ThaiPublica > คอลัมน์ > วิกฤติศรัทธาของชาวฮินดูและไทยพุทธ

วิกฤติศรัทธาของชาวฮินดูและไทยพุทธ

24 ตุลาคม 2021


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/7/70/Durga_Pooja_at_Bhopal_%287%29.jpg

ในบรรดาศาสนาใด ๆ ในโลกที่เคยมีมาจากอดีตถึงปัจจุบัน หรือที่จะมีมาต่อไปในอนาคต ไม่มีศาสนาใดที่มีความซับซ้อนเท่ากับศาสนาฮินดู ซึ่งพัฒนาจาก “ศาสนาพระเวท” โดยผ่านการสารเสวนากับพุทธศาสนา ศาสนาเชน และในยุคหลังคือศาสนาอิสลาม จนผสมกลมกลืนกันเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ฮินดู” (Hindu) ซึ่งที่มาจากคำว่า “ฮินดู” เป็นสิ่งที่ชาวอังกฤษเรียกตามชาวโปรตุเกส ซึ่งเรียกอารยธรรม แถบลุ่มแม่น้ำ “สินธุ” (Sindhu) ซึ่งสำเนียงเพี้ยนไปเป็น “ฮินดู” ในที่สุด

ศาสนาพระเวทนั้นเกิดขึ้นประมาณ 4000 ปีที่แล้ว เมื่อชนเผ่าอารยันรุกรานชาวพื้นเมืองดั้งเดิม โดยเริ่มอพยพมาเป็นระรอก ๆ ผ่านช่องแคบไคเบอร์ซึ่งปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน เพื่อให้รักษาสายเลือดของเผ่าพันธุ์ของตนให้บริสุทธิ์ ระบบวรรณะทั้งสี่จึงเกิดขึ้น ได้แก่วรรณะพราหมณ์ (ซึ่งมีหน้าที่เรียนพระเวท สอนพระเวท ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ วรรณะนี้เกิดจากหน้าหรือปากของพรหม ) วรรณะกษัตริย์ (มีหน้าที่ปกครอง ออกรบปกป้องดินแดนและทรัพย์สินของประเทศและบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน วรรณะนี้เกิดจากแขนของพรหม) วรรณะแพศย์ (มีหน้าที่กสิกรรมและพาณิชย์กรรม วรรณะนี้เกิดจากโคนขาของพรหม) และวรรณะศูทร (มีหน้าที่รับใช้วรรณะทั้งสามที่กล่าวมาแล้ว วรรณะนี้เกิดจากเท้าของพรหม)

แม้รัฐธรรมนูญของอินเดียถือว่า “วรรณะทั้งหลายไม่มีอยู่อีกต่อไป” แต่ในความเป็นจริง วรรณะทั้งสี่ยังคงอยู่ในความเชื่อของชาวอินเดียจนถึงปัจจุบัน

นอกจากวรรณะทั้งสี่แล้วยังมีอาศรมทั้งสี่ อันได้แก่ พรมจริยา (เป็นช่วงเวลาที่กุลบุตรผู้ผ่านพิธีอุปนัยแล้วไปเรียนความรู้จากอาจารย์) คฤหัสถะ (เป็นช่วงเวลาที่กุลบุตรเรียนจบแล้ว แต่งงานมีครอบครัวของตนเอง) วานปรัสถะ (เป็นช่วงเวลาที่ผู้ครองเรือนเบื่อหน่ายแสวงหาความหมายของชีวิตละทิ้งการบูชาทั้งปวงปลีกวิเวกเข้าไปอยู่ป่า ศึกษาคัมภีร์อุปนิษัท ซึ่งว่าด้วยเรื่องการแสวงหาตัวตันอันแท้จริง—ตัวอย่างที่ดีคือ พระเวสสันดร) และ สัญญาสี (คือผู้สละโลกซึ่งไม่เข้าไปอยู่ใต้กฎเกณฑ์ของวรรณะอีกต่อไปมุ่งแสวงหา “โมกษะ” หรือ ความหลุดพ้น) ผู้ที่ออกจากเรือนเข้าสู่อาศรมนี้ ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “บรรพชิต” ซึ่งมีชื่อเรียกนักบวชผู้สละโลกเหล่านี้อีกมากมาย เป็นต้นว่า สมณะ ภิกษุ มุนี ฤษี ชฎิล ปริพาชก นิครนถ์ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับ วัตรปฏิบัติ หรือ “พรต” ที่นักบวชเหล่านั้นปฏิบัติตามความเชื่อของตน นักบวชหรือผู้สละโลกเหล่านี้หลายคนเป็นศาสดามีลูกศิษย์ลูกหามาก และคำสอนของศาสดาเหล่านี้ต่อมาได้เข้ามามีส่วนเปลี่ยนแปลงสังคมอินเดีย เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

บรรพชิตสองคนที่สำคัญและมีส่วนเปลี่ยนแปลงสังคมอินเดียตั้งแต่เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้วคือ พระพุทธเจ้า และ ศาสดามหาวีระ (รู้จักกันในพระไตรปิฎกในนามของ นิครนถ์ นาฏบุตร) ซึ่งในสายตาชาวอินเดีย ทั้งศาสนาเชนและพุทธ ต่างเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นความเห็นที่ชาวพุทธหรือสาวกของศาสนาเชนไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง

เพราะเหตุว่าศาสนาฮินดูมีความหลากหลายสูง การบรรลุธรรมที่หนทางสู่ความหลุดพ้นที่แตกต่างกัน เป็นต้นว่า เป็นประเภทที่มุ่งการบรรลุธรรมเป็นเป้าหมายอันสูงสุด (มูมุกฺษุ) ซึ่งทั้งพุทธศาสนาและศาสนาเชน ถูกชาวฮินดูจำแนกไว้ว่าเป็นศาสนาประเภท “ชีวันมุกติ” คือ มีเป้าหมายใน หรืออีกประเภทหนึ่งที่ถือเอาเป้าหมายการเสพสุขในรูปแบบต่าง ๆ เป็นเป้าหมายก็มีเช่นกัน (ภูภุกฺษุ) ไม่ว่าศาสนิกจะไม่นับถือพระผู้เป็นเจ้า (อเทวนิยม) หรือ นับถือพระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว (เอกเทวนิยม) หรือนับถือพระผู้เป็นเจ้าหลายองค์พร้อม ๆ กัน (พหุเทวนิยม)ด้วยความรักอยู่ทุ่มเท (ภักติโยคะ) หรือแม้จะเกลียดชังพระผู้เป็นเจ้าอย่างแรงกล้า

ยิ่งเกลียดยิ่งมีโอกาสหลุดพ้นได้ทั้งสิ้น ซึ่งในโลกนี้ไม่มีศาสนาใดที่ระบุว่าการเกลียดชังพระผู้เป็นเจ้านั้นจะนำไปสู่การบรรลุธรรมขั้นสูงสุดได้ มีเพียงศาสนาฮินดูเพียงศาสนาเดียวเท่านั้น

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Hindus

ความหลายหลากของความเชื่อในอุดมการณ์และวิธีปฏิบัติเหล่านี้ ไม่มีพิธีกรรมใด ๆ ที่ใช้ร่วมกันได้ทั้งหมดในทุกสำนักของศาสนาฮินดู ทำให้ศาสนาฮินดูไม่มีองค์กรกลางที่จะบริหารกิจการและกิจกรรมของศาสนาได้เลย ในการประชุมองค์กรศาสนาสัมพันธ์ระดับโลกศาสนาฮินดูเป็นศาสนาที่มีปัญหามากสุด เพราะไม่รู้ว่าจะเชิญ ตัวแทนจากสำนักไหน แต่ละสำนักล้วนประกาศตนว่าเป็นตัวแทนอันชอบธรรมของศาสนาฮินดูทั้งสิ้น กูรูแต่ละคนล้วนมีศิษยานุศิษย์นับล้าน สามารถระดมคนมาประชุมได้เป็นจำนวนมาก

ในยุคสมัยที่ประเทศอินเดียถูกปกครองด้วยพรรคภารติยาชนกา (Bharatiya Janata) ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมและยกย่องศาสนาฮินดูเหนือศาสนาอื่น ๆ ทั้งปวง

แม้ว่ารัฐธรรมนูญของอินเดียระบุว่าไม่มีศาสนาประจำชาติ และทุกศาสนามีความสำคัญเท่าเทียมกัน (secular state) และอินเดียไม่มีระบบวรรณะ ทุกคนเท่าเทียมกันทั้งหญิงชาย แต่ในเชิงปฏิบัติศาสนาฮินดูเป็นศาสนาที่มีสถานสูงกว่าทุกศาสนา

หลายครั้งหลายหนที่ประชาชนในวรรณะต่ำถูกชนวรรณะสูงทำร้ายถึงชีวิต แต่ทางการมิได้มีการดำเนินคดีต่อคนร้ายที่อยู่วรรณะสูงกว่าแม้แต่น้อย เจ้าหน้าที่ตำรวจเอาหูไปนาเอาตาไปไร่อย่างน่าเสียดายยิ่ง ศาสนาในอินเดียกำลังเป็นส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำในประเทศ มิใช่เป็นส่วนหนึ่งของทางออกจากปัญหาเหล่านั้นเลย

ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่ยุคพุทธกาลถึงศตวรรษที่ 21 คือ “เงิน” และ “อำนาจ” อันเกิดขึ้นจากการได้รับการทะนุบำรุงจากสาวกในสำนักต่าง ๆ ของบรรพชิตเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นความมีชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ที่มีผู้บริจาคให้ จนทำให้เกิดปัญหานานัปการในการบริหาร เช่น วัดติรุมะละ ติรุปะตี เวนกะเตศวระ (Tirumala Tirupati Venkateswara) แห่งหนึ่งในรัฐอันธรประเทศของอินเดีย มีทำเนียมที่ปฏิบัติสืบ ๆ กันมานับพันปี ที่ประชาชนเดินทางไปจาริกแสวงบุญและทำบุญด้วยทองคำ ไม่ว่าในรูปของทองคำแท่งหรือทองรูปพรรณ จนทำให้ทางวัดครอบครองทองคำมากเสียยิ่งกว่า ทองคำในคลังของธนาคารแห่งชาติอินเดียเสียอีก หากรัฐบาลจะเพิ่มหรือลดค่าเงินรูปีจำเป็นต้องปรึกษากับเจ้าอาวาสวัดนี้เป็นปกติ เพราะวัดของพระคุณเจ้ามั่งคั่งเสียเหลือเกิน

วิกฤติศรัทธาครั้งใหญ่เริ่มขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ลูกศิษย์ได้เข้าไปพบศพของเจ้าสำนักผู้เป็นฤษีคนสำคัญของอินเดียชื่อ มหันต์ นเรนทรา คีรี ( Mahant Narendra Giri) ศพนั้นผูกคอห้อยกับพัดลม ภายในห้องพบจดหมายลาตายมีความยาวถึง 13 หน้ากระดาษ มีข้อความตอนหนึ่งเป็นการตัดพ้อสาวกคนสำคัญของตนเอง ชื่อ อนันต์ คีรี (Anand Giri) ว่าเป็นผู้แบลกเมล์ตน ทำให้เจ้าสำนักเกิดความอับอายโดยกำลังจะเผยแพร่ภาพถ่ายของตนร่วมกับหญิงคนหนึ่ง สิ่งที่สังคมอินเดียเกิดความกังขาอย่างมากคือ “ลายมือ” ในจดหมายลาตายของนักบวชผู้โด่งดังรูปนี้ ไม่ตรงกับลายมือของพระคุณเจ้าเลยแม้แต่น้อย และจดหมายลาตายซึ่งมีความยาวถึง 13 หน้ากระดาษนั้นดูจะยาวมากเกินไปสำหรับคนที่กำลังคิดสั้น ซึ่งผู้เขียนมีจิตใจที่เต็มไปด้วยความซึมเศร้า ฤษีอนันต์ คีรี นั้นตกเป็นผู้ต้องสงสัยรายแรก ซึ่งพระคุณเจ้าเองได้แก้ตัวว่าตนเองกำลังซักผ้าอยู่ในวันและเวลาที่เกิดเหตุ มีประจักษ์พยานหลายคน

Akhara sadhus ทำพิธีกรรมหลังจากการตายของ Mahant Narendra Giri ที่ Baghambari Gaddi Math ใน Prayagraj เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่มาภาพ : https://www.indiatoday.in/india/story/death-mahant-narendra-giri-balbeer-giri-to-be-anointed-successor-1860792-2021-10-05

พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่านี่คือคดีฆาตกรรมอำพราง ซึ่งเกิดขึ้นในอาศรมของท่านมหาฤษีนี่เอง ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ ท่านมหาฤษี มหันต์ นเรนทรา คีรี นั้นเป็นผู้ที่มีทรัพย์สินมากมายมีรถยี่ห้อ Mercedes-Benz ส่วนตัวถึง 20 คัน และสำนักของพระคุณเจ้าทรงอิทธิพลอย่างมากในประเทศอินเดีย มีสาวกนับล้านทั่วโลก

ผู้ว่าการรัฐได้ลงไปสั่งการสืบสวนเพื่อหาความจริงด้วยตนเอง แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ได้สั่งการให้หน่วยงานพิเศษซึ่งเทียบเท่ากับเอฟบีไอของสหรัฐเข้าไปสืบสวนคดีนี้โดยด่วน ปัจจุบันยังเป็นคดีในความสนใจของประชาชนอินเดียอย่างมาก

อดีตพนักงานสอบสวนคนหนึ่งซึ่งได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ชื่อนายระตัน กุมาร ศรีวัสตะวะ (Ratan Kumar Srivastava) ได้กล่าว ว่าจากประสบการณ์ของเขา มีคดีความเกี่ยวกับบรรพชิตในเมืองอโยธยาถึง 150 คดี ระหว่างปี ค.ศ.1996-1998 อันเป็นคดีอาญาฟ้องร้องกันในหมู่นักบวช ทั้งหมดเป็นเรื่องฉ้อโกงทรัพย์สินทั้งสิ้น

ทั้งนี้เพราะพระคุณเจ้าแต่ละรูปมีฐานะดี เดิมพันในแต่ละคดีจึงสูงมาก และในแต่ละสำนักในอินเดียไม่มีสำนักใดเลยที่มีมาตรการคัดกรองผู้ที่มีศรัทธาจะมาบวชว่ามิได้มีเจตนาเพื่อมาแสวงหาความมั่งคั่งเป็นแรงบันดาลใจ นักบวชฮินดูจำนวนมากมีประวัติอาญากรรมและหนีคดีมาก่อน แล้วหนีมาบวชซึ่งต่อมาใช้ผ้าเหลืองหากินและเป็นที่กำบังตนเอง

ในพระพุทธศาสนานั้นมีพระวินัยที่มีข้อกำหนดชัดเจนในการบริหารจัดการเงินและทรัพย์สินของภิกษุอย่างชัดเจน การสะสมวัตถุนั้นเป็นสิ่งที่ขัดกับพระวินัยอย่างชัดเจน ส่วนการที่พระภิกษุจะนำเงินไปลงทุน ทำการค้าเพื่อแสวงหาผลกำไรนั้นผิดพระวินัยอย่างแน่นอน ภิกษุพึงสละออกให้คณะสงฆ์แล้วจึงปลงอาบัติได้

ส่วนเงินนั้นพระพุทธเจ้าเปรียบเทียบเท่ากับ “อสรพิษ” สำหรับบรรพชิต และเป็นเหตุแห่งความเสื่อมของการประพฤติกรรม พุทธศาสนาน่าจะเป็นศาสนาที่มีการจัดระเบียบการบริหารงานการคณะสงฆ์ที่ดีที่สุด หากภิกษุทั้งหลายโดยเฉพาะเถระปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด

……

ส่วนในประเทศไทยเองคดีเกี่ยวกับนักบวชในพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องอื้อฉาวไปทั่วโลก โดยเฉพาะคดีของอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2541 ซึ่งพระไชยบูลย์ ธมฺมชโย ถูกฟ้องด้วยคดีอาญาถึง 52 คดี หนึ่งในคดีเหล่านี้มีการละเมิดมาตรา 112 อยู่ด้วย แต่เมื่อคดีสืบพยานใกล้สิ้นสุด อัยการสูงสุดได้สั่งถอดคดีทั้งหมดออกจากศาล เมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.2549 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการตุลาการประเทศไทย และในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ศาลอาญาได้มีการออกหมายจับพระเทพญาณมหามุนี เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายซึ่งปฏิเสธไม่ยอมมาให้เจ้าพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สอบสวน โดยมีเหตุผลว่าอาพาธ ไม่อาจเดินได้ แต่มีภาพปล่อยนกในวันเกิดของสาวกคู่ใจออกมาในวันที่ 4 พฤษภาคม ก่อนหน้าหมายจับจะออกเพียงสองสัปดาห์

พระธัมมชโยเซ็นเอกสารบางอย่าง ระหว่างให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนของดีเอสไอ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558

ทางดีเอสไอพบหลักฐานปรากฏว่าได้รับเงินจำนวนมาก จากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ซึ่งสั่งจ่ายจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ในที่สุดนำมาซึ่งปฏิบัติการกบิล 59 ต้นปีและปลายปี และการปิดล้อมวัดพระธรรมกายภายใต้ ม.44 ในต้นปีพ.ศ.2560 เป็นผู้ที่ถูก คสช. สั่งให้ดำเนินการจับกุมโดยใช้ทั้งกำลังตำรวจ ทหารและกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่ไม่อาจจับกุมตัวได้จนถึงทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม

แถลงการณ์วัดพระธรรมกายระบุว่า พระธัมมชโย ปล่อยนกพิราบ หน้ากุฏิใกล้ๆภายในวัดพระธรรมกาย วันที่ 3 พฤษภาคม 2559

อันที่จริงวัดพระธรรมกายนั้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการจัดการบริหารแบบองค์กรสมัยใหม่ มีธรรมนูญในการปกครองของตนเอง และครอบครองที่ดินจำนวนมโหฬาร ลำพังตัววัดดั้งเดิมเองนั้นมีพื้นที่เพียง 196 ไร่เท่านั้น แต่กำแพงที่อยู่โดยรอบครอบคลุมพื้นที่กว่าสามพันไร่ ใหญ่กว่านครวาติกันถึง 10 เท่า มีสาวกทั่วโลกกว่าสามล้านคนและวัดสาขาทั่วโลกกว่า 300 สาขา เฉพาะในประเทศไทยสาขาวัดพระธรรมกาย อยู่ในรูปของวัด สำนักสงฆ์ มูลนิธิ สมาคม ศูนย์อบรมเยาวชน มีจำนวนถึง 6,968 สาขา

ตามที่ดีเอสไอตรวจพบจากการโอนเงินของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ทั้งนี้ยังไม่รวมบริษัทอีกจำนวนมากที่มีสาวกใกล้ชิด ที่ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตั้งแต่ กรรมการ ผู้จัดการ เหรัญญิก เรื่อยไปถึงประธานกรรมการใหญ่ลงทุนให้ ในจำนวนบริษัทเหล่านี้มีตั้งแต่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัทขายอัญมณี อยู่ในนั้นด้วย ซึ่งเป็นความลับที่ไม่เปิดเผยให้ลูกศิษย์ทั้งหลายภายนอกล่วงรู้เลย

ผู้ที่เข้าวัดพระธรรมกายใหม่ ๆ เกือบทั้งหมดจะมีความประทับใจ การเดินทางไปมาสะดวก มีรถรับส่งฟรี อาหารแจกฟรี ในความเป็นระเบียบของวัด ไม่มีหมาแมวที่ชาวบ้านแอบเอามาปล่อยวิ่งเพ่นพ่านในวัด ไม่มีพ่อค้าแม่ค้าขายของใด ๆ ในวัด ไม่มีแผงขาดสลากกินแบ่งให้ดูรกตา ทุกคนที่มาวัดสรวมชุดขาวเป็นระเบียบเรียบร้อย ห้องน้ำทุกห้องสะอาดสะอ้านไม่มีกลิ่นเหม็น สมาชิกของวัดทั้งชายหญิงพูดจาไพเราะ มีการศึกษาดี ทุกคนเข้าแถวเพื่อรอรับอาหาร แม้กระทั่งรองเท้าที่สาธุชนถอดไว้ก่อนเข้าอาคารมีการจัดระเบียบเรียงไว้อย่างดี กิจกรรมต่าง ๆ ของทางวัดมีวินัย เริ่มพร้อมกันและเลิกพร้อมกัน อุบาสกอุบาสิกาทุกคนประนมมือพูดกับพระด้วยความนอบน้อม ซึ่งหาไม่พบในวัดใด ๆ ทั่วประเทศ

โดยโครงสร้างธรรมนูญของวัดพระธรรมกายและมูลนิธิธรรมกายมีชื่อว่า “ธรรมบัญญัติ” โดยเรียกโครงสร้างใหญ่ทั้งหมดว่า “สภาธรรมกายสากล” (International Dhammakaya Society) แบ่งหน่วยงานออกเป็น 3 อาศรม (ได้แก่อาศรมบรรพชิต อาศรมอุบาสก และอาศรมอุบาสิกา) ซึ่งมีหน้าที่ในการหล่อหลอมสมาชิกขององค์กรให้มีอุดมการณ์เหมือนกัน มีศีลเสมอกันและช่วยกันทำงานเป็นทีม นอกจากนั้นยังมีอีก 17 สำนัก (สำนักองค์ประธาน สำนักการศึกษา สำนักวิเทศน์สัมพันธ์ สำนักสื่อสารองค์กร สำนักการคลัง สำนักศรัทธาภิบาล เป็นต้น) สำนักเหล่านี้แบ่งงานไปตามความถนัดของแต่ละคน มีเกณฑ์การคัดเข้าหรือคัดออก และการประเมินอย่างเป็นระบบ โดยมีการระบุวัตถุประสงค์ ลักษณะงานและความรับผิดชอบตามความถนัดของสมาชิกแต่ละคนในองค์กร การจัดรูปองค์กรแบบสมัยใหม่นี้ทำให้วัดพระธรรมกายมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สมาชิกแต่ละคนต้องจบปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ

ส่วนคำสอนสำหรับสาวกของวัดพระธรรมกายให้ทุกคนเชื่อตรงกันวัดนี้คือกองทัพธรรมโดยมีทุกคนเป็นทหารในกองทัพ ซึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อปราบมาร เป็นคำสอนที่แตกต่างจากคำสอนในสำนักต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเรียกพระมงคลเทพมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ (ภาษีเจริญ) ว่าพระผู้ปราบมาร ผู้ซึ่งปรากฏในเทศน์ 93 กัณฑ์ของท่านว่า “เมื่อผู้เทศน์ออกบวชจึงได้รู้ว่าพระต้นธาตุ ฯ ใช้ให้ลงมาปราบมาร หากปราบไม่สำเร็จจะยอมตายที่วัดปากน้ำนี้”

แต่วัดปากน้ำไม่เคยสอนเรื่องกองทัพธรรม และศิษย์ของพระมงคลเทพมุนีไม่เคยเห็นว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพด้วยเลย คำสอนของธมฺมชโยเรื่องกองทัพธรรมจึงเป็นการต่อยอดจากคำสอนของวัดปากน้ำ โดยสมาชิกในองค์กรจะรู้ไม่เท่ากัน และเรียกคำสอนที่ต่อยอดนี้ว่า “ธรรมะละเอียด” ซึ่งห้ามแพร่พรายให้คนนอกองค์กรทราบอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะเรื่องที่ว่า “ธมฺมชโยคือพระต้นธาตุต้นธรรม”

วันที่ 26 พฤษภาคม 2559 เวลา 14.00 น. พระวัดพระธรรมกาย เดินทางมาให้กำลังใจ “พระธัมมชโย”เข้ามอบตัวที่ สภอ.คลองหลวง

คำว่า “พระต้นธาตุต้นธรรม” นั้นเป็นศัพท์ที่อยู่ในคัมภีร์กรรมฐานแบบโบราณ ตรงกับของพุทธศาสนาแบบ “โยคาจาระ” ตรงกับคำว่า “อาทิพุทธะ” เท่ากับ “พระผู้เป็นเจ้า” (God) หรือ ผู้สร้างสรรพสิ่ง เป็นความเชื่อของมหายานในยุคท้าย ๆ ก่อนที่จะพัฒนาเป็น “วัชรยาน” คำสอนของวัดพระธรรมกายเป็นการต่อยอดจากวัดปากน้ำ โดยธมฺมชโย ตั้งตนเองเป็น “พระต้นธาตุต้นธรรม” เสียเอง เป็นจอมทัพของกองทัพธรรม โดยที่พระมงคลเทพมุนี เป็นทัพหน้า ส่วนธมฺมชโย คือทัพหลวงตัวจริง เพราะพระมงคลเทพมุนีปราบมารไม่สำเร็จ พระต้นธาตุฯ จึงต้องเสด็จลงมาจาก “พระนิพพานเป็น” เพื่อทำหน้าที่นี้ให้เสร็จสมบูรณ์ หากพิจารณาตามคำสอนของธมฺมชโยแล้ว ตัวท่านมีสองตำแหน่ง คือ เป็น “ศาสดา” ของศาสนาใหม่ ซึ่งมีตนเองเป็นองค์ “อวตาร” ลงมาจาก “นิพพานเป็น” เพื่อมาทำหน้าที่ปราบมาร เป็นเจ้านายของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ รวมถึงพระมงคลเทพมุนีผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายอีกด้วย

กองทัพธรรมนั้นแบ่งออกเป็น 4 ฝ่ายด้วยกันคือ (1)ฝ่ายรบ ทำหน้าที่ปราบมาร โดยเข้าสมาบัติในธรรมกาย บู๊ล้างผลาญกับมาร ซึ่งได้แก่ธรรมกายสีดำซึ่งอยู่ในมิติที่ละเอียด (2)ฝ่ายเผยแผ่ ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาและวิชชาธรรมกายให้แก่ประชาชนทั่วไป (3)ฝ่ายปฏิสังขรณ์ ทำหน้าที่ก่อสร้างและซ่อมแซมศาสนาสถานของกองทัพธรรม และ (4)ฝ่ายกองเสบียง ทำหน้าที่ทำบุญส่งเสริมทุกฝ่ายข้างต้นของกองทัพธรรม

การปราบมารเป็นเป้าหมายหลักของกองทัพธรรม และเมื่อปราบมารหมดไปแล้ว สังสารวัฏ ทั้งหมดก็จะอันตรธานหายไปในทันทีทันใด สรรพสัตว์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นมดหรือยุงสักตัวหนึ่งก็จะกลายเป็น “ธรรมกาย” อันเป็น “ตัวตน” หรือ “อัตตา” ที่แท้จริงก็จะปรากฏขึ้น

ความเชื่อในลักษณะเช่นนี้ไม่เคยมีในพระพุทธศาสนาหรือศาสนาใด ๆ มาก่อน เป็นศาสนาใหม่ซึ่งเกิดจากพุทธศาสนา แต่ไม่ใช่พุทธศาสนา โดยสรุปเหมือนกับการเอาภาพยนตร์ Hollywood 2 เรื่อง อันได้แก่ The Matrix กับ Star Wars มาบวกกันจะกลายเป็นเทวะวิทยาของธมฺมชโย

ส่วน “นิพพานเป็น” เป็นที่อยู่อาศัยของ “ธรรมกาย” ที่มีบารมีแก่ ๆ ไม่มีเกศดอกบัวตูม และจะเข้าไปได้เพราะรวมกายต่าง ๆ ทุกกายเข้าด้วยกันทั้งหยาบละเอียด กลั่นให้ใสมากขึ้น ๆ แล้วเข้าไปอยู่ทั้งกายหยาบ ซึ่งแตกต่างจาก “นิพพานตาย” ที่พระสมณะโคดม หรือ พระอรหันต์ทั้งหลายเข้าไปอยู่เมื่อตายแล้ว ต้องทิ้งกายหยาบไว้ในโลกนี้ แล้วไม่กลับมาเกิดอีก แต่ความสุขและบารมีน้อยกว่า “นิพพานเป็น” มากมายนัก

การตั้งตนเองเป็น “พระต้นธาตุต้นธรรม” ของธมฺมชโย ทำให้ตนเองกลายเป็น “ผู้วิเศษ” ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในโลกและสากลจักรวาล คำสั่งของธมฺมชโยนั้นเท่ากับ “คำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า” เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับธมฺมชโยอย่างสูงสุด สาวกพร้อมที่จะยอมพลีชีพได้ หากใช้พระวินัยเป็นกรอบการวิเคราะห์ก็ถือว่า “ปาราชิก” ไปแล้ว ขาดจากภิกขุภาวะ เหมือน “ตาลยอดด้วน” ไม่อาจกลับมาบวชได้อีกต่อไป แต่เนื่องจากมีสาวกที่เชื่อถือมากหลายล้านคน พระวินัย มหาเถรสมาคม หรือกฎหมายบ้านเมืองไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะหากินกับความงมงายของประชาชน สร้างกำแพงมนุษย์นับพันปกป้องตนเองอยู่ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

ในวัดพระธรรมกายเอง ธมฺมชโย ทำตนเป็นคนลึกลับ ไม่ลงทำวัตรเช้าวัตรเย็นหรือลงปาฏิโมกข์เลย ไม่เคยลงร่วมวงฉันกับพระรูปอื่นและไม่เคยประชุมพระสังฆาธิการในจังหวัดปทุมธานีแม้แต่ครั้งเดียวเป็นเวลาติดต่อกันมากว่า 50 ปี โรงครัวในวัดมีสองแห่ง แห่งแรกสำหรับเจ้าอาวาสยกเว้นทุกคน ส่วนอีกแห่งหนึ่งสำหรับทุกคนยกเว้นเจ้าอาวาส

กุฏิที่พักของธมฺมชโยมีอยู่สองแห่ง แห่งแรกสำหรับให้คนภายนอกที่เข้ามาวัดใหม่ ๆ ได้เห็นเพื่อให้เกิดความประทับใจกุฏินี้มีขนาดเล็ก ไม่มีแม้แต่เตียงนอน ไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือพัดลม มีห้องน้ำแบบนั่งยอง ๆ ไม่มีฝักบัว ส่วนอีกกุฏิหนึ่งอยู่ท้ายวัดในบริเวณที่เรียกว่า “อาคารปฏิบัติธรรม” เป็นเขตหวงห้าม เป็นกุฏิที่อยู่จริงของธมฺมชโย เป็นเขตหวงห้าม นอกจากคนภายนอกจะเข้าไปไม่ได้แล้ว แม้พระเถระพรรษาสูง ๆ ในวัดยังไม่มีสิทธิ์เข้าไปถึง อาคารหลังนี้ติดแอร์ทั้งหลังมีสระว่ายน้ำในอาคาร (Indoor Swimming Pool) มีห้องออกกำลังกาย (Fitness) พร้อมอุปกรณ์เพรียบพร้อม มี Hyperbaric Chamber ที่สำหรับเข้าไปนอนอบตัวชะลอความแก่และประเทืองผิวพรรณแช่ในบรรยากาศออกซิเจนบริสุทธิ์ มีโต๊ะเครื่องแป้งราคาแพงบนโต๊ะมีซีรั่มและครีมประเทืองผิวราคาแพง มีห้องดูโทรทัศน์จอขนาดยักษ์ระบบ Home Theater และห้องครัวระบบอเมริกัน (American Standard) อย่างดี ความเป็นอยู่ที่หรูหราฟุ่มเฟือยนี้เป็นที่ประจักษ์เมื่อเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าไปตรวจค้นในวัด หาไม่ก็คงเป็นความลับดำมืดของวัดต่อไปอีกนาน

สิ่งที่วัดพระธรรมกายปฏิบัติอย่างคงเส้นคงวามาตลอด 52 ปีคือการไม่แถลงยอดเงินบริจาค ไม่ว่าเป็นการทำบุญแต่ละวัน หรือการทำบุญใหญ่ในวันอาทิตย์ต้นเดือน การทอดกฐินหรือผ้าป่าแต่ละครั้ง ซึ่งมีพิธีกรรมที่อลังการ ศักดิ์สิทธิ์เงินรายได้ทั้งหมดเป็นความลับทั้งสิ้น ในยุคที่วัดรุ่งเรือง ยอดทำบุญกฐินของวัดพระธรรมกายได้ยอดเงินบริจาคแต่ละครั้งกว่าหมื่นล้านบาท

ในยุคที่ธมฺมชโยกำลังหลบหนีหมายจับอยู่นี้ รายได้จากการทอดกฐินของวัดลดลงเหลือเพียงครั้งละพันสองร้อยล้านบาทเท่านั้น ปัจจุบันวัดพระธรรมกายไม่ส่งเงินไปฝากกับธนาคารใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่รับเช็ค แต่รับเฉพาะเงินสดและทองคำเท่านั้น ทั้งเงินสดและทองคำต้องเข้ามาถึงวัดก่อนพิธีหนึ่งเดือน ซึ่งมีศัพท์พิเศษเรียกกันในหมู่ชาววัดว่า “วางเดือน” (เพราะเดือนใหญ่กว่าดาว) จึงจะนับว่าเป็นเจ้าภาพร่วมในการทอดกฐินสามัคคี หรือผ้าป่าสามัคคีของทางวัด

วัดพระธรรมกายยังมีวิธีการทำบุญอีกสองประเภท คือ “การปิดบัญชีโลก เปิดบัญชีสวรรค์” นั่นคือการทำบุญชนิดให้หมดเนื้อหมดตัวกันเลย ทำให้ทายกทายิกาทั้งหลายสิ้นเนื้อประดาตัว ครอบครัวแตกแยก สามีภรรยาหย่าร้างกัน จนถึงขนาดฆ่าตัวตายกันมามากต่อมากแล้ว และอีกประเภทหนึ่งคือ “การทำบุญเงินผ่อน” โดยการเข้าไปเป็นสมาชิกของสหกรณ์เครดิตยูเนียนมงคลเศรษฐี แล้วขอกู้เงิน โดยมาเงื่อนไขว่าจะเอาเงินกู้ไปทำบุญกับวัดพระธรรมกาย ทางสหกรณ์จะปล่อยเงินกู้เป็นเงินสดให้ทันที โดยเสียดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปีกับสหกรณ์

นอกจากการทำบุญในลักษณะดังกล่าวข้างต้นเหล่านี้แล้ว วัดพระธรรมกายยังมีการทำบุญแบบพิเศษอีกที่เรียกว่า My Papa Love หรือ MPL ซึ่งทางวัดออกใบอนุโมทนาบัตรให้ แต่ผู้บริจาคไม่อาจนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นการให้ด้วยสิเนหา ญาติโยมผู้ศรัทธาในธมฺมชโยนิยมต่อแถวเข้าไปทำบุญประเภทนี้ ด้วยความศรัทธาว่าท่านคือพระต้นธาตุต้นธรรม

เจ้าสัวบางคนมีศรัทธาทำบุญแบบนี้โดยเรียกศิษย์วัดไปรับเงินสดที่บ้านทุกวัน “วันละหนึ่งล้านบาท” และไม่ต้องการใบอนุโมทนาบัตร ด้วยความศรัทธาว่าได้ทำบุญกับเนื้อนาบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสากลจักรวาล

แม้ธมฺมชโยยังหลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่อิทธิพลของเขายังไม่หมดในหมู่สาวก ซึ่งมีความเชื่อมั่นอย่างบริสุทธิ์ว่า “หลวงพ่อถูกรัฐบาลกลั่นแกล้ง” และเชื่อมั่นว่าหลวงพ่อคือผู้บริสุทธิ์ สาวกเหล่านี้พร้อมที่จะเสียสละชีวิตตนเองเพื่อครูบาอาจารย์ที่ตนเองเคารพนับถือได้ตลอดเวลา ทำให้วัดพระธรรมกายเป็นกลุ่มก้อนที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองมากที่สุด ใหญ่โตที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

การปฏิรูปกิจกรรมพระพุทธศาสนาโดยการเพิกเฉยต่อวัดพระธรรมกายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย หากธมฺมชโย สนับสนุนพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองนั้นย่อมมีสิทธิ์ที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลอย่างมาก เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ใช้ระบบใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ เมื่อนั้นธมฺมชโย ก็อาจจะมีโอกาสอย่างสูงที่จะกลับมาผงาดได้อีกครั้งหนึ่ง เหมือนเมื่อในปีพ.ศ. 2549 ที่อัยการสูงสุดถอดถอนคดีทั้งหมดออกจากศาล

เมื่อถึงตอนนั้นอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย?