ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อรัฐสีรุ้งอำลาเข็มทิศแห่งศีลธรรม- อาร์คบิชอปเดสมันด์ ตูตู

เมื่อรัฐสีรุ้งอำลาเข็มทิศแห่งศีลธรรม- อาร์คบิชอปเดสมันด์ ตูตู

3 มกราคม 2022


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

รัฐบาลประเทศแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพจัดงานศพของอาร์คบิชอป เดสมันด์ ตูตู ในมหาวิหารเซนต์จอร์จอย่างสมเกียรติในวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่มาภาพ : https://www.voanews.com/a/requiem-praise-for-south-africa-s-archbishop-desmond-tutu/6377905.html

วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวามคม พ.ศ. 2564 ในขณะที่ชาวโลกกำลังเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส โลกก็สูญเสียผู้นำทางจิตวิญญาณคนสำคัญ และเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้ คือ ท่านอาร์คบิชอป เดสมันด์ ตูตู วัย 90 ปี ผู้ซึ่งชาวแอฟริกาใต้ยอมรับในฐานะที่เป็นนักสู้เพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน อย่างชนิดที่เรียกว่า “กัดไม่ปล่อย” ผลงานชิ้นสำคัญของท่านคือการเอาชนะลัทธิแบ่งแยก เชื้อชาติ และรังเกียจเดียจฉันท์เรื่องสีผิว หรือที่เรียกว่า apartheid

คำว่า apartheid เป็นคำที่มีที่มาจากภาษาท้องถิ่นของแอฟริกัน หมายถึง “การแบ่งแยก” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศแอฟริกาใต้ และเกิดเป็นลัทธิที่ชนผิวขาวที่มีพื้นฐานมาจากประเทศในยุโรป ถือว่าตนเป็นเจ้าของประเทศ แม้ว่าจะคิดเป็นจำนวนประชากรประมาณ 18% ของชาวแอฟริกาใต้ทั้งประเทศก็ตาม เพราะตามประวัติศาสตร์ชาวยุโรปเป็นผู้เข้ามาบุกเบิกตั้งรกรากในพื้นที่เขตนี้ก่อนเมื่อ 300 ปีมาแล้ว เริ่มจากชุมชนชาวโปรตุเกส ซึ่งต่อมาเปลี่ยนมือให้ชาวดัตช์ เดนมาร์ก และอังกฤษ เข้ามาครอบครอง คนผิวดำและเอเซียที่อยู่ที่นั่นถูกเลือกปฏิบัติมาตลอด

ลัทธิการแบ่งแยกสีผิวของแอฟริกาใต้นั้นแตกต่างจากยุโรปและอเมริกา โดยกฎหมายของแอฟริกาใต้กำหนดให้จำแนกประชาชนออกเป็น 4 กลุ่มตามสีของผิวหนัง ชาวยุโรป (ผิวขาว), คนผิวดำ, คนผิวสี และคนเอเชีย (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย) คนผิวขาวเท่านั้นที่เป็นชนชั้นปกครอง มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง มีสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินจำนวนมาก มีสิทธิ์ในการซื้อตั๋วรถไฟชั้นหนึ่ง คนผิวดำและผิวอื่นถูกห้ามมิให้ทางเข้าออกเดียวกัน ห้ามเรียนในโรงเรียนเดียวกัน ห้ามใช้ห้องน้ำข้ามสีผิว และห้ามคนผิวดำ คนผิวสี และคนเอเชียพักอาศัยในย่านที่หรูหราของเมือง ย่านที่อยู่อาศัยของคนผิวดำเป็นย่านชุมชนแออัดไม่มีไฟฟ้าให้ใช้ ส่วนคนผิวดำ ผิวสีหรือเอเชียไม่มีสิทธิ์เป็นประชากรชั้นสอง อีกทั้งค่าแรงที่คนผิวดำ ผิวสี และเอเชียได้ก็แตกต่างอย่างมากจากคนผิวขาว

ยิ่งไปกว่านั้นคนผิวขาวไม่ต้องมี “หนังสือเดินทาง” เพื่อข้ามอาณาเขตในเวลาตั้งแต่สามทุ่มไปแล้ว หากคนผิวดำเข้าไปทำงานในเขตเมืองที่เป็นถิ่นของคนผิวขาว ต้องรีบเดินทางกลับออกจากเขตนั้นๆ ก่อนสามทุ่ม มิฉะนั้นจะมีความผิดอาญาแผ่นดิน อาจถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดี ซึ่งหลายคนถูกซ้อม ทำทารุณกรรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และบังคับให้สูญหายได้ แม้ศิลปินนักดนตรีนักร้องนักแสดงที่สีผิวต่างกัน ก็ไม่อาจขึ้นแสดงบนเวทีเดียวกันได้ นอกจากจะได้รับอุนญาตจากทางการ กฎเกณฑ์เหล่านี้ยังไม่นับการห้ามแต่งงานระหว่างคนที่สีผิวต่างกัน

แม้มหาตมะคานธีกลายมาเป็นนักสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมกันก็เพราะลัทธิการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้นี้ ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นนี้บ่อยครั้งปะทุขึ้นเป็นการประท้วงและการจลาจลบ่อยครั้งมากขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง คนผิวดำและเอเชียจำนวนมากเคยหวังกันว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เพราะในช่วงสงครามอังกฤษได้เกณฑ์คนผิวดำและอินเดียจากแอฟริกาใต้เพื่อร่วมต่อสู้กับฝ่ายอักษะจำนวนมาก แต่สถานการณ์หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

ความเชื่อในเรื่องลัทธิแบ่งแยกสีผิวของคนผิวขาวในแอฟริกาใต้นั้นฝังรากลึกในคริสต์ศาสนานิกายเดนมาร์กปฏิรูป (Reformed Danish Church) ซึ่งชนชั้นปกครองในแอฟริกาใต้ถือเป็นสรณะมาหลายศตวรรษ

ท่านอาร์คบิชอป เดสมันด์ ตูตู เกิดในปี ค.ศ. 1931 ในเมืองเคลกส์ดอร์ป อันเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในมณฑลทราสวาล อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศแอฟริกาใต้ ในครอบครัวที่ยากจน ทั้งมารดาบิดามาจากชาวอัฟริกันคนละเผ่า เมื่อแรกเกิด คุณพ่อคุณแม่ได้ตั้งชื่อเล่นให้ทารกแรกเกิดคนนี้เป็นภาษาถิ่นซึ่งมีความหมายว่า “ชีวิต” คุณพ่อของท่านเป็นครู และแม่ของเขาเป็นภารโรงของมูลนิธิการกุศลที่ดูแลคนผิวดำที่ตาบอดในเมืองนั้น

สมัยเป็นเด็กนั้นเด็กชายเดสมันด์สุขภาพไม่ดี และต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลถึงสองปีติดต่อกัน ระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาลนั้น บาทหลวงชาวอังกฤษ นิกายคริสตจักรอังกฤษ (Anglican Church) มาเยี่ยมท่านอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เป็นประสบการณ์ที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างมาก เพราะท่านนึกไม่ถึงว่าในบรรยากาศแห่งการเหยียดผิว จะมีบาทหลวงคนขาวมาเยี่ยมเด็กชายผิวดำในโรงพยาบาลได้ขนาดนี้ ความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าเพราะความศรัทธาในบาทหลวงองค์นี้เห็นท่านเป็นต้นแบบการดำเนินชีวิต จึงเกิดขึ้นอย่างมาก จนเป็นเหตุให้ท่านเปลี่ยนเส้นทางชีวิตมาเอาดีทางศาสนาแทนเมื่อประกอบอาชีพเป็นครูได้ไม่นาน

เมื่อเป็นเด็กท่านได้รับการศึกษาที่โรงเรียนมัธยมโจฮันเนสเบิร์ก เมืองบันตู เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนมัธยมปลาย ได้เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัย Pretoria Bantu Normal College และในปี ค.ศ. 1954 ได้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแอฟริกาใต้ หลังจากเป็นครูในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้สามปี ท่านมีศรัทธาในคริสต์ศาสนาจึงเริ่มศึกษาเทววิทยา ได้รับการบวชเป็นบาทหลวงในปี ค.ศ. 1960 และอุทิศตนให้กับการศึกษาศาสนศาสตร์ต่อไปในประเทศอังกฤษจบจบปริญญาโทด้านเทววิทยา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 ถึงปี ค.ศ. 1972 ท่านสอนเทววิทยาในแอฟริกาใต้ก่อนจะกลับไปอังกฤษอีกครั้งเป็นเวลาสามปีในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันเทววิทยาในลอนดอน

การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะบาทหลวงของพระคุณเจ้าเห็นได้อย่างชัดเจน ในปี ค.ศ. 1975 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณบดีแห่งมหาวิหารเซนต์แมรีในโจฮันเนสเบิร์ก ท่านเป็นคนผิวสีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนั้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 ถึงปี ค.ศ. 1978 เขาเป็นอธิการแห่งเลโซโท และในปี ค.ศ. 1978 พระคุณเจ้าก็กลายเป็นเลขาธิการทั่วไปคนผิวสีคนแรกของสภาคริสตจักรแห่งแอฟริกาใต้ ท่านได้รับตำแหน่งดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนี

อาร์คบิชอป เดสมันด์ ตูตู ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Desmond_Tutu#/media/File:Desmond_tutu_wef.jpg

สาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู ได้กำหนดเป้าหมายของท่าน ในการทำให้ประเทศแอฟริกาใต้พัฒนาขึ้นสู่ “สังคมประชาธิปไตยและยุติธรรมที่ปราศจากการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ” และได้กำหนดประเด็นต่อไปนี้เป็นความต้องการขั้นต่ำของการเคลื่อนไหวทางสังคม ดังนี้

    1. สิทธิพลเมืองเท่าเทียมกันทุกคนไม่ว่าผิวสีใดหรือเพศใด
    2. การยกเลิกกฎหมายหนังสือเดินทางของแอฟริกาใต้ (ซึ่งรัฐบังคำสำหรับคนผิวดำ ผิวสี และคนเอเชีย)
    3. ให้ราษฎรทุกคนต้องอยู่ในระบบการศึกษาเดียวกันและเท่าเทียมกัน
    4. การยกเลิกกฎหมายการบังคับเนรเทศจากแอฟริกาใต้ไปยัง “ประเทศบ้านเกิด” เมื่อคนผิวสีและคนเอเชียถูกจับดำเนินคดี

สาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู เป็นนักเทศน์ที่ชาญฉลาด พิถีพิถันในการเลือกเฟ้นคำพูด การขึ้นเทศน์ในแต่ละครั้งมีการเตรียมตัวมาอย่างดี การพูดเต็มไปด้วยพลังทำให้ผู้ฟังเกิดความศรัทธาและฮึกเหิม มีหลักฐานอ้างอิงมาจากบทต่างๆ ในพระคัมภีร์ไบเบิล เนื่องจากท่านเป็นผู้เกิดในครอบครัวที่ยากจน จึงสามารถที่จะสื่อสารกับชุมชนฐานรากได้เป็นอย่างดี คำพูดของท่านกินใจ ลึกซึ้ง และไม่ใช่เป็นนักเทศน์อย่างเดียว ท่านพูดอย่างไรทำอย่างนั้น ทำอย่างไรพูดอย่างนั้น จริงใจที่จะแสดงอารมณ์ของตนเองท่ามกลางสาธารณชนอย่างเปิดเผยทั้งร้องไห้และหัวเราะ

ครั้งใดที่นำฝูงชนในการประท้วงท่านกล้าที่ยืนอยู่แถวหน้า เดินคล้องแขนร่วมนำประชาชนเดินขบวนประท้วงรัฐบาลอย่างไม่กลัวความตาย กระนั้นเองท่านก็เป็นผู้มีอารมณ์ขันอันเหลือเฟือ สามารถเปลี่ยนบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดทำให้ทุกคนหัวเราะขึ้นมาได้พร้อมๆ กัน เป็นบุคลิกของผู้นำที่ยากที่จะหาได้ในโลก รัฐบาลอินเดียได้มอบรางวัลคานธี (Gandhi Award) แก่ท่านอีกด้วย

ในขณะที่แกนนำพรรคเอเอ็นซี (ANC หรือ African National Congress) เช่น นายเนลสัน แมนเดลลา ถูกจับดำเนินคดีติดคุกไปเป็นจำนวนมาก พรรคถูกประกาศว่าเป็นองค์กรก่อการร้ายบ้าง เป็นคอมมิวนิสต์บ้าง สมาชิกจำนวนมากของพรรคเอเอ็นซีจึงแตกกระสานซ่านเซน แม้ในสถานการณ์เช่นนี้ สาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู ยังคงยืนตระหง่าน ประฌามนโยบายและพฤติกรรมของรัฐบาลแอฟริกาใต้อย่างต่อเนื่อง ให้สัมภาษณ์ในสื่อมวลชนระดับนานาชาติหลายต่อหลายครั้ง แต่ทางรัฐบาลคนผิวขาวไม่กล้าที่จะดำเนินการจับกุมดำเนินคดี เหตุผลสำคัญคือท่านเป็นนักบวช เป็นคนของศาสนาซึ่งองค์กรนานาชาติจำนวนมากให้การยอมรับ

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1979 ที่เยาวชนผิวดำจำนวนมากผู้กำลังชุมนุมประท้วงอย่างสันติ ต่อต้านการทำหนังเดินทางอันไม่เป็นธรรมถูกตำรวจสลายการชุมนุมด้วยการระดมยิ่งด้วยกระสุนจริง ศพของผู้ประท้วงเหล่านี้ถูกยิงข้างหลังในขณะที่กำลังวิ่งหนี ทำให้ท่านสาธุคุณเดือดดาลอย่างมาก ท่านออกมาเรียกร้องให้นานาชาติคว่ำบาตรประเทศแอฟริกาใต้ ข้อเรียกร้องนี้ถูกหยิบยกขึ้นสู่สภาความมั่นคงของสหประชาชาติ แต่ประเทศมหาอำนาจสองประเทศคือสหรัฐอเมริกาและอังกฤษวีโต้เพราะไม่เห็นด้วย ท่านสาธุคุณจึงเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ โดยให้ชุมชนนานาชาติไม่เชิญประเทศแอฟริกาใต้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาสองอย่าง ได้แก่ คริกเก็ต และรักบี้ อันเป็นกีฬายอดนิยมของคนแอฟริกา ปรากฏว่าได้ผล รัฐบาลที่เหยียดผิวจึงต้องผ่อนคลาดกฎหมายที่เหยียดผิวต่างๆ ท่านได้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้ง 4 ประการในการต่อสู้ของท่าน ทำให้ท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ. 1984 รางวัลนี้ทำให้การต่อสู้ของท่านประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

แม้กระนั้น ในปี ค.ศ. 1989 ท่านอาร์คบิชอปถูกจับในขณะที่นำประชาชนเดินขบวนต่อต้านลัทธิเหยียดผิว แต่ก็ได้โอกาสให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศในการต่อสู้ของท่าน เป็นเหตุให้รัฐบาลแอฟริกาใต้ต้องปล่อยตัวท่านในที่สุด ก่อนที่จะถูกจับกุมท่านยังเข้าไปห้ามฝูงชนผิวดำที่กำลังรุมประชาทัณฑ์เจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวคนหนึ่งและช่วยชีวิตเขาไว้ได้

จนในที่สุด เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย รัฐบาลแอฟริกาใต้จึงเปิดการเจรจากับตัวแทนพรรคเอเอ็นซี และนำมาสู่การปล่อยตัวของนายเนลสัน แมนเดลลา และสิ่งแรกที่นายแมนเดลลาทำหลังจากที่ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำคือ ไปขอบคุณอาร์คบิชอป เดสมันด์ ตูตู ถึงที่บ้าน และยังได้พักที่บ้านหลังนั้นต่ออีกหลายวัน รวมทั้งได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวและสื่อมวลชนทั่วโลกด้วย

เมื่อนายเนลสัน แมนเดลลา ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี ค.ศ. 1994 อาร์คบิชอป เดสมันด์ ตูตู เป็นคนที่ชูมือนายแมนเดลลาในฐานะผู้ชนะ และกลายเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของแอฟริกา ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนทุกสีผิวมีสิทธิเท่าเทียมกัน เมื่อขึ้นมามีอำนาจแล้ว แทนที่นายแมนเดลลาจะล้างแค้นเจ้าหน้าที่และนักการเมืองที่ดำเนินการรุนแรงกับเขา ตรงกันข้าม ประธานาธิบดีผิวดำผู้นี้เชิญผู้นำผิวขาวรวมทั้งอัยการผู้ที่เขียนสำนวนให้ศาลตัดสินประหารชีวิตของเขามารับประทานอาหารร่วมกันที่ทำเนียบประธานาธิบดีอีกด้วย กุศโลบายในการสมานฉันท์คนในชาติที่เกิดขึ้นนี้เป็นข้อความที่อาร์คบิชอป เดสมันด์ ตูตู เล่าให้ผู้สื่อข่าวได้ฟัง เป็นที่เชื่อมั่นได้ว่าสิ่งที่เกิดจากคำแนะนำของท่านสาธุคุณท่านนี้เอง

ประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลลา ได้แต่งตั้งให้ อาร์คบิชอป เดสมันด์ ตูตู เป็นประธานกรรมาธิการสมานฉันท์แห่งชาติ โดยเชิญทั้งผู้เสียหายและเจ้าหน้าที่ผู้ลงมือทำร้ายประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ มาให้ปากคำ ซึ่งเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญยิ่งเพื่อสร้างประเทศประชาธิปไตย ที่ให้ความยุติธรรมโดยการเคารพสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกคน

ท่านอาร์คบิชอปเป็นคนแรกที่เรียกประเทศแอฟริกาใต้ว่า “รัฐสายรุ้ง” (Rainbow Nation) ซึ่งหมายถึงประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่สงบสุข ยุติธรรมอันประกอบด้วยประชาชนหลายสีผิวหลายเชื้อชาติ หลายวัฒนธรรม ทุกฝ่ายเคารพในความเป็นมนุษย์และความแตกต่างของกันและกัน

อาร์คบิชอป เดสมันด์ ตูตู ไม่ได้สนับสนุนพรรคเอเอ็นซีอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู แม้ในรัฐบาลของเนลสัน แมนเดลลา ท่านสาธุคุณยังออกมาวิจารณ์นักการเมืองที่ฉ้อโกงประชาชนอย่างเปิดเผย และประกาศตัวด้วยว่าท่านไม่ลงคะแนนให้พรรคการเมืองพรรคนี้ ทั้งประณามนักการเมืองทุกคนที่โกงกินว่า “ทรยศต่ออุดมการณ์ของตนเอง” ท่านทำตัวเป็นตัวแทนของประชาชนผู้อยู่ชายขอบ คนจนผู้ยากไร้ทั้งหลายที่ไม่มีซุ่มเสียงในสังคม (Voice of the Voiceless) เมื่อสถานการณ์โรคเอดส์ระบาดหนักในแอฟริกา ท่านได้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยโรคเอดส์ในขณะที่ชาวแอฟริกาใต้ติดโรคระบาดอันร้ายแรงนี้

ในระดับโลก อาร์คบิชอป เดสมันด์ ตูตู ยังได้เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ขององค์การสมัชชาศาสนาเพื่อสันติ (World Conference on Religions and Peace) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในตึกตรงกันข้ามกับองค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก และยังอยู่ในกลุ่มของรัฐบุรุษโลก (World State Men) ซึ่งเป็นชมรมของผู้นำทางสังคมที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น องค์ทะไลลามะ ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ เป็นต้น ชมรมนี้เดินทางไปยังภูมิภาคต่างๆ ที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระดับสูง เช่น ตะวันออกกลาง เกาหลีเหนือ ทิเบต เป็นต้น

ในปี ค.ศ. 2009 ท่านได้ปราศรัยในที่ประชุมสหประชาชาติ เรียกร้องให้ทั่วโลกหันมาสนใจภาวะโลกร้อนและให้ทุกชาติคว่ำบาตรบริษัทพลังงานใหญ่ๆ ที่ค้าน้ำมันและถ่านหิน ไม่ให้มีส่วนเป็นเจ้าภาพกิจกรรมทางกีฬาของโลก

เมื่อชมรมนี้เดินทางไปสัมภาษณ์ชาวปาเลสไตน์ในเขตที่ประเทศอิสลาเอลเข้าไปยึดครอง ได้เห็นความทุกข์ยากของชาวปาเลสไตน์ อาร์คบิชอป เดสมันด์ ตูตู ได้ออกมาวิจารณ์รัฐบาลอิสราเอลอย่างเปิดเผย ว่ากระทำกับชาวปาเลสไตน์ยิ่งกว่ารัฐบาลแอฟริกาใต้ทำกับคนผิวดำเสียอีก ราวกับที่เผด็จการนาซีกระทำกับชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่สอง ชมรมนี้ได้ร่างเอกสารข้อแนะนำต่างๆ มากมายให้รัฐบาลอิสราเอล เพื่อให้เกิดสันติภาพในตะวันออกกลาง เช่น การคืนดินแดนให้ชาวปาเลสไตน์และอาหรับกลับไปสู่เขตแดนเดิมที่สหประชาชาติกำหนด และให้รัฐบาลอิสราเอล เคารพสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์ ข้อเสนอทั้งหมดรัฐบาลอิสราเอลปฏิเสธ

ในปี ค.ศ. 2014 ท่านได้เขียนบทความถึงชาวโลกมิให้ประทุษร้ายกลุ่มชนเพศทางเลือก (LGBTQI+) เป็นบทความชิ้นสุดท้ายของท่านให้การสนับสนุนสิทธิมนุษยชน และร้องขอให้สังคมอยู่กันได้โดยสันติ ท่านได้ประกาศว่า

“พระผู้เป็นเจ้าทรงรักทุกชีวิตที่พระองค์สร้างขึ้นมา และไม่มีความเกลียดชังพวกเพศทางเลือกใดๆ เลย” ซึ่งเป็นความคิดที่นับว่าล้ำยุคมากสำหรับสังคมศาสนาทั่วโลก

อาร์คบิชอป เดสมันด์ ตูตู ในวัยแปดสิบกว่า แม้รู้ว่าตนเองเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะสุดท้าย ก็ยังได้เดินทางไปเป็นองค์ปาฐกในการเสวนาหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องการสานเสวนาทางศาสนา และเพื่อสนิทของท่านคนหนึ่งคือองค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต ทุกครั้งที่ทั้งสองท่านมีโอกาสแสดงความคิดเห็น ก็ยอมรับต่อกันและกันว่ามีความเห็นไม่ตรงกัน ในขณะที่อาร์คบิชอป เดสมันด์ ตูตู เชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้า องค์ทะไลลามะประกาศว่าท่านไม่เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้ามีอยู่จริง แต่ท่านอาร์คบิชอปก็สารภาพกับผู้ดำเนินรายการตรงๆ ว่าท่านเองเคยโกรธพระผู้เป็นเจ้าเช่นกันที่ “อนุญาต” ให้เหตุการณ์ร้ายๆ เกิดขึ้นได้ในโลก เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า “ทำไมพระผู้เป็นเจ้าถึงได้กระทำเช่นนั้น” ท่านอาร์คบิชอป เดสมันด์ ตูตู ตอบอย่างอารมณ์ดีว่า “หลายครั้งพระผู้เป็นเจ้าปกป้องคนบาป” พอพูดประโยคนี้ก็หัวเราะด้วยอารมณ์ดี

ศพของอาร์คบิชอป เดสมันด์ ตูตู ที่มาภาพ : https://www.newsnationnow.com/world/international-headlines/requiem-praise-for-south-africas-archbishop-desmond-tutu/

รัฐบาลประเทศแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพจัดงานศพของอาร์คบิชอป เดสมันด์ ตูตู ในมหาวิหารเซนต์จอร์จอย่างสมเกียรติในวันที่ 1 มกราคม 2565 ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาศพของท่านสาธุคุณอยู่ในโลงไม้ที่เรียบง่ายในเมืองเคปทาวน์อันเป็นโบสถ์ที่ท่านเคยเทศนาสั่งสอนประชาชนในการต่อสู้ลัทธิแบ่งแยกผิว โดยทางการเปิดให้และให้ประชาชนเข้าเยี่ยมคารวะศพ ศาสนิกศาสนาใหญ่ๆ ไม่ว่าพุทธ คริสต์ อิสลาม ยูดาย ฮินดู ได้มาร่วมประกอบพิธีตามความเชื่อในศาสนาของตน ก่อนที่จะนำไปประกอบพิธีที่มหาวิหารเซนต์จอร์จ และจากนั้นจะประกอบพิธีฝังในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ท่านได้รับการกล่าวขานในนามของเข็มทิศทางศีลธรรมของโลก (world moral compass) เป็นจิตสำนึกทางคุณธรรมของชาติ (conscience of the nation)

ในพิธีศพนี้เองประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ได้กล่าวสดุดีคุณความดีของท่านว่า เป็นผู้ที่ได้มอบความเป็นประชาธิปไตย ความยุติธรรม และสันติสุขแก่ประเทศนี้ ท่านได้นำประเทศชาติผ่านเวลาอันยากลำบากจนกระทั่งทำให้ประเทศนี้ได้ฉายาว่ารัฐสายรุ้ง (Rainbow Nation) ซึ่งมีความสามัคคีในความหลากหลายของประชากรและชาวโลกจะไม่มีวันลืม ภาพที่ท่านถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเพราะต่อสู้ลัทธิแบ่งแยกสีผิวนี้ และภาพที่ท่านก้มหน้าลงทั้งน้ำตาฟุบลงกับโต๊ะเมื่อได้รับทราบความทุกข์ทรมานที่ชาวผิวดำถูกตำรวจทรมานจนพิการจากคำให้การนับไม่ถ้วนเมื่อท่านเป็นประธานกรรมาธิการสมานฉันท์แห่งชาติ ทำให้ประชาชนเรียนรู้ที่จะให้อภัยกับเหตุการณ์ขมขื่นที่ผ่านมา ท่านเป็นผู้ที่เปลี่ยนประเทศแอฟริกาใต้ให้เป็นประชาธิปไตยที่มีความยุติธรรมปราศจากการเลือกปฏิบัติทางสีผิวเคารพในสิทธิมนุษยชนและความแตกต่างทางเพศอย่างแท้จริง

ศพของอาร์คบิชอป เดสมันด์ ตูตู ไม่ได้ถูกนำไปฝังเหมือนคนปกติ ด้วยความตระหนักในปัญหาโลกร้อน ร่างของท่านถูกนำไปย่อยสลายด้วยสารเคมี จนเหลือแต่กระดูกซึ่งถูกย่อยให้เป็นผงบรรจุใส่ในโถ เป็นการปิดฉากผู้นำทางจิตวิญญาณผู้เป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่โลกรู้จัก