประกันภัยมีกฎระเบียบและใช้กฎหมายครบถ้วน

    สำหรับการประเมินการกำกับภาคประกันภัยนั้น ด้านที่ได้รับการประเมินดีมาก คือ บุคคลกรที่มีความรู้ความสามารถในการกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล มีกฎระเบียบและการบังคับใช้กฎหมายในหลายประเด็น เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการรักษาความลับของข้อมูล การกำกับดูแลด้านการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย ส่วนด้านที่ได้รับการประเมินระดับดีคือ กรอบการกำกับดูแลมีการพัฒนาและมีประสิทธิภาพ ขณะที่การประเมินที่พอใช้คือ การออกในอนุญาตประกอบธุรกิจ